ลำดับการเกิดทำให้เราเป็นเราในระดับหนึ่ง
แน่นอนว่ามนุษย์แต่ละคนมีความแตกต่างกัน ในชีวิตเราอาจรู้จักคน 2 คนที่เป็นพี่คนโตทั้งคู่ แต่พวกเขาเหล่านั้นอาจจะมีนิสัยไม่เหมือนกันเลยก็ได้ อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงดูถือเป็นส่วนสำคัญที่ก่อร่างมนุษย์หนึ่งคน และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าห้วงความคิดของผู้ปกครองมีส่วนในการเลี้ยงดูคนคนหนึ่งด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นการคาดเดาเหมารวมเกี่ยวกับลำดับการเกิด ยังซึมซับเข้ามาในตัวเราหลายๆ คน และมากพอที่มันจะมีอิทธิพลต่อเราด้วย
ลำดับการเกิดมีผลกระทบต่อเรายังไง? ทำไมเราถึงเป็นอย่างที่เราเป็น? หนึ่งในสิ่งที่พอใช้อธิบายได้คือ ทฤษฎี Birth Order Theory คิดค้นโดยอัลเฟรด แอดเลอร์ (Alfred Adler) นักจิตบำบัดชาวออสเตรีย แม้ทฤษฎีนี้จะไม่ได้บอกว่า เราต้องเป็นยังไงตามลำดับการเกิด แต่ก็เป็นทฤษฎีที่พูดถึงปัจจัยทางพันธุกรรม สังคม วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม และสถานการณ์ที่ส่งผลต่อการเลี้ยงดู ซึ่งลำดับการเกิดเองก็ส่งผลกระทบต่อปัจจัยเหล่านั้น วันนี้เราเลยขอชวนทุกคนไปสำรวจทฤษฎีลำดับการเกิดกัน
พี่คนโต
ก่อนจะกลายเป็นพี่คนโต ลูกคนแรกถือเป็นลูกคนเดียวจนกระทั่งผู้ปกครองจะมีลูกอีกหนึ่งคน นั่นหมายความว่า ตามทฤษฎีของแอดเลอร์ พี่คนโตนำไปสู่การเลี้ยงดูของผู้ปกครองที่ให้ความสนใจต่อตัวเราเป็นอย่างมาก รวมกับความเป็นมือใหม่ซึ่งก่อให้เกิดความระมัดระวังต่อการเลี้ยงดูเป็นพิเศษ ในแง่หนึ่งผู้ปกครองก็เชื่อว่าพวกเขาลงแรงไปมากที่สุดกับลูกคนแรก ความรู้สึกนั้นจึงมาพร้อมความคาดหวังในตัวลูกคนนี้สูงกว่าคนไหนๆ ด้วย และความคาดหวังเหล่านั้นก็พุ่งสูงมากขึ้นไปอีก เมื่อเชื่อมเข้ากับวัฒนธรรมทางสังคม
อีกหนึ่งสิ่งที่พี่คนโตต้องเรียนรู้ คือการแบ่งปันและเสียสละ จากที่ตัวเองเคยเป็นคนคนเดียวที่ได้รับความสนใจจากผู้ปกครอง การมีน้องเพิ่มเข้ามา ทำให้พี่คนโตถูกบังคับให้สวมบทบาทใหม่ นั่นคือการเป็นผู้นำและการเป็นผู้ให้แก่น้องที่เด็กกว่า บ่อยครั้งจึงอาจนำไปสู่ลักษณะนิสัยที่เคร่งครัด และถืออำนาจไว้กับตัวเอง
ลูกคนกลาง
ลูกคนกลางอยู่ในจุดที่น่าสนใจ เนื่องจากตามทฤษฎีของแอดเลอร์ ลักษณะนิสัยของเราจะเปลี่ยนแปลงไป ขึ้นอยู่กับว่ามีน้องอีกคนหนึ่งเพิ่มเข้าหรือเปล่า เริ่มแรกลูกคนที่ 2 บางคนมักเห็นพี่คนโตเป็นคู่แข่ง เนื่องจากแม้จะได้รับความสนใจจากผู้ปกครอง แต่ในมุมมองของเด็ก เขาไม่เคยเป็นหนึ่งเดียวผู้ได้รับความสนใจเช่นนั้นแบบพี่ ความต้องการดังกล่าวจึงอาจถูกแสดงออกมาในรูปแบบของการเป็นนักแข่งขัน หรือเป็นคนชอบเอาอกเอาใจผู้อื่น
เมื่อมีน้องคนเล็กเข้ามา ลูกคนที่ 2 จะกลายเป็นลูกคนกลาง จากที่ไม่เคยอยู่ในตำแหน่งผู้นำอยู่แล้ว ก็ยังถูกยึดตำแหน่งน้องเล็กไปอีกด้วย แอดเลอร์เชื่อว่า ลูกคนกลางกลายเป็นคนที่ต้องตามหาตัวตน และที่ทางของตัวเองในมิติครอบครัวอยู่ตลอดเวลา นั่นทำให้พวกเขามีความยืดหยุ่น ปรับตัวได้ และความรู้สึกลึกๆ ที่มองสถานการณ์ชีวิตของตัวเองว่าไม่แฟร์ ก็นำไปสู่การมองโลกอย่างเห็นอกเห็นใจแก่เหยื่อความอยุติธรรมได้ด้วย
น้องคนเล็ก
การตกอยู่ในสถานะน้องคนเล็ก คือการเป็นคนที่ไม่เคยเสียตำแหน่งการเกิดและลำดับในครอบครัวให้ใครเลย นอกจากนั้นยังเป็นครั้งที่ 3 หรือมากกว่านั้นแล้วที่ผู้ปกครองมีลูก นั่นทำให้สไตล์การเลี้ยงดูแตกต่างไปจากคนอื่นมากพอควร ส่งผลให้น้องคนเล็กอาจมีอิสระมากที่สุดในบรรดาทุกๆ คน อย่างไรก็ตาม แต่ละคนอาจมองอิสระเหล่านั้นต่างออกไปตามบริบท มันอาจทำให้เราเป็นคนที่สร้างสรรค์และสดใส ทว่าสำหรับบางกรณีอาจหมายความถึงการถูกทิ้งร้างและไม่ไยดีก็ได้
ใครๆ ก็พยายามมาทำตัวเป็น ‘ผู้ใหญ่’ ในชีวิตเรา ผู้ปกครองก็มีอยู่แล้ว พี่คนโตที่ทำตัวเป็นผู้นำอีก ไหนจะพี่คนกลาง ความเป็นน้องคนเล็กนั้น บ่อยครั้งจึงทำให้รู้สึกว่า ไม่ว่าจะโตขนาดไหนแล้วก็ตาม ก็ยังคงมีแต่คนมองว่าเราเด็กอยู่ดี ความรู้สึกเช่นนั้นอาจทำให้เรามีนิสัยร่าเริงเบิกบาน และกล้าแสดงออกเหมือนเด็กจริงๆ ก็ได้ หรือมันอาจผันแปรไปเป็นแรงผลักดันให้ต้องคอยพิสูจน์ตัวเองว่าโตแล้ว
ลูกคนเดียว
ลูกคนเดียวเป็นคนที่เกิดและเติบโตในสังคมที่มีเพียงผู้ใหญ่ ไม่มีพี่ให้เลียนแบบ ไม่มีน้องรุ่นเดียวกันให้เล่นด้วยเวลาอยู่บ้าน กลายเป็นว่าการเป็นลูกคนเดียวอาจนำไปสู่การเติบโตที่ทำให้เรามีพฤติกรรมเลียนแบบผู้ใหญ่ พูดจาด้วยภาษาที่ผู้ใหญ่เขาใช้กัน นั่นทำให้บ่อยครั้งจากสายตาคนนอก เราอาจดูเป็นผู้ใหญ่มากกว่าเด็กคนอื่นๆ และเราอาจมองว่าคนอื่นไม่โตไปพร้อมๆ กันด้วย ซึ่งความรู้สึกเหล่านั้นเอง ก็อาจนำไปสู่ลักษณะนิสัยที่ทำให้เราวางตัวเหนือผู้อื่นโดยไม่รู้ตัวได้
ทั้งนี้แอดเลอร์เชื่อว่า การเป็นลูกคนเดียวสามารถมีมุมที่เด็กได้ด้วย เพราะการไม่เคยต้องแข่งขันกับใคร เพื่อครองความสนใจจากผู้ปกครองเลย ก็อาจนำไปสู่การเป็นคนขี้หึงหวง หวงของ ไม่ชอบแบ่งปัน และเอาแต่ใจได้ เมื่อถึงวัยที่ต้องเข้าสังคมกับผู้อื่น
ฝาแฝด
มีความเชื่อมากมายเกี่ยวกับฝาแฝด ทั้งจริงบ้างไม่จริงบ้าง หากพูดกว้างๆ มันมักเป็นความเชื่อที่มาจากการทึกทักว่า ‘ฝาแฝดต้องเหมือนกัน’ รู้ใจกัน ชอบอะไรเหมือนกัน มีความสามารถแบบเดียวกัน ฯลฯ แม้ฝาแฝดบางคนอาจมีนิสัยคล้ายคลึงกันจริง แต่นั่นก็เพราะว่าผู้ปกครองเลี้ยงดูพวกเขาในห้วงเวลาเดียวกัน ในห้วงความคิดเดียวกัน และเติบโตมาพร้อมๆ กัน ซึ่งนั่นเองทำให้เขาทั้งคู่อาจรู้ใจกัน แต่ก็เกิดผ่านความคุ้นเคย ไม่ใช่เวทมนตร์อะไร
ตามทฤษฎีของแอดเลอร์เชื่อว่า ความเชื่อที่ว่าฝาแฝดต้องเหมือนกัน อาจนำไปสู่ปัญหาเรื่องการหาตัวตน ว่าเราทั้งคู่ควรจะเหมือนกันไหม? เราไม่เหมือนฝาแฝดเราจะผิดรึเปล่า? หรือเราไม่สำเร็จเท่าอีกคนหนึ่งจะผิดรึเปล่า? เรียกได้ว่าฝาแฝดนั้นอาจถูกเปรียบเทียบตลอดชีวิตเลยก็ว่าได้
อ้างอิงจาก