เราชอบสิ่งนี้อยู่ดีๆ ก็ดันมีคนมาชอบเหมือนกัน ที่สำคัญคนนั้นดันเป็นคนที่เราเหม็นหน้า เสื้อผ้าแบรนด์ที่ชอบ นาฬิกาแบรนด์ที่ใช่ คาเฟ่ที่ชอบไป ทีมฟุตบอลที่เชียร์มาตั้งนาน ดันชอบตรงกันกับตัวต้นเรื่องที่ไม่ชอบหน้าคนนั้นไปหมดเสียได้ อยากจะโละทิ้งทุกอย่างที่ชนกันให้รู้ดำรู้แดงไป ว่าฉันและเธอจะไม่มีอะไรเหมือนกันทั้งนั้น ทั้งที่ความชอบเหมือนกันแต่ทำไมมันกลับทำให้อึดอัดใจยิ่งขึ้นกันนะ
นั่นเพราะเราพยายามกีดกันผู้อื่นไม่ให้ถึงความชอบของเราหรือเปล่า หวงนั่นหวงนี่เพราะอยากเป็นคนเทสดีอยู่คนเดียวใช่มั้ยล่ะ จะว่าแบบนั้นก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะเราไม่ได้เป็นแบบนี้กับทุกคน เจอคนที่เรารู้สึกแง่บวกด้วย ไม่ว่าจะคนเพิ่งรู้จักหรือคนที่สนิทกันมานาน ถ้าชอบอะไรเหมือนกัน เราก็ยินดีที่จะแลกเปลี่ยนเรื่องราวความชอบได้อย่างไม่รู้จบ
แต่ที่กำลังขัดข้องในใจนี้ เกิดขึ้นกับคนที่เรารู้สึกเชิงลบด้วยเท่านั้น ยิ่งเห็นยิ่งอยากหอบเอาความชอบที่มีหนีไปให้ไกล ไม่ต้องให้มาเห็นว่าเราและเขาดันชอบอะไรเหมือนๆ กัน ถ้าเป็นคนที่ไม่ชอบหน้าเมื่อไหร่ ไม่ใช่แค่ความชอบที่ไม่อยากให้เหมือนกัน สิ่งที่ไม่ชอบก็ไม่อยากให้เหมือนกันด้วย เรียกว่าไม่อยากให้มีจุดร่วมกันเลยสักอย่างจะดีกว่า (กำหมัด) อะไรกันนะที่ทำให้เราต้องรู้สึกขัดใจกับเรื่องหยุมหยิมแบบนี้
แม้จะฟังดูเหมือนเป็นแค่ความเอาแต่ใจ ที่เราไม่อยากจะมีจุดร่วมอะไรกับคนที่เราไม่ชอบ แต่สิ่งนี้สามารถอธิบายได้ด้วย Heider’s Balance Theory ทฤษฎีความสมดุลในความสัมพันธ์ ที่จะมาไขคำตอบว่าอะไรทำให้เราอึดใจหรือพอใจ อยากแก้ไขหรืออยากไปต่อ
ฟริตซ์ ไฮเดอร์ (Fritz Heider) นักจิตวิทยาผู้เสนอทฤษฎีนี้ อธิบายไว้ว่า คนเราจะเกิดความรู้สึกดีต่อกันก็ต่อเมื่อเกิดความสมดุลในความสัมพันธ์เกิดขึ้น จากการแบ่งปันความคิดที่คล้ายกันเกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่าง ชอบอะไรเหมือนกันหรือเกลียดอะไรเหมือนกัน ก็จะทำให้ความสัมพันธ์ไม่มีความตึงเครียดเกิดขึ้น
เช่น A และ B ที่ชอบพอกัน ชอบกินมินต์ช็อกเหมือนกัน ก็จะเกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน หากกางออกมาเป็นแผนภาพจะมีหน้าตาประมาณนี้
แล้วถ้าเป็นในทางกลับกันล่ะ ทั้ง A และ B ที่ชอบพอกัน ต่างไม่ชอบกินมินต์ช็อกเหมือนกัน ทั้งคู่ก็จะเกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเหมือนเดิม เพราะมีจุดร่วมกันคือสิ่งที่ไม่ชอบนั่นเอง
จากตัวอย่างคงพอทำให้เข้าใจได้ง่ายมากขึ้นแล้วว่า ความชอบหรือไม่ชอบ มุมมองต่อสิ่งเดียวกัน ส่งผลกับความสัมพันธ์อย่างไร ความสัมพันธ์ที่สมดุลเป็นอย่างไร กลับมาที่คำถามค้างคาใจของเรา ‘ทำไมเราถึงไม่อยากชอบสิ่งเดียวกับคนที่เราเหม็นหน้า?’ ทั้งที่ดูในแผนภูมิสามเหลี่ยมนั่นแล้ว จะต้องสมดุลหรือเปล่านะ ถ้าเรามีจุดร่วมเดียวกันทำไมเราไม่หันมาเป็นมิตรกันแทนล่ะ
เรื่องนี้เราต้องหยิบยืม ทฤษฎีความขัดแย้งทางความคิด (Cognitive Dissonance Theory) ของ ลีออน เฟสทิงเกอร์ (Leon Festinger) นักจิตวิทยาสังคม มาอธิบายสิ่งที่เรากำลังสงสัยกัน
ทฤษฎีความขัดแย้งทางความคิด ว่าด้วยความขัดแย้งทางความคิดของเราเอง เมื่อเรารับรู้สิ่งใหม่ๆ เข้ามาแล้วสิ่งนั้นดันขัดแย้งกับความคิด ความเชื่อเดิมที่เรามี (สามารถอ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ที่ thematter.co) ในทฤษฎีนี้มีสมมติฐานพื้นฐานที่ว่า มนุษย์เรามีความอ่อนไหวต่อสิ่งขัดแย้งค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการกระทําและความเชื่อ เราจึงไม่กระทำอะไรที่ขัดต่อความเชื่อของเรา แต่เมื่อเรารับรู้ถึงข้อขัดแย้งนั้นแล้วว่ามันเกิดขึ้นจริง กำลังตีกันนัวตุ้บตั้บในหัวของเรา เราจะเริ่มมองหาทางแก้ไขให้เรื่องนี้ โดยมี 3 วิธีที่เรามักจะใช้ ได้แก่ เปลี่ยนความเชื่อ เปลี่ยนการกระทำ หรือเปลี่ยนการรับรู้ต่อสิ่งนั้นเสียใหม่
หากยังไม่เห็นภาพ งั้นเราลองมาดูตัวอย่างประกอบไปพร้อมกัน A รู้ตัวมาตั้งนานแล้วว่าไม่ลงรอยกับ B ต่างพยายามใช้ชีวิตแบบไม่โคจรเข้าหากัน แต่ดันรู้มาว่า B นั้นเชียร์ทีมฟุตบอลเดียวกัน ทีนี้เลยเกิดความขัดแย้งระหว่างความเชื่อเดิม คือ ความไม่ลงรอยกัน จะต้องชอบหรือเกลียดอะไรต่างกันแน่ๆ แต่ความรู้ใหม่ดันบอกว่า ชอบเหมือนกัน เลยงงเป็นไก่ตาแตก ทีนี้จะทำยังไง ไม่อยากชอบอะไรเหมือนไอ้คนนั้น เลยต้องหาทางออกให้ตัวเอง ถ้าเป็นวิธีตามทฤษฎีที่กล่าวไปข้างต้น เปลี่ยนความเชื่อไปเลย งั้นเราไม่ชอบทีมฟุตบอลนั้นแล้ว และเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อสิ่งนั้น ทีมฟุตบอลนั้นจริงๆ ก็ไม่ได้ดีเท่าไหร่ B ถึงได้ชอบไงล่ะ
เหมือนกับว่า A เองไม่อยากยอมรับว่ามีจุดร่วมเดียวกับ B จึงเกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์เกิดขึ้น เราเลยนับว่าความสัมพันธ์นี้ไม่สมดุล ความซับซ้อนในใจเราไม่ได้ง่ายและมองโลกในแง่ดีถึงขนาดที่จุดร่วมนั้นจะทำให้ A และ B กลายมาเป็นมิตรกัน เพราะทางแก้ที่เร็วที่สุดและง่ายที่สุดของเรื่องนี้คือการเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อจุดร่วม แทนที่จะต้องยอมรับว่า A และ B ควรเป็นมิตรกันนั่นเอง
ว่ากันตามตรงสิ่งนี้มันเป็นกลไกในจิตใจ ในห้วงความคิดของเรา และมันเป็นไปโดยอัตโนมัติ เราไม่ได้จงเกลียดจงชังอะไรกันขนาดนั้นหรอก แต่ความคิดหลายส่วนของเราอยู่เหนือการควบคุม เราจึงเผลอทำตัวเอาแต่ใจไปบ้าง ที่ไม่อยากจะไปชอบสิ่งเดียวกับคนที่เราเหม็นขี้หน้า หรือนึกองุ่นเปรี้ยวขึ้นมาว่าไม่ชอบสิ่งนั้นแล้ว เพียงเพราะคนที่เราเกลียดดันมาชอบสิ่งเดียวกับเรา เราเลยอยากอธิบายสิ่งนี้ให้ทุกคนได้เข้าใจและล่วงรู้เท่าทันความคิดตัวเองกันมากขึ้น
ตราบใดที่ความชอบหรือไม่ชอบของเรา ไม่ได้ไปบังคับบีบคอใครให้เป็นดั่งใจเรา หรือเกิดความรู้สึกแง่ลบกับตัวเองมาก ก็สามารถปล่อยให้เราได้ชอบหรือไม่ชอบอะไรบ้างก็ได้ ไม่ต้องเข้มงวดกับตัวเองมากนัก เพียงแต่อย่าให้ไปเดือดร้อนคนอื่นและตัวเราเองเท่านั้นก็พอ
อ้างอิงจาก