“เป็นพี่ต้องเสียสละให้น้องนะ”
บ้านไหนมีพี่น้อง เชื่อว่าต้องเคยได้ยินคำนี้แน่ๆ แม้จะเป็นประโยคสั้นๆ แต่การเสียสละนั้นไม่เคยถูกระบุขอบเขตว่ามันครอบคลุมไปแค่ไหน เป็นเพียงแค่การเสียสละของเล่นชิ้นเดียว หรือไกลไปจนถึงความฝันของตัวเองก็ไม่มีใครทราบได้ เพราะไม่เคยมีใครตกลงกันเรื่องนี้ แต่คนที่ต้องแบกความรู้สึกนี้ไว้ในใจตลอดเวลากลับมีเพียงแค่พี่คนโตเท่านั้น
ทั้งที่เราก็เป็นลูกคนหนึ่งของพ่อแม่ แถมอายุยังห่างจากน้องแค่ไม่กี่เดือน หรือไม่กี่ปีด้วยซ้ำไป แต่ทำไมความคาดหวังจึงตกมาอยู่ที่เราคนเดียว จนต้องรีบเป็นผู้ใหญ่มากกว่าคนอื่นทุกที แถมในบรรดาพี่คนโตที่ต้องรับบทหนักสุด ก็หนีไม่พ้น ‘พี่สาวคนแรก’ เพราะนอกจากต้องแบกคำว่าเสียสละแล้ว หลายครั้งการเป็นผู้หญิงยังพ่วงมากับบทบาททางเพศ ซึ่งส่งผลต่อความคาดหวังให้เราต้องช่วยพ่อแม่เลี้ยงดูน้องๆ และทำให้ทุกคนสบายใจด้วย
ทำไมพี่คนโตของบ้าน โดยเฉพาะ ‘พี่สาว’ จึงถูกคาดหวังมากกว่าคนอื่นๆ แล้วเราจะจัดการความรู้สึกหนักอึ้งจากการแบกรับภาระตั้งแต่อายุยังน้อยได้ยังไงบ้าง?
สิ่งที่พี่สาวคนโตต้องเจอ
ใครละที่เป็นคนวางแผนทริปครอบครัว จัดการปัญหาต่างๆ ในบ้าน ดูแลน้องๆ แทนพ่อแม่ ถ้าไม่ใช่พี่คนโต?
แทบจะกลายเป็นความเข้าใจโดยทั่วไปกันแล้วว่า พี่คนโตต้องมีความเป็นผู้นำ ไม่ต่างอะไรจากลูกคนเล็กต้องเอาแต่ใจ หรือลูกคนกลางมักถูกลืมอยู่บ่อยๆ ทำให้แต่ละคนต้องรับบทบาทต่างกันไปโดยปริยาย แม้จะไม่เคยจับเข่าคุยกันชัดๆ
ความเข้าใจเรื่องนิสัยที่ต่างกันไปของพี่น้องแต่ละคน (ทั้งๆ ที่ก็เลี้ยงมาในบ้านเดียวกัน) ดังกล่าว มักถูกอธิบายด้วยทฤษฎีลำดับการเกิด หรือ Birth Order Theory ซึ่งเสนอโดย อัลเฟรด แอดเลอร์ (Alfred Adler) นักจิตวิทยาชาวออสเตรีย โดยอธิบายคร่าวๆ คือ ลำดับการเกิดสามารถทำนาย หรือกำหนดบุคลิกภาพของเด็กๆ ได้ เพราะลำดับการเกิดทำให้พ่อแม่เลี้ยงดูลูกแต่ละคนไม่เหมือนกัน จนทำให้พี่น้องมีนิสัยต่างกัน
แต่ทฤษฎีลำดับการเกิดที่ถูกนำมาใช้บอกนิสัยของบรรดาพี่น้องนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะทฤษฎีนี้ถูกเสนอมาตั้งแต่ช่วงต้น 1900 หรือกว่า 100 ปีมาแล้ว ปัจจุบันแนวคิดนี้จึงถูกหักล้างด้วยงานวิจัยใหม่ๆ ที่เชื่อว่าลำดับการเกิดไม่ได้ส่งผลต่อบุคลิกของลูกๆ อย่างงานวิจัยปี 2015 กับการสำรวจนักเรียนมัธยมฯ ปลายในสหรัฐฯ จำนวน 370,000 คน พบว่า ลำดับการเกิดที่แตกต่างกันของเหล่านั้นเรียนนั้น ส่งผลให้พวกเขามีความแตกต่างด้านบุคลิกภาพและสติปัญญาเล็กน้อยมาก จนแทบไม่มีนัยสำคัญอะไรเลย
อย่างไรก็ตาม แม้ลำดับการเกิดจะไม่ได้อธิบายว่าพี่คนโตต้องเป็นผู้นำ หรือมีความรับผิดชอบมากกว่าพี่น้องคนอื่นๆ แต่ในงานศึกษานี้ ผู้วิจัยก็ยอมรับว่า ลำดับการเกิดในบางวัฒนธรรม อาจมีผลต่อบทบาทของพี่น้องในครอบครัวจริงๆ เช่น การให้ลูกคนโตสืบทอดมรดกหรือธุรกิจในครอบครัว หรือพี่สาวต้องดูแลคนในครอบครัว และความคาดหวังจากครอบครัวก็เป็นอีกสิ่งที่มีผลกับพี่คนโตไม่น้อย โดยเฉพาะเหล่าพี่สาว ที่หนักอึ้งไปด้วยแรงกดดัน และความคาดหวังว่าต้องดูแลคนในครอบครัวมากกว่าพี่ชาย จนมีคำเรียก Eldest daughter syndrome หรือความเจ็บปวดจากการเป็นพี่สาวคนโตที่พ่อแม่มอบให้โดยไม่รู้ตัว
แม้ Eldest daughter syndrome จะไม่ได้เป็นคำวินิจฉัยจากแพทย์อย่างเป็นทางการ แต่งานวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) ปี 2024 ที่ติดตามผู้เข้าร่วมจากคลินิกฝากครรภ์เป็นเวลา 15 ปี พบว่า ลูกสาวคนโตที่แม่เผชิญความเครียดขณะตั้งครรภ์ มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่การเติบโตเป็นผู้ใหญ่เร็วกว่าปกติ โดยดูจากวัยเจริญพันธุ์ในต่อมหมวกไต (adrenal puberty) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและพัฒนาด้านความคิด (ไม่รวมถึงการมีเต้านม หรือการมีประจำเดือน)
นักวิจัยอธิบายเหตุผลเบื้องหลังนี้ไว้ว่า ในแง่ของวิวัฒนาการ การที่ลูกสาวต้องโตเร็วขึ้นถือเป็นกลไกการปรับตัวตามธรรมชาติของแม่ เพื่อให้มีผู้ช่วยในบ้านไวขึ้น เช่น การช่วยดูแลน้องตอนที่ครอบครัวยังไม่มีความพร้อมมากนัก สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ พัฒนาการดังกล่าวนี้พบได้เฉพาะในพี่สาวคนโตเท่านั้น ในขณะที่ไม่พบพัฒนาการด้านนี้ในพี่ชายคนโต หรือลูกสาวคนรอง
งานวิจัยดังกล่าวจึงย้ำให้เห็นว่า Eldest daughter syndrome เป็นสิ่งที่มีอยู่ในบางครอบครัว เมื่อพี่สาวคนโตถูกคาดหวังว่าต้องดูแลน้องๆ ต้องช่วยดูแลงานบ้าน หรือต้องรับผิดชอบความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวตั้งแต่เด็ก ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว เพื่อแบ่งเบาหน้าที่ของพ่อแม่หรือผู้ใหญ่
ถึงการเป็นพี่สาวคนโตจะช่วยพัฒนาทักษะในความเป็นผู้นำ กล้าตัดสินใจ แต่อีกด้านอาจทำให้เหล่าพี่สาวรู้สึกกดดันที่ต้องทำทุกอย่างออกมาให้ดีอยู่เสมอ ต้องคอยทำตัวเป็นผู้ใหญ่อีกคนในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ปัญหาส่วนตัวของพ่อแม่ หรือการเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งของผู้ใหญ่ ทั้งที่ตัวเองก็เป็นเพียงแค่เด็กคนหนึ่งเท่านั้น
ทั้งนี้ การต้องแบกรับภาระตั้งแต่ยังเล็กของพี่สาวคนโต ยังอาจนำไปสู่การสลับบทบาทของผู้ปกครอง หรือ Parentification นั่นคือ แทนที่พ่อแม่จะดูแลปกป้องลูก พวกเขากลับต้องพึ่งพาให้ลูกเข้ามามีส่วนจัดการปัญหาของผู้ใหญ่ ทำให้เด็กๆ ต้องรับบทเป็นผู้ใหญ่ก่อนวัยอันควร จนไม่ได้ใช้ชีวิตวัยเด็ก และเกิดปัญหาอื่นๆ ในความสัมพันธ์ตามมา
แล้วทำยังไงดีล่ะ?
เราขอย้ำอีกทีว่า Eldest daughter syndrome ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นกับพี่สาวคนโตทุกคน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความคาดหวังที่ส่งต่อมายังพี่สาวคนโตบางคนนั้น หนักอึ้งเกินไปสำหรับเด็กคนหนึ่งเช่นกัน และหากไม่หาทางจัดการความรู้สึกให้ดี ก็อาจส่งผลต่อจิตใจในระยะยาว
ดังนั้น แม้เราจะเปลี่ยนลำดับการเกิดไม่ได้ แต่เราสามารถเรียนรู้วิธีรับมือกับสิ่งที่หล่อหลอมเรามาตั้งแต่วัยเด็กได้ โดย เคซีย์ คิง (Kasey Scharnett King) นักบำบัดด้านการสมรสและครอบครัว ให้คำแนะนำสำหรับเหล่าพี่สาวคนโตไว้ ดังนี้
เรียนรู้ที่จะให้ความสำคัญกับตัวเองก่อน
การถูกสอนมาตั้งแต่เด็กให้ดูแลคนอื่นก่อนตัวเอง อาจทำให้การคิดถึงตัวเองเป็นอันดับแรกกลายเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าหากเราไม่สามารถดูแลตัวเองให้ดีก่อน เราจะมีพลังไปดูแลคนอื่นได้อย่างไร ดังนั้น ก่อนจะทำอะไรให้ใคร เราควรต้องกลับมาถามตัวเองอีกครั้งว่า เราโอเคหรือเปล่า รวมถึงหันมาใช้เวลากับตัวเองให้มากขึ้น เช่น จัดตารางดูแลตัวเอง หรือทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ เพื่อให้เรายังได้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการด้วย
พึ่งพาคนอื่นบ้างก็ได้
ถึงแม้ที่ผ่านมาจะเป็นที่พึ่งให้คนอื่นจนชิน ยอมรับจบด้วยการแบกปัญหาด้วยตัวคนเดียว เพราะไม่อยากให้คนอื่นไม่สบายใจ แต่อย่าลืมว่าเราเองก็สมควรได้รับความช่วยเหลือเหมือนกันนะสำหรับบางปัญหา หากบอกคนอื่นออกไปบ้างอาจช่วยให้เรารู้สึกสบายใจไปได้เยอะเลย ลองลิสต์ดูว่าถ้าเกิดปัญหาขึ้น เราจะสามารถปรึกษาเพื่อน หรือผู้ใหญ่ในครอบครัวคนไหนได้บ้าง เพื่อให้เรารู้สึกว่าอุ่นใจว่า เราไม่ได้กำลังอยู่ลำพังเพียงคนเดียว
รักษาขอบเขตของตัวเอง
หลายครั้งลูกสาวคนโตมักตอบรับความคาดหวังของคนอื่น ทุกครั้งที่มีคนขอความช่วยเหลือ กลับเผลอตอบรับไปว่า “ได้สิ” โดยไม่รู้ตัว แต่เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องรับผิดชอบเรื่องของคนอื่นไว้มากเกินไป อาจลองตั้งขอบเขตของตัวเองไว้ให้ดี ไม่ปล่อยให้คนล้ำเส้นเข้ามาง่ายๆ เพื่อไม่ให้อีกฝ่ายนำปัญหามาให้ โดยที่เราไม่ยินยอมตั้งแต่แรก เช่น กับบางเรื่องเรามีคำตอบหรือคำแนะนำได้เท่าไหน หรือบอกคนรอบข้างให้ชัดๆ ว่าขอบเขตของเราอยู่ตรงไหน
สุดท้ายนี้ หากรู้สึกว่าตัวเราต้องแบกรับความรู้สึกของคนอื่นเกินไป จนส่งผลกระทบกับจิตใจและชีวิตของเราจริงๆ อย่าลืมอาจลองขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ คนที่เราไว้ใจ เพื่อให้เราได้ทำความเข้าใจปัญหา ได้เยียวยาบาดแผลในวัยเด็ก และสามารถรับมือกับปัจจุบันให้ดีขึ้นนะ
เพราะอย่าลืมว่า เราเองก็เป็นเพียงลูกสาวที่พ่วงมาด้วยการเป็นพี่คนโต ไม่ใช่พ่อแม่ที่ต้องแบกรับปัญหาของผู้ใหญ่ การถอยออกมาบ้างไม่ใช่การเห็นแก่ตัว แต่เป็นการกลับมาใช้ชีวิตของตัวเองเพื่อตัวเองอีกครั้ง
อ้างอิงจาก