“ปัญหาทักษะทุนชีวิตที่ต่ำกว่าเกณฑ์ของไทย สร้างความเสียหายทางมูลค่าเศรษฐกิจระดับประเทศถึง 1 ใน 5 ของ GDP หรือคิดเป็น 3.3 ล้านล้านบาท โดยมูลค่าดังกล่าวมีจำนวนสูงกว่างบประมาณภาครัฐปี 2022 ราว 0.2 ล้านล้านบาท”
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ ธนาคารโลก (World Bank) รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดเวทีการขับเคลื่อนทักษะทุนชีวิต (Foudational Skills) ที่เผยผลสำรวจด้านทักษะและความพร้อมของเยาวชนและแรงงานไทย
ได้แก่ ทักษะการรู้หนังสือ ทักษะด้านดิจิทัล และ ทักษะด้านอารมณ์และการเข้าสังคม โดยประเทศไทยได้ทำการสำรวจประชากรจำนวน 7,300 คน ที่มีช่วงอายุระหว่าง 15-64 ปี จาก 5 ภูมิภาค คือ ภาคกลาง (เน้นกรุงเทพฯ) ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เมื่อปี 2022
ไทยติดลบทั้ง 3 ด้าน
ผลการสำรวจพบว่า ผู้คนราว 74.1% มีทักษะทุนชีวิตด้านดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์ หมายความว่า บุคคลกลุ่มนี้กำลังประสบปัญหาในการใช้อุปกรณ์ที่ทำให้ตัวชี้ตำแหน่ง (pointing device) เช่น เมาส์ แป้นพิมพ์ เคลื่อนที่บนจอภาพของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อย่าง คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ดังนั้นพวกเขายากที่จะค้นหาหรือเข้าถึงข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ต
และอีก 64.7% มีทักษะการอ่านออกเขียนได้ที่ต่ำกว่าเกณฑ์ แปลว่าคนกลุ่มนี้ไม่สามารถอ่านและทำความเข้าใจ แม้แต่ข้อความที่สั้นมากๆ ได้ เช่น ข้อความบนฉลากยา
ขณะที่ 30.3% มีทักษะทางอารมณ์และสังคมที่ต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งหมายความว่าคนกลุ่มนี้ยากที่จะปรับตัวกับความไม่แน่นอน ที่มักเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน จนนำไปสู่ความเครียดและวิตกกังวล รวมถึงยังขาดความอยากรู้อยากเห็นและจินตนาการ ซึ่งถือเป็นทักษะสำคัญในการรับมือกับอุปสรรคใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นทั้งในที่ทำงาน สถานศึกษา
โดยงานวิจัยดังกล่าวยังพบว่า เยาวชนและผู้ใหญ่ราว 18.7% หรือตีเป็น 1 ใน 5 ไม่สามารถที่จะพึ่งพาหรือทำอะไรด้วยตัวเองได้เลย ดังนั้นบุคคลกลุ่มนี้มักจะต้องพึ่งพาผู้อื่นแทน เนื่องจากขาดทักษะทุนชีวิตที่ระบุไว้ข้างต้นในทุกด้าน
ความแตกต่างระหว่างคนผ่านและไม่ผ่านเกณฑ์?
ผลงานวิจัยชี้ว่า ทั้งสองกลุ่มมีรายได้ต่างกันเฉลี่ยสูงถึง 6,700 บาทต่อเดือน และบุคคลที่ไม่ผ่านเกณฑ์ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มาจากพื้นที่ชนบท ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และมีการศึกษาไม่ถึงระดับอุดมศึกษา ซึ่งแบ่งออกเป็นดังนี้
- ร้อยละ 80 ของผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีระดับทักษะด้านดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์ โดยค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ร้อยละ 75
- ร้อยละ 70 ของผู้ที่อยู่ในชนบท มีระดับการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์ หรือมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศที่มีอยู่ราวร้อยละ 65
- ร้อยละ 60 ของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี และมีการศึกษาไม่ถึงระดับอุดมศึกษา มีทักษะการอ่านออกเขียนได้ต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ประมาณร้อยละ 65
นอกจากนี้ ถ้าเจาะลึกลงไปที่ภูมิภาคจะพบว่า กลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ชนบทในภาคเหนือและภาคใต้เผชิญกับวิกฤตทักษะทุนชีวิตมากที่สุด เช่น ร้อยละ 89 ของผู้ที่อยู่ในภาคเหนือมีระดับการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์ และ ร้อยละ 84 ของผู้ที่อยู่ภาคใต้มีทักษะด้านดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์
ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ารายได้และการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างทักษะทุนชีวิต เฉกเช่นเดียวกับที่ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกสศ.กล่าวว่า
“ประเทศไทยเป็นกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางมาตั้งแต่ปี 1976 หรือกว่า 48 ปีมาแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังคงติดอยู่ในสถานะที่ทางธนาคารโลกเรียกว่า ‘กับดักรายได้ปานกลาง’ ซึ่งไทยจำเป็นต้องเพิ่มรายได้ต่อหัวประชากรขึ้นอีกราว 40% เพื่อก้าวไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูงได้สำเร็จ”
โดยเขายังยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลว่า ควรเร่งลงทุนเพื่อเสริมสร้างทักษะทุนชีวิตทั้ง 3 ด้าน ด้วยการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ในทุกระดับการศึกษา และฝึกอบรมพัฒนาประชากรวัยแรงงานอย่างเสมอภาค โดยเฉพาะประชากรกลุ่มที่เปราะบาง รวมถึงสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ในทุกภาคส่วน
ภาครัฐต้องส่งเสริมทักษะทุนชีวิตให้แก่ทุกคน โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน และวัยแรงงาน เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งต่อการดำรงชีวิต เพราะการมีทักษะชีวิตที่ดี จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของทุกคนดีขึ้น
อ้างอิงจาก