ก็อยู่จนผูกพันไปแล้ว พอจะลาออกทีเลยไม่รู้ว่าควรบอกตอนไหน และที่สำคัญคือควรบอกยังไง…
หนึ่งในปัญหา ณ ที่ทำงานที่ใครหลายคนต้องเจอหนีไม่พ้นเรื่องราวต่อไปนี้
คิดจะเปลี่ยนงาน เริ่มวางแผนจะลาออก แต่ไม่รู้ว่าจะบอกเพื่อนในออฟฟิศดีมั้ย
ใจหนึ่งก็กลัวเพื่อนเสียใจ หรือแสดงออกกับเราไม่เหมือนเดิม และเอาจริงๆ ก็กลัวใจตัวเองด้วยว่า ถ้าบอกแล้วเพื่อนตื๊อ เราจะไม่กล้าออก
แต่อีกใจ ถ้าเก็บไว้เป็นความลับ ค่อยไปบอกตอนที่ยื่นใบลาออกเรียบร้อย เพื่อนจะไม่ใช่แค่เศร้า แต่อาจพาลโกรธเราด้วย ว่าทำไมทำกันแบบนี้ และยิ่งไปกว่านั้น การบอกแบบกะทันหันก็อาจส่งผลให้ทุกคนปรับตัวยาก งานรวน ขาดคนรับช่วงต่อ…
จริงอยู่ที่ว่า ถ้าสายสัมพันธ์ระหว่างเรา เพื่อนร่วมงาน และองค์กรไม่ได้แน่นแฟ้นมากนัก ประเด็นเรื่องการแจ้งลาออกคงไม่ใช่ปัญหา เราคงไม่รู้สึกคาใจ และพูดออกไปได้อย่างไม่ยากเย็นว่าขอบาย แต่หากได้อยู่ในออฟฟิศดีๆ มีเพื่อนที่น่ารัก มีหัวหน้าที่เข้าใจ การตัดสินใจจะออกว่ายากแล้ว การสบตาแล้วบอกว่าจะออกยิ่งกว่า และการเลือกจังหวะเวลาที่จะพูดคงเป็นสิ่งที่หนักใจน่าดู
เอาล่ะ บทความนี้ เราจะพาไปส่องไปรู้กันว่า ในแต่ละสาขาอาชีพ เขารับมือกับสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความลังเลนี้อย่างไร
เริ่มที่คนที่ทำงานในองค์กรสื่อ ตูน (นามสมมติ) มองว่า ถ้าจะลาออกก็ควรแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งเดือนตามข้อกำหนดของบริษัท และไม่ควรแจ้งแค่เพียงหัวหน้า แต่ควรบอกอย่างทั่วถึง เพราะองค์กรสื่อจำเป็นต้องเผยแพร่เนื้อหาอย่างสม่ำเสมอ มีงานต้องทำตลอดเวลา การเสียบุคลากรไปคนหนึ่งอาจหมายถึงภาระงานที่เพิ่มขึ้นของคนในทีม ซึ่งการแจ้งเร็วก็จะนำไปสู่การหาบุคลากรทดแทนที่เร็วตามไปด้วย
“การลาออกไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เราก็ควรคิดให้มั่นใจก่อนนั่นแหละ แต่ถ้ามั่นใจแล้วก็อยากให้รีบแจ้งกับทุกคน ไม่งั้นบริษัทจะมีช่วงสุญญากาศ ถ้าคนที่อยู่ต่อไม่โดนเพิ่มงาน บริษัทก็อาจจะต้องลดจำนวนชิ้นงานลงเพราะการหายไปของคนที่เพิ่งออก นี่เราพูดถึงการลาออกแค่คนเดียวด้วยนะ ถ้าออกหลายคนคงจะลำบากน่าดู” ตูนอธิบาย
เมื่อเราลองสอบถาม กานต์ (นามสมมติ) พนักงานตำแหน่ง Account Executive (AE) ผู้มีหน้าที่ประสานงานระหว่างเอเจนซี่ที่ตนเองทำงานอยู่กับลูกค้าที่มาติดต่อ กานต์บอกว่า ด้วยความที่เธอสนิทสนมกับเพื่อนที่ทำงานพอสมควร จึงอยากบอกเพื่อนเหล่านั้นแต่เนิ่นๆ ไม่อยากให้พวกเขารู้จากคนอื่นหรือมารู้เอาในนาทีสุดท้าย
“ถ้าเรามีเพื่อนที่สนิทแบบที่เราต่างก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้อีกคนมีความสุขในการทำงาน เราจะรีบบอกเพื่อนก่อน เพราะการไม่บอก สำหรับเรามันแอบเหมือนการหักหลังหรือทอดทิ้ง คือจริงๆ กรณีนี้อาจจะเหมือนการบอกเลิกแฟนที่ฝ่ายเราไตร่ตรอง คิดเองมาหมดแล้ว แล้วค่อยมาบอกลาเขาในวันที่เราไม่เหลือเยื่อใย อีกฝ่ายอาจจะไม่ทันตั้งตัว มันไม่แฟร์นิดหนึ่งในความรู้สึกของเรานะ”
เราถามกานต์ต่อว่า แล้วถ้าหากไม่ได้สนิทใจกับเพื่อนในที่ทำงานมากนัก ทำนองว่าทำงานด้วยกันได้ แต่ไม่ถึงกับคบเป็นเพื่อนในชีวิตจริง เธอจะตัดสินใจอย่างไร
กานต์ตอบกลับว่า
“ถ้าไม่ได้มีใครที่สนิทใจมากๆ ก็จะบอกเมื่อพร้อม เพราะรู้สึกว่าบอกไปก่อนก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ไม่มีเหตุผลที่จะบอก ผลลัพธ์ก่อนหลังไม่ค่อยต่าง แต่กับคนไม่สนิท ถ้าบอกก่อน เราอาจจะมาพะวงเองมากกว่าว่า เขาจะเอาไปเล่าให้คนที่เรายังไม่อยากบอกฟังรึเปล่า”
ข้ามฝั่งมาที่สายวิศวกรรมศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในบริษัทขนส่งระหว่างประเทศ ชมพู (นามสมมติ) อธิบายขั้นตอนการลาออกที่เธอเชื่อว่าเหมาะสมให้ฟังว่า
- บอกเพื่อนที่สนิท โดยต้องเป็นคนที่คิดว่าคุยได้และไม่กระทบกับการทำงาน ซึ่งการพูดคุยกับเพื่อนกลุ่มนี้อาจช่วยให้เราได้ทบทวนการตัดสินใจของตัวเองอีกครั้ง
- บอกหัวหน้า เมื่อมั่นใจว่าจะลาออก พูดง่ายๆ ว่าเป็นการแจ้งลาออกนั่นเอง
- บอกเพื่อนในทีม เพื่อให้แต่ละคนได้เตรียมตัว ออกแบบแนวทางการทำงานในวันที่เราไม่อยู่กับองค์กรแล้ว
- บอกเพื่อนร่วมงานแผนกอื่นๆ
“แต่โดยภาพรวมก็อยากรอให้พร้อมจริงๆ ค่อยบอกนะ เพราะไม่อยากให้กระทบกับงาน ถ้าบอกแล้ว เป็นไปได้ที่เขาจะมองว่าเราไม่เต็มที่ ทำงานเหมือนรอลาออก หรือถ้าบอกว่าจะออก แต่จู่ๆ ไม่ออกขึ้นมา มันจะแปลกๆ” ชมพูทิ้งท้าย
กลุ่มสุดท้ายที่เราสอบถามคือผู้ตรวจสอบบัญชี พลอย (นามสมมติ) พนักงานจาก 1 ใน 4 BIG4 บริษัทตรวจสอบบัญชี เล่าว่า ตนเองคงทำตามกฎ นั่นคือแจ้งล่วงหน้า 1 เดือน แต่ไม่มีทางแจ้งล่วงหน้านานกว่านั้น เพราะเป็นคนที่ลังเลกับการตัดสินใจของตัวเองอยู่บ่อยๆ
“กับเพื่อน ถ้ารู้ว่าจะออกก็บอก แต่ก็คงไม่ได้เร็วอะไร เพราะเราเป็นคนเอาแน่เอานอนกับตัวเองไม่ได้เหมือนกัน” เธอระบุ
นอกจากนี้ พลอยยังกำชับเพิ่มเติมว่า เหตุผลในการเลือกช่วงเวลาบอกลาออกขึ้นอยู่กับตำแหน่งงานด้วย โดยถ้าเป็นพนักงานใหม่ที่ยังไม่มีภาระรับผิดชอบมากนัก การรอให้มั่นใจค่อยบอกน่าจะดีกว่า เพราะหากรีบบอก เป็นไปได้สูงที่จะถูกหัวหน้าโน้มน้าวให้อยู่ต่อ แต่ถ้าหากเป็นพนักงานระดับซีเนียร์ในทีมที่ต้องประสานงานกับหัวหน้าโดยตรง ก็ควรรีบแจ้งเพื่อให้องค์กรหาแนวทางในการปรับเปลี่ยนหน้าตาของทีมได้อย่างทันท่วงที
จากความคิดเห็นของผู้ที่ทำงานในวงการต่างๆ เราพอจะถอดวิธีคิดและสรุปออกมาได้ว่า ช่วงเวลาแจ้งลาออกมี 3 ปัจจัยหลักที่ต้องให้ความสำคัญ อย่างแรกคือระบบระเบียบในที่ทำงาน อย่างที่สองคือความรู้สึกและสายสัมพันธ์ที่มีร่วมกับเพื่อนร่วมงานที่เรารัก และสุดท้ายคืออุปนิสัยและความต้องการของตัวเอง
ดังนั้น เราจึงควรสื่อสารอย่างเป็นมืออาชีพ แต่ในขณะเดียวกันก็ควรคำนึงถึงความประนีประนอมและสภาพจิตใจของเพื่อนๆ รวมถึงตัวเราเองด้วย
โดยขั้นตอนการบอกลาออกที่เหมาะสมมีดังนี้
- วางแผนออก – คิดทบทวน ปรึกษาเพื่อนสนิท และตรวจสอบสัญญาจ้าง เพื่อให้เราสามารถวางแผนการลาออกได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น โดยในขั้นตอนนี้ เรายังไม่ควรบอกเพื่อนร่วมงานมากนัก เพราะอาจกระทบในภาคส่วนการทำงาน และอาจบีบให้เราตัดสินใจลาออกได้ยากขึ้น
- พูดคุยกับหัวหน้า – อธิบายเหตุผลในการออก โดยอาจมีการปรึกษาหารือเล็กน้อย ในกรณีที่หัวหน้ายังต้องการรั้งตัวเราไว้ให้อยู่กับองค์กร
- ทบทวน เลือกช่วงเวลาออก – นำความต้องการของตัวเอง คำแนะนำจากเพื่อนสนิท และความคิดเห็นของหัวหน้ามาประมวลผล ถ้ามั่นใจแล้วว่าจะออกจริงๆ ก็แจ้งยืนยันกับหัวหน้า บอกเพื่อนที่เราไม่อยากให้เขารู้จากปากคนอื่น จากนั้นก็ตระเตรียมสิ่งต่างๆ เพื่อให้การออกของเราราบรื่น
- ส่งงานต่อ – ขั้นตอนสุดท้ายคือการแจ้งเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ โดยในขั้นตอนนี้ เราอาจต้องมีส่วนช่วยเล็กน้อยในการหาที่ทางให้กับภาระหน้าที่ที่เดิมทีเป็นของเรา ซึ่งทำได้ผ่านการพูดคุยกับหัวหน้าว่า ภาระหน้าที่ต่างๆ ที่เราเคยรับผิดชอบ ควรส่งต่อให้ใครดูแลในระหว่างที่ยังไม่สามารถหาพนักงานคนใหม่มาแทนได้ พูดง่ายๆ คือการสื่อสารเพื่อให้คนในทีมไม่เดือดร้อนในวันที่เราไม่อยู่ตรงนี้แล้ว จะได้เป็นการลาจากที่มีรอยยิ้มกันทุกฝ่าย
ท้ายที่สุด ในวินาทีที่จะลาออกจากหน้าที่ที่เราคุ้นชิน ความกังวลย่อมมีมากกว่าเรื่องที่ว่าควรบอกเพื่อนหรือหัวหน้าตอนไหน เพราะเราต้องคิดรายละเอียดอีกมากมาย ทั้งความรับผิดชอบ เพื่อน และสถานที่ทำงานที่ไม่เหมือนเดิม ข้อมูลเรื่องเงินเดือน ประกันสุขภาพ วันลา และอีกเยอะแยะนับไม่ถ้วน
การได้แจ้งเรื่องลาออกอย่างเหมาะสม ชัดเจน ตรงไปตรงมา อย่างน้อยที่สุดคงช่วยให้เราเบาใจไปได้หนึ่งเรื่อง แน่นอนว่าเพื่อนที่เราสนิทคงเสียใจ แต่ถ้าสนิทกันมากพอ เขาจะเข้าใจและค่อยๆ ทำใจได้ในที่สุด และมากไปกว่านั้น การลาออกที่ดีจะนำไปสู่ชีวิตการทำงานที่สะดวกสบายยิ่งขึ้นในอนาคต เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า ตัวเองจะมีโอกาสได้ร่วมงานกับเพื่อนคนนี้หรือพี่คนนั้นอีกหรือไม่และเมื่อไหร่ ดังนั้น หากไม่เกลียดกันไว้ได้ก็คงเป็นเรื่องที่ดี
ว่าแต่เพื่อนๆ ล่ะ ถ้ากำลังคิดจะลาออก จะบอกคนที่ออฟฟิศตอนไหน?
อ้างอิงจาก