คำถามที่เรียบง่ายที่สุด การมีความสัมพันธ์แบบ Friend with Benefits (FWB) อันตรายต่อใจเราจริงไหม? ถ้าเผลอใจให้ไปแล้วเราอาจเจ็บกว่าความสัมพันธ์ปกติจริงรึเปล่า?
เราอยู่ในยุคสมัยของความสัมพันธ์ที่หลากหลายมากขึ้น เรามีหลายเฉด หลายแง่ของความรู้สึกที่เราเชื่อมต่อกับใครอีกคนในมุมที่ปลีกย่อย การมีความสัมพันธ์แบบ FWB จึงเป็นอีกความสัมพันธ์ที่น่าจะตอบโจทย์ชีวิตคนในยุคปัจจุบันได้ ความสัมพันธ์ฉันเพื่อนแต่มีกิจกรรมพิเศษร่วมกันได้นี้ คือการที่คน 2 คนเลือกจะมีความสัมพันธ์แค่ทางกาย และในทางใจไม่มีอะไรผูกมัดกัน ในแง่นี้สำนวนภาษาอังกฤษจึงใช้คำว่า No string attached คือระหว่างเราไม่มีอะไร แค่มีอะไรกันเฉยๆ
ทีนี้อาจจะด้วยเงื่อนไขความสัมพันธ์สมัยใหม่ ที่เราอาจจะไม่ยึดถือเรื่องขั้นตอนของความสัมพันธ์ การเติมเต็มซึ่งกันและกันในเมืองใหญ่และชีวิตอันวุ่นวาย การมีคนร่วมเรียงเคียงหมอนและไม่จำเป็นต้องลงทุนความรู้สึก ไม่ต้องค่อยๆ พัฒนาความสัมพันธ์ มีสถานะที่เป็นอิสระต่อกัน คลายเหงาให้กัน เป็นเพื่อนกินข้าว ใช้เวลาร่วมกัน แต่ไม่ได้เป็นแฟน การมีเพื่อนพิเศษก็ดูจะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และความคิดของความอิสระได้ ตอบความต้องการทางกายและไม่ต้องกังวลเรื่องหัวใจ
ทว่าในเรื่องความรู้สึกมักเป็นเรื่องยากเสมอ ต้องบอกก่อนว่ารูปแบบความสัมพันธ์แบบเพื่อนพิเศษไม่ใช่เป็นเรื่องผิด และอาจเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่ตอบโจทย์ได้ แต่ระยะหลังนี้เรามักได้ยินคำถาม เช่น ในไลฟ์แชตทางยูทูบ หรือล่าสุดคือรายการวิทยุความสัมพันธ์ คำถามสำคัญคือถ้าเราเผลอมีใจให้กับเพื่อนแบบพิเศษของเราขึ้นมาแล้ว เราจะทำยังไงดี? บางความเห็นฟันธงไปว่า ความสัมพันธ์แบบห้ามเอาใจลงไปเล่นเป็นเรื่องที่อันตราย การไถ่ถอนหัวใจจากความสัมพันธ์นี้จึงยากกว่าการไถ่ถอนใจในความสัมพันธ์แบบรักโรแมนติกด้วยซ้ำ
FWB ในฐานะความสัมพันธ์ร่วมสมัย
เรื่องการมี FWB เป็นเหมือนโจทย์ทางความสัมพันธ์อื่นๆ คือจริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่ละคู่ความสัมพันธ์ ในงานศึกษาเองค่อนข้างพบว่าความสัมพันธ์ฉันเพื่อนแบบพิเศษเป็นความสัมพันธ์ที่ได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ เช่น บทความจาก Psychology Today ชื่อ ‘ทำไม FWB กำลังมาแรง’ บางรายงานระบุว่า จากการสำรวจครึ่งหนึ่งของคนวัย 20 มีความสัมพันธ์ในทำนองดังกล่าว
ทว่าคำว่า FWB เป็นความสัมพันธ์ที่จริงๆ ต้องการแย้ง และแก้ปัญหาความเสี่ยงจากความรักโรแมนติก เป็นความสัมพันธ์ที่ตัดความยุ่งยากทางความรู้สึกออกไป แต่ตัวมันเองก็มีความสลับซับซ้อนในตัวเอง การที่เราบอกว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวคือความสัมพันธ์ของความเป็นเพื่อน เป็นมิตรภาพ ในขณะที่ความสัมพันธ์ทางกายเป็นเหมือนของแถมพิเศษที่ตอบโจทย์ความต้องการตามธรรมชาติของกันและกัน
ในภาคทฤษฎี การรักษาความเป็นเพื่อนในชีวิตปกติ มีมิตรภาพต่อกัน และมีกิจกรรมทางเพศด้วยกัน ไม่มีการหึงหวง ลดต้นทุนเวลาและความรู้สึก ไม่งอนกัน การง้อกัน กินข้าวด้วยกัน พูดคุยปรึกษากัน ฟังดูเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่น่าสนใจ และแย้งกับขนบธรรมเนียมของความรักที่มักมากับความเจ็บปวดและความเสี่ยงเสมอ ในแง่นี้สำหรับมุมเศรษฐศาสตร์ การเก็บใจไว้ไม่เอาไปเล่นจึงดูจะมีความเสี่ยงน้อยกว่า ประหยัดเวลากว่า กระทั่งผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่า ประหยัดต้นทุนโดยรวมได้มากกว่า
ถ้าเรามองในเชิงการศึกษาวิจัย ความสัมพันธ์แบบ FWB ก็มีงานวิจัยทางจิตวิทยาและความสัมพันธ์ แต่ผลการศึกษายังนับว่า ‘เสียงแตก’ อยู่บ้าง เพราะงานวิจัยบางส่วนชี้ให้เห็นว่า การมี FWB สามารถเติมใจ และเติมความต้องการได้ไม่ต่างกับความสัมพันธ์แบบมีคู่ครองอย่างที่เราคุ้นเคย
งานศึกษาในปี 2014 ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 119 ราย และเลือกคำที่นิยามความสัมพันธ์แบบ FWB ของตัวเอง ซึ่งพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะเลือกคำเชิงบวกมากกว่าแง่ลบ โดยคือคำว่า ความสุข ความปรารถนา การตอบสนองความต้องการ ความตื่นเต้น และความรู้สึกเหมือนการผจญภัย ส่วนคำเชิงลบก็เป็นคำที่เราพอจินตนาการได้คือ ว่างเปล่า สับสน ถูกใช้ เละเทะ และเหมือนถูกหลอก
อายุอาจไม่ใช่แค่ตัวเลข
ในฝ่ายงานศึกษาที่สนับสนุนว่าความสัมพันธ์แบบ FWB อาจตอบโจทย์ อาจเกี่ยวข้องกับอายุและไลฟ์สไตล์ด้วย โดยบทความออนไลน์จากวารสารมหาวิทยาลัยควีนส์ อ้างถึงงานศึกษาล่าสุดที่ระบุว่า คู่รักแบบ FWB มีความสุข หรือความพึงพอใจในพาร์ตเนอร์ของตัวเองเท่ากับคู่รักแบบมีคู่คนเดียว ( just as happy or satisfied in their partnership as monogamous couples) และรายงานต่อว่าความรู้สึกดังกล่าวไม่มีผลแตกต่างกันของชายและหญิง
ทว่าในการเสนอข้อเขียนเรื่อง FWB ดังกล่าวนั้นได้ตั้งข้อสังเกตว่า ความสัมพันธ์แบบ FWB มักเริ่มด้วยความรู้สึกที่ผ่อนคลาย สบายๆ ว่าด้วยความสนุกมากกว่าความตึงเครียด ทว่าตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าความรักแบบดั้งเดิมจะเริ่มด้วยความเครียด แต่มันมีความยากกว่า ทั้งยังเป็นความสัมพันธ์ที่มนุษย์เรารู้สึกว่ารักษาไว้ให้ยืดยาวได้ยากกว่า
ทั้งนี้ข้อสังเกตสำคัญคือ ความสัมพันธ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นในกลุ่มคนอายุน้อย ซึ่งวัย 20 ที่เป็นช่วงเวลาอันยุ่งกับการเรียน ทำงาน และอื่นๆ การมีความสัมพันธ์แบบโรแมนติกอาจทำให้ชีวิตวุ่นวายจนเกินไป การเลือกเส้นทาง FWB จึงเป็นทางที่สะดวก และเป็นทางเลือกที่ดูจะเป็นข้อดีมากกว่า
กฎเกณฑ์ได้ แต่ใจมันจะเกเร
สุดท้ายประเด็นเรื่อง FWB อาจกลับมาที่เงื่อนไขง่ายๆ คือทุกครั้งที่มีกฎ มีเงื่อนไข ใจเรามันมักจะดื้อ ไม่ฟัง ถ้าเรามองตามแนวคิดของ FWB ว่ามันคือการวางความสัมพันธ์ตามหลักการ เราไม่เอาใจไปเล่นนะ เรามีขอบเขตนะ เรามีความสัมพันธ์กันในระดับเพื่อนนะ แม้หลักการนั้นจะฟังดูเรียบง่าย แต่ในภาคปฏิบัติมักจะเป็นไปได้ยาก
อย่างแรกคือการวางขอบเขตความสัมพันธ์ อะไรคือเส้นแบ่งที่แน่นอนของการปฏิบัติต่อกันในฐานะเพื่อน ไม่ใช่คนรัก เราจะผูกพันกันได้แค่ไหน ช่วยเหลือ ดูแล ห่วงใยซึ่งกันและกัน ถ้อยคำแบบไหนบ้างที่จะพูดต่อกัน จะคอยมาดูแลมั้ยถ้าอีกฝ่ายต้องการ หรือแค่ไหนดีที่จะไม่เกินเพื่อน ซึ่งแต่เดิมการไม่เกินเพื่อนและเส้นแบ่งเรื่องความสัมพันธ์ทางกายดูจะเป็นกฎเหล็กหนึ่ง
นอกจากภาคปฏิบัติอันเป็นการกระทำเชิงสังคมและความสัมพันธ์แล้ว ข้อปวดหัวที่สุดคือการทำงานของสมองและฮอร์โมน เรื่องทางใจของเราหลายครั้งถูกบงการด้วยความรู้สึกที่เราควบคุมแทบไม่ได้ การมีความสัมพันธ์ทางกาย การตื่นขึ้นมาในอ้อมอกซึ่งกันและกัน การหยอกล้อซึ่งกันและกัน ถ้อยคำวาบหวามที่ในที่สุดคนคนหนึ่งจะยั้งใจไว้ว่า สิ่งนี้เป็นเพียงแค่ความสัมพันธ์ตามข้อตกลง ไม่มีสายใย ไม่มีเงื่อนไขผูกมัดซึ่งกันและกัน โดยผู้เชี่ยวชาญเองก็บอกว่า ความสัมพันธ์ทางกายเป็นเครื่องมือหนึ่งของมนุษย์ในการสานต่อความรู้สึกทางใจ
ในมุมมองของคนที่แม้จะมีความคิดก้าวหน้า หรือหัวใจที่กว้างขวางเข้าใจโลกแค่ไหน บางครั้งความรู้สึกผูกมัด สายใย สายสัมพันธ์ ความปรารถนาซึ่งกันและกัน การห้ามใจในภาคปฏิบัติเป็นกระบวนการที่ทำได้ยาก ในความรู้สึกมีความว้าวุ่น ความหึงหวง ความรู้สึกรัก เป็นสิ่งที่แสนจะวุ่นวาย การเข้าใจและไปบังคับกะเกณฑ์แทบจะเป็นไม่ได้เลยถ้ามันเกิดขึ้นแล้ว
นอกจากงานศึกษาที่สนับสนุนมุมมองเชิงบวก และการเติมเต็มความสัมพันธ์ของการมี FWB ที่ระบุว่า ความสัมพันธ์ดังกล่าวอาจจะไม่เวิร์กสำหรับทุกคน เช่น งานศึกษาเชิงปริมาณในปี 2012 ซึ่งใช้วิธีการประเมินกลุ่มตัวอย่างราว 300 ราย ด้วยวิธีวิจัยที่ค่อนข้างซับซ้อน ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างระบุว่า ความสัมพันธ์แบบ FWB ของตัวเอง มีลักษณะเชิงบวกที่ 38% เป็นกลางๆ 37% และมี 40% ระบุว่าจะไม่กลับไปมีความสัมพันธ์แบบดังกล่าวอีก
ถ้าสมมุติว่าเราอยู่ในความสัมพันธ์นั้นไปแล้ว และใจมันบางไปแล้ว การเป็นเพื่อนแบบพิเศษของเราจะก้าวไปสู่ความสัมพันธ์ยั่งยืนได้ไหม งานวิจัยยังระบุอีกว่า เป็นไปได้ยาก ซึ่งคืองานศึกษาในปี 2013 ที่ศึกษากลุ่มตัวอย่าง 308 ราย พบว่าส่วนใหญ่ความสัมพันธ์แบบ FWB มักจะไม่พัฒนาไปถึงความสัมพันธ์แบบดั้งเดิม (committed relationships) และนักวิจัยยังระบุว่าส่วนใหญ่ FWB มักคลี่คลายกลับไปสู่การเป็นเพื่อนกันธรรมดามากกว่า
สุดท้ายความสัมพันธ์แบบ FWB อาจเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่ตอบสนองความเหงา ความเหนื่อยของโลกสมัยใหม่ที่เราไม่อยากเอาใจไปเจ็บ แต่ก็อยากคลายเหงาในหลายระดับ ไม่อยากใช้เวลาหรือต้นทุนไปตามครรลองแบบดั้งเดิมที่มีความเสี่ยงมากกว่า แต่ในระยะยาวเราเองก็อาจต้องเข้าใจว่า FWB อาจเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่ไม่น่าพัฒนาไปสู่ความสัมพันธ์ที่ยาวนาน และถ้าใจของเราบาง เจ็บง่าย ขี้หึง และลึกๆ แล้วอาจยังมีความเอนเอียงไปที่ความรักโรแมนติกอยู่ หากใจมันเกเรง่าย ความสัมพันธ์แบบนี้ก็อาจเป็นสิ่งที่ต้องระวังหน่อย
หรือถ้าเรามองว่าโลกนี้มีจังหวะ มีเวลา มีความสัมพันธ์แปลกประหลาดมากมาย และใจเรามันก็ออร์แกนิก เจ็บได้ ร้องไห้เป็น หายได้ การไม่กลัวเจ็บก็อาจทำให้ทักษะความสัมพันธ์ การมองโลกของเรา ไปจนถึงประสบการณ์อื่นๆ ของเราแข็งแรงขึ้นได้ เพราะยิ่งเลอะ ยิ่งเยอะประสบการณ์
อ้างอิงจาก