“ก็พ่อไม่ยอมช่วยงานบ้าน มีแต่แม่คนเดียวที่ต้องเป็นคนทำ”
“ตั้งแต่เรื่องแบ่งมรดก ลุงกับป้าก็ทะเลาะจนไม่คุยกัน หน้าก็ไม่มอง”
“พอคุณตาป่วย น้าที่อยู่ต่างประเทศก็เอาแต่โทษพี่น้องคนอื่นที่ไม่ยอมไปดูแล”
ยังไม่ทันจะได้พักดี เสียงบ่นปนทะเลาะก็ดังขึ้นมาอีกครั้ง วันหยุดก็เหมือนไม่หยุด ยิ่งช่วงเทศกาลหยุดยาวที่ต้องกลับบ้านทีไรยิ่งเหนื่อยใจทุกที เพราะแทนที่จะได้พักผ่อน เพื่อเติมพลังหลังจากทำงาน กลับต้องมารับรู้ปัญหาตึงเครียดของพ่อ แม่ พี่ ป้า น้า อา ที่ปะเดปะดังเข้ามากลางวงจนกลายเป็นวันแย่ๆ อีกวันหนึ่งแทน
สิ่งที่มาพร้อมกับช่วงเทศกาลวันหยุดยาว นอกจากความสนุกสนานที่คนในครอบครัวมาอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาแล้ว เรายังอาจต้องเตรียมใจรับมือกับสารพัดเรื่องดราม่าในครอบครัวที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดด้วย แรกๆ ก็พูดด้วยน้ำเสียงทีเล่นทีจริง แต่หลังๆ เสียงเริ่มดังขึ้นจนน่าแปลกใจ แถมบรรยากาศก็ยังมาคุขึ้นเรื่อยๆ
ความขัดแย้งที่ค่อยๆ ก่อตัวเป็นบรรยากาศตึงเครียดในบ้าน ตั้งแต่เรื่องมรดกที่ตกลงส่วนแบ่งไม่ลงตัว แนวคิดการเมืองไม่ตรงกัน หรือจะเป็นการจับผิดเรื่องพฤติกรรมของพี่คนนั้น หลานคนนี้ ลุงคนโน้น จนทำให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่ไปด้วย
แม้เราจะพยายามไม่เอาตัวเข้าไปอยู่ในเรื่องดราม่านี้มากแค่ไหน แต่สุดท้ายการอยู่ในบรรยากาศแบบนี้ก็ส่งผลต่อจิตใจและวันหยุดของเราอยู่ดี เมื่อการกลับบ้านในช่วงวันหยุดเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แล้วจะทำยังไงให้ช่วงหยุดยาวนี้ผ่านพ้นไป โดยไม่พังเพราะเรื่องดราม่าของคนในครอบครัวดีนะ
เมื่อครอบครัวมารวมตัวกันเรื่องดราม่าจึงเกิดขึ้น
การกลับบ้านสำหรับบางคนไม่ได้มีแค่ความสุขที่ได้เจอคนในครอบครัวเท่านั้น แต่อาจรวมไปถึงความโหวกเหวก วุ่นวาย ที่ต้องอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งที่ตัวเองไม่ได้ก่อด้วย
ในบ้านที่ทุกคนต่างเป็นตัวเองได้เต็มที่อาจทำให้รู้สึกอบอุ่นได้ก็จริง แต่หากความเป็นตัวเองหมายถึงการพูดจาร้ายๆ ใส่กันได้ จากช่วงวันหยุดพักผ่อน ก็อาจกลายเป็นช่วงเวลาแห่งความทุกข์ทรมานแทน ผลสำรวจจาก American Psychological Association ปี 2023 พบว่า 9 ใน 10 หรือ 89% เผชิญความเครียดระหว่างวันหยุดยาว หนึ่งในสาเหตุนั้นคือการต้องรับมือกับความขัดแย้งในครอบครัว
เอมี่ มาร์แชลล์ (Amy Marschall) นักจิตวิทยาคลินิก อธิบายเกี่ยวกับดราม่าที่พบเจอในครอบครัวว่าเป็นคำที่มีคำจำกัดความค่อนข้างกว้าง อาจเป็นได้ตั้งแต่การมีความเห็นไม่ตรงกัน จนถึงการทำร้ายร่างกาย แต่ส่วนใหญ่แล้วมักเป็นเรื่องความขัดแย้งที่ทำให้คนในบ้านไม่มีความสุขที่ใช้เวลาด้วยกัน
โดยตัวอย่างสถานการณ์ที่อาจเห็นได้บ่อยๆ เช่น ขณะที่กำลังนั่งดูทีวีอยู่เพลินๆ ลูกพี่ลูกน้องก็พูดเรื่องการเมืองแบบสุดโต่งขึ้นมา โดยมีคุณป้าที่ผู้เชียร์การเมืองอีกฝั่งนั่งอยู่ด้วย หรือจะเป็นหลานสาววัยต่อต้านที่ค้านที่อย่างที่แม่อยากให้ทำพร้อมปิดประตูปึงปัง เวลาผ่านไปไม่เท่าไหร่คุณป้าสุดเนี้ยบก็พูดเรื่องเงินที่ถูกน้องสาวยืมไปโดยไม่มีทีท่าว่าจะคืน
กว่าจะผ่านไปแต่ละวันไม่รู้ว่าจะต้องเจอดราม่าอีกกี่ยก เมื่อการรวมตัวกันของคนต่างอายุทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน หลายคนจึงอยากหนีจากการรวมตัวเมื่อถึงวันหยุดยาวนี้ให้ได้
จากผลสำรวจจาก USA TODAY สำรวจชาวอเมริกัน 2,000 คน พบว่าส่วนใหญ่ หรือ 85% หลีกเลี่ยงที่จะกลับไปฉลองกับที่บ้านช่วงวันหยุด เพราะการรวมตัวกันของครอบครัวไม่ได้แค่หมายถึงการมาเจอหน้ากันเท่านั้น แต่หมายถึงต้องมาเจอปัญหาต่างๆ ที่ค้างคาอยู่ในใจของคนในครอบครัวด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าเรื่องส่วนใหญ่ที่ทำให้คนในครอบครัวถกเถียงกันมากที่สุด คือ ปัญหาในครอบครัว (51%) รองลงมาคือ การเมือง (48%) และเรื่องเงิน (47%)
ถ้าการถกเถียงกันเล็กๆ แล้วจบก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่บรรยากาศการถกเถียงในครอบครัวที่ฟาดฟันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพได้มากกว่าที่คิด การศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Family Psychology พบว่า ความเครียดในครอบครัวที่มากขึ้นยิ่งทำให้มีปัญหาสุขภาพเรื้อรังมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะความเครียด เพราะมีการเชื่อมโยงความทรงจำไม่ดี เช่น การมีปากเสียงกันของคนในครอบครัวเข้ากับช่วงเทศกาลนี้ จนทำให้ร่างกายรู้สึกตึงเครียดขึ้นมาโดยไม่ทันตั้งตัว
ผลกระทบนี้ไม่ได้ส่งผลแค่กับคู่กรณีเท่านั้น ถึงเราจะเป็นแค่พยานที่อยู่ในเหตุการณ์ แต่การต้องมารับรู้ปัญหาต่างๆ ในครอบครัวก็ส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจได้ด้วยเช่นกัน แถมการกลับมาใช้เวลาพักผ่อนแบบสงบๆ ก็อาจต้องพังลงไปด้วย เพราะแทบไม่มีช่วงเวลาสร้างความทรงจำดีๆ กลับไปเลย
วิธีเอาตัวรอดท่ามกลางดราม่า
ถึงที่สุดแล้วไม่ว่าจะอยากหนีแค่ไหน ก็อาจจะต้องแพ้ทางพ่อแม่ที่คะยั้นคะยอให้เรากลับบ้านช่วงวันหยุดยาวอยู่ดี เมื่อการกลับไปรวมตัวกันช่วงวันหยุดยาวเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แล้วเราจะมีวิธีเอาตัวรอดในสถานการณ์นี้ยังไงได้บ้าง
ทามาร์ คาฮาเน (Tamar Kahane) นักจิตวิทยาและผู้ก่อตั้งศูนย์ Kahane ที่ทำงานด้านพัฒนาและจิตวิทยาด้านความเป็นอยู่ที่ดี ได้แนะนำวิธีรับมือ ก่อนต้องไปเจอกับปัญหาในครอบครัวช่วงวันหยุดไว้ดังนี้
ตั้งความหวังให้สมเหตุสมผล: พยายามรักษาสุขภาพจิตของตัวเองไว้ด้วยการไม่คาดหวังให้ใครเปลี่ยนแปลง หากครอบครัวมักมีปากเสียงอยู่เป็นประจำ ก็มักมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นอีก แม้เราจะคุ้นเคยกับภาพความสุขเมื่อทุกคนได้มารวมตัวกันทางทีวีหรือภาพยนตร์ แต่มันไม่เป็นไรเลยหากภาพนั้นจะไม่เกิดขึ้นในชีวิตจริง
ลองสร้างกิจกรรมใหม่: บางครั้งเรื่องดราม่าอาจเกิดขึ้นซ้ำๆ เพราะความเคยชิน พอคุณป้า คุณน้า คุณลุงมารวมกันทีไรก็อดไม่ได้ที่จะพูดเรื่องเดิมๆ แม้จะเป็นเรื่องที่ชวนทะเลาะก็ตาม ครั้งนี้เราอาจลองเปลี่ยนเป็นคนเริ่มชวนทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ขอให้พวกเขาช่วยทำเมนูที่อยากกิน เอาให้ไม่มีเวลาไปชวนใครทะเลาะด้วยเลย
ยอมรับว่าคนบางคนก็เปลี่ยนได้ยาก: ถึงเวลาต้องยอมรับว่าเราเปลี่ยนอะไรใครไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น คุณน้าที่ยุ่งเรื่องส่วนตัว คุณลุงโกรธเกรี้ยวตลอดเวลา แต่ก็ยังมีวิธีการพูดคุยแบบอื่นๆ เพื่อตอบโต้คนเหล่านี้ด้วยวิธีของตัวเองก็ได้ เช่น การเปลี่ยนหัวข้อ ตั้งคำถามให้เขาเล่าเรื่องอื่นๆ บ้าง แต่สุดท้ายถ้าหากยังไม่มีอะไรดีขึ้น เราก็อาจจะต้องอยู่ให้ห่างจากพวกเขาเพื่อรักษาใจของตัวเองด้วย
ดูแลตัวเองสำคัญที่สุด: หากสุดท้ายแล้วการรวมตัวกันของครอบครัวเริ่มเข้าสู่สถานการณ์ตึงเครียด ปัญหาต่างๆ ในบ้านถูกหยิบยกมาพูดถึงไม่หยุดโดยที่เราไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง อย่าลืมหาวิธีให้ตัวเองได้มีช่วงเวลาที่สงบหรือผ่อนคลายบ้าง เช่น ออกไปเดินเล่น อ่านหนังสือ หรือทำสมาธิ แต่หากทนไม่ไหว การแสดงอารมณ์โกรธ หงุดหงิด เสียใจ ก็เป็นสิ่งที่ทำได้เช่นกัน เพื่อให้พวกเขารู้ว่าคุณรู้สึกยังไงกับสถานการณ์นี้ เพื่อรักษาใจและวันหยุดอันแสนมีค่าของตัวเองไว้
หากการใช้เวลากับครอบครัวในช่วงวันหยุดยาวไม่ได้ทำให้เรารู้สึกสนุกหรือสบายใจ การจองตัวและที่พักเพื่อฉลองกับตัวเองก็ถือเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยดูแลใจตัวเองได้เหมือนกัน
อ้างอิงจาก