ไม่ไหวแล้วโว้ย! ช่วยเงียบสักทีได้มั้ย
ความรู้สึกไม่ชอบเสียงดังโหวกเหวกโวยวายดูจะเป็นเรื่องปกติ เพราะเสียงที่ดังเกินกว่า 85 เดซิเบล ไม่ว่าจะเป็นเสียงการจราจรในวันรถติด เสียงเครื่องบินขึ้น หรือเสียงดนตรีร็อคในคอนเสิร์ตต่างส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพหูของมนุษย์
อย่างไรก็ดี มีคนไม่น้อยที่รู้สึกอึดอัดและทรมานใจทุกครั้งที่ได้ยินเสียงอะไรบางอย่าง แม้ว่าเสียงนั้นจะไม่ได้มีระดับเดซิเบลเกินค่ามาตรฐานที่มนุษย์จะรับได้ก็ตาม พูดง่ายๆ ว่าไม่ได้แสบแก้วหู แต่เป็นความรู้สึกหงุดหงิดจนจิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว อยากให้เสียงที่ไม่ได้ดังเลยนี้เงียบลงสักที
“ฉันทนเสียงกดปากกา ป๊อกๆ แป๊กๆ ไม่ได้เลย”
“เสียงอื่นๆ ผมโอเคหมด แต่ถ้าได้ยินเสียงเคี้ยวจากโต๊ะข้างๆ ผมจะรู้สึกเครียดมาก”
“แปลกมาก แต่นี่ไม่ชอบเสียงแป้นพิมพ์ คือถ้าพิมพ์เองไม่เป็นไรนะ แต่ถ้าเป็นเสียงที่คนอื่นพิมพ์ นี่ทนไม่ไหวจริงๆ”
หากเพื่อนๆ มีอาการในลักษณะนี้ ไม่แน่ว่าบางที เราอาจกำลังเผชิญกับภาวะ Misophonia อยู่ก็ได้
ภาวะเกลียดเสียงคืออะไร?
Harvard Health Publishing เผยว่า ‘Misophonia’ หรือ ‘ภาวะเกลียดเสียง’ คืออาการที่มนุษย์ได้รับผลกระทบในทางความรู้สึกจากเสียงธรรมดาๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งส่วนมากมักเป็นเสียงที่เกิดจากการกระทำของผู้อื่น และเป็นเสียงที่คนส่วนใหญ่แทบจะไม่ใส่ใจเลยด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเช่น เสียงเคี้ยวข้าว เคี้ยวหมากฝรั่ง เสียงจิ๊ปาก เสียงหาว เสียงกดปากกา กดแป้นพิมพ์ หรือเสียงสิ่งของอย่างช้อนกับส้อมกระทบกัน โดยเสียงอันธรรมดาสามัญนี้จะเข้าไปกระตุ้นให้ผู้ที่มีภาวะเกลียดเสียงเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ หงุดหงิด วิตกกังวล หรือถึงขั้นโกรธจนอยากออกจากสถานที่นั้นๆ จึงพูดได้ว่า อาการเกลียดเสียงส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเข้าสังคม หลายครั้งผู้ที่เผชิญจำต้องปลีกตัวออกมาอยู่ตามลำพังเพื่อหลีกเลี่ยงการได้ยินเสียงที่ทำให้ไม่สบายใจ
“ฉันบอกได้แค่ว่า มันคือความรู้สึกอยากจะต่อยหน้าใครก็ตามที่กำลังเคี้ยวอาหาร และเวลาที่ฉันเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟัง เขาก็จะบอกว่ามันดูไม่ใช่ฉันเอาเสียเลย”
โอลานา แทนสลีย์-แฮนค็อค (Olana Tansley-Hancock) สาววัย 29 ที่มีอาการเกลียดเสียงมาตั้งแต่อายุ 8 ขวบอธิบาย แม้ในตอนนั้นภาวะดังกล่าวจะยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนักในวงการแพทย์ แต่ในที่สุด ระดับความไวในการรับรู้ ‘เสียงเคี้ยวอาหาร’ ของเธอก็ถูกวินิจฉัยว่าเป็นอาการหนึ่งของ Misophonia
อาการนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ช่วงปี 2017 ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยนิวคลาสเซิล ประเทศอังกฤษ ได้ทำการศึกษาภาวะนี้อย่างจริงจัง ก่อนจะพบว่า Misophonia น่าจะเกิดขึ้นจากความผิดปกติของกลไกสมองส่วนหน้า (Frontal Lobe) และสมองกลีบอินซูลาส่วนหน้า (AIC: Anterior Insular Cortex) ซึ่งเป็นส่วนของสมองที่มีความเกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์และการตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก นี่เองที่นำไปสู่ความไวในการตอบสนองต่อเสียงที่มีความเฉพาะเจาะจง ซี่งในทางการแพทย์เรียกเสียงเหล่านี้ว่า ‘Trigger Sound’
อย่างไรก็ดี ในช่วงแรกที่มีการศึกษาเกี่ยวกับ Misophonia บุคลากรทางการแพทย์บางส่วนยังคงตั้งข้อสันนิษฐานว่า อาการนี้อาจเป็นเพียงการอุปาทานหมู่ เป็นความรู้สึกรำคาญเสียงบางเสียงซึ่งไม่ต่างจากการที่บางคนเกลียดสัตว์บางประเภท ทางทีมวิจัยมหาวิทยาลัยนิวคลาสเซิลจึงทำการทดลองโดยใช้เครื่องตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามาวัดการทำงานสมองของอาสาสมัคร ทั้งที่มีและไม่มีภาวะ Misophonia ขณะฟังเสียงต่างๆ ซึ่งในการทดลองก็มีทั้งเสียงทั่วไป (Neutral Sound) อย่างเสียงน้ำเดือด เสียงฝน และเสียงความวุ่นวายในคาเฟ่ เสียงอันไม่พึงประสงค์ (Unpleasant Sound) ทั้งเสียงเด็กร้องไห้ เสียงกรีดร้องของมนุษย์ และเสียงกระตุ้น (Trigger sound) อันได้แก่ เสียงลมหายใจและเสียงเคี้ยวอาหาร
ผลการศึกษาพบว่า เสียงกระตุ้นหรือ Trigger Sound จะส่งผลให้สมองส่วนหน้าของผู้ที่มีภาะ Misophoniaมีการทำงานที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตรงข้ามกับอาสาสมัครที่ไม่ได้มีภาวะเกลียดเสียง ซึ่งระดับการทำงานที่สูงขึ้นของสมองส่วนนี้เองที่บ่งชี้ว่า เสียงกระตุ้นอาจทำให้ผู้ที่เกลียดเสียงรู้สึกกลัว หัวใจเต้นเร็ว และมีปริมาณเหงื่อที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่เสียงทั่วไปและเสียงอันไม่พึงประสงค์ต่างส่งผลต่ออาสาสมัครทุกคนในลักษณะเดียวกัน จึงพอจะสรุปได้ว่า ภาวะเกลียดเสียงหรือ Misophonia มีอยู่จริง และเสียงกระตุ้นก็ถือเป็นอุปสรรคที่น่าเศร้าของใครหลายคนทั่วโลก
ข้อมูลจาก The Guardian ระบุว่า ประเทศอังกฤษพบผู้ที่มีภาวะเกลียดเสียงสูงถึง 18.4% ของประชากรทั้งหมด โดย ดร.ซิเลีย วิโทราตู (Dr.Silia Vitoratou) แห่ง King’s College London ผู้ทำการศึกษาเกี่ยวกับภาวะนี้เป็นคนแรกๆ เผยว่า คนที่มีอาการส่วนมากมักคิดว่าพวกเขาใช้ชีวิตอย่างลำพัง อาการที่พวกเขาเป็นคือความผิดปกติที่หาได้ยาก ซึ่งสิ่งนี้ไม่เป็นความจริง เพราะคนที่มีภาวะเกลียดเสียงมีอยู่ทั่วโลก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่นักวิจัยจะต้องศึกษาเรื่องนี้และหาทางปรับเปลี่ยนสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้
ดูแลตัวเองอย่างไรถ้าเราเกลียดเสียง
ทางการแพทย์ใช้หลายวิธีควบคู่กันเพื่อให้ผู้ที่มีภาวะ Misophonia ใช้ชีวิตในสังคมโดยมีความเดือดร้อนน้อยที่สุด โดยวิธีการดูแลรักษาแบ่งได้หลักๆ 2 วิธี ได้แก่
1) ป้องกันตัวเอง ซึ่งแยกย่อยได้อีก 2 วิธี นั่นคือ
- แก้ที่ต้นเหตุ ผ่านการหลีกเลี่ยงเสียงกระตุ้นเท่าที่ทำได้ โดยอาจจะหาที่สงบๆ ในการทำงาน พกที่อุดหู รวมถึงขอความร่วมมือคนในบริเวณนั้นอย่างสุภาพเพื่อให้เขาหยุดพฤติกรรมซึ่งสร้างเสียงกระตุ้น
- แก้ที่ปลายเหตุ เช่น ฟังสิ่งที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย (White Noise) ทดแทน อาจจะเป็นเสียงฝน เสียงน้ำตก หรือเสียงดนตรีบรรเลงที่ชื่นชอบ และอาจจะหาวิธีกำจัดความเครียดที่เหมาะกับตนเอง ทั้งการฝึกกำหนดลมหายใจ การออกกำลังกาย เป็นต้น
2) รักษาผ่านการบำบัด
นักจิตบำบัดอาจใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อช่วยลดความรู้สึกไม่สบายใจขณะได้ยินเสียงกระตุ้นของผู้ที่มีอาการ Misophonia โดยการบำบัดที่อาจนำมาใช้ ได้แก่
- การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) ที่อาจช่วยให้ผู้ที่มีอาการสามารถรับมือกับความรู้สึกเชิงลบได้ดีขึ้น โดยมีหลักการสำคัญคือ ต้องวิเคราะห์และประเมินอาการของแต่ละคนอย่างเฉพาะเจาะจง จากนั้นค่อยๆ พูดคุย หาวิธีบำบัดความเครียด รวมถึงอาจจะเล่นบทบาทสมมติเพื่อช่วยให้ผู้มีอาการเรียนรู้และตระหนักถึงระบบความคิดที่อาจส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ก่อนจะปรับความคิดนั้นใหม่ให้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น
- กิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy) กระทำได้ผ่านการฝึกให้ผู้ที่มีอาการเริ่มฟังเสียงกระตุ้นต่างๆ ทีละนิด เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่อาจช่วยให้รู้สึกคุ้นชิน และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่นมากขึ้น
สำหรับใครก็ตามที่อ่านมาจนถึงตรงนี้แล้วสงสัยว่า หรือตัวเองก็มีภาวะ Misophobia อยู่เช่นกัน เราก็อยากแนะนำให้ลองไปพบแพทย์ เพราะข้อมูลที่ได้จากบทความนี้คงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าใครมีอาการมากน้อยแค่ไหน อย่างไร การวินิจฉัยจากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญน่าจะให้คำตอบที่เที่ยงตรงที่สุด
ถึงแม้ภาวะเกลียดเสียงจะยังไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า มันสร้างความยากลำบากไม่น้อยในการเข้าสังคมของผู้ที่มีอาการ และก็คงเป็นเรื่องดี หากคนในสังคมเปิดใจ ยอมรับ และพยายามทำความเข้าใจภาวะที่เกิดขึ้น เพราะท้ายที่สุดแล้ว ทุกคนต่างก็มีสิ่งที่ไม่ชอบกันทั้งนั้น และถึงมันอาจจะไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง แต่หากรู้ว่าอีกฝ่ายไม่ชอบ การที่เอาใจเขามาใส่ใจเราย่อมเป็นสิ่งที่ควรทำ
เพราะเราก็คงไม่อยากให้คนอื่นทำในสิ่งที่เรารู้สึกหงุดหงิดเช่นเดียวกัน
อ้างอิงจาก