‘ยิ่งทะเลาะ ก็ยิ่งรักกันมากขึ้น’ หรือ ‘ที่ทะเลาะกันบ่อยๆ เป็นเพราะว่าเรายังแคร์กันอยู่ต่างหาก’ เป็นคำกล่าวที่จริงหรือเปล่านะ? เพราะก็ยังเห็นคู่รักบางคู่ ไม่เคยทะเลาะกันเลยสักครั้ง หรือทะเลาะกันน้อยมาก แต่ก็ยังอยู่ด้วยกันได้นานหลายสิบปี สรุปแล้วการทะเลาะกันช่วยให้ความสัมพันธ์ยืนนานหรือเปล่า?
แอบตกใจเล็กน้อย เวลาได้ยินใครบางคนเล่าให้ฟังว่าเขากับแฟนไม่เคยทะเลาะกันเลยตั้งแต่คบกันมา เห้ย มันมีจริงๆ หรอ คู่รักที่ไม่เคยทะเลาะกันเลยตลอดระยะเวลาที่อยู่ด้วยกันมาเนี่ย ซึ่งจริงๆ ก็คงมีหลายคู่เลยแหละ แต่เราไม่รู้หรอกว่าที่พวกเขาไม่ทะเลาะกันนั้น เป็นเพราะไม่มีเรื่องให้ทะเลาะจริงๆ หรือมีแต่เลือกที่จะเก็บไว้ เพราะไม่อยากผิดใจกัน หรือกลัวทะเลาะแล้วจะเลยเถิด ระงับอารมณ์ของตัวเองไม่อยู่ แล้วนำไปสู่การเลิกราก็ได้
“มีคู่รักหลายคู่ที่ทะเลาะกันน้อยมาก เพราะพวกเขาสื่อสารความชอบ ความต้องการ และความคิดเห็นของตัวเอง ในลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างยอมรับได้” โจชัว คลาโพว์ (Joshua Klapow) นักจิตวิทยาคลินิกกล่าว แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า การที่พวกเขาไม่ทะเลาะกัน แปลว่าพวกเขาเห็นด้วยกับอีกฝ่ายไปซะทุกเรื่อง เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้น พวกเขาได้ทำการแก้ไขด้วยการรับฟังและเปลี่ยนแปลงตัวของพวกเขาเอง
โจชัวยังกล่าวอีกว่า คู่รักที่สื่อสารกันด้วยความจริงใจ น่าเชื่อถือ ให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนข้อมูล และพร้อมจะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มากกว่ามุ่งไปที่การเอาชนะ มีแนวโน้มที่จะทะเลาะ หรือโต้เถียงกันน้อยลง
แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลหรือมีเบื้องหลังอะไรที่ซ่อนก็ตาม ที่แน่ๆ คู่รักเหล่านั้นมีความเชื่อว่าการทะเลาะกันไม่ใช่ทางออกของปัญหา และพวกเขาไม่จำเป็นจะต้องพิสูจน์ความรักความใส่ใจผ่านการมีปากเสียงหรือทำร้ายร่างกายกัน เหมือนกับที่ แจนนา โคเรทซ์ (Janna Koretz) และ เอริก้า มาร์ติเนซ (Erika Martinez) สองนักจิตวิทยาได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับความเชื่อผิดๆ ที่ว่าการทะเลาะที่รุนแรงคือ วิธีการสื่อสารเพื่อแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
“ฉันไม่เห็นด้วยที่ว่าการทะเลาะกันเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น และในทางตรงกันข้าม ผู้คนมักจะไม่ค่อยได้ยินเสียงของคนอื่นในขณะที่ตัวเองกำลังตะโกน มันเป็นแค่วิธีป้องกันตัวเองของพวกเขาเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นการทะเลาะไม่ใช่วิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเท่าไหร่” แจนนากล่าว
เธอยังเสนออีกว่า เหตุผลที่คู่รักมองว่าการทะเลาะเป็นวิธีกระชับความสัมพันธ์ ส่วนหนึ่งนั่นก็เพราะป๊อปคัลเจอร์ อย่างเช่นในภาพยนตร์โรแมนติก ที่นำเสนอความสัมพันธ์ที่ขึ้นๆ ลงๆ ของตัวละคร ผ่านการทะเลาะ โต้เถียง ทำร้ายร่างกาย แล้วก็ไปจบที่การมีเพศสัมพันธ์กันอย่างร้อนแรง อันเป็นบทสรุปของดราม่าทั้งหมดทั้งมวล
“วัฒนธรรมของเราถูกโจมตีด้วยสื่อภาพยนตร์ที่นำเสนอการโต้แย้งในลักษณะนี้ ซึ่งมันทำให้ผู้คิดว่านี่คือเรื่องปกติ ฉันคิดว่าสื่อทำให้พวกเราเข้าใจผิดว่าการทะเลาะกันมันทำงานแบบนั้น (ที่ทะเลาะกันเสร็จแล้วก็มีอะไรกันต่อ) แต่จริงๆ ฉันคิดว่าในชีวิตจริง มีคนส่วนมากที่พูดคุยกันอย่างสมเหตุสมผล แล้วก็สามารถมีชีวิตเซ็กซ์ที่สมบูรณ์แบบไปพร้อมๆ กันได้” แจนนาเสริม
แต่อย่างไรก็ตาม การไม่ทะเลาะก็ถือเป็นดาบสองคมเลยก็ว่าได้ เพราะถ้าคู่รักเลือกที่จะไม่ทะเลาะกัน เพียงเพราะพวกเขาต้องการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น นั่นก็แสดงว่า ความขุ่นเคืองก็ยังคงครุกรุ่นอยู่ในใจพวกเขา โดยที่ไม่ได้รับการปลดปล่อยออกมา อาจเรียกได้ว่ายังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ซึ่งการวิ่งหนีปัญหาด้วยการประนีประนอมมากเกินไป หรือผลักปัญหาออกไปเรื่อยๆ เช่น ไม่พูดถึง หรือปล่อยเบลอทำเป็นลืม ก็อาจนำไปสู่การสื่อสารที่ผิดพลาดในความสัมพันธ์ได้ จนในที่สุดพวกเขาก็จะละเลยความรู้สึกของตัวเอง รวมไปถึงความรู้สึกอีกฝ่ายด้วยเช่นกัน
แสดงว่าการไม่ทะเลาะกันก็ส่งผลเสีย แต่ยิ่งทะเลาะกันก็อาจจะยิ่งพังเข้าไปอีก แล้วคู่ที่เห็นทะเลาะกันบ่อยๆ แต่ยังอยู่ด้วยกันได้หลายปี พวกเขาทำยังไงกันนะ?
ทะเลาะกันได้ แต่ทะเลาะอย่างไรจึงจะไม่เลิกรา?
คนเราคบกัน แน่นอนว่าต้องมีเรื่องที่ขัดแย้ง หรือไม่เห็นพ้องต้องกันบ้าง ซึ่งเป็นอะไรที่ธรรมดามากๆ แต่อย่างที่รู้ การทะเลาะกันบ่อยๆ นำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ โดยเฉพาะถ้าการทะเลาะนั้นมีแต่อารมณ์เชิงลบ การกระทบกระทั่งกันอย่างรุนแรง ไม่ว่าวาจา หรือภาษากาย และเน้นฝังความเจ็บปวดไว้ในใจของอีกฝ่ายจนยากจะรักษาหาย จึงไม่แปลกที่การทะเลาะแบบนี้ มักจะนำไปสู่การเลิกราในหลายๆ คู่
แต่ที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรทะเลาะ หรือโต้เถียงกับคู่รักนะ เพราะถ้าเราทะเลาะกันอย่างมีเหตุมีผล บางทีนั่นอาจจะเป็นโอกาสที่ทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้นกว่าเดิมก็ได้
การทะเลาะเป็นพิษร้ายในความสัมพันธ์
แต่การโต้เถียงกันอย่างมีประสิทธิภาพ
จะนำไปสู่ความเข้าใจในตัวอีกฝ่าย
การทะเลาะที่พูดถึงก่อนหน้านี้ คือการทะเลาะที่เรามักจะเห็นกันบ่อยๆ หรือเรียกการทะเลาะแบบ unhealthy fight พูดมาแบบนี้แล้ว ก็แสดงว่ามันจะต้องมีการทะเลาะแบบ healthy fight สิ เดี๋ยวนะ การทะเลาะที่ดีเนี่ยนะ? มีซะที่ไหนกัน
มีสิ healthy fight นี่แหละ คือที่มาของคำว่า ‘ยิ่งทะเลาะ ก็ยิ่งรักกันมากขึ้น’ เป็นการทะเลาะที่ประนีประนอมและมีเหตุมีผล ซึ่งต้องอาศัยการรับฟังและการเอาใจเขามาใส่ใจเรามากพอสมควร แต่ที่ยากก็คือไม่ใช่ทุกครั้งหรอก ที่พอพูดออกไปแล้วอีกฝ่ายจะใจเย็น หรือพร้อมรับฟัง เพราะขณะที่เราเปิดประเด็นขึ้นมา หลายครั้งคนฟังจะเอาความโกรธเป็นอารมณ์นำก่อน หรือที่เรียกว่าเข้าสู่โหมด fight-or-flight สู้หรือหนี เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์เผชิญกับเหตุการณ์อันตราย แต่เมื่อฮอร์โมนความเครียดถูกเปิดใช้งานมากๆ เพื่อให้มนุษย์มีพลังเพื่อสู้ เมื่อนั้นก็จะนำมาซึ่งการทะเลาะที่รุนแรง
เพราะฉะนั้น น้ำเสียง คำพูด ประโยค ท่าทาง และสีหน้าจึงถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะระงับฮอร์โมนความเครียดของอีกฝ่ายไว้ได้ โดยจะต้องระวังและควบคุมองค์ประกอบเหล่านี้เพื่อให้อีกฝ่ายรู้ว่า เราไม่ได้ตั้งใจจะมาก่อสงคราม เพียงแค่อยากสร้างความกระจ่างในเรื่องบางเรื่องเท่านั้นเอง
ยกตัวอย่างเช่น บางคนมักจะติดเปิดประโยคด้วยคำว่า “เธอมักจะ … อยู่เรื่อยเลย” คำว่า ‘มักจะ’ ใครฟังก็คงจะรู้สึกหงุดหงิดจริงมั้ย? เพราะนั่นคือประโยคที่กล่าวหาอีกฝ่ายพอสมควร และเหมารวมพฤติกรรมที่ไม่เป็นจริงเสมอไป จนอดไม่ได้ที่จะเถียงกลับว่า ไม่ใช่ทุกครั้งซักหน่อย! แล้วการ battle round 1 ก็เกิดขึ้น งั้นลองเปลี่ยนมาเป็นการบอกจุดประสงค์ไปตรงๆ เลยน่าจะดีกว่า เช่น “พักนี้ฉันรู้สึกไม่ดีเลยเวลาที่เธอ … เป็นไปได้มั้ยที่เธอจะลองเปลี่ยนให้ฉันหน่อย” ฟังดูซอฟต์ขึ้นเยอะ ไม่มากความ และไม่กล่าวหาใคร
การทะเลาะแบบ healthy fight นี่แหละ ที่จะนำไปสู่ความใกล้ชิดระหว่างคนสองคนได้ เพราะเมื่อเราและอีกฝ่ายเปิดอกพูดคุยและรับฟังกันด้วยเหตุและผล นั่นคือวินาทีที่เราจะได้เรียนรู้ถึงความปรารถนา ความต้องการ หรือความอัดอั้นตันใจของแต่ละคน ส่งผลให้เกิดกระบวนการที่เรียกว่า ความเข้าใจในตนเอง (self-understanding) ในทั้งตัวเราและตัวเขา และถ้าสุดท้าย หลังจากการทะเลาะครั้งนั้น ต่างฝ่ายต่างเข้าใจและพร้อมจะปรับตัวเข้าหากันมากขึ้น มันก็จะเหมือนกับท้องฟ้าที่ปลอดโปร่ง สดใส หลังจากพายุลูกใหญ่ผ่านพ้นไปเลยล่ะ
เพราะอย่างน้อยๆ เราก็ไม่ใช่หุ่นยนต์ หรือ AI ที่ไร้ซึ่งความรู้สึกโกรธ หงุดหงิด น้อยใจ หรือเสียใจซักหน่อย การทะเลาะ หรือโต้แย้งกันบ้าง ก็อาจช่วยปลดปล่อยความอัดอั้น หรือความขัดข้องในใจ ทำให้เราก้าวไปสู่อารมณ์ใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้ เพียงแต่จะต้องหาวิธีการสื่อสารที่ไม่นำไปสู่ความบาดหมางหรือสร้างรอยแผลในใจของคนอีกคนกันหน่อยนึง
อ้างอิงข้อมูลจาก