เราดื่มกาแฟตอนเช้าและใช้เวลานั้นเพื่อนั่งพูดคุยกันมานานแล้ว
เครื่องดื่มแก้วแรกในตอนเช้าของใครหลายคนอย่าง ‘กาแฟ’ ที่มอบความตื่นตัวให้ในตอนเช้า ยังไปต่อได้แม้ในช่วงบ่ายแสนขี้เกียจ เครื่องดื่มแก้วนี้สอดแทรกในชีวิตประจำวันของมนุษยชาติมาเนิ่นนาน ไม่ว่าจะเป็นแก้วโปรดที่ดื่มได้ทุกวันที่บ้าน หรือจะเป็นร้านกาแฟร้านแรกในปี 1475 ที่คอนสแตนติโนเปิล อิสตันบูล ที่ผู้คนเริ่มไม่ได้ดื่มเพื่อหวังให้คาเฟอีนทำงานกับร่างกาย แต่ดื่มเพื่อเข้าร่วมบทสนทนา พบปะผู้คน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ดื่มด่ำบรรยากาศ เป็นเหมือนพื้นที่ตรงกลางให้ผู้คนมาอัปเดตชีวิต ไปจนถึงความรู้แด่กันและกัน จนได้ชื่อเล่นว่า ‘Schools of the Wise’ เลยล่ะ
กาแฟเป็นที่นิยมอย่างมากในแถบตะวันออกกลาง จนได้ชื่อว่าเป็น ‘wine of Araby’ แล้วจึงเริ่มมาแพร่หลายในยุโรปเมื่อช่วงศตวรรษที่ 17 โดยพ่อค้าชาวอิตาเลียน ปี 1645 ร้านกาแฟสไตล์ยุโรปแห่งแรกก็ได้เปิดขึ้นในเวนิส เป็นที่นิยมในแวดวงชั้นสูง ตามมาด้วยร้านกาแฟแห่งแรกในอังกฤษ ปี 1651 ในตอนนั้น จำกัดสิทธิ์เฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่จะนั่งร้านกาแฟได้ เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับพูดคุยเรื่องธุรกิจ สังคม มาต่อกันที่ร้านแรกในฝรั่งเศส ปี 1669 โดยเอกอัครราชทูตประจำราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เรียกสิ่งนี้ว่า ‘magical beverage’
กาแฟได้เดินทางผ่านเวลามาพร้อมกับวัฒนธรรมอันหลากหลาย ตั้งแต่ในบ้านไปจนถึงร้านกาแฟนอกบ้าน จนถึงวันนี้กาแฟอยู่กับเราในทุกที่ ไม่เว้นแม้แต่ที่ทำงาน และได้กลายเป็นเหมือนสวัสดิการพื้นฐานของแทบทุกออฟฟิศไปแล้ว แต่กาแฟออฟฟิศมักถูกจำว่ารสชาติอาจไม่ถูกปากเท่าไหร่แต่ก็พอดื่มได้ เอาไว้เติมเต็มเช้าอันง่วงงุนให้สดใส ปลุกเราจากเวลาบ่ายอันแสนเนิบช้า แต่สำหรับคอกาแฟตัวยง มักจะมีกาแฟแก้วโปรดเป็นของตัวเองติดมือมาตั้งแต่เปิดประตูเข้ามา
เมื่อชาวออฟฟิศในโลกร่วมสมัยติดกาแฟกันขนาดนี้ ออฟฟิศเองก็มีวัฒนธรรมเกี่ยวกับกาแฟด้วยเช่นกัน ‘Fika’ วัฒนธรรมจากสวีเดน ที่ให้เราได้หยุดความวุ่นวายรอบข้าง ลุกมาชงกาแฟสักแก้ว แล้วมานั่งพัก พูดคุยกันสักหน่อย โดยคำว่า Fika นี้เป็นได้ทั้งคำนาม ‘a coffee break’ และคำกริยา ‘to have coffee’ นั่นหมายความว่าชาวสวีดิชเขารักการดื่มกาแฟกันมากขนาดมีศัพท์เฉพาะให้กับการพักดื่มกาแฟสั้นๆ นี้เลยหรอ?
จริงอยู่ที่ Fika มีกาแฟสักแก้วเป็นตัวเอก แต่จุดมุ่งหมายที่อยู่เบื้องหลังเครื่องดื่มแก้วนั้น เป็นการให้เวลาตัวเองได้หยุดพักและเพลิดเพลินไปกับการพูดคุย เหมือนได้หยุดจากเรื่องวุ่นวาย เพื่อเชื่อมต่อกับคนรอบข้าง โดยไม่จำเป็นต้องพูดคุยเรื่องงาน ไม่ต้องนั่งกับเพื่อนสนิทในแผนกก็ได้ ช่วงเวลาสั้นๆ เหล่านี้ จะโอบรับผู้คนจากทุกที่มาไว้ด้วยกัน
โดยไม่จำเป็นต้องกดดันตัวเองให้นั่งติดเก้าอี้จนเนื้อแทบจะละลายไปกับเบาะ ไม่ต้องรีบร้อน ถือกาแฟสักแก้ว แล้วสั่งขนมหวานยอดฮิตอย่าง เพรเซลหรือชินนามอนโรลมากินคู่กันสักชิ้น ใช้เวลาทำความรู้จักกับเพื่อนหน้าใหม่ ที่อาจเดินสวนกันในลิฟต์อยู่บ่อยๆ เลิกงานพร้อมกันหลายครั้ง แต่ยังไม่เคยรู้จักกันสักที หรือจะอัปเดตเรื่องราวชีวิตกับเพื่อนรู้ใจ ออกมาแลกเปลี่ยนไอเดียหลังจากนั่งคิดจนสมองตื้อ อาจช่วยให้วันทำงานของเราง่ายขึ้นกว่าเคย
ออฟฟิศหลายแห่งในสวีเดน มีช่วง Fika Break ประจำวันเป็นของตัวเอง ให้ทุกคนสามารถลุกจากเก้าอี้ ไปกระทำการ Fika แล้วค่อยกลับมาทำงาน โดยไม่มีใครรู้สึกว่านี่เป็นการเปิดช่องให้อู้งาน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการทำงานนั่นเอง
แล้วการพักยิบย่อยแบบนี้ ช่วยให้การทำงานดีขึ้นจริงหรอ?
งานวิจัยในหัวข้อ Daily micro-breaks and job performance: General work engagement as a cross-level moderator ตีพิมพ์บน PLOS ONE วารสารวิชาการสาขาวิทยาศาสตร์ พบว่า คนที่ได้พักระหว่างทำงาน รู้สึกกระตือรือร้นมากขึ้นและเหนื่อยล้าน้อยลง จากผู้เข้าร่วมทดสอบ 2,335 คน พบว่า ผู้ที่หยุดพักเล็กน้อยมีโอกาสรู้สึกกระฉับกระเฉงขึ้นประมาณ 60% ทั้งนี้ micro-break ไม่ได้ส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการทำงานโดยตรง แต่ส่งผลทางอ้อมผ่านอารมณ์เชิงบวกของพนักงาน
การพักแบบ micro–break นั้น จะเป็นการพักผ่อนเล็กๆ น้อยๆ โดยสมัครใจและสามารถทำได้ทุกเมื่อที่ต้องการ ต่างจากการพักกลางวันที่เป็นการพักอย่างเป็นทางการ และจากงานวิจัยชิ้นเดิม ชี้ให้เห็นว่าในช่วงเวลานั้น การหยุดพักสั้นๆ เพื่อพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน ฟังเพลง หรือทำกิจกรรมเล็กน้อยอื่นๆ จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีกว่า ในแง่ของความเครียด อารมณ์ และประสิทธิภาพ มากกว่าการมัวแต่ยึดติดกับงาน นอกจากด้านอารมณ์แล้ว ยังมีผลดีเล็กๆ น้อยๆ ไปถึงด้านสุขภาพกายด้วย งานวิจัยจาก Baylor University พบว่า คนที่หยุดพักช่วงสั้นๆ บ่อยครั้งจะมีอาการปวดหัว ปวดตา และปวดหลังน้อยลง
คุ้นๆ ไหมนะ การพักเบรคเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างวัน ก็ Fika ไงล่ะ หากใครมีวันทำงานแสนเหนื่อยล้า ลองเอาแนวคิด Fika ไปใช้ระหว่างวันทำงานก็ได้ อาจเริ่มจากช่วงเวลาที่เราไม่ได้ยุ่งกับงานมากนัก หรือวางแผนงานไว้ให้ดี ให้เราได้มีเวลาพักสักหน่อย ที่สำคัญอย่ากังวลว่าการพูดคุยในที่ทำงานจะต้องเป็นเรื่องงานเท่านั้น ใจความของ Fika คือการหยุดพักเพื่อมาเชื่อมต่อกัน ชักชวนเพื่อนที่สมองตื้อ คิดไอเดียตัน ออกไปนั่งเล่น ปล่อยตัวเองให้เดินถอยออกมาจากงานสักสองสามก้าว อาจช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้นได้ด้วยกาแฟสักแก้วก็ได้นะ
อ่านจบแล้ว ลุกไป Fika กันหน่อยมั้ย
อ้างอิงจาก