นี่เรากลายเป็นคนแบบนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่กันเนี่ย!
เป็นที่รู้กันว่า อุปนิสัยและความชื่นชอบส่วนตัวมักชักนำเราไปสู่งานที่ใช่ อาชีพที่ชอบ เพราะถ้าหากไม่มีความจำเป็นจริงๆ ก็คงไม่มีใครอยากฝืนทำงานที่ไม่ตรงกับความสนใจของตัวเอง
ในทางกลับกัน เชื่อมั้ยว่างานที่เราทำอยู่ทุกวันก็ส่งผลย้อนไปยังบุคลิกภาพและตัวตนของเราด้วย หรือพูดง่ายๆ คือ ไม่ใช่แค่นิสัยที่พาเราไปหางาน แต่งานเองก็ค่อยๆ เปลี่ยนนิสัยของเราเช่นเดียวกัน
ข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 มีคนไทยกว่า 16.9 % ที่ต้องทำงานมากกว่าสัปดาห์ละ 50 ชั่วโมง ซึ่งหากเรานับว่าเสาร์อาทิตย์เป็นวันหยุด ก็จะเท่ากับทำงานกว่าวันละ 10 ชั่วโมงเลยทีเดียว และเมื่อทำการหักลบเวลาพักผ่อนออกไปด้วย เราก็คงพอพูดได้กลายๆ ว่าการทำงานแทบจะเป็นส่วนใหญ่ของกิจวัตรประจำวัน ถึงขั้นที่เรียกว่า คนไทยอยู่กับงานมากกว่าอยู่กับชีวิตของตัวเองเสียอีก
เพราะฉะนั้น มันก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกหากแต่ละวินาทีที่เราหมดไปกับการประกอบอาชีพจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพ หล่อหลอมอุปนิสัย และปลูกฝังความคิดใหม่ๆ โดยที่เราเองก็อาจจะไม่รู้ตัว
บุคลากรทางการแพทย์มากมายอดไม่ได้ที่จะตักเตือนเมื่อเห็นใครสักคนใช้ชีวิตโดยไม่ห่วงสุขภาพ มีนักพิสูจน์อักษรหลายคนติดนิสัยมองหาคำที่สะกดผิดทั้งที่อยู่นอกเวลางานไปแล้ว หรือคนที่เป็นทันตแพทย์ก็มักจะสังเกตรอยยิ้มของคนรอบข้างเป็นพิเศษ เพราะนั่นคือสิ่งที่เธอต้องใส่ใจในช่วงเวลางาน
เหล่านี้คือตัวอย่างทั่วไปซึ่งชี้ว่า หน้าที่การงานส่งผลต่อตัวตนนอกเวลางานของเราด้วย และนอกจากตัวอย่างเหล่านี้ก็มีการทดลองอีกมากที่พอจะพิสูจน์ข้อสันนิษฐานที่ว่าได้อย่างมีนัยสำคัญ
องค์กรด้านบุคลิกภาพและจิตวิทยาสังคมอย่าง The Society for Personality and Social Psychology ได้ลงพื้นที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการด้านลักษณะนิสัยและบุคลิกภาพของประชากรในรัฐฮาวายกว่า600 คนที่เปิดเผยอาชีพของตนเองเป็นเวลากว่า 50 ปี ซึ่งผลการสำรวจพบว่า อาชีพคือหนึ่งในปัจจัยที่สามารถกำหนดอุปนิสัยในอนาคตของผู้คนได้
ขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลของ เริ่มต้นจากการประเมินบุคลิกภาพ 5 องค์ประกอบหรือที่เรียกกันว่า ‘Big 5 Personality Factor’ โดยแบ่งได้เป็น
- Openness – การเปิดรับประสบการณ์
- Conscientiousness – การมีจิตสำนึก
- Extraversion – การเปิดเผยตนเอง
- Agreeableness – ความเป็นมิตร
- Emotional Stability – ความมั่นคงทางอารมณ์
จากนั้นก็ใช้เกณฑ์ของฮอลแลนด์ (Holland’s Model of Occupations) จำแนกอาชีพออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่
- Realistic – งานที่ลงมือทำสำเร็จได้ด้วยตนเอง
- Investigative – งานที่เน้นการแก้ไขปัญหา ค้นคว้าข้อมูล
- Artistic – งานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และการแสดงออก
- Social – งานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลและช่วยเหลือผู้อื่น
- Enterprising – งานด้านการค้าและการทำธุรกิจ
- Conventional – งานที่มุ่งเน้นการให้บริการ
และเมื่อนำข้อมูลบุคลิกภาพมาวิเคราะห์ร่วมกับประเภทของอาชีพที่แต่ละคนทำ ก็นำมาซึ่งความเชื่อมโยงที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น คนที่ทำงานด้านการค้นคว้าวิจัยและด้านการใช้ความคิดสร้างสรรค์จะกลายเป็นคนที่เปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ ได้ง่ายกว่าผู้ที่ประกอบอาชีพด้านอื่น ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการดูแลช่วยเหลือจะมีแนวโน้มกลายเป็นคนที่เป็นมิตรและกล้าเปิดเผย หรือคนที่ทำงานแบบพึ่งพาตัวเองมีโอกาสจะกลายเป็นคนที่มีความเป็นมิตรน้อยลง
ซึ่งหลายความเปลี่ยนแปลงที่ว่ามานี้ก็แทบไม่เกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพในวัยเด็กของแต่ละคนด้วย พูดง่ายๆ ก็คือในวัยเด็ก บางคนอาจเคยมีบุคลิกภาพแบบหนึ่ง แต่เมื่อประกอบอาชีพหนึ่งไปสักพัก ลักษณะนิสัยของก็เปลี่ยนไปตามงานที่ทำ
ลักษณะงานและตำแหน่งหน้าที่
นอกเหนือไปจากผลการสำรวจข้างต้น เนื้องานที่ทำก็ส่งผลต่อการแสดงออกนอกเวลางานของเราได้จริงๆ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้นอาชีพนักแสดงที่หลายครั้งพวกเขาก็ไม่สามารถก้าวออกจากบทบาทที่ตัวเองรับบทได้
“ผมกลายเป็นสิ่งอื่นไปแล้วในเวลานั้น ไม่ได้เป็นตัวเองอย่างสมบูรณ์ เวลาพูดเรื่องนี้ทีไรผมรู้สึกเหมือนกำลังขุดหลุมฝังศพให้ตัวเองทุกครั้งเลย เพราะมันอันตรายเอามากๆ”
คือคำที่ แดเนียล เดย์-ลูวิส (Daniel Day-Lewis) นักแสดงเจ้าบทบาทผู้การันตีฝีมือด้วยรางวัลนับไม่ถ้วนเคยให้สัมภาษณ์ไว้ถึงราคาที่ต้องจ่ายในฐานะนักแสดง และจากข้อความที่เขากล่าว เราก็สัมผัสได้ไม่ยากว่าอาชีพนี้ได้กัดกินตัวตนของเขาไปอย่างมหาศาล หรือต่อให้นิสัยไม่ได้เปลี่ยนไปทั้งหมด อย่างน้อยในช่วงเวลาหนึ่ง เขาก็ไม่ใช่คนเดียวกับเมื่อครั้งก่อนที่จะทำอาชีพนี้
‘แต่ฉันไม่ใช่นักแสดงหนิ’
หลายคนอาจจะกำลังตั้งแง่ แต่จนแล้วจนรอด ลักษณะงานที่ทำย่อมส่งผลต่ออุปนิสัยใจคอของเราไม่มากก็น้อย ลองนึกภาพตัวเองที่แต่ก่อนอาจจะเป็นคนชอบเข้าสังคมพอสมควร แต่เมื่องานที่ทำไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ ไม่ได้พบปะเพื่อนร่วมงานบ่อยๆ รู้ตัวอีกที เราก็กลายเป็นคนที่คุ้นชินกับการใช้ชีวิตคนเดียวไปเสียแล้ว หรือกับบางคนก็อาจจะสลับกัน นั่นคือทีแรกชอบอยู่คนเดียว แต่พอได้ผ่านร้อนผ่านหนาวร่วมกับเพื่อนร่วมงาน จู่ๆ ก็กลายเป็นคนสนุกสนาน ชอบอยู่กับคนเยอะๆ ไปซะงั้น
นอกจากนี้ ตำแหน่งงานเองก็เป็นปัจจัยสำคัญ โดยหนึ่งในงานวิจัยของ บาร์ต วิลล์ (Bart Wille) กับฟิลิป เดอ ฟรุยต์ (Filip De Fruyt) ในปี 2012 รายงานว่า คนที่อยู่ในตำแหน่งที่ต้องบริหารหรือต้องสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับผู้อื่น จะกลายเป็นคนที่มั่นใจและกล้าเปิดเผยมากขึ้น
งานที่ใช่ อาชีพที่ไม่ชอบ มีผล!
นอกจากตัวงานและตำแหน่งแล้ว อีกหนึ่งสาเหตุที่มีส่วนในการขัดเกลาอุปนิสัยของเราให้ไม่เหมือนเดิมเกิดจากความรู้สึกที่เรามีต่องานนั้นๆ
เล่าให้เห็นภาพชัดๆ อ้างอิงจากเว็บไซต์ Psychology Today คือผู้ที่รู้สึกพึงพอใจในงานที่ตัวเองทำจะมีแนวโน้มมองโลกในแง่ดี มองเห็นคุณค่าในตัวเอง และยิ่งถ้ารู้สึกพึงพอใจในเงินเดือนที่ได้รับก็จะยิ่งมีความมั่นคงทางอารมณ์มากกว่า ต่างกันกับผู้ที่ไม่พึงพอใจในงานของตัวเอง ย่อมนำไปสู่ความเครียดและความกดดันที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงในเวลางาน หรือหากรู้สึกว่าสถานะทางอาชีพของตัวเองไม่มั่นคงก็ย่อมส่งผลให้ไม่สามารถวางแผนชีวิตของในระยะยาวได้ เริ่มหวาดระแวงและมองโลกในแง่ร้ายมากขึ้น
และสิ่งสุดท้ายที่ตอกย้ำว่า หน้าที่อาจส่งผลต่อเราไปจนถึงหลังเวลาที่งานเลิกก็คือสภาพแวดล้อมต่างๆ ในที่ทำงาน เช่น หากเรามีหัวหน้าที่เปิดกว้าง ให้อำนาจในการตัดสินใจ ก็จะทำให้เราเป็นคนที่มีความมั่นใจ มีภาวะผู้นำ สามารถเลือกสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างไม่ลังเล ตรงข้ามกับเจ้านายที่ให้เราเป็นผู้ตามในทุกครั้ง พอถูกห้ามปรามและปฏิเสธมากเข้าก็อาจเปลี่ยนเราให้ขาดความมั่นใจ รู้สึกว่าตัวเองบกพร่อง และอาจไม่กล้าตัดสินใจกระทั่งเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน
หรือทางฝั่งของเพื่อนร่วมงานเองก็มีอิทธิพลอย่างมากเช่นกัน เพราะหลากคำพูด หลายประโยค เราก็ติดมาจากคนกลุ่มนี้นี่แหละ
ทั้งหมดทั้งมวล ชี้ให้เห็นว่าหน้าที่การงานและสภาพแวดล้อมของการทำงานก็เป็นอีกองค์ประกอบของชีวิตที่หล่อหลอมให้เราเป็นเราเหมือนเช่นทุกวันนี้ ไม่แปลกที่มันจะเปลี่ยนแปลงตัวเราไปจากเมื่อวาน แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าบุคลิก อุปนิสัย และตัวตนที่ไม่เหมือนเดิมนี้คือสิ่งที่เราต้องการจริงๆ หรือไม่
ถ้าเราคนใหม่คือเวอร์ชั่นที่ดีกว่าและพาให้เรารักตัวเองมากขึ้น นั่นย่อมเป็นเรื่องดีที่หน้าที่การงานมอบแก่เราในฐานะผลพลอยได้ แต่หากสิ่งที่เปลี่ยนไปคือนิสัยที่เราเกลียด คือผู้ใหญ่ในแบบที่เราไม่เคยชอบ คือมนุษย์ที่เพื่อนไม่อยากเข้าใกล้ ก็คงถึงเวลาที่เราต้องกลับมาทบทวนตัวเองใหม่อีกครั้งว่า
เราจะอยู่กับอาชีพนี้อย่างไรให้ไม่สูญเสียตัวตน หรือเราไม่ควรอดทนและต้องเปลี่ยนงานสักที
อ้างอิงจาก