แต่ละวันก็แทบไม่ได้เจอใคร แถมยิ่งทำงาน Work from home โอกาสที่จะผูกมิตรกับใครก็ยากขึ้นไปอีก พอวันหยุดอยากใช้เวลาพักผ่อนหลังจากที่เหนื่อยล้ามาทั้งสัปดาห์ แฮงค์เอ้ากับเพื่อนก็ทำได้ไม่บ่อยนัก เพราะเวลาที่ไม่ตรงกันทำให้ความสัมพันธ์เริ่มห่างหายกันไป
ความเหงาเริ่มเกาะกินในใจขึ้นทุกวัน ถึงอย่างนั้นการผูกมิตรทำความรู้จักกับใครใหม่ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับชาว Gen Z แม้จะมีโซเชียลมีเดียที่ทำให้เราติดต่อกันง่ายขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีเพื่อนเพิ่มไปด้วยนี่นา
เมื่อไม่นานมานี้หลังจากการฟื้นคืนของการแพร่ระบาดโควิด ชาว Gen Z ถูกยกให้เป็นเจเนอเรชั่นที่เหงาที่สุด (The loneliest generation) เมื่อเทียบกับเจเนอเรชั่นอื่นๆ เพราะช่วงเวลาสำคัญที่พวกเขาจะได้เริ่มเข้าสู่บทใหม่ของชีวิตอย่างการเรียนและการทำงานขาดหายไป สกิลการเข้าสังคมจึงน้อยลงไปด้วย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เหล่า Gen Z ต้องหาวิธีรับมือกับมวลความเหงาก้อนโต ด้วยการนิยามการดูแลตัวเองแบบใหม่ และหาทางเชื่อมโยงกับผู้คนด้วยตัวเอง
นั่นเลยเหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้ Gen Z นิยมชมชอบการเข้าร่วมกลุ่มงานอดิเรก และโอบรับความไม่เพอร์เฟ็กต์ของตัวเองมากขึ้น วันนี้เราจึงชวนไปทำรู้จักไลฟ์สไตล์แบบใหม่ที่อาจทำให้ความเหงาของคนเจเนเรชั่นนี้น้อยลงไปได้บ้างกัน?
ทำไม Gen Z จึงเป็นเจเนอเรชั่นที่เหงาที่สุด?
ไม่ว่าจะหันไปทางไหน เราก็มักได้ยินคนรุ่นใหม่บ่นว่าเหงาอยู่บ่อยครั้ง การผูกมิตรและรักษาความสัมพันธ์ให้คงอยู่ดูเป็นเรื่องยากสำหรับคน Gen Z นั่นเลยทำให้พวกเขารู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ
การที่หลายคนรู้สึกเพื่อนน้อยลงอาจไม่ใช่เรื่องคิดไปเอง เพราะจากการศึกษาที่ว่าด้วยเรื่อง โครงการมิตรภาพของชาวอเมริกัน (The American Friendship Project) ในปี 2024 พบว่าเกินครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม หรือคิดเป็น 51% บอกว่าเป็นเรื่องยากที่ทำความรู้จักเพื่อนใหม่ นอกจากนี้การศึกษาดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นว่าจำนวนเพื่อนของชาวอเมริกันลดลงเรื่อยๆ จากปี 1990 ที่ 1 ใน 3 บอกว่ามีเพื่อนมากกว่า 10 คน แต่พอมาปี 2021 เหลือเพียง 13% เท่านั้นที่บอกว่าตัวเองมีเพื่อนเยอะ ส่วนอีก 12% ระบุว่าตัวเองไม่มีเพื่อนเลย
เพื่อนที่น้อยลงส่งผลให้ความเหงาและโดดเดี่ยวแพร่กระจายไปยังกลุ่มคน Gen Z มากที่สุด จากรายงานของ Cigna Group บริษัทประกันภัยระดับโลกของอเมริกา ปี 2020 ทำแบบสำรวจผู้ใหญ่ชาวอเมริกัน 10,000 คน ระบุว่าคนวัยทำงานรู้สึกเหงาอยู่ตัวคนเดียว (isolated) สูงถึง 61% โดยเฉพาะคนวัยทำงานอายุน้อยต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยวมากกว่าคนทำงานที่อายุมากกว่า ถึง 73%
ไม่เพียงแต่อเมริกา แต่คนรุ่นใหม่ในไทยก็เผชิญกับความเหงาเช่นกัน จากการทำวิจัยการตลาดคนเหงา โดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2020 ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,126 คนก็พบว่ามีคนเหงาในไทยคิดเป็น 40.4% ของประชากร โดยกลุ่มคนที่มีความเหงาสูงสุด คือ วัยทำงาน (อายุระหว่าง 23 – 40 ปี) คิดเป็น 49.3% ของกลุ่มตัวอย่าง
จะเห็นได้ความความเหงาถือเป็นความรู้สึกร่วมกันของคนยุคนี้ จากรายงานของ Cigna Group บอกว่าสาเหตุส่วนใหญ่ของความเหงามาจากการใช้โซเชียลมีเดียถึง 71% ซึ่งลดการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนจริงๆ ของคนเจนนี้ ซึ่งก็สอดคล้องกับ ไรอัน เจนคินส์ (Ryan Jenkins) นักพูดด้านความสัมพันธ์ ที่ระบุถึงสาเหตุของความเหงาของคนเจนนี้ 3 ข้อ คือ
- การถูกกระตุ้นมากเกินไป: คน Gen Z มักถูกกระตุ้นด้วยข่าวและโซเชียลมีเดีย ทำให้เรารู้สึกอยากเชื่อมต่อกับใครสักคนอยู่ตลอด และเบียดบังเวลาที่จะได้เชื่อมต่อกับผู้คนจริงๆ
- โซเชียลมีเดีย: แม้จะขัดแย้งกับหลักฐานที่บอกว่าโซเชียลมีเดียช่วยลดความเหงา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราไม่สามารถทดแทนความสัมพันธ์ในชีวิตจริงด้วยเพื่อนบนโลกออนไลน์ได้ หลายคนจึงยังคงเหงาอยู่ดีแม้จะมีเพื่อนหรือผู้ติดตามมากมายบนบัญชีออนไลน์
- การมีที่พึ่งใหม่: การถ่ายทอดความรู้ไม่ได้มาจากครอบครัว คนรอบข้าง หรือเพื่อนที่ทำงานที่ทำให้เรามีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนจริงๆ เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว แทนที่จะพึ่งพาคนรอบข้าง ส่วนมากพวกเขาเลือกจะขอความช่วยเหลือจากกูเกิล หรือวิธีบนอินเทอร์เน็ตที่สะดวกและรู้สึกผิดน้อยลงต่อการขอความช่วยเหลือนั้นแทน
การรับมือกับความเหงาของ Gen Z
แม้ความเหงาดูเหมือนเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นและหายไปได้เองเมื่อได้พบปะกับผู้คน แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้เอื้อให้คนรุ่นใหม่ได้เจอะเจอใครสักเท่าไหร่ สกิลการเข้าสังคมที่ลดน้อยถอยลง ทำให้พวกเขาลุกขึ้นมากำหนดคำนิยามการดูแลรักษาใจของตัวเองกันใหม่
การดูแลใจตัวเองด้วยการโอบรับความไม่เพอร์เฟ็กต์ และชื่นชมความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวันเป็นหนทางหนึ่งที่เจน Z ใช้รับมือกับความเหงาที่ส่งผลต่อสุขภาพใจของพวกเขา การใช้เวลามากมายไปกับโซเชียลมีเดียอย่างยูทูบ, อินสตาแกรม และ TikTok ไม่ได้ไร้ประโยชน์ซะทีเดียว ด้านหนึ่งมันก็ช่วยให้พวกเขามองเห็นความหลากหลายได้มากกว่าสื่อแบบเดิมๆ ที่มักกำหนดมาตรฐานการดูแลสุขภาพไว้เพียงแบบใดแบบหนึ่ง
รายงานจาก YPulse องค์กรงานวิจัยด้านการตลาดเกี่ยวกับ Gen Z และมิลเลนเนียล ระบุว่าคน Gen Z 76% นิยามความเป็นอยู่ที่ดี อย่างกว้างๆ ว่า “เป็นอะไรก็ได้ที่ทำให้มีความสุข” แทนที่จะคว้าสิ่งที่ไม่มีจริง คนรุ่นใหม่โอบรับความไม่เพอร์เฟ็กต์ของตัวเองมากกว่า อย่างเทรนด์ที่เรามักเห็นบน TikTok ที่มีคอนเทนต์ที่เข้าถึงง่ายมากขึ้น ไม่ต้องพยายามดูแลตัวเองให้เป๊ะทั้งหมด แต่หันมาใส่ใจกับทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ สร้างความสุขหัวเราะให้กับตัวเอง มีกลุ่มที่สร้างขึ้นตามความสนใจด้วยคอนเทนต์สร้างสรรค์ที่ชวนคนมาพูดคุยกัน
นอกจากนี้การยอมรับตัวเองยังถูกพูดถึงหลายแง่มุม เช่น การกล้าพูดถึงสิว ประจำเดือน สุขภาพจิต และสุขอนามัยทางเพศอย่างเปิดเผย เพื่อส่งเสริมการยอมรับตนเอง และตั้งคำถามกับบรรทัดฐานทางสังคมที่ต้องสวยไร้ที่ติด้วย
นอกจากพื้นที่เสมือนจริงบนออนไลน์แล้ว Gen Z ก็หาพื้นที่สำหรับตัวเอง นอกจากที่บ้านและที่ทำงานด้วย ความเหินห่างจากจากสังคมและความโดดเดี่ยว ทำให้พวกเขาต้องการการซัปพอร์ตจากคนที่เข้าใจ หากรุ่นก่อนมีพื้นที่ทางศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจ เหล่าคนรุ่นใหม่ก็สร้างพื้นที่เหล่านั้นขึ้นด้วยเหมือนกัน
การศึกษาจาก Harvard Divinity School พบว่าคนรุ่นมิลเลนเนียล และ Gen Z มีแนวโน้มสร้างความสัมพันธ์ชอบการได้เข้าร่วมกลุ่มตามความสนใจมากขึ้น เช่น เทศกาลดนตรี กลุ่มไพ่ทาโรต์ กลุ่มออกกำลังกายในยิม แฟนด้อม กลุ่มศิลปะ ชมรมคนรักหนังสือ และพื้นที่สร้างสรรค์ เพื่อทำความรู้จักเพื่อนใหม่ จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นกิจกรรมรวมกลุ่มในเมือง และอีเวนต์ช่วงนี้จัดถี่ขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่โรคระบาดได้พรากเอาช่วงเวลาที่ดีที่สุดของคนเจนนี้ไป และเพื่อต่อสู้กับวิกฤตความเหงาด้วย
มีตัวอย่างประสบการณ์ของชาวเจน Z ที่สร้างพื้นที่ของตัวเอง อย่าง มิเชล คอง อายุ 26 ปี บอกว่า เธอรักการเล่นหมากรุก เริ่มแรกเธอไม่มีเพื่อนที่จะเล่นด้วยบ่อยๆ จึงเริ่มเล่นบนออนไลน์ แต่ก็พบว่าเธอไม่ชอบวิธีการเล่นแบบนี้และอยากมีปฏิสัมพันธ์กับคนมากกว่า เธอลองไปหาชมรมหมากรุกแถวบ้านแต่ก็ไม่มีใครที่อายุพอๆ กันเลย เธอจึงหันมา live stream บน TikTok จนคนดูเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และสามารถจัดงานพบปะกันบนพื้นที่จริงๆ ได้ ซึ่งทำให้เธอตระหนักได้ว่าไม่ว่าอย่างไรเราก็ยังต้องการได้เจอหน้าผู้คนจริงๆ อยู่ดี
การดูแลใจในวันที่เหงาทำอย่างไรดี?
ความเหงาไม่เพียงแต่ทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยวเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ความดัน หัวใจ หรือส่งผลต่อจิตใจอย่างโรคซึมเศร้าและวิตกกังวล
ไลฟ์สไตล์ที่หันมาโอบรับตัวเองมากขึ้นและการพบปะคนที่สนใจเรื่องเดียวกันของคน Gen Z กลายเป็นหนทางรับมือกับความเหงาที่สอดคล้องกับคำแนะนำผู้เชี่ยวชาญได้อย่างดี โดย อลิซาเบธ สก็อต (Elizabeth Scott) นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความเครียด ก็ได้เสนอวิธีรับมือกับความเหงาไว้ ดังนี้
- เข้าร่วมคลาสเรียนหรือชมรม: วิธีนี้จะช่วยให้เกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งจากการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มและคลายความเหงาได้
- สมัครเป็นอาสาสมัคร: นอกจากสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งแล้ว การเสียสละเพื่อช่วยเหลือคนอื่นยังทำให้พบความหมายของชีวิต และพึงพอใจกับชีวิตมากขึ้น
- หาคนที่มีความสนใจใกล้เคียงกันบนโลกออนไลน์: หากไม่สะดวกเข้าร่วมกลุ่มในสถานที่ข้างนอก การพบปะทางออนไลน์ก็ถือเป็นอีกทางเลือกที่ดีเช่นกัน เพียงแต่ต้องระมัดระวังการให้ข้อมูลส่วนตัวและการใช้เวลากับหน้าจอนานเกินไป
- หมั่นดูแลความสัมพันธ์ที่มีอยู่เดิมให้แข็งแรงขึ้น: ลองโทรหาเพื่อนเก่า หรือนัดทานข้าวกับครอบครัวให้บ่อยขึ้นก็ช่วยทำให้ความเหงาลดลงได้ การรู้ว่ามีคนคอยสนับสนุนช่วยให้สุขภาพจิตแข็งแรงขึ้นอีกด้วย
- ลองพูดคุยกับคนแปลกหน้า: เวลาว่างลองวางมือถือลง แล้วทักทายคุณป้าร้านข้าว หรืออัปเดตข่าวสารกับคุณลุงที่กวาดใบไม้หน้าบ้าน วิธีนี้ก็เป็นอีกหนึ่งทางที่ทำให้เราเก่งทักษะทางสังคมมากขึ้น
- ฝึกวิธีการดูแลตัวเอง: เวลาซึมๆ ลองหันมาดูแลตัวเองก็ช่วยทำให้เรารู้สึกดีขึ้นนะ อาจเริ่มด้วยการ ลองทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกาย หรือนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก็ใช้ได้แล้ว
- ลองคุยกับนักบำบัด: หากความรู้สึกเหงาอยู่กับเรานานเกินไป ทำทุกทางแล้วก็ยังสลัดความรู้สึกนี้ไม่ออก อาจถึงเวลาที่ต้องขอความช่วยเหลือกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำให้กายและใจเรากลับมาแข็งแรงอีกครั้ง
แต่ละเจเนอเรชั่นต่างเผชิญกับเงื่อนไขทางสังคมและเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไป ทำให้มุมมองและวิธีดูแลสุขภาพกายใจแตกต่างไปด้วย แต่ไม่ได้แปลว่าวิธีของใครดีกว่าของใคร เพียงแค่เราต้องหาวิธีรับมือในแบบที่เหมาะกับตัวเองเท่านั้นเอง
อ้างอิงจาก