ทำงานสบายๆ มันก็ดี แต่บางทีก็สงสัยตัวเองเหมือนกันว่าเราทำได้แค่นี้เองเหรอ
ทั้งที่บริษัทก็มีโปรเจ็กต์ท้าทายตั้งมากมาย แถมหัวหน้าก็ดูงานล้นมือตลอดเวลา ไอเราก็เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมสำหรับงานใหญ่เต็มที่ แต่พอถึงเวลาแจกจ่ายงาน คนในทีมกลับได้รับมอบหมายกลับเป็นงานเล็กๆ ไม่ส่งผลกระทบกับภาพใหญ่ซะอย่างนั้น
ด้วยตำแหน่งงานที่สูงขึ้น ก็คงไม่แปลกหากหัวหน้าต้องรับผิดชอบมากกว่า อย่างไรก็ตามก็ยังมีอีกหลายงานที่สามารถกระจายให้คนในทีมได้ แต่เขากลับเลือกที่จะแบกงานไว้คนเดียว พอเป็นแบบนี้ถึงแม้โปรเจ็กต์นั้นจะสำเร็จได้ด้วยดี ก็คงไม่มีใครกล้ายืดอกรับความภูมิใจนี้ไว้เต็มๆ เพราะไม่รู้สึกว่าตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่งของงานนี้เท่าไหร่
หากใครกำลังเจอสถานการณ์นี้อยู่ อาจเป็นไปได้ว่าเรากำลังทำงานอยู่กับ หัวหน้าแบบ ‘snowplow’ หรือหัวหน้าเอาแต่เก็บงานไว้กับตัว เก็บกวาดอุปสรรคต่างๆ จนแทบไม่เหลืออะไรให้คนในทีมทำ ในฐานะคนทำงานเอง แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากทำงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อน แต่ปัญหาคือ การได้แต่งานที่ง่ายเกินไป บางครั้งก็นำมาสู่ความรู้สึกไร้คุณค่า ถูกดูดพลังการทำงาน จนพาลให้อยากลาออกได้เช่นกัน
แล้วหัวหน้าประเภทนี้คือใคร ทำไมต้องอยากเก็บงานไว้ที่ตัวเอง วันนี้เราพาไปรู้จักหัวหน้าแบบนี้ให้มากขึ้น เพื่อหาทางออกกับสถานการณ์นี้กัน
เมื่อหัวหน้าที่ปกป้องมากเกินไปกลายเป็นพิษ
พอพูดถึงหัวหน้าที่เป็นพิษ ปกติเราอาจนึกถึงหัวหน้าที่ชอบโยนงาน สั่งวันนี้เอาวันพรุ่งนี้ กดดันตลอดเวลา หรือคอยพูดถึงแต่จุดบกพร่องของงานแต่นอกจากที่กล่าวไปแล้ว หัวหน้าอีกประเภทหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกหมดไฟไม่แพ้กัน แต่มักไม่ค่อยมีใครนึกถึง คือ หัวหน้าแบบ ‘snowplow’ หรือหัวหน้าที่ไม่มอบหมายงานสำคัญๆ ให้ลูกน้อง แต่เก็บงานใหญ่ไว้ทำเอง แล้วให้คนในทีมทำงานเล็กๆ แทน
คำว่า snowplow แปลตรงตัว หมายถึงรถตักหิมะ ซึ่งทำหน้าที่คอยกวาดหิมะที่กีดขวางอยู่บนถนน เพื่อให้เราเดินทางได้โดยสะดวก นอกจากหมายถึงรถยนต์แล้ว คำนี้ยังเป็นถูกใช้อธิบายพฤติกรรมพ่อแม่ ที่พยายามกำจัดอุปสรรคออกจากชีวิตลูก เพราะไม่อยากให้ลูกล้มเหลวได้ด้วยเช่นกัน
ย้อนกลับมาที่บริบทการทำงาน พฤติกรรมนี้ไม่ได้หมายถึงความหวังดีเหมือนพ่อแม่เท่านั้น แต่คือวิธีการที่หัวหน้าใช้ปกปิดความกังวลของตัวเองไว้ โดยการไม่แจกจ่ายงานให้คนในทีม เพราะมองว่าความสำเร็จของทีมขึ้นอยู่กับตัวเอง ไม่เชื่อใจว่าคนในทีมจะสามารถทำงานนี้โดยไม่มีความผิดพลาดได้ หรือกลัวว่ากลัวว่าถ้าให้คนในทีมมาช่วย แปลว่าตัวเองไม่มีความสามารถ จากเหตุผลทั้งหมดเลยทำให้พวกเขาเลือกเก็บงานทั้งหมด แล้วทำเองคนเดียว
หัวหน้าประเภทนี้เราอาจสังเกตได้ เช่น มักชอบขออัปเดตงานตลอดเวลา ไม่ปล่อยให้ผ่านแม้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ พูดจาเชิงไม่ไว้ใจให้เราทำงาน ทำนองว่า “เดี๋ยวจัดการเอง” หรือ “ทำเองเร็วกว่า” บางทีก็ไม่ปล่อยให้เราเสนอไอเดีย แต่ชอบให้ทุกคนทำตามวิธีการของตัวเอง รวมถึงกีดกันไม่ให้เราเข้าร่วมประชุมกับหัวหน้าระดับสูง สุดท้ายถึงมีผลงานภายใต้ชื่อของทีมมากมาย แต่คนในทีมกลับไม่มีใครมีทักษะเพิ่มขึ้น หรือได้รับผิดชอบงานสำคัญๆ เพราะคนที่เติบโตจริงๆ มีแค่หัวหน้าเท่านั้น
มองภายนอกอาจดูเหมือนเป็นหัวหน้าที่ช่วยเหลือทีม แต่เอาเข้าจริงพฤติกรรมนี้ไม่ได้ช่วยใครเลย แม้แต่กับหัวหน้าเอง จากรายงานปี 2024 ของ Owl Labs บริษัทเทคโนโลยีเกี่ยวกับการประชุมทางวิดีโอ พบว่า คนที่เป็นหัวหน้ามีความเครียดกว่าพนักงานทั่วไปถึง 55% ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องประสิทธิภาพการทำงานและการมีส่วนร่วมของคนทำงาน
ที่หัวหน้ามักทำให้คนในทีมมีส่วนร่วมได้น้อย ก็มีสาเหตุมาจากความรู้ด้านการบริหารทีม โดยพบว่ามีเพียง 62% ที่ได้อบรมวิธีจัดการทีมเพียงพอ นั่นแปลว่ายังมีหัวหน้าอีกเกือบครึ่งที่ยังไม่รู้วิธีสนับสนุนให้คนในทีมเติบโต แต่หันมาจุกจิกกับรายละเอียดเล็กๆ และไม่กล้ามอบหมายงานสำคัญให้ทีมได้ลองทำ ซึ่งเป็นวิธีที่ขัดขวางไม่ให้คนในทีมได้พัฒนาทักษะหรือท้าทายความสามารถตัวเอง
ในฝั่งคนทำงานเอง เมื่อไม่ได้รับการสนับสนุนให้ตัวเองได้เติบโตจากหัวหน้า ก็ส่งผลให้เกิดความเครียดเช่นกัน จากรายงานของ meQuilibrium แพลตฟอร์มฝึกอบรมเพื่อลดความเครียดในที่ทำงาน พบว่าพนักงานที่รู้สึกว่าไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากหัวหน้า มีโอกาสที่พนักงานจะลาออกลูงถึง 4.5 เท่า ในขณะที่การได้รับการสนับสนุน จะช่วยลดความเครียด ถึง 56% และลดอัตราภาวะหมดไฟถึง 58%
ดังนั้น การตัดปัญหาด้วยการไม่มอบหมายงานให้คนในทีม นอกจากไม่ช่วยให้พนักงานเติบโตแล้ว ยังอาจทำให้พนักงานหมดใจที่จะลุกมาทำงานในแต่ละวันด้วย
รับมือยังไงกับหัวหน้าแบบนี้
ก่อนที่จะรู้สึกหมดหวัง เพราะจะให้เปลี่ยนหัวหน้าใหม่ก็คงไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นในเร็ววันแน่ๆ งั้นเรามาลองดูสิ่งที่เราทำได้กัน โดย แฟรงค์ ไวส์เฮาต์ (Frank Weishaupt) ซีอีโอของ Owl Labs ซึ่งเข้าใจปัญหานี้ดีจากผลสำรวจของบริษัทตัวเอง ได้ให้คำแนะนำที่ทุกคนสามารถนำไปลองใช้ได้ ดังนี้
- เริ่มต้นคุยกับหัวหน้า — เมื่อเรารู้สึกว่าการไม่ได้ทำงานที่เหมาะกับความสามารถตัวเองเป็นปัญหา ให้เป็นฝ่ายยกประเด็นนี้คุยกับหัวหน้าอย่างเป็นมิตร อาจจะพูดถึงเป้าหมายของตัวเอง หรือทักษะที่อยากพัฒนาให้มากขึ้นให้หัวหน้าเข้าใจความต้องการของเรามากขึ้น ซึ่งถ้าหากอีกฝ่ายเข้าใจก็สามารถตัดจบตั้งแต่ขั้นนี้ได้เลย แต่ถ้าหัวหน้ายังไม่ยอมก็อาจต้องใช้ขั้นต่อไป
- เสนอรับผิดชอบโปรเจ็กต์เล็กๆ — วิธีนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าสามารถทำงานเองได้ โดยอาจจะเลือกเป็นโปรเจ็กต์ไม่ใหญ่มาก สามารถรับผิดชอบคนเดียวไหว ก็จะช่วยให้หัวหน้ามั่นใจในตัวเราเพิ่มขึ้นได้
- ขอเข้าไปช่วยดูตอนหัวหน้าทำงาน — ขั้นนี้คือการขอติดตามหัวหน้าเข้าไปเรียนรู้งาน ซึ่งมักเป็นงานสำคัญๆ ที่เขายังไม่กล้ามอบหมายให้คนในทีมทำ เช่น การประชุมสำคัญ หรือการเจรจาธุรกิจกับลูกค้า ซึ่งการติดตามไปดูงานจะช่วยสร้างโอกาสให้เราเรียนรู้งานเพิ่มขึ้น และสร้างความไว้ใจให้หัวหน้าแบ่งความรับผิดชอบมาที่เราทีละน้อย
- สร้างความไว้วางใจผ่านผลงาน — บางครั้งความไว้ใจก็เกิดขึ้นได้จากผลงานที่ผ่านมา หากพยายามทำให้ผลงานได้มาตรฐาน ลดข้อผิดพลาดให้น้อยที่สุดได้ทุกครั้งก็จะช่วยให้คำพูดในการต่อรองของเราน่าเชื่อถือขึ้น
- ลองคุยกับฝ่าย HR — หากทำมาทุกทางแล้ว ยังไม่สามารถเปลี่ยนใจหัวหน้าได้ และส่งผลต่อความรู้สึกในการทำงานของเราจริงๆ อาจลองปรึกษาเรื่องนี้กับฝ่าย HR เพื่อดูว่ายังมีตำแหน่งหรือแผนกไหนอีกบ้างที่ยังพอมีที่ให้เราเติบโตในเส้นทางอาชีพของตัวเอง
เพราะท้ายที่สุดหากหัวหน้ายังคงยึดมั่นถือมั่น แบกงานทุกอย่างไว้คนเดียว คนที่เหนื่อยก็คงมีแต่เขานั่นแหละ ส่วนเราถ้าการอยู่ที่นี่ทำให้เราเหี่ยวเฉาลงทุกวัน ก็อาจใช้โอกาสนี้อัปเดตเรซูเม่ แล้วร่อนใบสมัคร เพื่อหาที่มองใหม่ที่เขาเห็นคุณค่าของเราเลยดีกว่า ไม่แน่นะ เงินเดือนอาจจะอัปตามมาด้วยก็ได้
อ้างอิงจาก