จริงๆ ตอนนี้ก็แทบจะยืนไม่ไหว แต่กลัวเกินกว่าจะเปิดประตูให้ใครเข้ามาในโลกของตัวเอง
แม้การรับผิดชอบและพึ่งพาตัวเองได้นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ที่เพิ่งจะติดปีกบินเป็นอิสระ แต่อาจจะมีบางวันที่เรารู้สึกว่าภาระรับผิดชอบเริ่มหนักบ่า จนอยากให้ใครสักคนมาช่วยแบ่งเบา หรืออย่างน้อยๆ ก็รับฟังเรื่องราวชวนปวดหัวที่เกิดขึ้น
แต่สำหรับบางคน ไม่ว่าจะปวดร้าวจนแทบไม่ไหว จำเป็นต้องให้ใครสักคนเข้ามาช่วยเหลือแค่ไหน ก็ยังคงสร้างกำแพง ปิดประตูแน่นหนาไม่ให้ใครย่างกรายเข้ามา พร้อมกับความเชื่อว่าฉันจะผ่านไปได้ด้วยตัวเอง ซึ่งการพึ่งพาตัวเองแบบสุดโต่งนี้ มีชื่อเรียกว่า ‘Hyper-Independence’
เส้นบางๆ ระหว่างโลกส่วนตัวสูง กับ Hyper-Independence
Hyper-Independence คือคนที่พยายามจะทำทุกอย่างด้วยตัวเอง รักอิสระและพึ่งพาตัวเองแบบสุดโต่ง ในแง่การทำงานที่เห็นได้ชัด คือมักจะมีปัญหากับการกระจายงานให้คนอื่นๆ หรือด้านการใช้ชีวิตเมื่อเกิดปัญหาก็มักจะเก็บเอาไว้คนเดียว ไม่เชื่อใจและไว้ใจใครมากพอที่จะบอกเล่าเพื่อบรรเทาความทุกข์ใจ กลายเป็นปัญหาในความสัมพันธ์ระยะยาว อาจไปถึงขั้นไม่รู้สึกสนิทใจกับใครสักคนบนโลกใบนี้
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังคงมีเส้นบางๆ กั้นอยู่ระหว่างคนเก็บตัวหรือโลกส่วนตัวสูง กับ Hyper-Independence ซึ่งสามารถสังเกตได้จากสัญญาณเบื้องต้นต่อไปนี้
- ปฏิเสธความช่วยเหลือจากคนอื่นบ่อยๆ หรือพยายามหลีกเลี่ยงการพึ่งพาคนอื่นๆ แม้จะจำเป็นแค่ไหนก็ตาม ซึ่งเกิดจากความไม่เชื่อใจใคร เพราะคิดว่าไม่น่ามีใครเต็มใจช่วย หรืออาจจะช่วยอะไรไม่ได้
- ไม่สามารถลดกำแพงในความสัมพันธ์ได้ ส่งผลต่อความสามารถในการพัฒนาความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสังคมทั่วไป หรือการสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิด เพราะลังเลที่จะเปิดใจ ไม่อยากแสดงความเปราะบางทางอารมณ์ให้ใครเห็น เลยดูเหมือนมนุษย์ลึกลับที่ไม่เปิดเผยเรื่องราวตัวเองแม้แต่กับคนใกล้ชิด ซึ่งไม่ใช่เพราะเป็นคนเก็บตัว (Introvert) หากเกิดจากความรู้สึกไม่ไว้วางใจ และอยากจะปกป้องตัวเองจากความเจ็บปวดมากกว่า เพราะการสร้างความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นฝ่ายเดียวและเราไม่สามารถควบคุมอีกคนให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ ชาว Hyper-Independence เลยอยากใช้เวลาอยู่คนเดียวและไม่พึ่งพาใคร เพื่อจะได้รู้สึกปลอดภัยและรู้สึกว่ายังควบคุมทุกอย่างได้
- ต้องการไขว่คว้าความสำเร็จมากจนเกินไป ส่วนหนึ่งเพราะ Hyper-Independence จะใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อพิสูจน์และบอกตัวเองว่า การอยู่ด้วยตัวเอง ไม่พึ่งพาใครนั้นสร้างผลลัพธ์ที่ดีได้มากกว่า จนบางทีก็อาจจะแบกรับอะไรที่เกินขอบข่ายความสามารถของตัวเองบ่อยๆ พยายามกดดันตัวเองให้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้สำเร็จอยู่ตลอดเวลา
- หมดไฟและเกิดความเครียดได้ง่าย เพราะใช้ชีวิตแบบกดดันตัวเองจนเกินไป พยายามแบกทุกอย่างไว้ด้วยตัวคนเดียว ดังนั้นสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นบ่อยๆ คือภาวะหมดไฟและปัญหาสุขภาพจิต เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ เหนื่อยล้า ปวดศีรษะ ปัญหาการย่อยอาหาร และปัญหาระบบภูมิคุ้มกัน
การตอบสนองต่อความเจ็บปวดในวัยเด็ก
แม้ Hyper-Independence จะไม่ได้เป็นอาการที่ถูกวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ แต่เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความเจ็บปวดฝังใจระหว่างการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์รุนแรงเพียงครั้งเดียว แต่ฝังใจอย่างยาวนาน เช่น อุบัติเหตุในวัยเด็ก การเผชิญความโศกเศร้าที่ไม่อาจก้าวผ่าน การถูกปฏิเสธอย่างรุนแรง ไปจนถึงบาดแผลที่ค่อยๆ สะสมทีละน้อย ไม่ว่าจะเป็นการถูกพ่อแม่ผู้ปกครองเลี้ยงดูแบบละเลยหรือทอดทิ้ง ความรุนแรงในวัยเด็กที่ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อต้องสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ รวมทั้งเหตุการณ์ยากลำบากในชีวิต เช่น ความยากจน สภาพความเป็นอยู่ที่ทรหดจนต้องปรับโหมดมาเป็นมนุษย์ Hyper-Independence เพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์นั้นๆ
บางคนโตมากับการทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ไม่มีผู้ใหญ่คอยช่วยคิดหรือชี้แนะเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในโรงเรียน การเข้าสังคม ร่วมกิจกรรม หรือเรื่องที่ตัวเองสนใจ บางครอบครัวสลับบทบาท ให้เด็กๆ เริ่มดูแลตัวเองและคนอื่นตั้งแต่ยังไม่ถึงช่วงวัยที่ควรจะรับผิดชอบ จนกลายเป็นว่า เด็กคนนั้นเคยชินกับการดูแลตัวเองและคนอื่นๆ แต่ไม่เคยชินกับการเป็นผู้รับหรือถูกดูแล หรือแม้กระทั่งคนที่ชีวิตไม่ได้ขาดแคลนอะไร และพ่อแม่ไม่ได้ทอดทิ้งหรือละเลย แต่ถูกปลูกฝังมาว่า การขอความช่วยเหลือคือความอ่อนแอและไม่เป็นที่ยอมรับ
สิ่งเหล่านี้กระตุ้นให้ร่างกายเปิดโหมดการเอาตัวรอด เริ่มรู้สึกถึงภัยคุกคาม ค่อยๆ เชื่อมโยงเรื่องการพึ่งพาคนอื่นกับความเจ็บปวดและอันตราย เลยเลือกพฤติกรรมที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยมากที่สุด นั่นคือการปิดกั้นตัวเองจากคนอื่นๆ แล้วพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด ซึ่งอาจจะไปถึงขั้นแยกตัวออกห่างจากครอบครัว คนใกล้ชิด เพื่อนสนิท และเกิดเป็นความผูกพันในรูปแบบหลีกเลี่ยง (avoidant attachment style) ถึงแม้จะผ่านเหตุการณ์เลวร้ายมาได้หรือไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นอีกต่อไป แต่ความฝังใจยังทำให้ร่างกายตอบสนองต่อเหตุการณ์ทั่วไปในรูปแบบเดิม เพื่อหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดแบบนั้นอีกครั้งหนึ่ง
เพราะบางครั้งเราอาจไม่ต้องเปิดโหมดเอาตัวรอดตลอดเวลา
แม้ว่าต้นตอของ Hyper-Independence จะเกิดจากหลากหลายปัจจัยที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่เป็นจุดร่วมเดียวกันคือ Hyper-Independence เป็นการตอบสนองต่อเหตุการณ์บางอย่าง ‘ณ ช่วงเวลาหนึ่ง’ เพื่อให้สามารถรับมือและก้าวผ่านมาได้ ซึ่งเมื่อเราก้าวออกจากผู้คนหรือเหตุการณ์นั้นๆ มาแล้ว เราไม่จำเป็นต้องเปิดโหมดเอาตัวรอดตลอดเวลาอีกต่อไป
ดังนั้นใครที่กำลังตึงเครียดและเจ็บปวดกับการโอบกอดตัวเองเพียงลำพัง เพราะไม่กล้าเปิดประตู เปิดใจให้คนอื่นๆ ไม่แน่ว่าตอนนี้ อาจจะถึงเวลาที่เราจะได้ผ่อนคลาย พักจากความตึงเครียดกดดันที่คอยแบกรับไว้มาตลอดแล้วก็ได้นะ เพราะสังคมใหม่ๆ ผู้คนใหม่ๆ หรือเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ได้เป็นเรื่องเดิมกับสิ่งที่เราเจอมาอีกต่อไป แต่บางครั้งความรู้สึกฝังใจที่คอยหลอกหลอนเราอยู่นั้นทำให้การก้าวออกมาจากจุดเดิมไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ซึ่งไม่จำเป็นต้องรีบร้อนหรือกดดันตัวเองให้ทำได้ทันที เพราะเราเข้าใจว่าการปรับเปลี่ยนสิ่งที่เราเป็นมาอย่างยาวนั้นต้องใช้เวลา และค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อย
ซึ่งเราขอส่งกำลังใจให้คนที่กำลังก้าวผ่าน และอยากจะบอกว่าการพึ่งพาคนอื่นไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนอ่อนแอ และการขอความช่วยเหลือก็ไม่ใช่เรื่องของเด็กๆ เท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์เราจะได้พึ่งพาอาศัยกันบ้าง แต่ถ้าระหว่างนี้ยังปรับความรู้สึกไม่ไหว อาจจะลองใช้เหตุผลเข้ามาช่วยก่อน อย่างการชั่งน้ำหนักด้วยเหตุและผลว่าการรับมือด้วยตัวเองนั้นส่งผลเสียในระยะยาวมากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับการพึ่งพาคนอื่นๆ ไม่แน่ว่าการเปิดใจให้ใครสักคนได้เข้ามาตบไหล่ ปลอบใจ หรือเป็นที่พักพิงให้กับเราบ้าง อาจมีอะไรที่แตกต่างออกไปจากเดิมและไม่ได้แย่อย่างที่คิดก็เป็นได้
แต่ที่แน่ๆ เราไม่มีทางรู้ว่าผลจะออกมาเป็นยังไง ถ้าไม่ได้เริ่มลองเปิดใจดูอีกสักครั้ง
อ้างอิงจาก