หรือจริงๆ เขารักเรามากกว่าที่เรารักเขากันนะ…
ความรักเป็นเรื่องของการดูแลกันและกัน แต่เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอยู่ในสถานะผู้รับมากกว่าผู้ให้ ถ้าเขาไม่ใช่คนแย่ๆ ที่มีความสุขในการได้รับอยู่ฝ่ายเดียว เขาก็คงกำลังรู้สึกผิดเพราะไม่แน่ใจว่าตัวเองกำลังเอาเปรียบความสัมพันธ์ครั้งนี้อยู่รึเปล่า
และเราเองเป็นหนึ่งในนั้น…
เรารักคนคนนี้ แต่บางทีก็แอบกดดันไม่น้อยเมื่อต้องใช้ชีวิตร่วมกัน
นั่นไง วันนี้เขาซื้อขนมมาฝากเราอีกแล้ว
โห เขาลงสตอรี่วันครบรอบทุกเดือนเลยแฮะ
ล่าสุด เขาเพิ่งกอดเราเป็นรอบที่ 9 ของคืนนี้…
การที่เขาเป็นแบบนี้มันดีนะ เรารู้สึกดีกับทุกอย่างที่เขาทำให้ อุ่นใจเสมอเมื่อเขากอด กินขนมที่เขาซื้อมาฝากจนเกลี้ยง แถมยังเขินนิดๆ ทุกครั้งที่เขาโพสต์ถึง จะว่าไปก็ไม่มีอะไรผิดแปลก ทุกการกระทำไม่ว่ามองมุมไหน ยังไงก็เป็นเรื่องที่ดี จะติดอยู่อย่างเดียวก็ตรงที่เราดันไม่ใช่คนที่ชอบ ‘แสดงความรัก’ ในแบบที่อีกฝ่ายเป็น
เราไม่ใช่คนชอบซื้อของฝาก มีมายด์เซ็ตว่าใครอยากได้อะไรก็ซื้อเองได้
เดือนหนึ่งเราลงสตอรี่ไม่เกิน 2 หน เพราะไม่ชอบให้คนอื่นรู้ทุกเรื่องในชีวิต
สกินชิพเป็นอะไรที่ไกลตัวเรามากๆ จับมือ กอด จูบ คือสิ่งที่ยากสุดๆ บอกเลยว่าเกร็งไปทั้งตัว
ความตรงกันข้ามนี้เองทำให้เรารู้สึกผิดตลอดเวลา ได้แต่สงสัยว่าเรากำลังเอาเปรียบแฟนของตัวเองอยู่รึเปล่า นี่เรารู้สึกกับเขาน้อยกว่าที่เขารู้สึกกับเราใช่มั้ย และเราจะจัดการความรู้สึกที่อยู่ในใจอย่างไรดี
ภาษารักที่แตกต่าง
ปัญหาหลักที่ทำให้เรารู้สึกแบบนี้คือการที่เรากับแฟนมีมุมมองต่อความรักแตกต่างกัน สิ่งนี้เป็นผลมาจากอุปนิสัย บุคลิก ไปจนถึงความต้องการส่วนลึก หรือถ้าเล่าให้เข้าใจง่ายๆ ถ้าอีกฝ่ายเป็นสายเทคแคร์จ๋าๆ แต่เราดันเป็นคนที่ชอบพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก ลักษณะนิสัยที่ไม่สอดคล้องนี้ก็จะกระตุ้นให้ฝ่ายที่แสดงออกน้อยกว่ารู้สึกกดดันในทันที หรือจริงๆ ก็คงกดดันทุกทีที่อีกฝ่ายทำอะไรบางอย่างให้ทั้งที่ไม่ใช่โอกาสพิเศษ
ถ้าจะมองลึกลงไป ความแตกต่างนี้น่าจะเด่นชัดที่สุดในลักษณ์ที่ 2 และ 9 ตามหลัก ‘นพลักษณ์ (Enneagram)’ ศาสตร์ซึ่งใช้ทำความเข้าใจผู้คนผ่านบุคลิกภาพ ความต้องการ และกลไกทางด้านจิตใจ โดย คลาวดิโอ นารานโฆ (Claudio Naranjo) นักจิตวิทยาชาวชิลีได้ขยายความบุคลิกภาพของมนุษย์เอาไว้เป็น 9 ลักษณ์ ซึ่งแต่ละลักษณ์ก็จะมีความแตกต่าง บ้างอยู่ด้วยกันแล้วส่งเสริม เข้ากันได้ดี ในขณะที่บางลักษณ์ก็อาจขัดแย้งอึดอัดเมื่อต้องใช้ชีวิตร่วม
‘ผู้ให้’ หรือลักษณ์ที่ 2 คือกลุ่มคนผู้เต็มใจจะช่วยเหลือ ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ ยินดีทุ่มเทเพื่อความรัก และต้องการเป็น ‘someone’ ของใครบางคน
ตรงข้ามกับลักษณ์ 5 หรือ ‘นักสังเกตการณ์’ ผูัซึ่งรักและหวงแหนความเป็นส่วนตัว เขาต้องการมีระยะห่างระหว่างตัวเองกับคนอื่น และมักจะพึ่งพาตัวเองมากกว่าขอความเชื่อเหลือเมื่อเจออุปสรรคอะไรก็ตาม
ดังนั้น ต่อให้ไม่อธิบายเพิ่มเติม ทุกคนก็น่าจะพอเห็นภาพว่า หากคู่รักสักคู่ประกอบด้วยหนึ่งคนที่มีความเป็นลักษณ์ 2 และอีกคนที่ใกล้เคียงกับลักษณ์ 5 ปัญหาว่าด้วยความไม่สมดุลทางความต้องการ รูปแบบการดูแล รวมไปถึงวิธีการแสดงความรักก็คงเกิดขึ้นได้ ฝ่ายหนึ่งอาจดีใจที่ได้ให้ แต่ก็แอบน้อยใจที่ไม่เคยได้รับกลับคืน ส่วนอีกฝ่ายก็โน้มรับด้วยความยินดี แต่พร้อมกันนั้นก็รู้สึกว่าการให้กลับดูจะไม่ใช่ตัวเองเลย
เอาล่ะ แม้จะยาก แต่ก็ใช่ว่าคู่รักลักษณะนี้จะไปกันไม่รอดเสียหน่อย
หาจุดสมดุล
ปัญหาตอนนี้คือความอึดอัด รู้สึกผิด นึกไม่ออกว่าควรทำอย่างไรความสัมพันธ์นี้จึงจะเจอจุดเท่าเทียม ไม่ได้อยากทำอะไรเป็นพิเศษ แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย เราก็จะรู้สึกว่าตัวเองเอาเปรียบต่อไปไม่จบสิ้น…
เราขอให้ทุกคนใจเย็นๆ หายใจเข้าลึกๆ แล้วมาลองปรับวิธีคิดกันไปทีละนิด
ก่อนอื่น สิ่งที่เราสงสัยอยู่ภายในใจว่าเรารักแฟนน้อยกว่าที่แฟนรักเรารึเปล่า ถามจริง สิ่งนี้วัดได้แน่เหรอ ไม่ว่าจะด้วยเกณฑ์ไหนและมาตราใด ความรู้สึกก็ไม่ใช่สิ่งที่สามารถประเมินออกมาได้เป็นตัวเลข ไม่ว่าจะระดับไหน หากเราตอบตัวเองได้ว่ายังรักเขาอยู่ เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องสนใจปริมาณ ทว่าสิ่งที่ควรสนใจจริงๆ คือวิธีการที่จะบรรเทาให้ความรู้สึกผิดนั้นหายไป
โอเค เรารู้สึกผิดเพราะคิดว่าอีกฝ่ายทำอะไรให้เรามากกว่าที่เราทำให้เขา เขาโพสต์ถึงเรา มีของมาให้เรา ส่งยิ้มให้เรา กอดเรา มากมายไปหมดจนนับไม่ถ้วน
มากจนเรารู้สึกว่าไม่น่าจะ ‘ตอบแทน’ ได้
เยอะจนรู้สึก ‘ติดหนี้บุญคุณ’
แต่ช้าก่อน ความรักไม่ควรเป็นสิ่งที่ซับซ้อนขนาดนั้น เรื่องหนึ่งที่เราไม่ควรลืมคือเธอหรือเขาคนนั้น ‘เต็มใจ’ ที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้แก่เรา และการให้ก็สร้างความสุขให้กับเขาเช่นเดียวกัน จริงอยู่ที่เราไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าการแสดงออกของอีกฝ่ายคาดหวังสิ่งตอบแทนหรือไม่ แต่อย่างไรเสีย เราก็ต้องพยายามไม่คิดแทนและอย่าเอาความรู้สึกที่ว่าต้องตอบแทนมากดดันตัวเราเอง
ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น การที่ความสัมพันธ์ดำเนินมาจนถึงจุดนี้ได้ก็เพราะเรากับเขา ต่างฝ่ายต่างตกหลุมรักที่ตัวตนของกันและกัน จริงๆ แล้วเขาอาจจะไม่ได้คาดหวังของขวัญ การโพสต์ในวันครบรอบ หรืออะไรทั้งสิ้น เขาอาจจะต้องการแค่ได้ยินคำขอบคุณหรือคำชมเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเป็นกำลังใจในแต่ละวัน
ตั้งแต่วันแรก เขาก็คงไม่ได้ชอบเราที่อุปนิสัยการให้ วันนี้เขาจึงไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าที่ปรึกษาผู้พร้อมรับฟัง นั่งเป็นเพื่อนเขาในวันที่ทุกอย่างหนักอึ้ง เป็นไหล่แข็งๆ แต่อบอุ่นในวันที่ออฟฟิศมีแต่เรื่องเครียด เท่านี้ก็อาจเพียงพอที่จะช่วยให้ความสัมพันธ์เดินต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
อย่างไรก็ดี หากเรายังสลัดความรู้สึกผิดนี้ทิ้งไปไม่ได้ วิธีง่ายๆ ที่ทำได้ แต่อาจต้องใช้ความพยายามสักเล็กน้อยคือลองดูแลเขาในแบบที่เขาดูแลเรา ลองตั้งหลักมองหาของขวัญน่ารักๆ เมื่อถึงเทศกาลสำคัญ หรืออาจจะชวนเธอคนนั้นไปร้านอาหารเปิดใหม่เพื่อแสดงออกว่าเราใส่ใจอยู่เสมอ แต่ถ้าหากคิดไม่ตกว่าควรดูแลเขาหรือเธออย่างไร เทคนิคที่พอจะใช้เป็นแนวทางได้คือทฤษฎี 5 ภาษารัก ของนักเขียนชาวอเมริกันอย่าง ดร.แกรี แช็ปแมน (Dr. Gary Chapman)
1. เติมเต็มผ่านการพูด ท้ายที่สุด รูปแบบการแสดงความรักที่ง่ายที่สุดคงหนีไม่พ้นการยืนยันผ่านถ้อยคำ ต่อให้เราไม่ถนัดการมอบของหรือใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย แต่การได้สบตา พร้อมเอ่ยออกไปว่ารักกันมากแค่ไหนย่อมช่วยให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจและรู้ใจกันมากขึ้น
2. ช่วงเวลาคุณภาพ การได้ใช้เวลาร่วมกันคืออีกวิธีในการดูแลความสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมใดก็ตาม ถ้าเราแสดงออกให้เขารู้ว่า นี่คือช่วงเวลาที่เราเก็บไว้ให้เขาเพียงคนเดียว นั่นย่อมทำให้อีกฝ่ายยิ้มได้ อย่างน้อยก็ตรงมุมปาก
3. การสัมผัส โอบไหล่ ใช้มือลูบหัว หรือหนุนตัก ต่างก็ช่วยให้คำว่ารักชัดเจนยิ่งขึ้น
4. แสดงออกถึงการเอาใจใส่ – เป็นวิธีการดูบางประเภทที่ช่วยให้คนคุย แฟน หรือคนรักรับรู้ว่าเขาคือคนสำคัญ การดูแลนี้ไม่จำเป็นต้องยุ่งยากหรือยิ่งใหญ่ อาจจะเป็นการทำอาหารง่ายๆ ช่วยถือกระเป๋า หรือส่งมีมตลกไปให้ เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
5. ของขวัญวันสำคัญ – ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งของก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องการันตีความแน่นแฟ้นในความสัมพันธ์ แน่นอนว่าตัวเลขราคาคืออีกเรื่อง ทว่าความตั้งใจในการเสาะหาชิ้นส่วนที่อีกคนชื่นชอบจะช่วยให้ความรู้สึกระหว่างกันเป็นไปในทิศทางบวกอย่างแน่นอน
หวังว่าภาษารักทั้ง 5 ข้อจะพอเป็นแนวทางการดูแลที่ช่วยให้ทุกคนที่กำลังรู้สึกกดดันผ่านพ้นและดูแลความสัมพันธ์ได้อย่างราบรื่น
โดยสรุป ในทุกความสัมพันธ์คงไม่มีใครบอกได้ว่าใครรักใครมากกว่ากัน และจริงๆ แล้ว สิ่งนี้ก็คงไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพของบทสนทนา การเอาใจใส่ ตลอดจนความเข้าใจของคู่รักแต่ละคู่
ปริมาณความรักเป็นสิ่งที่เปรียบเทียบไม่ได้ฉันใด เทคนิคประคับประคองความสัมพันธ์ของแต่ละคนก็เปรียบเทียบไม่ได้ฉันนั้น สุดท้าย เราตอบไม่ได้หรอกว่าการแสดงความรักรูปแบบใดถูกต้องหรือดีที่สุด หากแต่เป็นหน้าที่ของแต่ละคู่ที่ต้องเรียนรู้พร้อมค้นหาวิธีการที่ตอบโจทย์ด้วยตนเอง
และไม่ว่ายังไงก็ตาม เราขอให้มันเป็นวิธีการซึ่งผู้ให้มีความสุขที่จะให้ และผู้รับก็รับอย่างเต็มใจโดยไม่มีความรู้สึกผิด
อ้างอิงข้อมูล