ตั้งแต่เด็กเรามักจะถูกปลูกฝังให้รักพี่รักน้อง แต่ทำไมเราถึงยังทะเลาะกันอยู่ดี?
ใครที่มีพี่มีน้องน่าจะเข้าใจกันดี ไม่ว่าคุณจะเป็นพี่หรือเป็นน้อง อาจเคยมีความรู้สึกไม่พอใจ หรือเคยทะเลาะกันบ้างสักครั้งหนึ่ง จนแทบจะเรื่องปกติ บางครั้งก็มีความเห็นไม่ลงรอย หรือบางคนก็ทะเลาะกันจนถึงขั้นไม่คุยกันนานหลายปี
เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ทำไมการทะเลาะกันระหว่างพี่น้องมักมอบความรู้สึกที่หนักหนาสาหัสให้เรา บางครั้งก็มากกว่าเวลาที่เราทะเลาะกับแฟน หรือมีเรื่องขัดใจกับเพื่อนอีก? นั่นอาจเป็นเพราะว่าการทะเลาะกันของพี่น้องมีรายละเอียดที่ซับซ้อนซ่อนอยู่เบื้องหลังมากกว่าที่เราเห็น
ทะเลาะกันตั้งแต่เด็กยันโต
แน่นอนว่าการทะเลาะกันของพี่น้องในแต่ละช่วงวัยย่อมมีสาเหตุที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่เรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องใหญ่ ไม่ว่าเรื่องไหนก็สามารถเป็นเหตุให้เราทะเลาะกันได้ โดยสาเหตุของการทะเลาะนี้เองก็อาจเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมในแต่ละช่วงวัย ตลอดจนบริบทรอบข้างที่ส่งผลต่อการทะเลาะกัน
ย้อนกลับไปเมื่อตอนยังเป็นเด็ก เหตุผลหลักของการทะเลาะกันของพี่น้องหลายคนคงหนีไม่พ้นเรื่องการแย่งของเล่นกัน บางครั้งก็เป็นผู้เป็นพี่ที่มักจะต้องเสียของเล่นที่พึ่งได้มาใหม่ให้กับน้อง แล้วพอจะขอคืนกลับไม่ได้คืน หนำซ้ำคนเป็นน้องยังร้องไห้งอแงจนเราต้องยอมให้ไป
พฤติกรรมการแย่งของเล่นและแสดงท่าทีเป็นเจ้าของแม้จะไม่ใช่ของตัวเองนี้ เกิดขึ้นได้กับเด็กเป็นปกติ โดยงานวิจัยจาก Max Planck Institute for Evolutionary Anthropology ชี้ให้เห็นว่า เด็กตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป สามารถรับรู้ถึงสิทธิในทรัพย์สินของตนเองได้แล้ว ทว่าเด็กเหล่านั้นจะยังไม่สามารถทำความเข้าใจในเรื่องของบรรทัดฐานการเป็นเจ้าของโดยทั่วไปได้ ทำให้เมื่อได้รับของสักชิ้นมา แม้จะไม่ใช่ของตนเองโดยชอบธรรม แต่พวกเขาจะแสดงความเป็นเจ้าของ และแสดงท่าทีไม่พอใจ หากอีกฝ่ายแย่งของสิ่งนั้นกลับไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเติบโตขึ้น ความขัดแย้งระหว่างพี่กับน้องอาจไม่ได้จบลงเพียงแค่การแย่งของเล่นหรือสิ่งของเท่านั้น แต่กลับมีเรื่องราวให้ชวนทะเลาะมากขึ้น ผ่านความรู้สึกที่ซับซ้อนขึ้น รวมถึงสภาพแวดล้อมและบริบทรอบข้างที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ด้านดร. เมแกน กิลลิแกน (Megan Gilligan) รองศาสตราจารย์ด้านพัฒนาการของมนุษย์และครอบครัว จาก Iowa State University กล่าวว่า ปัญหาการทะเลาะกันของพี่น้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติ และไม่ได้จำกัดช่วงวัย เพียงแต่ต้นตอของการทะเลาะกันอาจเปลี่ยนไปตามอายุ
ความไม่พอใจในพี่น้องของตนเองเมื่อโตขึ้นมีได้หลายสาเหตุ ตัวอย่างเช่น การได้รับการดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่ที่ไม่เท่าเทียมกัน ความต้องการแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงความสนใจ หรือกระทั่งความอิจฉาเกี่ยวกับความสำเร็จของอีกฝ่าย ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แม้ว่าเราจะโตและมีวุฒิภาวะมากขึ้นก็ตาม
เหตุผลต่างๆ ที่ยกมาเป็นตัวอย่าง ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในความสัมพันธ์ของพี่น้อง โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากการเปรียบเทียบกันเองระหว่างพี่กับน้อง ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ที่มักจะเปรียบเทียบกับใครก็ตามที่อยู่ใกล้ตัว กิลลิแกนยังมองว่า เป็นเรื่องยากที่มนุษย์จะไม่เปรียบเทียบกับผู้อื่น ยิ่งเป็นคนใกล้ตัวอย่างพี่น้องด้วยแล้ว ยิ่งทำให้พวกเขากลายเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่เราจะเปรียบเทียบด้วยซ้ำ
ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงชี้ให้เห็นว่า เป็นเรื่องปกติที่พี่น้องจะทะเลาะเบาะแว้งกันในหลายครั้ง ไม่ว่าจะตอนเด็ก เรื่อยมาจนโต และประเด็นหรือปัญหาที่นำไปสู่การทะเลาะกัน ก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามความคิดความอ่านตามช่วงวัยของเรา
ทะเลาะกับพี่น้องหนักหนาสาหัสกว่าที่คิด
แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทว่าการทะเลาะกับพี่น้องของเรากลับมอบประสบการณ์ทางอารมณ์ หรือความรู้สึกที่หนักหนาสาหัสกว่าที่เราคิด ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาทางอารมณ์ที่เกิดขึ้น มาจากการปลูกฝังของครอบครัวภายใต้บริบทลูกที่ดีของพ่อแม่ รวมถึงการทำหน้าพี่น้องที่ดี เช่นหลายคนที่มีพี่น้องอาจเคยเจอกับประโยคที่ว่า
“เป็นพี่ก็ต้องเสียสละให้น้อง เป็นน้องก็ต้องเชื่อฟังพี่”
เมื่อวันที่เรารู้ว่าตนเองกำลังจะมีน้องเพิ่ม นอกจากบทบาทการเป็นลูกที่ดีต่อพ่อแม่แล้ว เราต้องกลายเป็นลูกคนโตของบ้านด้วยความจำเป็น พร้อมทั้งภาระหน้าที่ที่เพิ่มมาให้โดยที่เราไม่ต้องร้องขอ อย่างการดูแลน้องตามหน้าที่ของพี่คนโต
ด้วยบทบาทดังกล่าวที่คนเป็นพี่อาจไม่เต็มใจรับ ร่วมกับการมีใครอีกคนหนึ่งให้เปรียบเทียบในครอบครัวแล้ว อาจยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจ ตลอดจนเกิดความขัดแย้งระหว่างพี่น้องมากขึ้น ซึ่งกิลลิแกนเองมองว่า การปลูกฝังบทบาทเหล่านี้แก่เด็ก คือหนึ่งในต้นเหตุสำคัญของความขัดแย้ง หรือความขุ่นเคืองกันระหว่างพี่น้อง ที่อาจสะสมและลุกลามขึ้นเรื่อยๆ
จะรับมืออย่างไรในวันที่พี่น้องแตกคอกัน
หลายครั้งการทะเลาะกันของพี่น้องมักตามมาด้วยความหม่นหมองเคืองใจ พร้อมด้วยความกระอักกระอ่วนที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายคนที่ต้องคืนดีกัน
ตอนที่เรายังเด็ก การคืนดีกับพี่น้องของเราอาจไม่ได้ยากมากนัก เนื่องจากเรายังมีพ่อแม่ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพี่น้องเอาไว้อยู่ เมื่อเราทะเลาะหรือมีปัญหากัน ท้ายที่สุดพ่อแม่ก็จะมีวิธีดึงพวกเราให้กลับมาคุยกันได้อยู่ดี อาจด้วยการเรียกมานั่งกินข้าวด้วยกัน หรือมาไกล่เกลี่ยกันในห้องนั่งเล่น
ทั้งนี้ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องในระบบครอบครัว จาก Pennsylvania State University ระบุเอาไว้ว่า ผู้เป็นพ่อแม่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง โดยพ่อแม่สามารถลดความขัดแย้ง เสริมสร้างความรัก และการสนับสนุนระหว่างพี่น้องได้
ดังนั้น จึงไม่แปลกหากหลายคนย้อนนึกไปตอนเด็กแล้วพบว่า เวลาที่เราทะเลาะกับพี่น้อง ใช้เวลาไม่นานก็คืนดีกันได้แล้ว แต่เมื่อเราโตขึ้น บางครั้งการทะเลาะกันระหว่างพี่น้อง กลับสร้างผลกระทบที่ยากเกินจะเยียวยามากขึ้น ด้วยช่วงวัยและการใช้ชีวิต เมื่อเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นก็จะมีความซับซ้อนของปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นตามมา
การคืนดีกันในช่วงวัยผู้ใหญ่จึงมีความยากและท้าทายมากกว่าตอนเด็ก เวลาที่เราที่โตขึ้น ย่อมมีพื้นที่ ชีวิตส่วนตัว และความคิดเป็นของตัวเองมากขึ้น เมื่อทะเลาะกันจึงทำให้การหาจุดยืนร่วมกันตรงกลางเป็นไปยากยิ่งขึ้น เพราะต่างคนก็ต่างมีจุดยืนเป็นของตัวเอง
ที่สำคัญ บางคนก็เลือกออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน หลายต่อหลายครั้ง เราเลยไม่มีความจำเป็นจะต้องเกรงใจพ่อแม่อีกต่อไป การตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องจึงเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า เช่นเดียวกับงานวิจัยเกี่ยวกับความขัดแย้งและการแยกตัวในความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องในวัยผู้ใหญ่ จาก Edge Hill University ชี้ให้เห็นว่า การหันหลังให้ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แม้จะมีความซับซ้อน แต่บางคนก็มองว่าการตัดขาดความสัมพันธ์ที่มีแต่ความขัดแย้งไปเลย ส่งผลดีต่อสุขภาพจิตมากกว่า
หากตัวเรารู้สึกโอเคกับความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่แล้ว บางครั้งการรับมือกับการทะเลาะกันอาจไม่ใช่การคืนดีกันเสมอไป อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าวยังบอกอีกว่า แม้การตัดขาดความสัมพันธ์กับพี่น้องอาจเป็นหนทางที่ทำให้ชีวิตเรามีความสุขมากยิ่งขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นวิธีนี้ก็ไม่ใช่ทางออกของปัญหาเสียทีเดียว เรายังคงมีอีกหลายวิธีที่สามารถใช้จัดการกับเรื่องราวอันน่าปวดหัวตรงนี้ได้
เราสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเองว่า ความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่ตอนนี้เราจะคงมันไว้ หรือตัดขาดมันไป เพราะคนสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามความรู้สึกที่สุด นั่นคือตัวเราเอง
อ้างอิงจาก