ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหนเรื่องเงินเดือนเท่าไหร่ถึงจะใช้ชีวิตในกรุงเทพฯได้ วนกลับมาหาเหล่าคนเมืองมานับครั้งไม่ถ้วน ผ่านไปปีแล้วปีเล่า แม้เงินเดือนเริ่มต้นจะไม่ขยับไปตามเงินเฟ้อสักเท่าไหร่
แม้ผู้คนต่างยืนยันว่าชีวิตจริงนั้นไม่อาจอยู่ได้ด้วยเงินจำนวนนี้ แต่ไลฟ์โค้ชการเงินบนอินเทอร์เน็ต ก็ยังคงออกมาสั่งสอนผู้คนว่าเงินเดือน 15,000 สามารถอยู่ได้ ถ้ารู้จักหาที่พักราคาเท่านี้ ใช้เงินกินอยู่เท่านี้ เลิกใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเสียสิ แค่นี้ 15,000 ก็อยู่ไหว
สลับกลับมาที่โลกความจริง เงินเดือนออกไม่ทันไร ก็อยากให้ถึงเดือนใหม่แล้ว เพราะเงินเดือนได้ใช้เวลาอยู่กับเราแค่แปปเดียว เดี๋ยวก็ต้องออกไปทำหน้าที่จ่ายบิลต่างๆ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต สารพัดค่าใช้จ่ายที่ต่อคิวรอทุกสิ้นเดือน จนเงินเก็บมีเพียงน้อยนิดไปจนถึงไม่เหลือเก็บเลย บางคนมีเงื่อนไขอื่นในชีวิตที่ยิ่งขมวดปัญหาให้แน่นหนักเข้าไปใหญ่ อย่างการส่งเงินให้ที่บ้าน ภาระก้อนใหญ่อย่างผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือแม้แต่การมีลูก ทำให้ค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนกลายเป็นภาระหนักอึ้งที่เราเลี่ยงไม่ได้
ความไม่สมดุลของค่าใช้จ่ายและรายได้ ทำให้หลายคนเหน็ดเหนื่อยกับการทำงาน ที่รายได้ไม่เคยเพียงพอต่อรายจ่าย โดยเฉพาะกลุ่มคนเมืองที่ค่าครองชีพสูงลิบ ยิ่งอยู่ใกล้แหล่งความเจริญเท่าไหร่ ค่าครองชีพยิ่งมากเท่านั้น หลายคนต้องใช้ชีวิตอย่างจำกัดจำเขี่ย เพื่อให้ตัวเองมีเงินเหลือใช้มากพอในแต่ละเดือน
PwC บริษัทตรวจสอบบัญชียักษ์ใหญ่ ได้ทำผลสำรวจในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่า 26% ของเหล่าคนทำงานกล่าวว่า พวกเขามีแนวโน้มจะออกจากงานในปีหน้า ส่วนใหญ่มีเหตุมาจากวิฤตการณ์ค่าครองชีพโดยเฉพาะในสหราชอาณาจักร แค่นั้นยังไม่พอ กว่า 47% ของคนทำงานในสหราชอาณาจักร มีเงินเก็บในแต่ละเดือนเพียงแค่น้อยนิด ไปจนถึงไม่มีเลย ซึ่งปัญหาหลักที่ทำให้พวกเขาแทบไม่มีเงินเก็บ มาจากค่าใช้จ่ายในบ้าน
ดูเหมือนว่าเงินเดือนที่ได้ จะไม่มากพอให้เราได้ใช้ชีวิตในอุดมคติได้ เราเลยได้เห็นไลฟ์โค้ชการเงินออกมาแนะนำเชิงสั่งสอน ว่าเราควรใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน อย่างเงินเดือนหมื่นห้า โค้ชบอกว่าค่าเช่าไม่ควรเกิน 3,000-4,000 บาท ถามว่ามีราคานี้ไหม มีแน่ๆ แต่อาจไม่ใช่ในทำเลที่เราต้องการ สภาพความเป็นอยู่ ความสะดวกในการเดินทาง ความปลอดภัย ย่อมต่ำเตี้ยเรี่ยดินตามไปด้วย นั่นหมายความว่า เราต้องยอมเดินทางหลายต่อ กลับบ้านเข้าซอยเปลี่ยว ที่พักไม่มีความปลอดภัย เพื่อแลกกับการใช้ชีวิตในเมืองด้วยเงินเดือนอันน้อยนิดอย่างนั้นหรือ นั้นกำลังแปลว่าเรากำลังละทิ้งคุณภาพชีวิตของเราไปหรือเปล่า?
เราอาจคุ้นเคยกับคำว่า ค่าจ้างขั้นต่ำ (Minimum Wage) ตามคำนิยามในประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11) บังคับใช้เมื่อ 1 ตุลาคม 2565 ว่า “อัตราค่าจ้างที่เพียงพอสําหรับแรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือ 1 คนให้สามารถดํารงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่สภาพเศรษฐกิจและสังคม ตามมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น” เราเลยได้เห็นการเอารายได้ขั้นต่ำมาเป็นมาตรฐานชี้วัดในการใช้ชีวิตว่าควรใช้จ่ายไม่เกินรายได้ขั้นต่ำ
แต่โลกใบนี้มีสิ่งที่เรียกว่า Living Wage คือ รายได้ที่มากพอที่จะเอื้ออำนวยให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้ และที่สำคัญต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย อยู่อย่างสะดวกสบาย ไม่ขัดสน ไม่ใช่เพื่อความอู้ฟู่ แต่เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี หากรายได้ขั้นต่ำคือรายได้ที่พอให้เราดำชีวิตอยู่ได้ Living Wage คือรายได้ที่มากพอให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ
จากโครงงานวิจัยเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมกับประเทศไทยและผลกระทบต่อเศรษฐกิจส่วนรวม โดย ผศ.ปกป้อง จันวิทย์ และดร. พรเทพ เบญญาอภิกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิยาม Living Wage ไว้ว่า “ระดับค่าจ้างที่ทำให้แรงงานสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีระดับมาตรฐานการครองชีพที่อยู่ได้อย่างภาคภูมิใจ สามารถธำรงความเคารพนับถือในตัวเอง อีกทั้งเป็นระดับค่าจ้างที่ทำให้แรงงานมีหนทางและเวลาว่างเพียงพอที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของสังคม”
แนวคิด Living Wage จึงเป็นเหมือนการยกระดับคุณภาพชีวิตของเหล่าลูกจ้าง ให้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมามากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ที่ทำได้เพียงหล่อเลี้ยงชีวิตให้อยู่รอดได้ แต่ไม่อาจเติมเต็มความต้องการด้านอื่นได้เลยได้ ไม่ว่าจะความพึงพอใจ ความปลอดภัย ความมั่นคงทางการเงิน หรือแม้แต่ความสุขส่วนตัว กลายเป็นเราทำได้เพียงมีชีวิต แต่ไม่อาจได้ใช้ชีวิตดั่งที่ตัวเองต้องการ ซึ่งอาจรวมไปถึงครอบครัวของเราด้วย
หลายคนอาจมองว่า นี่คือความคิดที่ยุยงส่งเสริมให้คนเราฟุ่มเฟือยหรือเปล่านะ ใช้ชีวิตแค่พออยู่พอกินสิ กินอิ่มท้องก็พอแล้ว จะเอาอร่อยไปทำไม งั้นลองมาดูลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ มีทั้งหมด 5 ขั้น ได้แก่ ความต้องการทางกายภาพ ความต้องการด้านความปลอดภัยในชีวิต ความรักและการเป็นเจ้าของ ความเคารพนับถือ และความสมบูรณ์ของชีวิต จบแล้ว การบังคับให้พอใจแค่กินอิ่มนอนหลับ ไม่ต้องมุ่งหมายความพอใจอื่นใด พาให้เราจอดตั้งแต่บันไดขั้นแรกไม่ทันได้ไปถึงจุดสูงสุดของชีวิต มีชีวิตแต่ไม่ได้ใช้ชีวิต้อง เราต้องการจะอยู่อย่างนี้กันจริงๆ หรือ?
ย้ำกันอีกครั้ง ว่าการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ได้หมายถึงว่าเราต้องอยู่อย่างอู้ฟู่ ใช้ชีวิตไปกับความฟุ้งเฟ้อ แต่หมายถึงชีวิตที่เราได้กินของอร่อยในวันเหนื่อยๆ กลับบ้านได้อย่างปลอดภัย นอนหลับได้อย่างสนิทใจ ไม่ต้องกังวลว่าพรุ่งนี้จะมีเงินกินข้าวได้สักกี่มื้อ
อ้างอิงจาก