“ถ้าเราเอาข้อมูลอะไรก็แล้วแต่ที่เกี่ยวกับมนุษย์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาพล็อตเป็นกราฟ ค่าต่างๆ จะสูงขึ้นทั้งหมด คุณภาพชีวิต รายได้ต่อหัว การเข้าถึงน้ำสะอาด อายุไขเฉลี่ย ทุกเรื่องดีขึ้น ยกเว้นอย่างเดียวคือค่าความสุขโดยรวม เพราะคนในปัจจุบันเครียดกว่าคนในอดีตมาก”
นี่คือประโยคที่ตรึงความสนใจของเราได้อย่างหมดจด เป็นข้อมูลซึ่ง ดร.ปัง—เพิ่มสิทธิ์ นำประสิทธิผล นักจิตวิทยาที่ปรึกษาอธิบายให้เราฟังในช่วงต้นของการสัมภาษณ์
เราได้เจอดร.ปังครั้งแรกเมื่อ 3 ปีก่อน ตอนนั้นเราเป็นนักศึกษาผู้ลงเรียนวิชา Designing Your Life ที่มี ดร.ปังเป็นอาจารย์ และประสบการณ์จากห้องเรียนออนไลน์ในวันนั้น ก็ช่วยให้เรามองเห็นชีวิตของตัวเองได้ชัดเจนและครอบคลุมกว่าที่เคย
หนึ่งในกิจกรรมที่เราชอบมากคือการให้แต่ละคนลองไล่เรียงสิ่งที่ตัวเองกลัวออกมาบนหน้ากระดาษ ตั้งแต่เด็กจนโต เราไม่เคยเห็นภาพรวมความกลัวของตัวเองมากเท่าวันนั้นมาก่อน เป็นการทบทวนและตั้งคำถามกับตัวเองว่า จริงๆ แล้วฉันหวาดระแวงสิ่งพวกนี้เพราะอะไรกันแน่
ดร.ปังยังคงสอนวิชา Designing Your Life เรื่อยมาตลอด 3 ปี ในขณะที่เราเปลี่ยนบทบาทจากนิสิตสู่ first jobber
เราพบเจอความท้าทายใหม่ๆ เจอปัญหาวัยทำงานที่ยังแก้ไม่ตก หลายครั้งหลายคราวถูกห้อมล้อมไปด้วยความเครียดไม่ต่างจากประโยคข้างต้นที่ดร.ปังได้พูดไว้
และเพราะแบบนี้เอง เราจึงมองว่านี่คือจังหวะเวลาอันดีที่จะชวน ดร.ปัง ที่ตอนนี้ทำเฟซบุ๊กแฟนเพจชื่อ Mind Memo มาพูดคุยอีกครั้ง ด้วยความเชื่อมั่นอันเต็มเปี่ยมว่า ไม่ได้มีแค่เราคนเดียวที่กำลังเผชิญหน้ากับสารพันปัญหาในโลกการทำงาน เพราะคนรอบตัวของเราเอง บ้างก็ไม่ชอบงานที่ทำ บ้างอยากลาออกจากงานประจำ และบ้างก็อยากพักผ่อน แต่พอเริ่มนอน ดันรู้สึกผิดขึ้นมาซะงั้น
“วิชาที่คนต่อแถวเรียนมากที่สุดในมหาวิทยาลัยระดับโลก ไม่ใช่วิชาเคมีขั้นเทพหรือธุรกิจระดับสูง แต่เป็นวิชารู้จักตัวเอง ออกแบบชีวิต ทำยังไงให้ไม่เครียด”
การเริ่มบทสนทนาเพียงแค่นั้น เราก็วาดหวังทันทีว่า ศาสตร์ Designing Your Life ที่จะได้รับฟังต่อจากนี้จะมีประโยชน์กับผู้ที่ชีวิตเต็มไปด้วยความลังเล แม้ปัญหาจะไม่ได้คลี่คลายง่ายเหมือนดีดนิ้ว แต่อ่านแล้ว หวังว่าทุกคนจะมีวิธีคิดหรือเครื่องมือบางอย่างในการแก้โจทย์ชีวิตของตัวเองเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ขอเปิดบทสัมภาษณ์แบบตีหัวเข้าบ้านก่อนเลย ถ้าใครสักคนเริ่มรู้สึกว่า ‘ไม่ชอบงานนี้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะลาออกดีมั้ย’ จะแนะนำเขาว่าอย่างไรดี
เจอประจำเลยครับคำถามนี้ แต่ก่อนจะแนะนำ ต้องบอกก่อนว่า คนวัยทํางานส่วนใหญ่ เวลาเจอปัญหาที่เกี่ยวกับการทำงาน ลาออกจะเป็นทางออกที่เด้งขึ้นมาในหัวเร็วที่สุด เห้ย ถ้าไม่ชอบก็ออกดีกว่า ซึ่งในทาง Designing Your Life อาจจะต้องบอกว่า นี่ไม่ใช่โจทย์ที่ถูกตั้งแต่แรก เพราะการไม่มีความสุขกับงานเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย อาจจะเป็นเพราะเงินไม่ดี เพื่อนร่วมงานไม่คลิก เจ้านายไม่น่ารัก หรือเราอาจจะแค่เบื่อกับสิ่งที่เคยทำได้ดีก็ได้ เพราะฉะนั้น ถ้ามองกันจริงๆ เราอาจจะไม่ได้มีทางแก้แค่การลาออก ไม่ได้บอกว่าห้ามลาออกนะ แต่ถ้าเป็นเรา เราก็จะแนะนำให้เขาทบทวนตัวเองอีกทีว่าสาเหตุที่แท้จริงคืออะไร แล้วมันแก้ทางไหนได้บ้าง
มีตัวอย่างทางแก้อื่นๆ มั้ย
อย่างเช่น เห้ย ตัวงานไม่สนุก แต่ยังมีภาระครอบครัวอยู่ เราก็อาจจะต้องลองออกแบบดูว่าจะหาความสนุกอื่นๆ ได้ยังไง แก้ในเนื้องานได้รึเปล่า ลองหาอย่างอื่นทำเพิ่มเติมมั้ย หรือว่าจะลองเปลี่ยนความสำเร็จมาเป็นตัวเงินแทน อย่างน้อยก็เป็นการหาเป้าหมายให้งาน เข้าใจนะว่าอาจจะไม่ได้สนุกเท่าก่อน แต่ในเมื่อมีภาระ มันก็จำเป็นต้องหาวิธีคิดที่เหมาะกับเรา
ประโยคหนึ่งที่เราพูดบ่อยตอนสอน Designing Your Life คือ สมองของมนุษย์แก้โจทย์เก่ง แต่ตั้งโจทย์ไม่เก่ง เพราะงั้น ถ้าเราตั้งโจทย์ว่าจะลาออกดีมั้ยตั้งแต่ต้น คําตอบก็จะมีแค่ ดี-ไม่ดี ดี-ไม่ดี ไปเรื่อยๆ ทั้งที่จริงๆ เราอาจจะมีตัวเลือกอื่นๆ อีกเยอะ เพราะแบบนี้ถึงมีคำที่คนชอบพูดกันเล่นๆ ว่า ‘คนบ่นไม่ออก คนออกไม่บ่น’ เพราะการบ่น ในมุมหนึ่งก็เป็นการคิดทบทวนล่ะมั้งว่าควรออกมั้ย หรือมีทางเลือกอื่นๆ ที่เป็นไปได้อีกรึเปล่า
แล้วก็จากสถิตินะ อาจจะไม่ทุกเคส แต่คนทำงานหลายคนไม่กล้าเปิดใจคุยกับหัวหน้า มันคือเส้นผมบังภูเขา เราแค่กลัว ไม่กล้า รู้สึกว่าคุยไม่ได้ แต่หลายคน พอได้คุยก็อาจจะเจอทางออกที่ดีกว่าการลาออก อ้าว ไม่ชอบงานนี้เหรอ งั้นเดี๋ยวผมเอาให้คนอื่นทำแทน กลายเป็นปรับกันได้ ไม่ใช้ทุกปัญหาที่เราต้องแก้ด้วยตัวเอง การพูดคุยอาจจะช่วยแก้ปัญหาได้
ทั้งหมดที่เล่ามาว่าด้วยศาสตร์ Designing Your Life จริงๆ แล้วศาสตร์นี้คืออะไรกันแน่
Designing Your Life คือศาสตร์ที่มองว่า ชีวิตเป็นโจทย์ที่ต้องการการแก้อยู่ตลอดเวลา ส่วนตัวเราคิดว่า มันเวิร์กมากๆ สำหรับคนที่จบจากระบบการศึกษาแล้ว เพราะตอนที่ยังเรียนอยู่ ชีวิตของเรายังถูกตีกรอบ มีเส้นทางชัดเจน เรารู้ว่าสเต็ปต่อไปคืออะไร จบ ม.2 ต้องต่อ ม.3 จบปี 3 ต้องต่อปี 4 แต่หลังเรียนจบ เส้นทางมันกว้างมาก ไม่มีคำตอบที่ถูกที่สุด ในแง่หนึ่งก็น่าสนุก แต่ในแง่หนึ่งก็ยาก และถ้าถามว่า เส้นทางของใครดีกว่าก็คงตอบไม่ได้ เพราะแต่ละคนก็มีนิยามความสำเร็จในแบบของตัวเอง ศาสตร์ Designing Your Life คือการใช้เครื่องมือทางจิตวิทยาต่างๆ ในการแก้โจทย์ชีวิตของแต่ละคน เช่น ไม่แฮปปี้เพราะ Work-Life Balance ไม่ดี จะมีเครื่องมือไหนช่วยแก้ ช่วยวิเคราะห์ตัวเองได้บ้าง
เครื่องมือในที่นี้มีหน้าตายังไง
ส่วนมากเครื่องมือของ Designing Your Life จะอยู่ในรูปแบบของเทมเพลต แต่สิ่งที่ดีคือทุกเครื่องมือมีงานวิจัยรองรับ วิชานี้ถูกสอนครั้งแรกโดย คุณบิลล์ เบอร์เน็ต (Bill Burnett) ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ถ้าสแตนฟอร์ดจะเปิดวิชาหนึ่งขึ้นมา เขาไม่สามารถแบบว่า เห้ย มาทำแบบนี้กันเถอะ อันนี้ดีนะ ไม่ได้ เขาต้องศึกษามาพอสมควร ซึ่งพอเราได้อ่านดูก็รู้สึกว่ามันสมเหตุสมผลมากๆ เช่นเครื่องมือ Life Dashboard ที่มีไว้ทบทวนตัวเองรายสัปดาห์ อย่างปกติ ถ้ามีคนถามว่า “สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสัปดาห์ที่ดีมั้ย” เราก็อาจจะตอบว่า “โอเคนะ” หรือ “ไม่ค่อยดี” แต่มันไม่เห็นเป็นภาพ ซึ่งเครื่องมือ Life Dashboard จะให้เราลองแบ่งส่วนต่างๆ ของชีวิตออกเป็น 4 ด้าน แล้วทำการให้คะแนน โดยแบ่งเป็น Work (การทำงาน) Play (อะไรก็ได้ที่ทำแล้วมีความสุข) Love (ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง) และ Health (สุขภาพ)
การให้คะแนนความพึงพอใจในแต่ละด้านจะช่วยให้เราเห็นตัวเองชัดขึ้น เป็นรูปธรรมกว่าการตอบแค่ว่า “โอเคนะ” เพราะ “โอเคนะ” มันไม่มีไส้ใน การได้เห็นไส้ใน 4 ด้านจะช่วยให้เราวางแผนสัปดาห์ต่อไปได้ดีขึ้น คิดต่อได้ว่า ถ้าอยากให้ Work ดีขึ้น ควรปรับตรงไหน ถ้าอยากมีเวลากับคนรอบข้างมากขึ้น ควรปรับการใช้ชีวิตยังไง
แต่เกณฑ์การให้คะแนนของแต่ละคนก็แตกต่างกัน
ใช่ และมันไม่เป็นไรเลย ไม่มีคำตอบไหนที่ถูกหรือผิด เราเจอมาทุกเคสนะ เช่น Work ได้ 1 Play ได้ 7 Love ได้ 10 Health ได้ 10 แต่พอถามเขาว่าสัปดาห์หน้าอยากเพิ่มด้านไหน หลายคนอาจจะเดาว่า ก็ต้อง Work สิ เพราะ Work 1 แปลว่าหน้าที่การงานไม่ดี แต่คนนั้นกลับตอบว่าอยากเพิ่ม Play เพราะเขาประเมินตัวเองแล้วว่า ยังไงช่วงนั้นก็ยังปรับแก้เรื่องงานไม่ได้ ซึ่งก็โอเค ตราบใดที่มันทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น ทำไมจะไม่ทำล่ะ มันไม่จำเป็นต้องเพิ่มด้านที่คะแนนน้อยที่สุดสักหน่อย
เท่าที่ฟังมา เหมือนว่าแต่ละคนก็เหมาะกับเครื่องมือและวิธีประเมินผลที่แตกต่างกันออกไป
ใช่ เพราะแต่ละคนก็มีโจทย์ที่แตกต่างกัน แล้วเครื่องมือแต่ละอันก็เหมาะสำหรับแก้โจทย์คนละอย่าง เราไม่เชื่อเรื่อง ‘One Size Fits All’ มันชื่อ Designing Your Life ก็แปลว่า จงออกแบบในแบบที่คุณเป็น เพราะงั้น เราจะไม่มีการพูดกันในทำนองที่ว่า “ทำแบบนี้สิ ดีนะ ลองมาแล้ว” หรือ “นี่คือ 6 ขั้นตอนสู่ความสําเร็จ ใครทำตามก็สำเร็จ”
นี่คือจุดที่ทำให้ Designing Your Life แตกต่างจาก Life Coach หรือเปล่า
ต้องให้ความชอบธรรมกับคำว่า Life Coach ด้วยนิดหนึ่ง เพราะส่วนตัว เราคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับคําว่า Life Coach ไม่ถูกต้อง หลายคนปนกันระหว่างสิ่งที่เรียกว่า Motivational Speaker กับ Life Coach
Motivational Speaker จะเป็นคนที่พูดปลุกพลัง ออกมาบอกว่าทำแบบนี้สิดี ทำแบบนั้นสิดี ซึ่งก็ไม่ผิด ทุกคนมีอาหารจานโปรดของตัวเอง บางคนชอบฟังคำพูดเหล่านี้ แต่ก็ไม่ผิดเหมือนกันที่หลายคนจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ชอบ ส่วน Life Coach หน้าที่จริงๆ คือการช่วยแก้โจทย์ให้กับคน แต่ส่วนมากจะทำทีละคน นั่งคุยกับลูกค้า ช่วยกันดูว่าควรแก้ปัญหาชีวิตยังไง แต่ปัญหาตอนนี้คือประเทศเราเหมารวม 2 สิ่งนี้เป็นสิ่งเดียวกัน และคนที่เป็น Motivational Speaker ก็ดันเรียกตัวเองว่า Life Coach ด้วย
แล้วถามว่าคนที่สอน Designing Your Life คล้ายกับ Life Coach มั้ย มีส่วน แต่ที่แน่ๆ มันไม่เหมือน Motivational Speaker เราจะไม่ตั้งตัวเป็นกูรู เป็นผู้เชี่ยวชาญ เราก็เป็นคนทั่วไป ก็มีทั้งวันที่ดีและแย่ แต่ที่เรามีคือเราพอรู้ว่าเครื่องมือทางจิตวิทยาทำงานยังไง แล้วเราพอจะแนะนำได้ว่า เขาจะเอาเครื่องมือนี้ไปปรับใช้ยังไงกับชีวิตของตัวเอง
แล้วมาสนิทกับศาสตร์ Designing Life ได้ยังไง
เราเป็นนักจิตวิทยา แล้วส่วนตัวก็ชอบจิตวิทยาเชิงบวก ก็มีโอกาสได้อ่านหนังสือจิตวิทยาหลายเล่ม จนได้มาเจอหนังสือที่ชื่อ Designing Your Life ของ คุณบิลล์ เบอร์เน็ต (Bill Burnett) เราอ่านแล้วชอบมาก เขารวบรวมหลายทฤษฎีทางจิตวิทยา นำมาร้อยเรียง แถมยังให้เครื่องมือที่นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ มันดีที่สุดในรอบ 10 ปีสำหรับเราเลย แล้วพอดีช่วงนั้นเรากำลังสับสนกับชีวิตของตัวเอง ไม่รู้ว่าควรเอายังไงต่อดี เลยมีความคิดที่จะเรียนปริญญาโทอีกใบที่อเมริกา ซึ่งในช่วงที่บินไปดูมหาวิทยาลัย เราถือโอกาสนั้นแวะไปหาคุณบิลล์ด้วย บุ่มบ่ามมาก ไม่รู้จักกัน แต่ก็เข้าไปคุย ไปๆ มาๆ สรุปได้ลงเรียนคลาสที่เขาเปิดสอนนอกสแตนฟอร์ด ปรากฏว่าพอได้เรียนก็ยิ่งชอบ ก็เลยขออนุญาตคุณบิลล์ เอาศาสตร์นี้มาเผยแพร่ต่อในไทย สอนในจุฬาฯ บ้าง จัดเวิร์กช็อปข้างนอกบ้าง
เพราะอะไร บิล เบอร์เน็ตต์ถึงยอมให้คุณนำศาสตร์นี้มาสอน
เออ…(นิ่งไป) นั่นสินะ อันนี้ก็ตลกดี เขาคงเห็นความบ้าของเรามั้ง เราไปเคาะประตูออฟฟิศเขา เราไม่ใช่เด็กสแตนฟอร์ด แต่ก็เดินเข้าไป บอกเขาว่าอยากคุย ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะเอามาสอนหรืออะไรเลย แค่ว่าเราชอบหนังสือมาก อยากจะรู้จักนักเขียนที่เก่งมากๆ คนนี้ แล้วก็ One Thing Leads to Another พอคุยเสร็จปุ๊บ ถูกคอ เขาก็บอกว่าเขาสอนนะ อยากเรียนมั้ยล่ะ เอ้า ก็เรียนสิ หลังเรียนจบก็ติดต่อกันทางอีเมลล์ เราก็ถามเขาว่าอยากมาเมืองไทยมั้ย เขาก็ตอบ ไปสิๆ ตอนนั้นแหละที่เราถามเขาว่ามีแผนจะสอนวิชานี้ในเอเชียบ้างรึเปล่า เขาบอกยังไม่มี เราเลยพูดไปว่าขอทำได้มั้ย ซึ่งเขาก็ให้เราลอง
ฟังดูง่ายจัง
เราว่าน่าจะเป็นเพราะคุณบิลล์เอาศาสตร์ Designing Your Life มาใช้ในชีวิตจริงด้วย ซึ่งเครื่องมือหนึ่งของศาสตร์นี้คือ Prototype หรือการสร้างต้นแบบอะไรบางอย่าง วิชานี้ยังไม่เคยมีสอนในไทย ในเอเชีย ตัวคุณบิลล์เองก็ยังไม่สะดวกมาสอน และในเมื่อมีคนอยากลอง เออ ก็ลองสิ ไม่เสียหาย สนุกจะตาย จนตอนนี้ เราสอนที่จุฬาฯ มา 10 เทอมแล้ว ก็พอจะบอกได้นะว่าเป็นศาสตร์ที่เป็นที่ต้องการพอสมควร และช่วงหลังก็เริ่มไปตามองค์กรรัฐ องค์กรเอกชนด้วย
ระบบการศึกษาไทยอาจไม่มีเวลาให้เราค้นหาตัวเองมากนัก หลายคนรู้แค่ว่าตัวเองไม่ชอบอะไร แต่ไม่รู้เลยว่าตัวเองชอบอะไรกันแน่ พวกเขาควรแก้โจทย์นี้ยังไงดี
จริงๆ การรู้ว่าเราไม่ชอบอะไรก็เป็นการรู้แบบหนึ่งนะ ดีออก อย่างน้อยก็ตัดตัวเลือกได้ ส่วนหลังจากนั้นก็อาจจะลองทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ให้ตัวเองรู้มากขึ้น ลองแล้วชอบก็ดีเลย แต่ถ้าลองแล้วไม่ชอบ ก็ได้ตัดตัวเลือกเพิ่ม เราไม่สามารถรู้ตัวเองผ่านการนั่งคิดเพียงอย่างเดียวได้ คงรู้ได้บางอย่างแหละ แต่ไม่ทั้งหมด ก็ต้องออกไปลอง
ถ้าง่ายขนาดนั้น หลายคนก็คงออกไปลองกันแล้ว แต่ดูเหมือนว่าความจริงจะไม่เป็นแบบนั้นนะ
ศาสตร์ Designing Life บอกว่า การลองที่ดีคือการคุยให้ถูกคนกับลองให้ถูกอย่าง ที่เรารู้สึกว่ามันยากเป็นเพราะหลายครั้งเราพยายามแก้โจทย์ด้วยประสบการณ์ของตัวเอง ที่จริงๆ ก็มีจำกัด หลายครั้งเราคิดไปแล้วว่า ถ้าเจอปัญหา เราต้องแก้ปัญหานั้นด้วยตัวเอง แต่บางปัญหา เราก็แก้ด้วยตัวเองไม่ได้ การได้ลองคุยกับใครสักคน กลุ่มสักกลุ่ม มันอาจช่วยอะไรเราได้บ้าง ไม่มากก็น้อย ไม่ได้ลอง อย่างน้อยก็ได้คุย ได้ถาม
หลายคนอาจจะรู้สึกว่า การคุยกับคนอื่นไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่ายๆ กลัวบ้าง อายบ้าง
สิ่งที่ประเทศเราขาดอาจจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย คนไทยบางคนมองว่า การถามหรือการขอความช่วยเหลือเป็นเรื่องยาก ซึ่งไม่แปลกที่เราจะมองแบบนั้น แต่อย่างเราเองที่สอน Designing Your Life เราพยายามสร้างห้องเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย อยากให้ทุกคนกล้าเล่าปัญหา กล้าแชร์ความต้องการของตัวเอง สมมติมีหนึ่งคนในห้องอยากรู้เรื่อง Shopee เชื่อเถอะว่าต้องมีสักคนแหละที่ช่วยให้ข้อมูลอะไรเขาได้
ดังนั้น ถ้ามีพื้นที่ปลอดภัยให้ได้คุย ได้ลอง เราว่ามันช่วยให้คนเราดีขึ้นได้จริงๆ ไม่งั้นคงไม่มีอาชีพที่เรียกว่านักจิตวิทยาหรอก หรือถ้าปัญหาแก้ได้ที่ตัวเองหมด โลกนี้อาจจะไม่มีศาสนาเลยก็ได้
การมีพื้นที่ปลอดภัยเป็นเรื่องดี แต่ถ้าวันนี้ อยากค้นหาตัวเองทั้งที่ยังกลัวอยู่ คุณจะแนะนำเขาว่ายังไง
อย่างเราเอง เรากลัวแมลงสาบมาก ทุกคนบอกเราว่าอย่ากลัวเลย มันทำอะไรเราไม่ได้หรอก ไม่มีใครตายเพราะแมลงสาบนะ ถ้ามีก็คง 1 ในล้าน ถามว่าเรารู้มั้ย เรารู้ แต่ไม่ว่าจะรู้เยอะแค่ไหน เราก็ไม่หายกลัวอยู่ดี มนุษย์ไม่ได้กลัวด้วยเหตุผล แต่กลัวเพราะมันเป็นสิ่งที่ติดตัวเรามา ซึ่งถ้ามองให้ลึกลงไปอีก แต่ละคนก็กลัวสิ่งสิ่งหนึ่งไม่เหมือนกัน 3 คนที่กลัวแมลงสาบก็อาจจะกลัวไม่เท่ากัน คนหนึ่งอาจจะเริ่มฝึกด้วยการเผชิญหน้ากับแมลงสาบได้เลย ในขณะที่อีกคนต้องฝึกจากการดูรูปแมลงสาบก่อน แต่ละคนมีวิธีขยายคอมฟอร์ตโซนต่างกัน ในเรื่องการออกไปลองและออกไปคุยก็เหมือนกัน ถ้ายังไม่กล้า ชวนเพื่อนไปด้วยมั้ย ถ้ายังไม่ไหว ฝากเพื่อนถามก็ได้ ค่อยเป็นค่อยไป หาวิธีที่เหมาะกับเรา โอเค มันคงไม่ถึงขนาดว่าเราจะลองได้อย่างสนุกสนาน ง่ายมาก ชิลมาก เลิกกลัวได้ในทันที แต่ที่แน่ๆ มันน่าจะมีวิธีให้เราลองและคุยได้โดยที่ไม่รู้สึกแย่จนเกินไป
อยาก Productive แต่ก็เหนื่อย อยากพัก แต่ก็กลัวสู้คนอื่นไม่ได้ ในทาง Designing Your Life มีเครื่องมือไหนมาแก้โจทย์นี้
คำถามนี้น่าจะหมายถึงสิ่งที่เรียกว่า Toxic Productivity ก็คือเราจะรู้สึกว่าต้องทำให้ได้มากขึ้น เร็วขึ้น ซึ่งไม่ได้ผิดอะไรนะ ในการทำงาน แน่นอน ทุกคนอยากได้คนที่โปรดักทีฟ แต่ขณะเดียวกัน ในทางปฏิบัติมันก็ควรมีเวลาดูแลตัวเองด้วย แต่กลายเป็นว่าหลายคนรู้สึกผิด นอนดูซีรีส์แล้วรู้สึกว่าน่าจะเอาเวลาไปทำอย่างอื่น การมีวิธีคิดแบบนี้แปลว่าเราแยกเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวออกจากกัน เราต้องเสียสละหนึ่งอันเพื่ออีกอัน ทั้งที่จริงๆ เรามีร่างกายเดียว ร่ายกายที่ต้องการการดูแล ไม่รู้ว่าตัวอย่างนี้จะช่วยมั้ย แต่เราชอบมาก ก็คือหน้ากากฉุกเฉิน น่าจะเคยเห็นกันบ้างบนเครื่องบิน พอหล่นลงมาปุ๊บ หยิบมาสวม คำถามคือถ้าเราเดินทางกับเด็ก เราต้องสวมหน้ากากให้ใครก่อน
สวมให้ตัวท่านเองก่อน
ใช่ แต่เพราะอะไรล่ะ เพราะว่าเราจะได้มีสติในการช่วยคนข้างๆ ในชีวิตและการทำงานก็เหมือนกัน แน่นอน งานคือเรื่องสำคัญ แต่ถ้าหน้ากากฉุกเฉินหล่นลงมา แล้วเราไม่ให้เวลาพักกับตัวเองเลย คนที่เดือนร้อนอาจจะไม่ใช่แค่เรา แต่ตัวงานก็เดือดร้อน เพื่อนร่วมงานก็เดือดร้อน กลายเป็นพังกันหมด เพราะฉะนั้น เราอาจจะต้องปรับวิธีคิดใหม่ เราไม่ควรรู้สึกผิดที่จะพัก เพราะจริงๆ การพักก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เราทำงานได้มีประสิทธิภาพ การสวมหน้ากากฉุกเฉินเพื่อให้มีชีวิตรอดต่อไป มันไม่ใช่แค่เพื่อตัวเรา แต่เพื่อองค์กรที่เราอยู่ด้วย
ก่อนจากกัน ขอวกไปที่คำถามแรก แต่เปลี่ยนใหม่เป็น ‘ถ้าชอบงานนี้ แต่รู้สึกว่าถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว’ คุณจะแนะนำว่าอย่างไร
ก็ต้องถามก่อนว่า ถ้าชอบแล้วทำไมถึงอยากเปลี่ยน
เช่น ถึงจุดอิ่มตัว อยากได้เงินมากกว่านี้ หรือเริ่มเบื่อ
ที่พูดมาสมเหตุสมผลหมดเลยนะครับ เพราะต่อให้เราได้ทำอะไรที่ชอบ มันก็อาจจะไม่ได้เติมเต็มเราไปได้ตลอด เราชอบเรื่องหนึ่งมาก ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ (Fujiko Fujio) คนวาดโดราเอมอน จริงๆ ช่วงท้ายของชีวิต เขาไม่อยากวาดโดราเอมอนแล้ว ถ้าสังเกตดีๆ โดราเอมอนเกือบมีตอนอวสานมาหลายครั้ง แต่สุดท้ายก็จะมีตอนต่อไปตลอด เพราะใครๆ ก็อยากดูต่อ และตัวคนวาดเองก็ยังต้องเลี้ยงชีพ เขาก็เลยหันไปเติมเต็มตัวเองผ่านเรื่องสั้น ใช้เวลาว่างเขียนเรื่องสั้นแนวที่ชอบ เพราะงั้นมันไม่แปลกเลย ถ้าเราจะอิ่มตัวจากสิ่งที่เคยรัก แล้วไปหาความท้าทายใหม่ๆ จริงๆ คุณฟูจิโกะจะเลิกเขียนโดราเอมอนไปเลยก็ได้ แต่เขายังเลือกทำอยู่ แล้วไปหาความท้าทายจากงานเสริมแทน
อีกตัวอย่างหนึ่ง คุณลอรี่ ซานโตส (Laurie Santos) คนนี้เป็นอาจารย์สอนวิชา The Sciene of Well-Being ที่มหาวิทยาลัยเยล ซึ่งก็เป็นวิชาที่เข้ายากที่สุดของที่นั่นเหมือนกัน ทั้งที่เป็นคนคิดเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีแท้ๆ แต่ต้นปีที่แล้ว เขาประกาศหยุดสอน คนถามว่าทำไม เขาบอกเบิร์นเอาต์ คนก็แบบ อะไรวะ สอนเรื่อง Well–Being เป็นเบิร์นเอาต์ได้ไง คุณควรจะเก่งเรื่องนี้ที่สุดหนิ เขาก็ออกมาบอกว่า คนที่เป็นหมอก็ไม่ได้การันตีว่าจะมีสุขภาพดี หรือไม่ป่วยเลย แต่เมื่อป่วยแล้ว คนเป็นหมอจะพอประเมินอาการตัวเองได้ และรู้ว่าควรดูแลรักษาอย่างไร คุณลอรี่ ซานโตสประเมินแล้วไงว่าเขาเหนื่อย อยากหยุดพัก ถึงเวลาต้องคว้าหน้ากากฉุกเฉินแล้ว พูดง่ายๆ คือเขาออกแบบแล้วว่า ชีวิตบทต่อไปควรเป็นยังไง และก็เพราะอยากมีสุขภาพกายและใจที่ดีไง เขาจึงตัดสินใจพักก่อน เขาเชื่อว่าทางเลือกนี้แหละที่เหมาะสมกับเขามากที่สุด
และบทสนทนากับดร.ปัง ก็สิ้นสุดลง การพูดคุยเรื่องศาสตร์ Designing Your Life ช่วยให้เราได้ทบทวนและตั้งคำถามกับการใช้ชีวิตของตัวเองอีกครั้งไม่ต่างจากวันที่เรียนวิชานี้ในรั้วมหาวิทยาลัย สิ่งที่เปลี่ยนไปมีเพียงช่วงวัยที่เติบโตขึ้น
ก่อนแยกย้าย เจ้าของวิชา Designing Your Life ประเทศไทย ทิ้งท้ายกับเราว่า “Designing Your Life คือการออกแบบ และการออกแบบแทบทั้งหมดมักไม่ได้จบลงภายในครั้งเดียว อย่างการออกแบบบ้าน พอถึงจุดหนึ่งก็อาจมีการตกแต่งใหม่ รีโนเวตบางห้อง หรือถ้าเจ้าของบ้านมีลูก บ้านก็คงต้องจัดแจงใหม่เพื่อต้อนรับสมาชิกคนใหม่ของบ้าน ชีวิตเราก็เหมือนกัน ออกแบบระยะสั้น และอย่าลืมว่ามันปรับเปลี่ยนได้เสมอ”