ปีใหม่กับฉันคนใหม่ หรือ New Year, New Me คือโปรเจ็กต์ที่หลายคนตั้งไว้เมื่อชีวิตก้าวเข้าสู่ปีใหม่ แม้จะเป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วันวันหนึ่ง แต่กลับมีอิทธิพลทำให้หลายคนอยากที่จะมอบ self-love และ self-care ให้กับตัวเองมากขึ้นอย่างน่าประหลาด เช่น อยากที่จะออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ หรือจดบันทึกเพื่อเช็กสภาพจิตใจในแต่ละวัน
แต่ถึงแม้เราจะดูแลตัวเองสุขภาพกายสุขภาพใจได้ดีแค่ไหนก็ตาม บางครั้ง ‘ความสัมพันธ์’ กับคนรอบข้างก็เข้ามากระทบ จนทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจอย่างยากที่จะควบคุม ยิ่งถ้าเราเป็นคนคิดมาก ขี้กังวล ขี้เกรงใจ หรือเป็นคนประเภท people-pleaser ที่ชอบตามใจคนอื่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เวลาถูกขอให้ทำอะไรที่ไม่อยากทำ ชวนไปที่ที่ไม่อยากไป โดนลากไปดูหนังที่ไม่อยากดู หรืออยู่กับคนที่ไม่สบายใจจะอยู่ด้วย ยิ่งยากที่จะปฏิเสธออกไป แถมยังเลือกเก็บความคับข้องใจนั้นไว้เพียงลำพัง จนกลายเป็นปัญหาทางสุขภาพจิตตามมาในภายหลังด้วย
การมอบ self-love และ self-care ที่ The MATTER อยากจะแนะนำในช่วงปีใหม่นี้ ก็คือการทำความเข้าใจกับ ‘ความสบายใจ’ ‘คุณค่า’ ‘ความต้องการ’ หรือ ‘เนื้อแท้ตัวตน’ ของตัวเอง เพื่อนำไปสู่ ‘การกำหนดขอบเขต’ (set boundaries) ในความสัมพันธ์ ที่จะทำให้เรารู้จักการเคารพตัวเอง ผ่านความชอบและความไม่ชอบที่อยู่ลึกๆ ในใจ เพื่อที่จะสื่อสารออกไปให้คนรอบข้างเข้าใจมากขึ้น ไม่ว่าจะคนรัก ครอบครัว เพื่อนสนิท เจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงานก็ตาม
“ขอบเขตคือสิ่งที่กำหนดว่าเรารู้สึกโอเคหรือไม่โอเคกับอะไรในความสัมพันธ์นั้น มีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความปลอดภัยและความไว้วางใจในความสัมพันธ์ อีกทั้ง การกำหนดขอบเขตคือวิธีที่จะทำให้เรารู้จักให้เกียรติตัวเอง ทั้งความต้องการ คุณค่า และขีดจำกัด แสดงให้เห็นว่าเราดูแลตัวเองเป็นอย่างดี และให้ความสำคัญกับความสุขของตัวเองอย่างจริงจัง ซึ่งความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดและไม่น่าพึงพอใจ สามารถทำร้ายสุขภาพจิตของเราได้ ดังนั้น การรักษาขอบเขตในความสัมพันธ์จึงเป็นมาตรการป้องกันที่ดี” เจเน็ต ปาร์ค (Janet Park) นักบำบัดโรคที่ Healing Phoenix Therapy กล่าว
การกำหนดขอบเขตความสบายใจ ดูเผินๆ เหมือนเป็นเรื่องที่ง่ายแต่ก็ยากสุดๆ เพราะความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่เปราะบางและละเอียดอ่อน การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงกะทันหันอาจทำให้เกิดความขัดแย้ง หรือถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมที่ใจร้ายได้ อย่างเมื่อก่อนเราเคยตอบว่า “ใช่ค่ะ” “ได้ครับ” “โอเคเลย” แต่วันหนึ่งเรากลับตอบว่า “ไม่ค่ะ” “ขอไม่ทำได้มั้ยครับ” หรือเราเคยทำบางอย่างเพื่อความต้องการของอีกฝ่าย แต่วันหนึ่งเรากลับรู้สึกไม่สบายใจที่จะทำสิ่งนั้นอีกต่อไป และเลือกที่จะขีดเส้นแบ่งเอาไว้ว่าขอไม่ทำอีก อาจเป็นเรื่องยากสำหรับบางคนที่ต้องยอมรับและเข้าใจความเปลี่ยนแปลงนี้
แต่หากเราระมัดระวังและเรียนรู้ที่จะกำหนดขอบเขตอย่างถูกวิธี ก็ย่อมเกิดผลดีและมีประโยชน์ต่อความสัมพันธ์ในระยะยาว แล้วเราจะเริ่มกำหนดขอบเขตความสบายใจที่ว่านี้ได้ยังไง หรือวิธีไหนที่จะนำไปสู่ทางออกที่ประนีประนอมกับทุกฝ่ายมากที่สุด ลองไปดูวิธีทั้ง 4 ข้อนี้พร้อมๆ กันเลย
เข้าใจความต้องการของตัวเอง
ความจริงที่ว่าไม่มีใครรู้จักเราดีเท่าตัวเราเองนั้นจริงเสมอ หากเราฝึกฝนที่จะตระหนักรู้ตัวเองหรือมี self-awareness บ่อยๆ เราจะจับสังเกตได้ทันทีว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ เรามีปฏิกิริยาตอบสนองทางความรู้สึกยังไงทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ยกตัวอย่างเช่น เรารู้สึกยังไงเวลาถูกเจ้านายขอให้ทำงานที่นอกเหนือขอบเขตความรับผิดชอบ เรารู้สึกยังไงเมื่อเพื่อนบังคับให้ออกไปสังสรรค์ ทั้งที่เราไม่ชอบเสียงดังและอยากพักผ่อนอยู่บ้าน เรารู้สึกยังไงเมื่อพ่อแม่บอกว่าคณะที่เราเรียนไม่สามารถจบไปแล้วหาเลี้ยงชีพได้ หรือเรารู้สึกยังไงเมื่อคนรักชอบพูดจาล้อเลียนรูปร่างเราบ่อยๆ
เมื่อเราตอบตัวเองได้ว่าเรารู้สึกยังไงกับเหตุการณ์ดังกล่าว ให้ซื่อสัตย์กับความรู้สึกนั้นเพราะเป็นความรู้สึกที่แท้จริงซึ่งไม่มีใครมาเปลี่ยนแปลงได้ และสะท้อนถึงคุณค่าที่เราให้ความสำคัญจริงๆ ทำให้เรารู้ว่าเรายินดีที่จะทำอะไร ฝืนที่จะทำอะไร ต้องการให้อีกคนทำอะไร หรือไม่ต้องการให้อีกคนทำอะไร และอย่าอายที่จะรู้สึกโกรธ กลัว อึดอัด หรือไม่พอใจ เพราะนั่นเป็นสัญญาณบ่งบอกที่ดีว่าเรากำลังโดนล้ำเส้นในความสัมพันธ์นั้น และต้องได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างเร็วที่สุด ก่อนที่ความสัมพันธ์จะพังลง
สื่อสารความรู้สึกด้วย I-statement
สิ่งที่ยากกว่าการตระหนักรู้หรือทำความเข้าใจตัวเอง คือเราจะสื่อสารความรู้สึกและความต้องการของเราออกมาได้ยังไงโดยไม่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด เพราะที่ผ่านมาเขารู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิที่จะทำ หรือเราอนุญาตให้เขาทำมาโดยตลอด แต่วันหนึ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป เขาไม่สามารถทำแบบนั้นได้อีก หรือเราไม่สามารถที่จะทำสิ่งนั้นได้อีก ก็ยากที่จะรับฟังหรือทำความเข้าใจ เพราะทุกคนมีความสามารถในการเปิดกว้างไม่เท่ากัน
ในทางจิตวิทยามีการสื่อสารที่เรียก I-statement หรือ I-message ซึ่งเป็นรูปประโยคที่ขึ้นต้นด้วยสรรพนามของผู้พูด เช่น ฉันคิดว่า… เรารู้สึกว่า… แม่ไม่สบายใจเลยที่… พี่อยากให้เธอ… เป็นการสื่อสารที่มุ่งเน้นไปที่ความต้องการของผู้พูดเป็นหลัก แทนที่จะกล่าวโทษหรือตำหนิว่าเป็นความผิดของอีกฝ่ายหรือผู้ฟัง ยกตัวอย่างเช่น “ฉันรู้สึกเจ็บปวดมากที่เธอล้อเลียนรูปร่างฉันบ่อยๆ” แทนที่จะบอกว่า “เธอใจร้ายมากนะที่ชอบมาล้อเลียนรูปร่างฉันบ่อยๆ” หรือ “ฉันรู้สึกไม่ค่อยสบายใจที่จะออกไปข้างนอกในช่วงนี้ ขอบคุณมากนะเลยที่ชวน” แทนที่จะบอกว่า “ทำไมเธอชอบบังคับให้ฉันออกไปข้างนอกอยู่เรื่อยเลย เธอก็รู้ว่าฉันไม่ชอบ” ซึ่งหากเราใช้รูปประโยคข้างหลัง อีกฝ่ายอาจไม่อยากรับฟังหรือทำความเข้าใจ เพราะเขารู้สึกเหมือนตัวเองกำลังถูกจู่โจมอยู่เช่นกัน
ขอความร่วมมือแทนการออกคำสั่ง
เมื่อบอกความรู้สึกออกไป บางครั้งเราอาจจะต้องระบุให้ชัดเจนว่าเราต้องการให้อีกคนทำอะไรหรือไม่ทำอะไร แต่ประโยคในเชิงบังคับหรือออกคำสั่ง อาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถึงระดับอำนาจในความสัมพันธ์ หรือมองว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันอยู่ แต่หากเป็นการขอร้องหรือขอความร่วมมือ อีกฝ่ายจะรู้สึกเหมือนว่าเราและเขาอยู่ทีมเดียวกัน และนำมาสู่ความยินดีที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ให้ดีขึ้นไปด้วยกัน
ยกตัวอย่างเช่น เรารู้สึกไม่พอใจที่คนรักมักจะโทรมาหาในเวลางานบ่อยๆ หากเราเลือกที่จะบอกว่า “หยุดโทรมาในเวลางานสักที ฉันยุ่งอยู่” หรือ “ห้ามโทรมาในเวลางานนะ” อีกฝ่ายอาจฟังแล้วตีความไปในเชิงลบได้ แต่หากเราเลือกที่จะใช้ประโยคขอร้องว่า “ถ้าเป็นไปได้เธอช่วยโทรมาหลังเลิกงานได้มั้ย ในเวลางานฉันไม่สะดวกคุยเท่าไหร่เลย” หรือ “ถ้าไม่ใช่เรื่องด่วนมาก ฉันขอรับสายหลังเลิกงานได้มั้ย” หรือหากโดนชวนไปดูหนังเรื่องที่ไม่ชอบ แทนที่จะบอกว่า “ไม่เอาอะ ไม่อยากดู ดูเรื่องอื่นแทนสิ” เราอาจปฏิเสธไปว่า “ปกติฉันไม่ค่อยดูหนังที่มีฉากแบบนี้เท่าไหร่ เราไปดูเรื่อง…แทนกันดีมั้ย” ดูจะเป็นประโยคที่ซอฟต์ลง มีตัวเลือกให้กับอีกฝ่ายมากขึ้น และเชื้อเชิญให้อีกฝ่ายยินดีที่จะทำตามความต้องการนั้นมากกว่า
เคารพความเห็นของกันและกัน
เมื่อเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ เราไม่สามารถฟังเสียงความต้องการของตัวเองฝ่ายเดียวได้ หากยังอยากที่จะรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้ ก็จำเป็นที่เราจะต้องรับฟังความเห็นและความต้องการของอีกฝ่ายด้วยเช่นกัน เพราะเป้าหมายของการสร้างขอบเขตความสบายใจคือการทำงานร่วมกันเป็นทีม เพื่อหาพื้นที่ที่คนทั้งสองให้เกียรติและเคารพกันและกันมากที่สุด ฉะนั้น ลองรับฟังว่าสิ่งที่เราต้องการกับสิ่งที่เขาต้องการใกล้เคียงหรือตรงข้ามกันมากน้อยแค่ไหน เป็นไปได้มั้ยที่เราจะหาตรงกลางหรือจุดร่วมกัน เพื่อให้ทางออกของเรื่องดังกล่าวประนีประนอมต่อทั้งสองฝ่ายมากที่สุด
ความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาเรียนรู้และทำความเข้าใจกันไปเรื่อยๆ ให้เวลาต่างฝ่ายได้ปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะด้านกายภาพ ความรู้สึก ความคิด ระยะทาง หรือเวลา อาจมีอุปสรรคในการสื่อสารบ้าง แต่ก็นับว่าประสบความสำเร็จไปแล้วระดับหนึ่ง จากการที่ต่างฝ่ายต่างได้เรียนรู้ว่าความสบายใจของตัวเอง หรือหากมีใครสักคนมาพูดคุยหรือแลกเปลี่ยนความรู้สึกกับเรา เพื่อสร้างขอบเขตความสบายใจของเขาเอง ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีและน่าขอบคุณที่เขาเลือกที่จะหาทางรักษาความสัมพันธ์ที่มีต่อเราไว้ แทนที่จะปล่อยความรู้สึกแย่ๆ ให้คาราคาซังในจิตใจ แล้วค่อยๆ หายไปโดยไม่บอกกล่าว
ลองสื่อสารเรื่องความสบายใจของกันและกันอยู่เสมอ แล้วจะเห็นว่าความสัมพันธ์กลายเป็นสิ่งที่สวยงามได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ
การกำหนดขอบเขตความสบายใจ นอกจากจะทำให้เรากล้ายืนหยัดเพื่อความต้องการที่แท้จริง และปฏิเสธสิ่งที่เรารู้สึกไม่สบายใจ ยังทำให้ความสัมพันธ์ในระยะยาวแข็งแรงยิ่งกว่าเดิม หรือเรียกได้ว่าเป็น healthy relationship ที่คนสองคนเข้าใจพื้นฐานความต้องการของกันและกัน ไว้เนื้อเชื่อใจกัน รู้สึกปลอดภัยที่จะอยู่ด้วยกัน และไม่ละเมิดหรือทำในสิ่งที่อีกฝ่ายรู้สึกไม่สบายใจ ซึ่งก็หวังว่าปีนี้โปรเจ็กต์ New Year, New Me ของทุกคนจะรวมถึงการที่เรารักและเคารพตัวเองมากขึ้นด้วยนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก