ก็พอได้ยินมานะว่าโลกทำงานมันไม่ง่าย แต่ก็ไม่คิดว่ามันจะยากขนาดนี้ ไอ้เราก็อุตส่าห์เตรียมตัวเตรียมใจอย่างดี หวังไว้ว่าจะได้ทำงานที่ชอบ หลังเลิกงานมีเวลาได้กินข้าวกับเพื่อน ได้ไปเที่ยวต่างประเทศสักปีละครั้ง มีเงินเหลือเก็บไว้ใช้จ่ายฉุกเฉิน แต่กลายเป็นว่างานแรกกลับไม่เป็นอย่างที่ฝัน อะไรที่คิดไว้ก็กลับตาลปัตรไปหมด
หลังจากก้าวออกจากรั้วมหาลัย สิ่งแรกที่ทำคือเตรียมเขียนเรซูเม่อย่างดี ผลงานอะไรที่เคยทำมาก็จัดวางในพอร์ตฟอลิโอจนแน่น บอกให้รู้เป็นนัยๆ ว่าเราน่ะ ถึงจะจบใหม่แต่ก็พร้อมทำงานเต็มที่ นอกจากนี้ก็ไม่ลืมที่จะเตรียมสคริปต์สัมภาษณ์ไปด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ปล่อยเดดแอร์ในห้องสัมภาษณ์งาน แอบหวังไว้ลึกๆ ในใจว่าความพยายามทั้งหมดนี้คงจะเห็นผล เราได้ทำงานในฝัน มีชีวิตการทำงานที่ราบรื่น และสามารถเติบโตขึ้นตามสเต็ป
แต่ถึงจะเตรียมตัวขนาดนั้น ทุกอย่างก็ไม่เป็นตามแผนที่ตั้งใจไว้สักนิด เพราะงานแรกก็ทำให้เราได้ลิ้มรสขมของโลกของความจริง ซึ่งตรงข้ามกับความคาดหวังทุกอย่าง เราไม่ได้กำลังทำงานที่ตัวเองชอบ เงินเดือนเริ่มต้นก็แสนน้อยนิด เวลาพักผ่อนแทบไม่มีเพราะต้องพิสูจน์ตัวเองให้คนอื่นเห็นคุณค่า เวลาไปเที่ยวเหรอลืมไปได้เลย ถ้ามีวันหยุดเมื่อไหร่ ก็ขอเลือกนอนมากกว่าต้องพาตัวเองออกไปเจอความวุ่นวายข้างนอก จนรู้สึกผิดหวังในตัวเองที่ทำตามความฝันไว้ไม่ได้
นอกจากงานในฝันแล้ว เรายังพบว่ามีงานอีกมากมายในตลาดอันกว้างใหญ่นี้ที่ไม่ได้สนุก หรือมีคุณค่าตรงกับที่เราเชื่อมั่นเสมอไป ตำแหน่งงานที่ดูเผินๆ เหมือนจะดี แต่เนื้องานกลับไม่ใช่สิ่งที่เราคิด หรือบางงานแม้ตรงใจ แต่ก็อาจไม่ได้ทำให้เราเติบโตไปได้ไกลเท่าไหร่ เมื่องานแรกไม่ใช่สิ่งที่เราตั้งใจไว้ จะมีวิธีรับมือยังไงเพื่อไม่ให้เรารู้สึกหมดหวังไปมากกว่านี้บ้างนะ
โลกการทำงานกับสิ่งที่เด็กจบใหม่หลายคนเจอ
อุตส่าห์ตรากตรำเรียนในมหาวิทยาลัยมาตั้งหลายปี อย่างน้อยตอนทำงานก็หวังว่าจะได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาบ้าง ให้สมกับที่อดตาหลับขับตานอนท่องหนังสือมาตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 4
แต่พอถึงเวลาต้องหางานจริงๆ ตำแหน่งงานที่ตรงสายก็ดันได้เงินเดือนสตาร์ทตามเรทเงินเดือนขั้นต่ำเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว คิดยังไงก็ไม่น่าจะพอกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงอย่างทุกวันนี้ ด้วยทางเลือกที่มีไม่มาก บางทีก็อาจจะต้องจำใจรับงานที่อาจไม่ตรงสายไปก่อน แม้ว่าจะห่างไกลกับงานที่ฝันไว้ก็ตาม
การทำงานไม่ตรงสายไม่ได้เกิดขึ้นกับเราคนเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับคนส่วนใหญ่ด้วย จากผลสำรวจปี 2022 ของ intelligent เว็บไซต์สื่อออนไลน์ด้านการศึกษา สำรวจชาวอเมริกันจำนวน 1,000 คน ที่เรียนจบระดับมหาวิทยาลัยหรือปริญญาโท อายุ 25 ปีขึ้นไป พบว่าส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงานตรงกับสาขาที่เรียน มีเพียง 46% เท่านั้นที่ทำงานตรงสาย ส่วน 29% บอกว่าทำงานในสาขาอื่น และ 16% ของคนที่อายุต่ำกว่า 54 ปี ก็บอกว่าตอนนี้พวกเขากำลังว่างงาน
นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบอีกว่ามีคนที่สำเร็จการศึกษา 1 ใน 4 มีรายได้ต่ำกว่าเงินเดือนโดยเฉลี่ย ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่ายังมีอีกหลายคนที่ไม่ได้มีรายได้ตามที่คาดหวัง แม้จะเรียนจนถึงระดับมหาวิทยาลัย จากที่เคยคิดว่าการเรียนจบน่าจะการันตีเงินเดือนที่เพียงพอกับการใช้ชีวิตในเมือง กลายเป็นว่างานที่ตรงสายอาจได้เงินน้อยกว่าที่คาด จึงไม่แปลกที่หลายคนตัดสินใจเปลี่ยนสายงานไปทำงานที่ได้เงินมากกว่า แม้จะไม่ได้ชอบมากก็ตาม และต้องพับเก็บงานที่เคยฝันไว้ไปก่อน
นอกจากงานแรกจะไม่ใช่งานที่ฝันแล้ว การเพิ่งก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานก็มีเรื่องให้ต้องเรียนรู้และปรับตัวอีกมาก โดยเฉพาะความคาดหวังว่าเราจะสามารถแบ่งเวลาจากงานและชีวิตส่วนตัวแบบสมดุล แต่ความจริงกลับไม่ใช่เรื่องง่าย งานมักเข้ามาก้าวก่ายชีวิตส่วนตัวเสมอ มีทั้งแบบที่เข้ามาโดยเต็มใจ และบางครั้งก็ไม่เต็มใจ แต่เพราะอาจไม่ได้มีทางเลือกมาก งานจึงเข้ามาแย่งเวลาอื่นๆ ในชีวิต
บทความจาก The Guardian สำนักข่าวจากอังกฤษอ้างอิงงานวิจัย พบว่าเด็กจบใหม่ หรือคนวัย 18-24 ปี เกือบ 1 ใน 3 หรือคิดเป็น 31% บอกว่าต้องการรักษาสมดุลชีวิตกับการทำงาน หรือมี work-life balance แต่การทำงาน โดยเฉพาะเด็กจบใหม่มักทำได้ยากกว่าที่คิด แม้เราจะอยากเลิกงานตรงเวลาแค่ไหน แต่ความเป็นจริงเราอาจจะเจอพี่หัวหน้ามอบงานชิ้นใหญ่ให้ตอน 17.50 น. ทั้งที่อีกแค่ 10 นาที ก็จะเลิกงานแล้วแท้ๆ ลงเอยแบบนี้ก็มีแต่ต้องทำงานล่วงเวลา
นอกจากงานจะเข้ามากวนชีวิตส่วนตัวแบบไม่เต็มใจแล้ว บางทีเราเต็มใจให้งานมาแย่งเวลาของตัวเองด้วยเหมือนกัน เพราะต้องการพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าเราเองก็สามารถทำงานได้อย่างมืออาชีพ บางทีก็กดดันตัวเองมากเกินความจำเป็น เช่น บอกตัวเองว่าต้องทำงานโดยไม่มีข้อผิดพลาด ทั้งที่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้น หรือบางทีก็รับงานมามากกว่าปกติ เพราะไม่รู้ว่าต้องปฏิเสธยังไง รวมถึงวัฒนธรรมองค์กร การแต่งตัว หรือศัพท์เทคนิคที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนก็ต้องรีบเร่งเพื่อให้ปรับตัวได้ทัน
ความยากก็คือเราต้องเรียนรู้ทั้งหมดนี้ในระยะเวลาสั้นๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่งานแรกของเราจะราบรื่นตั้งแต่ช่วงแรกของการทำงาน จนทำให้เรารู้สึกผิดหวังกับตัวเอง ไม่แปลกที่งานแรกของหลายคนจึงมักไม่ใช่งานที่เรามีความสุขเท่าไหร่
แล้วจะรับมือยังไงกับความคาดหวังอันหนักอึ้งนี้
เพื่อให้เราสามารถบาลานซ์ความคาดหวังของตัวเองกับการทำงานในชีวิตจริง Sinha & Sinha Consultancy บริษัทให้คำปรึกษาด้านอาชีพกับนักศึกษาจนถึงคนเริ่มต้นการทำงาน ซึ่งน่าจะพบเจอปัญหาเหล่านี้อยู่บ่อยครั้งก็ให้คำแนะนำสำหรับเหล่าคนที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตการทำงานไว้ ดังนี้
- เป็นปกติที่งานแรกจะยากเสมอ: ตามแนวคิดเส้นโค้งของการเรียนรู้ (learning curve) แล้ว ช่วงเริ่มต้นเรามักจะเรียนรู้ได้ช้า และต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะคุ้นเคยกับสิ่งใหม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความเชี่ยวชาญจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ใช้เวลาได้น้อยลง ไม่ต้องรีบโทษตัวเองถ้าช่วงนี้เราอาจจะยังมีเรื่องไม่เข้าใจบ้าง ให้เวลาตัวเองสักพักแล้วทุกอย่างก็จะเข้าที่เข้าทางเอง
- งานไม่ได้น่าตื่นเต้นเสมอไป: ใช่ว่าทุกงานจะน่าตื่นเต้น แต่ช่วงแรกที่ยังประสบการณ์ไม่มาก ก็เป็นไปได้ว่าเราอาจจะได้งานที่ค่อนข้างจำเจ อย่างงานเอกสารทั่วไป และยังไม่ได้รับผิดชอบโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็อาจจะลองคิดว่าเป็นงานที่ทำให้ทำเราเชี่ยวชาญทักษะพื้นฐานมากขึ้น ได้แสดงให้เห็นว่าแม้จะเป็นงานเล็กๆ แต่เราก็ทำอย่างตั้งใจ ซึ่งอาจจะเปิดโอกาสให้คนในทีมไว้ใจให้เราได้รับผิดชอบงานที่ท้าทายกว่าเดิมก็ได้นะ
- สร้างความสัมพันธ์อย่างมืออาชีพ: เราไม่ได้ทำงานคนเดียว แต่ยังมีเพื่อนร่วมทีม หรือหัวหน้าคอยช่วยผลักดันให้เราเติบโตขึ้น ช่วยอธิบายงานที่เราไม่เข้าใจ หรือช่วยหาทางออกในวันที่เราทำผิดพลาด นอกจากนี้ความสัมพันธ์ที่ดีจะช่วยให้เราผ่านช่วงเวลาที่ยากๆ ของการทำงานช่วงแรกไปได้อย่างมั่นใจมากขึ้นด้วยนะ การรู้ว่ามีคนซัปพอร์ตอยู่ข้างหลังก็เป็นสิ่งที่ช่วยชุบชูใจให้เราไม่น้อยเลย
- เรียนรู้ว่าความสำเร็จไม่ได้เกิดข้ามคืน: งานแรกเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น การไม่ได้งานที่ตรงใจตั้งแต่ครั้งแรกไม่ได้แปลว่าเราล้มเหลว หรือไม่สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้อีกแล้ว บางทีงานแรกแม้ไม่ได้เป็นงานในฝัน แต่ก็เป็นงานที่เหมาะกับเงื่อนไขชีวิตช่วงนั้นของเราพอดีก็ได้ เช่น ช่วงนั้นเราอาจจะต้องรีบใช้เงิน การมีงานที่ให้เงินเดือนแน่นอนก็อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่ารองานที่ใช่ โดยที่ไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อไหร่ หรืองานนี้อาจไม่ใช่ตัวเลือกแรก แต่เพราะอยู่ใกล้บ้าน ซึ่งสะดวกกับการเดินทางมากกว่า แต่ถึงแม้งานแรกจะห่างไกลจากความฝัน แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะทำสิ่งที่ชอบไม่ได้อีกนี่นา บางทีงานที่ทำอยู่อาจมีประโยชน์กับงานที่เรารักในอนาคตก็ได้
- ไม่ต้องรีบทุ่มให้กับงานมากเกินไป: เป็นธรรมดาที่เราอยากจะทำงานให้ดีที่สุดตั้งแต่ครั้งแรก จนยอมทุ่มเทกับงาน ยอมสละทั้งเวลาพักผ่อนและชีวิตส่วนตัว เพราะไม่แน่ใจว่าจังหวะไหนเราควรปฏิเสธ พูดอย่างไรไม่ให้กลายเป็นคนไม่ดี สุดท้ายก็ตัดปัญหาด้วยการรับงานทำเองจนหมด รู้ตัวอีกทีก็อยู่ในภาวะหมดไฟ ไม่มีแรงจะกลับไปทำตามความฝัน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ จึงไม่เป็นไรเลยที่บางครั้งเราจะยอมรับว่าตัวเองไม่รู้ หรือทำไม่ได้ รักษาขอบเขตงานของตัวเองให้ดี เพื่อที่จะได้มีแรงไว้สู้กับชีวิตผู้ใหญ่ขมปี๋ได้อีกนานๆ
ถึงแม้งานแรกจะเป็นก้าวสำคัญก็จริง แต่ก็ไม่ใช่ก้าวสุดท้ายที่เราจะต้องอยู่ตลอดไป แม้จะไม่อย่างที่คาดหวัง แต่ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้เราไปถึงงานในฝันไว้ก็ได้นะ
อ้างอิงจาก