เราได้ยินข่าวการฆ่าตัวตายกันอยู่บ่อยครั้ง หลายๆ กรณีก็ทำให้สังคมไทยเราหันกลับมามองทั้งปัจจัยที่ทำให้เกิดการตัดสินใจฆ่าตัวตาย รวมถึงความพยายามช่วยเหลือทั้งจากภาครัฐและประชาชนด้วยกันเอง
วันนี้ (10 กันยายน) เป็นวันป้องกันฆ่าตัวตายโลก เราจึงอยากชวนทุกคนย้อนกลับมามองถึงสถิติที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเรา รวมถึงคำแนะนำและช่องทางต่างๆ ที่เราสามารถช่วยทั้งตัวเองและช่วยเหลือคนรอบข้างที่กำลังเผชิญกับภาวะความยากลำบากทางจิตใจ
อธิบดีกรมสุขภาพจิต นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ให้ข้อมูลถึงสถานการณ์ล่าสุดในประเทศไทยว่า ในปี 2561 มีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ จำนวน 4,137 คน เป็นเพศชาย 3,327 คน (กว่า 80%) และเพศหญิง 810 คน (กว่า 20%)
แบ่งเป็นช่วงอายุได้ ดังนี้
-อายุ 10-19 ปี : 131 ราย (3.17%)
-อายุ 20-29 ปี : 645 ราย (15.59%)
-อายุ 30-39 ปี : 887 ราย (21.44%)
-อายุ 40-49 ปี : 844 ราย (20.40%)
-อายุ 50-59 ปี : 715 ราย (17.28%)
-อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป : 915 ราย (22.12%)
จากสถิติข้างต้น เราก็จะเห็นว่า กลุ่มวัยทำงานมีตัวเลขการฆ่าตัวตายที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะกับกลุ่มอายุทำงานและกลุ่มผู้สูงอายุที่ 60 ปีขึ้นไป
ถ้าโฟกัสไปที่กลุ่มผู้สูงอายุด้วยแล้ว เราก็จะเห็นปัจจัยอะไรหลายๆ อย่างที่น่าสนใจ บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต เคยระบุในปี 2561 ว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุ มีปัจจัยมาจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปเป็นสังคมสูงวัย ซึ่งมีผู้สูงวัยมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และเมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไป ผู้สูงอายุหลายคนอาจมีข้อจำกัดในการปรับตัว และส่งผลเกิดภาวะเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการดำรงชีวิตได้
ด้านกรมสุขภาพจิตก็มีข้อแนะนำใน 3 ข้อหลักๆ ที่ตัวเราสามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ คือ
1) สังเกตสัญญาณเตือนฆ่าตัวตาย เช่น เก็บตัว ท้อแท้สิ้นหวัง หมดหวังในชีวิต พูดสั่งเสีย
2) ใส่ใจรับฟังด้วยความเข้าใจ
3) ส่งต่อเชื่อมโยง เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323 / สมาคมสะมาริตันส์ 02-271-6793 / แอพฯ Sabaijai
อ้างอิงจาก