การพักผ่อนโดยเฉพาะการนอนเป็นเรื่องสำคัญ และการนอน รวมไปถึงชีวิตที่ดีในภาพรวม ก็มักจะต้องมีความเงียบสงบเป็นองค์ประกอบหลัก
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านดูเหมือนจะมีข่าวความขัดแย้งที่เกิดจากมลพิษทางเสียงขึ้นหลายกรณี จากความขัดแย้งของคอนโดกับผู้อยู่อาศัยที่ก็พยายามไกล่เกลี่ยกันไปเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ หรือที่แถวชานเมืองกรุงเทพก็มีข่าวกระทั่งว่าเพื่อนบ้านซ่อมรถดึกสุดท้ายบานปลายถึงขนาดไล่ต่อยกันจนประตูบ้านพัง
แน่นอนว่า เสียงรบกวนหรือมลพิษทางเสียงเป็นมลพิษที่เรามองไม่เห็น ทว่าสำคัญและรบกวนชีวิตจิตใจ ในด้านนึงเราอาจจะรู้สึกว่าเมืองที่เราอยู่ ภาพของเมืองในภาพรวมอาจจะเป็นพื้นที่ที่ไม่น่าจะเงียบเท่าไหร่ เมืองเต็มไปด้วยเสียง เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ซึ่งยุคหนึ่งเมืองก็เป็นแบบนั้นจริงๆ เราอยู่ท่ามกลางเสียงของรถรา เสียงการก่อสร้างไปจนถึงกิจกรรมที่เคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งของเมืองก็ล้วนร่วมกันส่งเสียงจนรวมกันเป็นภาพใหญ่อันอึกทึก
แต่ว่า ในประเด็นเรื่องพื้นที่เมือง เรื่องคุณภาพชีวิต ในที่สุดเราก็ทำความเข้าใจแล้วก็เปลี่ยนแปลงได้ ประเด็นเรื่องเสียงเองก็เช่นเดียวกัน องค์กรสำคัญเช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) รวมถึงกลุ่มประเทศเช่นกลุ่มสหภาพยุโรปก็เริ่มทำความเข้าใจว่าเมืองที่เสียงดังไม่ได้ดีกับผู้คน มลพิษทางเสียงส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างรอบด้านและลึกซึ้ง ตั้งแต่สุขภาพกาย สุขภาพจิต ปัญหาการนอนไปจนถึงส่งผลต่อศักยภาพในการเรียนรู้ของเด็กๆ ในระยะหลังเมืองใหญ่ก็เลยเริ่มทั้งทำความเข้าใจ ‘ภูมิทัศน์เสียง’ คือดูว่าในเมืองมีแผนที่เสียงดังเบาอย่างไร แล้วก็เริ่มมีแนวคิดที่เรียกว่า ‘quiet area’ คือเมืองมีหน้าที่เข้าใจ ส่งเสริม และจัดหาพื้นที่เงียบสงบไว้เป็นบริการสาธารณะที่สำคัญอย่างหนึ่ง
นอนไม่ได้ เรียนไม่รู้เรื่อง กับงานศึกษาว่าด้วยมลพิษทางเสียง
พื้นที่เมืองเป็นพื้นที่สำคัญของการก่อเสียงรบกวน มีการประเมินเฉพาะในยุโรประบุว่า เสียงรบกวนเป็นต้นเหตุของการเจ็บป่วยและเข้าโรงพยาบาลถึง 70,000 กรณี และเกี่ยวข้องกับการตายก่อนวัยอันควรที่ราว 16,000 รายต่อปีเฉพาะในพื้นที่ยุโรป และมลพิษทางเสียงของเมืองยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ต่อวงจรชีวิตของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และอาจส่งผลถึงระดับการสูญพันธุ์ของสัตว์บางสายพันธุ์
องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้เกณฑ์ว่าเสียงระดับไหนที่เข้าข่ายมลพิษไว้ที่ 65 เดซิเบล แต่ถ้าสูงเกิน 75 เดซิเบล ก็นับว่าเป็นระดับเสียงที่ค่อนข้างอันตรายกับสุขภาพ และ 120 เดซิเบล นับเป็นระบบที่สร้างความเจ็บปวดกับร่างกายได้ ดังนั้น ระดับเสียงที่แนะนำคือต่ำกว่า 65 เดซิเบลในเวลากลางวัน และต่ำกว่า 30 เดซิเบลในเวลากลางคืน อันที่จริงนอกความดังแล้วระยะเวลาหรือลักษณะของเสียงก็สัมพันธ์กับการเป็นมลพิษของเสียงนั้นๆ ที่มีต่อผู้คนด้วย
ในระดับสุขภาพก็มีผลการศึกษาว่ามลพิษทางเสียงส่งเสียงต่อสุขภาพอย่างรอบด้าน เช่นการเจอกับเสียงดังๆ ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น นำไปสู่อาการปวดหัว ในกรณีที่เสียงดังมากๆ ก็จะส่งผลกับร่างกายหนักกว่านั้นอาจถึงขั้นหัวใจวายได้ ในกรณีของจิตใจแน่นอนว่ามลพิษทางเสียงส่งผลต่ออารมณ์ ก่อให้เกิดความเครียด ความเหนื่อยล้า รวมไปถึงทำให้อาการที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตต่างๆ แย่ลง ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือการนอน เสียงที่ดังเกิน 45 เดซิเบลมีแนวโน้มรบกวนการนอน การถูกรบกวนทั้งทางกาย ใจ และการนอนหลับก็ส่งผลเชิงลบต่อพฤติกรรมและอารมณ์โดยรวมของบุคคลนั้นๆ
นอกจากสุขภาพส่วนบุคคลแล้วยังมีงานศึกษาที่พบว่าห้องเรียนหรือโรงเรียนที่มีเสียงรบกวนจากท้องถนนส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ ทั้งการเรียนรู้ด้านภาษาและทักษะทางคณิตศาสตร์
นักวิชาการเช่นในสหรัฐอเมริกาเริ่มมองไปที่มลพิษทางเสียงที่ไกลกว่านั้น คือนอกจากเสียงที่ดังจนหูของเราได้ยินแล้ว นักวิจัยยังพยายามระบุถึงเสียงที่เราอาจจะไม่ได้ยินด้วยหู แต่เป็นคลื่นความถี่ที่ร่างกายรับรู้ได้ เช่นเสียงที่เกิดจากสนามบินหรือเครื่องยนต์ซึ่งนักวิจัยบอกว่าเป็นเสียงที่กลุ่มตัวอย่างเช่นกลุ่มที่อยู่ใกล้สนามบินบอกว่าไม่ได้ยินแต่สัมผัสได้ เสียงเหล่านี้ในที่สุดก็ส่งผลคล้ายกันคือทำให้ร่างกายมีภาวะเครียด หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความโลหิตสูงขึ้น นักวิจัยเลยพยายามพัฒนาเซ็นเซอร์และตรวจจับมลพิษทางเสียงเพื่อสร้างแผนที่และกำหนดแนวนโยบายให้เมืองต่อไป
Quiet Area สิทธิในการเข้าถึงและพื้นที่ที่เมืองควรมี
พอเมืองต่างๆ รวมถึงภาครัฐและส่วนกำหนดนโยบายเห็นว่าเสียงกำลังบั่นทอนชีวิตของผู้คน ซึ่งก็จะกลับมาส่งผลเสียกับภาพรวมของรัฐอยู่ดี หลายเมืองก็เริ่มหันมาสนใจประเด็นเรื่องมลพิษทางเสียงอย่างจริงจัง หนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญเช่นการออกกฏของสหภาพยุโรปที่เรียกว่า EU Environmental Noise Directive (END) ในปี ค.ศ.2002 เป็นกฏหมายและแนวทางปฏิบัติให้ประเทศในกลุ่มนำเอาประเด็นเรื่องมลพิษทางเสียงเข้าเป็นพันธกิจหนึ่ง เช่น เน้นการทำความเข้าใจ ตรวจสอบ และลดปริมาณเสียงรบกวนลง
ในข้อกำหนด END ทางสหภาพได้ระบุถึงพื้นที่ที่เรียกว่า ‘quiet area’ พื้นที่ที่จะไม่ได้รับเสียงรบกวนจากกิจกรรมสำคัญ เช่น ยานพาหนะบนท้องถนน พื้นที่อุตสาหกรรม และพื้นที่สันทนาการต่างๆ โดยตัวพื้นที่เงียบสงบก็หมายถึงพื้นที่เฉพาะ สวนสาธารณะ พื้นที่ใกล้โรงเรียน โรงพยาบาล ทำนองว่ารัฐต้องใส่ใจทั้งในแง่ของการฟังเสียงเมืองและบริหารจัดการมลพิษทางเสียงรวมถึงส่งเสริมให้มีพื้นที่เงียบสงบไว้เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้คน—ต้องโน้ตไว้นิดหนึ่งว่าเป็นการกำหนดนโยบายในภาพใหญ่ ดังนั้น พวกเสียงดังจากชุมชน จากกิจกรรมส่วนบุคคลก็อาจจะไม่ได้อยู่ในการบังคับจัดการเป็นหลัก ต้องไปจัดการกันเอง
ประเด็นสำคัญของพื้นที่เงียบสงบคือ ในแง่หนึ่งในการมีชีวิตที่ดีหรือมีชีวิตในเมือง การมีพื้นที่เงียบๆ หรือการปกป้องพื้นที่ที่เงียบไว้นับเป็นอีกหนึ่งภารกิจและเป็นอีกพื้นที่ที่สำคัญสำหรับผู้คนที่เราจะเข้าถึงได้ ตัวอย่างว่าพื้นที่เงียบสงบสำคัญและจัดการอย่างไร เช่น เมืองลิสบอนเองก็สนใจเรื่องมลพิษทางเสียงมากระทั่งก่อน EU ออกข้อกำหนด พวกเมืองใหญ่ก็มักจะลงมือคล้ายๆ กันคือเริ่มจากการศึกษาพื้นที่ ทำแผนผังระดับเสียงของเมือง ตรงไหนเสียงดัง ตรงไหนเสียงเบา แล้วก็ค่อยบริหารจัดการไป
ลิสบอนเองก็มีการออก Noise Action Plan หลักๆ คือเน้นเข้าใจ มองเห็นพื้นที่และมุ่งรักษาพื้นที่เงียบสงบในเมืองไว้ ลิสบอนพบว่า เมืองของตัวเองได้เปรียบจากการออกแบบเมืองที่มีนานและมีชื่อเสียงจากการเป็นเมืองที่เงียบสงบ มีจัตุรัสหรือลานเยอะ มีถนนเล็กๆ มีสวนและพื้นที่เงียบๆ จำนวนมาก พอมองเห็นภาพรวม ลิสบอนก็จัดการส่งเสริมพื้นที่เงียบสงบด้วยวิธีหลักๆ คือการควบคุมปริมาณการจราจรของถนนสายหลักในโซนนั้นๆ ลง นึกภาพว่าพอเมืองเข้าใจว่า โอเค ย่านตรงจุดนี้เป็นชุมชน มีลาน มีสวนเงียบๆ ก็จัดการเบี่ยงหรือพยายามลดการจราจรลงทำให้พื้นที่เงียบสงบขึ้น ผลคือทั้งเมืองก็มีความเงียบสงบมากขึ้นไปด้วย
อันที่จริง ประเด็นเรื่องเสียงในเมืองส่วนหนึ่งสัมพันธ์กับการพัฒนาเมืองในทิศทางใหม่โดยเฉพาะการลดความสำคัญของรถยนต์ลงเพื่อลดมลพิษทั้งทางอากาศและทางเสียง รวมถึงมลพิษของภูมิทัศน์เมืองโดยรวมด้วย เมืองเช่นปารีสหรือดับลิน ไปจนถึงหลายเมืองในสหรัฐก็เริ่มพยายามมองเห็นเช่นจัดทำแผนที่มลพิษทางเสียงเพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายและควบคุมเรื่องเสียงอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
กลับมาที่บ้านเรา ในภาพรวมประเด็นเรื่องมลพิษทางเสียงเป็นปัญหาและสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิต บางส่วนสัมพันธ์กับความไม่เสมอภาคทางสังคมเช่นบางชุมชนมีการศึกษาพบว่า ชุมชนเช่นที่การเคหะดินแดงที่อยู่อาศัยหนาแน่นและอยู่ใกล้กับพื้นที่การจราจรเผชิญมลพิษทางเสียงมากที่สุด คือเจอมลพิษทางเสียงเฉลี่ย 71-81 เดซิเบล (ลำดับต่อมาได้แก่การเคหะธนบุรีและห้วยขวาง) ซึ่งก็ย้อนกลับไปก่อนหน้าว่า การเจอกับมลพิษทางเสียงส่งผลเชิงลบ ทั้งในเชิงพัฒนาการและสุขภาพส่วนบุคคลซึ่งก็จะส่งผลเสียต่อชีวิตต่อไปเป็นทอดๆ
สำหรับความขัดแย้งโดยทั่วไปที่เป็นความขัดแย้งจากมลพิษทางเสียง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมสันทนาการ หรือกระทั่งกิจกรรมทางศาสนา เบื้องต้นที่เราพอจะรับรู้กันได้คือการถูกรบกวนด้วยเสียงที่ดังและซ้ำจนรบกวนการใช้ชีวิตส่งผลอย่างรุนแรงอย่างน้อยก็ต่ออารมณ์ซึ่งก็อาจจะหรือมักจะนำไปสู่การขัดแย้งบานปลายในเวลาต่อมา ดังนั้น นอกจากว่าเมืองจะช่วยรักษาพื้นที่เงียบสงบ ควบคุมเสียงเช่นในพื้นที่ชุมชน มีการจำกัดกำกับการถนนหนทาง มีการจัดโซนนิ่งของผังเมืองแล้ว ในระดับบุคคลก็อาจจะช่วยกันรักษาความเงียบสงบของกันและกันเอาไว้ด้วย เพราะความเงียบเป็นความจำเป็น เป็นเรื่องพื้นที่ฐานที่เราทุกคนควรมีได้ไม่ใช่ของฟุ่มเฟือน โดยเฉพาะในชีวิตที่ยุ่งเหยิงและอึกทึกมากอยู่แล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Kodchakorn Thammachart