งานวันนี้เสร็จแล้ว งานพรุ่งนี้เสร็จแล้ว รีบทำงานจนไม่มีอะไรทำ แต่เอ๊ะ ก็ยังอยากหาอะไรทำอยู่ดี เพราะการนั่งนิ่งๆ ไม่มีอะไรทำก็ดูจะเหมือนคนไม่ทำงานทำการเอาน่ะสิ นั่นเป็นเพราะเราอยากหาอะไรทำจริงๆ หรือเพราะหลายๆ องค์กรต่างชื่นชมคนทำงานหนัก จนเรากลัวจะไม่ได้เป็นคนยุ่งเหมือนกับเขาหรือเปล่า?
เวลาเห็นเพื่อนร่วมงานนั่งหน้าดำคร่ำเครียด ชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่า ล่วงเลยเวลางานไปแล้วก็ยังไม่ยอมถอยทัพไปไหน เราจะมองคนคนนี้เป็นยังไง? เขาเป็นคนทุ่มเทกับงาน มีงานยุ่งทั้งวัน แต่สละเวลาส่วนตัวมาทำต่อ ช่างน่าชื่นชมจริงๆ คนขยัน คนทุ่มเทแบบนี้ โบนัสปลายปีคงไม่หนีไปไหนแน่นอน
การทำงานหนักดูเหมือนเป็นบัฟบวกคะแนนให้กับคนคนนั้นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะในสายเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านาย คนขยันไม่ดีตรงไหนกัน? ทั้งที่จริงๆ เบื้องหลังการกลับบ้านไม่ตรงเวลา เบื้องหลังเอกสารกองพะเนิน อาจหมายถึงเขาเป็นคนที่ทำงานช้า จัดการงานได้ไม่ทันเวลา งานล้นมือจนดูเหมือนยุ่งทั้งวันก็ได้ แต่ถึงอย่างนั้น คนที่ทำงานหนักก็ยังถูกมองในแง่บวกไว้ก่อนเสมออยู่ดี ขอให้ขยันไว้ก่อน ดีกว่าคนขี้เกียจ อะไรแบบนี้ทำให้เราบูชาคนที่ทำงานหนักอยู่หรือเปล่า?
พอเป็นอย่างนั้นแล้ว ถ้าหากเราไม่ได้ทำงานหนักตามที่ใครๆ คาดหวังไว้ มันทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ทุ่มเท ไม่ใช่คนขยันอย่างนั้นเลยใช่มั้ย?
การทำตัวให้ยุ่งจึงเป็นสัญลักษณ์ของคนขยันไปโดยปริยาย
ลองมามองอีกฝั่งของเรื่องนี้กันดูบ้าง เราอาจคิดว่าถ้าหากเราไม่ได้ทำตัวยุ่ง มันอาจกลายเป็นเราไม่ได้ขยันเท่าคนที่ยุ่ง เราไม่ได้กระตือรือร้นในการทำงานสักเท่าไหร่เลย ความนิยมชมชอบคนขยัน ที่มักจะทำตัวยุ่งตลอดเวลา กลายเป็นการกดดันให้คนอื่นๆ อยากจะทำตัวยุ่งกับเขาบ้าง จนเกิดเป็น ‘busy culture’ คนที่ต่อให้งานไม่ยุ่งก็ต้องทำตัวให้ยุ่ง เพื่อให้เหมือนเป็นคนขยัน บางครั้งไม่ได้ยุ่งแล้ว งานเสร็จแล้ว แต่ก็ยังต้องหาอะไรทำอีกเพื่อให้ตัวเองไม่ว่าง กลายเป็นเกิดอาการ ‘กลัวตัวเอง’ ว่างขึ้นมา เลยต้องหาอะไรทำ
หากมีอาการกลัวตัวเองไม่ยุ่ง พยายามหานู่นนี่ทำตลอดเวลา เพราะกลัวไม่เข้าข่ายคนขยันหรือกระตือรือร้น มาหลุดออกจากอาการเหล่านี้ ให้ชีวิตการทำงานอยู่ในโหมดปกติสุข ดูขยันได้โดยไม่ต้องทำตัวยุ่งกันดีกว่ามั้ย?
หากมั่นใจว่าที่ทำอยู่ขยันพอแล้ว ไม่อยากเล่นเกมจับคนขี้เกียจ ก็แค่รับผิดชอบงานของตัวเองให้เรียบร้อยก็พอ เสร็จทันเวลา คุณภาพงานโอเค แค่นี้ก็ไม่มีเรื่องไหนให้ต้องกังวลแล้ว แม้จะไม่ได้ทำตัวขยันเป็นพิเศษเพื่อเรียกคะแนนจากเจ้านาย แต่ก็ถือว่าเป็นการทำงานแบบไม่มีส่วนไหนให้ติ ส่วนเรื่องการช่วยเหลืองานคนอื่น มันค่อนข้างเป็นเรื่องของน้ำใจที่เราเลือกจะหยิบยื่นให้ใครหรือไม่ อาจมีบ้างตามโอกาส ซึ่งการช่วยเหลืองานคนอื่น ก็เป็นทางบวกแต้มคนขยันบางครั้งบางคราวได้เหมือนกัน
แต่ถ้ามันอดใจไม่ได้จริงๆ และยังกดดันที่ต้องว่าง ก็ลองแบ่งงานไว้ทำแบบไม่รวบตึงดู ปกติแล้ว พอรู้ไทม์ไลน์การทำงาน หลายคนอาจชอบการทำงานรวดเดียวจบ ไม่ต้องมาเหนื่อยหลายรอบ แต่ก็รู้สึกไม่ดีที่งานจบเร็ว ลองจัดการทำงานของตัวเอง ดูว่าช่วงนี้มีงานอะไร ต้องส่งช่วงไหน แล้วแบ่งงานไว้ทำเป็นส่วนๆ ไม่ต้องทำให้จบไวเกินไป มีงานมานั่งทำตลอด โดยไม่ต้องวุ่นวายหาอะไรทำเพื่อไม่ให้ตัวเองว่างจริงๆ ก็ได้
แต่คำถามก็กลับมาที่ว่าการทำตัวยุ่งตลอดเวลามันดีจริงรึเปล่า?
แน่ล่ะว่าความกดดันจากคนรอบข้างก็มีผลทำให้เราต้องทำแบบนี้ แต่ถ้ายังเป็นต่อไปเรื่อยๆ จะส่งผลดีกับเราหรือเปล่า ตัวเลขที่น่าสนใจจาก The American Institute of Stress บอกถึงสาเหตุของความเครียดในที่ทำงาน กว่า 46% ชาวออฟฟิศเครียดกับเรื่องงานที่เยอะเกินไปมากที่สุด การสุมงานให้ยุ่งหรือหาอะไรทำจนยุ่ง จึงอาจทำให้เป็นเชื้อเพลิงความเครียดชั้นดี
มาดูกันต่อ แล้วความเครียดนี้มันส่งผลกระทบต่อชีวิตพวกเขาแตกต่างกันไป กว่า 44% มีปัญหาเกี่ยวกับดวงตาและการมองเห็น 34% มีปัญหาในการนอน 12% มีอาการป่วยจากการทำงาน และอีก 2% เครียดจนเกิดมีปากเสียงกับเพื่อนร่วมงาน เห็นไหมว่าการทำงานยุ่ง โหมงานหนัก แม้จะช่วยให้ดูขยัน แต่ส่งผลร้ายทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ
หลายคนอาจยุ่งจริงๆ หลายคนอาจทำตัวให้ยุ่งเพราะไม่อยากเป็นคนเอื่ยเฉื่อยในสายตาคนอื่น หลายคนอาจตั้งใจยุ่งเพื่อให้ตัวเองเป็นคนดูขยัน แต่ไม่ว่ายุ่งแบบไหน การโหมงานหนักเกินไปเพราะความยุ่งก็ไม่ดีกับตัวเราอยู่ดี ยุ่งแต่พอดีอย่าให้กระทบกับสุขภาพจะดีกว่าเนอะ
อ้างอิงข้อมูลจาก