ขณะที่รถกำลังเคลื่อนตัวเข้าใกล้ที่พัก ซึ่งกำลังจะกลายเป็น ‘บ้าน’ ใหม่ แม้ใจหนึ่งจะรู้สึกตื่นเต้น ที่กำลังจะได้เริ่มต้นบทใหม่ของชีวิต แต่อยู่ๆ ภาพเก่าๆ ในสถานที่เดิมก็จู่โจมเข้ามา ไม่มีแล้วป้าร้านตามสั่งเจ้าประจำที่รู้ใจ เพื่อนสนิทที่ไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด กิจวัตรแบบเดิมๆ กำลังจะหายไป แค่คิดก็อดใจหายไม่ได้ รู้สึกโหวงๆ ในใจแบบบอกไม่ถูก
ถ้าพูดถึงจุดเปลี่ยนใหญ่ๆ หรือเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของหลายคน หนึ่งในนั้นคงมีการ ‘ย้ายบ้าน’ รวมอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นตอนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยปีสุดท้ายที่ต้องย้ายออกจากหอพัก แล้วเริ่มต้นเข้าสู่โลกของการทำงาน หรือการย้ายจากต่างจังหวัดมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองใหญ่ เพื่อหาโอกาสในชีวิต รวมถึงจังหวะเปลี่ยนงาน ที่อาจมองหาที่พักใหม่ให้สะดวกกับการเดินทาง
นั่นเพราะเราไม่สามารถอยู่เดิมได้ตลอดไป และเราต่างมีเส้นทางเดินเป็นของตัวเอง บางทีก็เลี่ยงไม่ได้ที่เราต้องโยกย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งด้วยความจำเป็นต่างกัน แม้จะรู้ล่วงหน้าว่าวันหนึ่งก็อาจต้องโบกมือลาห้องนอนที่คุ้นเคย วิวที่ต้องเห็นทุกเช้า หรือเส้นทางที่ใช้เป็นประจำไป แต่ก็ยังอดรู้สึกเศร้าไม่ได้ จังหวะที่แพ็กของยังไม่เท่าไหร่ จนกระทั่งหันกลับไปมองห้องที่คุ้นเคยว่างเปล่าขึ้นมาจริงๆ นั่นแหละ ถึงรู้สึกใจหายขึ้นมา
ความรู้สึกเศร้าหลังย้ายที่อยู่ใหม่อาจเกิดขึ้นได้กับหลายคน และไม่นานก็หายไปเอง แต่สำหรับบางคน ความเศร้านี้อาจกัดกินใจเป็นเวลานาน หลายสัปดาห์หรือหลายเดือน และอาจหนักจนถึงขั้นซึมเศร้า หรือที่เรียกว่า relocation depression อาการซึมเศร้าจากการย้ายที่อยู่
อาการนี้คืออะไร ทำไมที่อยู่จึงส่งผลกับใจเรามากขนาดนี้ วันนี้ The MATTER เลยอยากชวนมารู้จักอาการที่ว่าให้มากขึ้น พร้อมวิธีรับมือกับภาวะนี้กัน
ทำไมที่อยู่อาศัยถึงส่งผลกับใจเรานะ
การต้องจากสิ่งเดิมๆ ที่เราคุ้นเคยไม่เคยเป็นเรื่องง่าย เพราะความผูกพันทำให้เรามองสิ่งต่างๆ ด้วยฟิลเตอร์พิเศษที่ทำให้สิ่งเหล่านั้นมีคุณค่าขึ้น เช่นเดียวกับสถานที่เก่าที่เราคุ้นเคย เราไม่ได้ผูกพันแค่กับตัวอาคาร แต่ยังรวมไปถึงผู้คนรอบๆ ด้วย ไม่แปลกที่การบอกลาจากสิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเศร้าทุกครั้งที่นึกถึง
ภาวะซึมเศร้าจากการย้ายที่อยู่ หรือ relocation depression หมายถึง อาการกังวล หรือความเครียด ที่ต้องย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวที่ต้องทิ้งครอบครัว เพื่อนๆ ไว้ข้างหลังโดยที่ไม่รู้ว่าต้องเจออะไรกับที่อยู่ใหม่บ้าง อาจทำให้เรารู้สึกเศร้าและกลัวขึ้นมา
จอร์จ อัลวาราโด (George Alvarado) จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลจากนิวยอร์ก อธิบายเพิ่มว่าปกติแล้วภาวะซึมเศร้าจากการย้ายที่อยู่ ไม่ได้ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าอย่างเป็นทางการ แต่ก็อาจส่งผลต่ออารมณ์เราได้จริงๆ เกิดขึ้นจากการที่เรารู้สึกสบายใจกับกิจวัตรประจำวันในสถานที่เดิม แต่พอต้องย้ายมาที่ใหม่ก็อาจต้องใช้เวลาปรับตัวจากสิ่งที่ไม่คุ้นเคย
ยกตัวอย่างเช่น จากเดิมเราอาจจะเคยอยู่ในที่คนแถวบ้านรู้จักกันหมด ทักทายกันตลอด แต่พอต้องอยู่ที่ใหม่ที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ผู้คนไม่ได้ทักทายกันเหมือนเดิมก็อาจทำให้เรารู้สึกเศร้าและโดดเดี่ยวได้
การย้ายที่อยู่ใหม่จึงไม่ใช่แค่การเปลี่ยนสถานที่เท่านั้น แต่อาจหมายถึงสัญญาณของการเริ่มต้นใหม่ด้วย เพราะการย้ายแต่ละครั้งมักตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เช่น งานใหม่ โรงเรียนใหม่ เริ่มต้นชีวิตครอบครัวครั้งใหม่ บางทีก็เลี่ยงไม่ได้ที่เราต้องห่างจากครอบครัว เพื่อนๆ คนคุ้นเคย ที่คอยช่วยเหลือเรามาตลอด
จากที่แค่เอ่ยปากก็คนช่วยแก้ปัญหาได้ทันที พอย้ายออกมาอยู่ไกลขึ้น กลายเป็นว่าต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ ใจจริงก็อยากจะขอให้คนอื่นช่วยอยู่หรอก แต่กับคนไม่คุ้นเคยก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะเต็มใจช่วยเราหรือเปล่านี่สิ ไหนจะแก๊งเพื่อนๆ จากที่เคยนัดเจอได้บ่อยๆ ทุกเย็น พอย้ายออกมา โอกาสที่นัดรวมตัวกันก็ไม่ได้มีบ่อยๆ สุดท้ายการไปไหนมาไหนเองกลับเป็นเรื่องง่ายกว่า แต่ก็แลกมากับระยะห่างจากเพื่อนๆ และครอบครัวไปด้วย
นอกจากการต้องอยู่ห่างจากคนที่คอยช่วยเหลือและสนับสนุนเรา จะทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าจากการย้ายที่อยู่แล้ว การต้องเจอกับความไม่แน่นอนจากที่อยู่ใหม่ก็ทำให้เรารู้สึกเครียดได้ด้วย
ถึงแม้การย้ายครั้งนี้จะเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น เช่น บ้านใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม ที่พักใหม่ที่ใกล้กับออฟฟิศมากขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้ก็อาจบีบให้เราต้องเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต และเจอกับความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นด้วย เช่น บ้านใหม่อาจมีค่าใช้จ่ายจุกจิกที่เราไม่คาดคิดมาก่อน หรือที่การทำงานใหม่ ที่ต้องเจอกับความท้าทายมากขึ้นกว่าเดิม ก็อาจทำให้เรารู้สึกเครียดโดยไม่รู้ตัว ยิ่งอยู่ห่างจากคนที่คอยซัปพอร์ตเรา ก็อาจยิ่งทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้นได้
มีงานวิจัยตีพิมพ์บนวารสาร Health & Place ปี 2017 พบว่าการย้ายที่อยู่ส่งผลกับสุขภาพจิตของเราไม่น้อย โดยงานวิจัยนี้อธิบายว่า มีหลักฐานชี้ให้เห็นว่าผู้ที่ต้องเผชิญกับการย้ายบ้าน มีสุขภาพจิตที่แย่กว่าผู้ที่ไม่ได้ย้ายบ้าน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น อ้างอิงจากผลการศึกษาจากสหราชอาณาจักร ที่พบว่า ครอบครัวที่มีเด็กและต้องย้ายบ้านมีสุขภาพจิตที่แย่กว่าครอบครัวที่อยู่ในที่อยู่อาศัยเดิม ซึ่งปัจจัยจากสุขภาพจิตแย่ลงส่วนใหญ่มีหลายสาเหตุ เช่น ความสัมพันธ์ทางสังคม ความเครียด การเปลี่ยนแปลงภายในบ้าน และการแยกตัวออกมาจากสังคม
จึงไม่แปลกหากเราจะรู้สึกเศร้าเมื่อต้องโยกย้ายไปสถานที่ใหม่ เพราะนอกจากต้องจากคนที่คุ้นเคยแล้ว ยังต้องรับมือกับความไม่แน่นอนในสถานที่ใหม่ด้วย และในเมื่อเรายังจำเป็นต้องอยู่ให้ได้ในสถานที่แห่งใหม่ แถมต้องปรับตัวให้ได้เร็ววัน healthline Media สื่อด้านสุขภาพของอเมริกา ก็ได้แนะนำวิธีรับมือกับภาวะซึมเศร้านี้ไว้ให้ลองปรับใช้ได้ ดังนี้
- ให้เวลากับตัวเอง: ไม่แปลกเลยถ้าเราจะยังรู้สึกเศร้า หรือคิดถึงบรรยากาศเก่าๆ ของที่อยู่เดิม เพราะเราไม่ได้แค่เปลี่ยนที่อยู่ในรูปแบบตัวอาคารเท่านั้น แต่เรากำลังออกจากความคุ้นเคยเดิมๆ เพื่อมาเจอกับสิ่งใหม่ที่ไม่รู้ว่าจะเจออะไรบ้าง การปล่อยให้ตัวเองได้รู้สึกก็ความเศร้าจะช่วยไม่ให้เราเก็บกดไว้ให้อึดอัดภายในใจ
- ติดต่อกับคนที่เรารัก: ช่วงแรกเราอาจจะยังรู้สึกเหงาอยู่ การวิดีโอคอลไปหาคนที่เราสบายใจ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว หรือเพื่อนๆ ก็ช่วยให้เราผ่านพ้นช่วงยากๆ นี้ไปได้
- ลองทำความรู้จักผู้คนใหม่ๆ: หากเริ่มสบายใจขึ้น อาจจะลองทำความรู้จักกับคนละแวกเดียวกัน เพราะนี่ก็เป็นวิธีสร้างความคุ้นเคยได้เหมือนกัน อาจจะไม่ต้องถึงกับแนะนำตัวอย่างเป็นทางการ หากยังไม่สะดวกใจ เพียงแค่ยิ้มทักทาย หรือแสดงน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ อย่างการเปิดประตู หรือกดลิฟต์ให้ก็เพียงพอต่อการเริ่มต้นความสัมพันธ์แล้ว
- สำรวจที่อยู่ใหม่: ช่วงนี้อาจลองใช้เวลาสำรวจที่อยู่ใหม่ มีส่วนไหนที่เราชอบบ้าง แล้วอาจจะลองซื้อของเล็กๆ มาตกแต่งด้วยตัวเอง เพื่อทำให้กลายเป็นพื้นที่สบายใจของเรามากขึ้น หรืออาจลองไปสำรวจร้านค้า หรือร้านอาหารในละแวกที่เราอยู่ อาจทำให้เราคุ้นเคยกับที่ใหม่มากขึ้น ไม่แน่อาจจะได้เจอร้านประจำร้านใหม่ก็ได้นะ
- สร้างการกิจวัตรใหม่กับที่อยู่ใหม่: ไม่มีแล้วการแวะร้านน้ำเต้าหู้ทุกเย็นหลังเลิกงาน เข้าใจดีว่าการต้องบอกลาจากเส้นทางที่คุ้นเคยทุกๆ วันเป็นเรื่องยาก เพราะเส้นทางเหล่านั้นมักกำหนดกิจวัตรประจำวันที่เราเคยมี แต่ไหนๆ ก็ย้ายที่อยู่ใหม่แล้ว อาจลองใช้โอกาสนี้สร้างกิจวัตรประจำวันใหม่ๆ เช่น หากอยู่ใกล้สวนก็อาจจะลองแวะไปตอนเย็น หรือหากอยู่ในย่านร้านอาหาร ก็อาจลองเข้าไปดูว่าแถวนี้มีอะไรอร่อยบ้างนะ วิธีนี้ก็ช่วยให้เราคุ้นเคยกับที่อยู่ใหม่ได้เช่นกัน
แม้ใครจะบอกว่าการย้ายที่อยู่จะเรื่องน่าตื่นเต้นรออยู่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหากเราจะรู้สึกเศร้าในช่วงนี้ ถ้าความรู้สึกนี้หนักเกินกว่าจะแบกไว้ได้ การขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญก็เป็นทางที่ดี เพื่อให้เราปรับตัวได้มากขึ้นนะ
อ้างอิงจาก