“ถ้าฉันมีแฟนเมื่อไหร่นะ สัญญาว่าจะทิ้งเพื่อนให้หมดเลย”
หนึ่งในคำพูดที่เรามักพูด แต่ไม่เคยทำได้จริงสักที อาจเพราะรักเพื่อนมาก หรือไม่ก็เพราะไม่มีแฟน แม้หลายๆ ครั้งจะเป็นคำพูดเล่นติดตลก แต่ก็เป็นประโยคที่ทำให้เรานึกย้อนไปในอดีตว่า ตลอดชีวิตที่ผ่านมา คนมากหน้าหลายตาร่วงหล่นหายออกไปจากชีวิตเราอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนที่เคยเจอและจากกันไปที่สระว่ายน้ำของโรงแรมในปิดเทอมฤดูร้อน เพื่อนสนิทตอนประถมซึ่งดูยังไงเราก็คงไม่ปล่อยมือจากกันในขณะนั้น ก็ห่างกันไกลเมื่อเราเริ่มมีตัวตนของตัวเอง หรือเพื่อนในคณะที่ไม่เคยทำให้เราเสียใจเลย แต่เมื่อเรียนจบ ทางเดินชีวิตก็กลับแยกเราออกจากกัน ฯลฯ
หลังจากมองย้อนกลับไป เราก็มองต่อไปข้างหน้าก่อนจะเจอกับคำถามว่า แล้วเพื่อนของเราที่ยังอยู่ตรงนี้ล่ะ? คนที่เราพูดใส่ขำๆ ว่าจะทิ้งไป วันหนึ่งพวกเขาหรือตัวเราเองจะหล่นหายไปด้วยหรือเปล่า? ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ คือคำสาปของการจากลาตลอดไปจริงๆ หรือไม่นะ? เราจะเลือกเก็บใครไว้ โดยไม่ให้เส้นทางชีวิตแยกพวกเราจากกันได้ไหม?
นั่นก็เพราะความสัมพันธ์ของเราแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยเกี่ยวกับการสิ้นสุดของความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน อาจทำให้เราเห็นลักษณะร่วมบางอย่างเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเราและคนอื่นๆ ซึ่งหนึ่งในงานวิจัยเกี่ยวกับประเด็นนี้คือ How Friendships End: Patterns Among Young Adults โดยซูซานน่า โรส (Suzanna Rose) นักวิจัยจากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยฟลอริดา
ผู้วิจัยเก็บข้อมูล โดยให้กลุ่มตัวอย่างที่กำลังศึกษาปริญญาตรีจำนวน 151 คน เขียนเส้นเวลาและทางเดินชีวิตของพวกเขา เขียนถึงเพื่อนสนิทในห้วงเวลาต่างๆ ของชีวิต และระบุว่าความสัมพันธ์ใดยังคงอยู่หรือหายจากกันไปแล้วบ้าง รวมถึงเขียนเรียงความเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนคนสนิทที่เลิกคบกันไปแล้วว่า เลิกคบได้ยังไง ทำไมถึงเลิก จุดพีคของความสัมพันธ์ ความพึงใจในความสัมพันธ์ ไปจนความรู้สึกเมื่อถึงวันแห่งการจากลา
ผลการเก็บข้อมูลดังกล่าวพบว่า 57.4% ของกลุ่มตัวอย่างวัย 17-22 ปี สูญเสียความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทไป 1 คนในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งตัวเลข 5 ปีนั้นก็ถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากมัธยมปลายสู่มหาวิทยาลัย ที่พวกเขาหลายคนกำลังจะต้องกำหนดอนาคตและทางเดินของตัวเอง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไร้เพื่อนไปเลยทีเดียว เพราะ 37.4% ของกลุ่มตัวอย่างกลับได้ความสัมพันธ์ใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาหลังจากพวกเขาเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว
ข้อมูลข้างต้นวาดภาพชัดเจนว่า การเปลี่ยนผ่านใหญ่ในชีวิต มีโอกาสที่จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ของเราได้ เพราะกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่าง ไม่สามารถเก็บความสัมพันธ์เก่าไว้ได้ เมื่อพวกเขาต้องเลือกเดินทางใหม่ มากไปกว่านั้นผู้วิจัยยังชี้แจงว่า นี่เป็นตัวเลขที่น้อยแล้ว เพราะเธอเก็บข้อมูลจากมหาวิทยาลัยท้องถิ่นที่ไม่มีบริการหอพักใน และกลุ่มตัวอย่างนั้นเป็นเพียงนักศึกษาท้องถิ่น ซึ่งผลการวิจัยนี้อาจเปลี่ยนไปอย่างมาก หากมันเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยที่นักศึกษามาจากหลากหลายจังหวัด เพราะนักศึกษาจำต้องทิ้งสังคมเดิมของตัวเอง เพื่อทางเดินที่อาจนำไปสู่โอกาสที่มากกว่า
ส่วนถัดมาคือรูปแบบการจบความสัมพันธ์ที่ได้จากการความเรียงของกลุ่มตัวอย่าง ผู้วิจัยจำแนกกลุ่มและเรียงลำดับการพบเจอสาเหตุของการจบความสัมพันธ์ในกลุ่มตัวอย่าง จากมากไปน้อยออกมา ดังนี้
- การตัดขาดกันทางกายภาพ (Physical Separation) คือการที่ความสัมพันธ์จบลงหลังจากการย้ายที่อยู่อาศัย การเปลี่ยนงาน การย้ายโรงเรียน เปลี่ยนจากความสัมพันธ์ที่เคยมีพื้นที่ร่วมกัน กลับกลายเป็นความสัมพันธ์ระยะไกล
- การมีเพื่อนใหม่ (New Friends) คือการถูกแทนที่ด้วยสังคมใหม่
- การผิดใจ (Dislike) คือการจบความสัมพันธ์ เมื่อเพื่อนคนหนึ่งมีพฤติกรรมที่เข้าข่าย ‘อยู่ในลิสต์ที่ไม่ชอบใจ’ ซึ่งมีตั้งแต่ความเชื่อทางศาสนาไม่ตรงกัน ความไม่เป็นมิตร การติติง การใช้ยาเสพติด การหักหลัง ไปจนถึงความรุนแรงทางกายภาพ
- การมีแฟน (Dating and Marriage) คือการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มมีความสัมพันธ์โรแมนติก ทำให้ทั้งคู่ใช้เวลาร่วมกันน้อยลง
ในขณะที่การมีแฟนจะพบน้อยได้ที่สุดในทุกวิธีการข้างต้น แต่ก็พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ เมื่อนำเลนส์ทางเพศมามองประกอบประเด็นนี้ เพราะในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดที่ว่ามานั้น ไม่มีผู้ชายเลยแม้แต่คนเดียวที่รายงานว่า พวกเขาสูญเสียเพื่อนไปจากการมีคนรักหรือการแต่งงาน ทำให้ทั้ง 11 คนที่ตอบการวิจัยว่า การมีแฟนนำไปสู่การจบสัมพันธ์กับเพื่อนนั้นเป็นผู้หญิง และนั่นอาจมีความหมายอะไรบางอย่างเกี่ยวกับบทบาททางเพศตามขนบ ซึ่งพาให้ผู้หญิงอยู่ติดบ้านและอยู่กับสามีเป็นหลัก มากกว่าการออกไปพบปะเพื่อนก็เป็นได้
ดูเหมือนว่าเส้นทางและจังหวะของชีวิต จะมีส่วนในการทำให้เราเลือกตัดความสัมพันธ์ออกไปจริงๆ แต่ว่ามันมีส่วนมากขนาดไหนนั้น อาจเห็นคำตอบที่คาดไม่ถึงได้ในงานวิจัยถัดไปที่เรายกมาชื่อ Relationship dissolution in the friendships of emerging adults: How, when, and why? โดยโธมัส คุลลาร์ (Thomas Khullar) นักวิจัยจากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยแมคกิลล์
งานวิจัยนี้เจาะลึกลงไปยังวิธีคิดและวิธีการของคนคนหนึ่ง ต่อการปรับเปลี่ยนสถานะความสัมพันธ์แบบเพื่อน ผ่านสถานการณ์จำลอง ซึ่งแต่ละสถานการณ์จะตกอยู่ใน 4 หัวข้อ นั่นคือ
- การปะทะ (Conflict)
- เพื่อนล้ำเส้นเรา (Friend Transgression)
- กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ล้ำเส้น (Participant Transgression)
- การสนับสนุนที่ไม่ถูกใจ (Support)
หลังจากรวบรวมคำตอบของกลุ่มตัวอย่างเรียบร้อยแล้ว ผู้วิจัยสามารถจัดแบ่งประเภทการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ออกมา 3 รูปแบบคือ
- การจบความสัมพันธ์ คือตรงตัวว่าเป็นการเลิกคบกัน
- การสร้างระยะห่าง คือการตีตัวออกหาก พูดคุยกันน้อยลง
- การตีกรอบแบ่งส่วน คือการจัดการขอบเขตเรื่องที่พูดคุยได้และไม่ได้ใหม่อีกครั้ง
นอกจากนั้นผู้วิจัยยังถามคำถามต่อ เพื่อหาจุดมุ่งหมายของความสัมพันธ์หลังสถานการณ์จำลองเกิดขึ้นแล้ว โดยแบ่งออกเป็น
- การแก้แค้น
- การคงความสัมพันธ์
- การลดความตึงเครียด
- การทำในสิ่งที่ถูกต้อง
- การคงไว้ซึ่งภาพลักษณ์ส่วนตัว
- การประกาศความต้องการของตัวเอง
- การตอบรับต่อความต้องการของเพื่อน
ผลการวิจัยพบว่า เมื่อกลุ่มตัวอย่างพบกับสถานการณ์ 4 รูปแบบ คนที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่แทบจะไม่มีใครเลยที่ตอบว่า ต้องการจบความสัมพันธ์ ผู้วิจัยจึงมีข้อสังเกตว่า เมื่อกลุ่มตัวอย่างประสบเข้ากับเหตุการณ์ เช่น การปะทะ พวกเขาจะมีมุมมองว่า เหตุการณ์เหล่านั้นไม่ใช่ความผิดของใครเลย อย่างไรก็ดี กลุ่มตัวอย่างยังมักเลือกวิธีการตีกรอบแบ่งส่วน เมื่อพบเจอกับเพื่อนที่ชอบล้ำเส้นด้วย
ส่วนถัดมาที่น่าสนใจคือ เมื่อนำประเภทคำตอบว่าด้วยวิธีการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ มาดูพร้อมกับจุดมุ่งหมายของความสัมพันธ์ ผู้วิจัยพบว่า การประกาศความต้องการของตัวเอง มีความเชื่อมโยงต่อโอกาสที่เพื่อนคู่นั้นจะห่างเหินหรือจบความสัมพันธ์กันไป แต่ในทางกลับกัน ความต้องการที่จะคงไว้และซ่อมแซมความสัมพันธ์ ก็มีโอกาสที่จะทำให้เราห่างเหินหรือจบความสัมพันธ์กับเพื่อนน้อยลง
หนึ่งในสิ่งที่เราสามารถตีความได้จากผลงานวิจัยดังกล่าวคือ แม้ว่าเส้นทางชีวิตของเราจะชัดเจนขึ้น มีความเปลี่ยนแปลงในตัวบุคคล หรือมีสถานการณ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น แต่สิ่งที่มีผลจริงๆ ในการคงไว้หรือไม่ของความสัมพันธ์นั้น อยู่ที่จุดมุ่งหมายของเราต่อความสัมพันธ์มากกว่า
“ถ้าฉันมีแฟนเมื่อไหร่นะ สัญญาว่าจะทิ้งเพื่อนให้หมดเลย”
กลายเป็นว่าหลังจากไปนั่งสำรวจงานวิจัยต่างๆ แล้ว จะหาว่าคำพูดดังกล่าวนั้นพูดเพื่อเอาฮาหรือเอาจริง กลับไม่ชัดเจนยิ่งกว่าเดิม เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า มนุษย์อยู่ด้วยกันแบบไม่ปล่อยมือกันเลยนั้นทำได้จริงหรือเปล่า เพราะนอกจากกาลเวลาและสถานการณ์จะนำไปสู่การจากลาแล้ว ลึกๆ การจากลาเหล่านั้นยังขึ้นอยู่กับตัวเรา ซึ่งอาจจะมากกว่าปัจจัยใดๆ เลยก็ตาม
การรับรู้ว่าอะไรบางอย่างยังอยู่ภายใต้การควบคุมของเรา และยังขึ้นอยู่กับมุมมองของเรา ก็แปลว่าเรามีอิสระที่จะเลือกเดินได้ ถึงสถานที่จะแยกเราออกจากกัน แต่ถ้ามีช่องทางติดต่อซึ่งกันและกันก็อาจจะยังคงความสัมพันธ์ได้ ถึงจะทะเลาะกันบ้าง แต่ถ้าเป้าหมายของเรา คือการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันเอาไว้ ปลายทางออกย่อมมีหวังเสมอ และแม้ว่าเรากับเพื่อนต่างคนจะต่างมีแฟน สุดท้ายแล้วถ้าใจเราอยากให้เพื่อนยังคงอยู่กับเราละก็ ห้องหัวใจของเราจะมีที่ว่างให้เพื่อนสนิทเสมอ เพราะทุกความสัมพันธ์ล้วนมีฟังก์ชั่นที่แตกต่างกันไป
ขอให้รักของทุกคนเบ่งบาน โดยไม่มีดอกไม้ดอกใดแห้งเหี่ยวและร่วงโรย
อ้างอิงจาก