เสียงเปิดประตูในช่วงเย็นย่ำหลังเลิกงานเป็นสัญญาณบอกว่า เขาได้พาอ้อมกอดอันอบอุ่นกลับมาแล้ว
เขายืนนิ่งและมองมา ห้วงเวลาเงียบงันนั้น สายตาของเราบอกเล่าความคิดถึงที่มีให้กัน เขาไม่ปล่อยเวลาไว้นาน ความคิดถึงจากสายตาได้เปลี่ยนเป็นอ้อมแขนกระชับกอดจนใบหน้าของฉันแนบไปกับแผ่นอกกว้าง มือแสนซนของเขาวางลงบนสะโพกผายใต้เสื้อผ้า เรากอดรัดผลัดกันซุกไซ้จนใบหน้าจมหายไปกับร่างกายของกันและกัน
หากการน้วยเป็นกีฬาก็คงไม่มีที่พอจะวางถ้วยรางวัลแล้วล่ะ เพราะการได้น้วยกันในวันเหนื่อยๆ หลังเลิกงาน ช่วงเวลาแสนขี้เกียจอย่างเช้าวันหยุด ทั้งหมดนั้นช่วยเติมพลังใจให้กระชุ่มกระชวยขึ้นมาได้ จนเริ่มจะอดใจไม่ไหวเมื่อได้เห็นความนุ่มนิ่มน่ารักของเขา อยากจะน้วยใส่เขาในทุกที่ นี่เราเสพติดการน้วยเกินไปหรือเปล่านะ แล้วอะไรกันทำให้เราอยากน้วยจนถอนตัวไม่ขึ้นได้ขนาดนี้?
ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจความแตกต่างของการน้วย (Cuddle) และ การกอด (Hug) กันก่อน ทั้ง 2 คำนี้จริง ๆ แปลว่ากอดเหมือนกัน แต่ใช้ในบริบทที่ต่างกัน กอดแบบ Hug คือ การสวมกอด ทักทาย ให้กำลังใจ แต่ Cuddle นั้นจะใส่ความโรแมนติกเข้าไป มีการอิงแอบแนบชิด อยากจะกลืนกินเธอทั้งตัว ไม่อยากเหลือไว้ให้ใครได้กลิ่น หากเป็นภาษาชาวเน็ตก็คงใกล้เคียงคำว่า ‘น้วย’ ที่สุดแล้ว
ส่วนพฤติกรรมการน้วยแบบหยุดไม่ได้เวลาอยู่ใกล้ชิดกันนั้น เป็นเพราะว่าการน้วยช่วยทำให้คนเรามีความสุขสุดๆ ไปเลยยังไงล่ะ การอิงแอบแนบชิดนี้ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซินออกมา ซึ่งเจ้าฮอร์โมนตัวนี้มีชื่อเล่นว่า ‘ฮอร์โมนแห่งความรัก’ ซึ่งร่างกายของเราจะหลั่งฮอร์โมนชนิดนี้เมื่อเราได้กอด จูบ สัมผัส หรือแม้กระทั่งมีเซ็กซ์ ทีนี้พอออกซิโทซินหลั่งออกมา ฮอร์โมนนี้จะทำหน้าที่เป็นคิวปิดแผลงศรรักปักอก ด้วยการทำให้เรารู้สึกผูกพัน ไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่นี้แค่ตอนอยู่กับคนรักเท่านั้น แต่รวมไปถึงตอนคลอดลูกด้วยนะ
เบื้องหลังศาสตร์แห่งการน้วย
ตั้งแต่ลืมตาดูโลกนี้ เราในตอนเบบี๋ถูกโอบอุ้มอยู่ในอ้อมกอดของพ่อแม่ เราแสดงความรักด้วยการโผเข้ากอดกันและกัน ไม่ว่าจะเพื่อน คนรัก สัตว์เลี้ยง หรือบางครั้งก็เป็นสิ่งไม่มีชีวิตอย่างหมอนข้างหรือตุ๊กตา การกอดจึงเป็นการแสดงความรักตามสัญชาตญาณของมนุษย์มาแต่ไหนแต่ไร แล้วทำไมการกอดกันถึงทำให้เรารู้สึกดีได้ล่ะ?
ดร.มาริสา โคเฮน (Dr. Marisa Cohen) ผู้เชี่ยวชาญด้าน Marriage & Family Therapy ให้สัมภาษณ์บนเว็บไซต์ elitedaily ไว้ว่า “การสัมผัสนั้นทรงพลังมาก ไม่ใช่เพียงแค่บรรเทาความรู้สึกด้านลบเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่ความรู้สึกเชิงบวกและความรักเช่นกัน” ทั้งยังเสริมอีกว่า “จากงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การสัมผัสสามารถช่วยลดความเครียดและปฏิกิริยาต่อความเครียดได้ เช่นเดียวกับช่วยส่งเสริมความรู้สึกปลอดภัยและไว้วางใจ การน้วย (Cuddling) ยังสามารถสื่อถึงความรักและความผูกพัน ด้วยเหตุนี้จึงสามารถเพิ่มความพึงพอใจในความสัมพันธ์ได้”
ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับคริสต้า จอร์แดน (Krista Jordan) นักบำบัดคู่รัก ที่กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้บนเว็บไซต์ elitedaily เช่นเดียวกันว่า “ฮอร์โมนออกซิโทซินยังทำหน้าที่เป็นยาแก้ปวดได้ด้วย เราเลยรู้สึกสบายกาย สบายใจมากขึ้น ฮอร์โมนนี้จะถูกปล่อยออกมาตามธรรมชาติระหว่างให้นมบุตรเพื่อช่วยให้คุณแม่ผูกพันกับทารก นอกจากนี้เรายังปล่อยฮอร์โมนดังกล่าวออกมาในระหว่างการสัมผัสทางกาย และระหว่างการถึงจุดสุดยอดด้วย”
ฮอร์โมนออกซิโทซินจึงทำหน้าที่ทั้งสร้างความรัก ความผูกพัน และความสบายใจ ทีนี้เราคงพอเห็นภาพกันแล้วว่า พอได้เอาหัวซุกเข้าไปในอ้อมกอดใครแล้วทำไมมันถึงน้วยไปหมดแบบนี้ หลายคนเลยใช้การน้วยแทนการขอโทษหลังการทะเลาะครั้งใหญ่ แทนความดีใจเมื่อเจอหน้ากัน แทนความคิดถึง ความโหยหา ความอ่อนโยน เพราะบางครั้งความสบายใจเมื่ออยู่ในอ้อมอกใครสักคน ก็แสดงออกถึงความรู้สึกที่มีต่อกันได้มากกว่าคำพูดมากมายเสียอีก
น้วยนักแล้วรักมั้ย? การน้วยดียังไงในความสัมพันธ์
สำหรับคนมีหวานใจ เราแอบกระซิบเลยว่า การน้วยกันนั้นสำคัญต่อความสัมพันธ์และชีวิตเซ็กซ์ได้จริงๆ การน้วยออกฤทธิ์ทั้งกับฮอร์โมนในร่างกายและความรู้สึกในจิตใจ และที่มันสุขทั้งกายสบายทั้งใจขนาดนี้ เพราะว่าการกอดกันถือเป็นรูปแบบความใกล้ชิดทางกายภาพที่คล้ายคลึงกับการเข้าสังคมของมนุษย์และสัตว์ ซึ่งเป็นการสื่อสารถึงความรู้สึกปลอดภัย เราถึงรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย และวางใจได้ เมื่อได้อยู่ในอ้อมอกคนรักไงล่ะ หากยังไม่เห็นภาพมากพอ เราขอจดมาเป็นข้อๆ ให้เห็นเลยแล้วกันว่าการน้วยนั้นสำคัญกับความสัมพันธ์ยังไง
- ช่วยผลิตออกซิโทซิน ฮอร์โมนแห่งความรักที่ทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันและใกล้ชิดกัน
- ช่วยลดความเครียดด้วยเซโรโทนินและโดปามีน ฮอร์โมนแห่งความสุขที่ออกมาช่วยกันทำหน้าที่เติมความฟินยามชิดใกล้
- ช่วยแสดงถึงความพึงพอใจในความสัมพันธ์และความพึงพอใจหลังการมีเซ็กซ์
แน่ล่ะ พอความชิดใกล้เกิดกับคนรักที่เรียกว่าแฟนได้เต็มปาก จะหวานปานน้ำผึ้งเดือนไหนก็ดีทั้งนั้น แล้วกับคนโสดล่ะ การน้วยมีอานุภาพขนาดที่ทำให้เราตกหลุมรักใครคนนั้นได้เลยหรือเปล่า?
คุณจอร์แดน นักบำบัดคู่รักที่เราพูดถึงในข้างต้น ยืนยันว่าแค่การน้วยยังไม่พอให้เราตกหลุมรักกันหรอกนะ โดย “การน้วยกันเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดความรู้สึกที่ซับซ้อนอย่างความรัก การตกหลุมรักใครสักคนนั้นเกี่ยวข้องกับกระบวนการต่างๆ มากมาย ตั้งแต่ออกซิโตซินไปจนถึงฟีโรโมน ซึ่งสมองของเราใช้เพื่อค้นหาความเข้ากันได้ทางพันธุกรรม เพื่อให้ลูกหลานมีสุขภาพดี หรือจะอ้างอิงจากทฤษฎีความผูกพัน ความรักเป็นเรื่องประสบการณ์ในวัยเด็กของผู้ดูแลคนแรกของเรา”
อ่านจบแล้วก็โล่งใจไป หากโค้ชคนไหนที่ลงสนามแล้วเผลอตัวเผลอใจน้วยไปตามสถานการณ์ อาจจะยังไม่ต้องเรียกแพทย์สนาม เพราะแค่การน้วยยังไม่มากพอที่จะทำให้ตกหลุมรักกัน แต่หากบวกกับองค์ประกอบอื่นๆ แล้วก็ไม่แน่ว่าเมล็ดพันธุ์ความรักอาจผลิบานหยั่งรากในใจโดยไม่รู้ตัวก็ได้
หากใครเป็นคนที่ไม่ชอบเอ่ยปากหยอดคำหวาน การน้วยในอ้อมกอดกันและกันถือเป็นอีกภาษากายที่ช่วยแสดงความในใจได้ไม่แพ้กัน ถ้าลองให้หัวใจของเขามาแนบอยู่ที่อกด้านขวาของเรา จนรู้สึกว่าหัวใจสองดวงนั้นกำลังเต้นอยู่ใกล้กันกว่าที่เคยจะเป็นยังไงนะ?
อ้างอิงจาก