ทำไมคนอื่นชีวิตดีจัง?
ทำไมเขาประสบความสำเร็จกันแล้ว แต่เรายังไปไม่ถึงไหน?
ต้องทำอย่างไร เราถึงจะเก่งขึ้นกว่านี้?
เราต่างมองความสำเร็จของคนอื่น แล้วมองย้อนกลับมาตัดสินตัวเอง ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวก็ตาม จนความเหนื่อยล้าเริ่มกัดกินจิตใจ แม้ร่างกายจะฝืนแค่ไหน แต่เมื่อทั้งสองสิ่งนี้ไม่สัมพันธ์กัน สุดท้าย ทั้งหมดของตัวเราก็คงพังลงไปเรื่อยๆ
The MATTER ขอชวนทุกคนมานั่งพักและฟัง ‘พีชชี่-พิชยา ชัยชนะ’ เจ้าของช่องยูทูบชื่อ PEACHII ที่หลายคนรู้จักกันจาก #สตีเฟ่นโอปป้า เพื่อทบทวนเรื่องของการทำงานที่หนักเกินไป จนอาจทำให้เราตกอยู่ในภาวะหมดไฟได้
จุดเริ่มต้นของการทำยูทูบ
เราเป็นคนชอบทำ แล้วก็แชร์คอนเทนต์อยู่แล้ว ก่อนหน้านี้เคยเขียนบล็อกมาบ้าง ตอนเรียนต่อที่อังกฤษก็มีถ่ายคลิปขำๆ เก็บไว้บ้าง ทำส่งให้แม่ดูบ้าง แต่ที่เริ่มทำจริงๆ จังๆ มากขึ้น คือตอนที่เริ่มทำธุรกิจ GoUni ตอนแรกไม่ได้จะกำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กไทย ตั้งใจจะทำอยู่ที่อังกฤษ แล้วก็เริ่มคิดว่า เอ๊ะ เราลองทำ content marketing หรือคอนเทนต์อะไรทำนองนี้ดูไหม คล้ายกับสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กไทย ให้เขาได้มาต่างประเทศแบบเรา ก็เลยลองทำเล่นๆ ดู
เราเป็นเด็กไทย ที่เรียนมาแบบไทยๆ แล้ววันนึงก็ได้มีโอกาสไปเรียนต่อต่างประเทศ พอเรามีโอกาสได้มาทำงานตรงนี้ ก็รู้สึกว่าเราอยากทำสื่อบางอย่าง อยากให้คนไทยรู้ว่าการมาอังกฤษไม่ได้ยากขนาดนั้น โจทย์คือทำอย่างไรให้เขารู้สึกใกล้กับประเทศอังกฤษมากขึ้น เราก็เลยเล่นกับความ sub-culture ต่างๆ ของอังกฤษ
คอนเทนต์ที่ทำมีเนื้อหาประมาณไหน?
เป็น cross-cultural lifestyle จริงๆ แกนหลักของตอนที่เราเริ่มทำ มาจนถึงตอนนี้คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้มีจุดเชื่อมโยงกับความอังกฤษอยู่ในทุกๆ อย่าง คือจะให้คนดูได้อะไรที่เชื่อมโยงกับภาษาอังกฤษ หรือวัฒนธรรมภาษาอังกฤษ เพื่อให้เขารู้สึกว่า อังกฤษไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ไม่ใช่เรื่องในห้องเรียน ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป
คิดว่าคอนเทนท์ที่ทำ เป็นสิ่งที่บ่งบอกตัวตนของเราด้วยไหม?
เราเป็นคนที่ไม่สามารถทำอะไรที่ขัดกับตัวเองได้ขนาดนั้น ทุกคอนเทนต์ที่ทำออกไป มันสะท้อนความเป็นตัวเรามากๆ คอนเทนต์เราเป็นคอนเทนต์ 2 ภาษา ที่คอยสอดแทรกความรู้ด้วย เลยเป็นคอนเทนต์แบบ edutainment เพราะโดยส่วนตัวแล้ว เราก็เป็นอย่างที่เห็นแหละ เป็นคนจริงจัง คอนเทนต์ก็ออกมาแบบที่ตัวเราเป็น
คิดว่าจะมาไกลขนาดนี้ไหม?
ไม่เคยคิดเลย อย่างที่บอกคือ เราลองทำเฉยๆ ไม่ได้วางแพลนอะไร แล้วประมาณ 4 ปีที่แล้ว ก็ยังไม่มีคำว่า ‘ยูทูบเบอร์’ ยังไม่เป็นคอนเซปต์ใหญ่ หรือชัดเจนขนาดนั้น เราเองก็ปฏิเสธคำนี้อยู่ประมาณ 2 ปีเลยด้วยซ้ำ เวลามีคนมาบอกว่า เราเป็นยูทูบเบอร์ เราก็จะบอกว่า ‘อ๋อ เปล่าค่ะ เป็นแค่ชะนีที่ทำคลิปลงออนไลน์เฉยๆ’
อาจเพราะเราอยู่ต่างประเทศ เลยไม่ได้มาสัมผัสบรรยากาศที่ไทย ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำมันไปขนาดไหน มายเซ็ทเรามันก็ยังเป็นชะนีที่ทำ ถ่ายคลิป แล้วก็ลงโซเชียลเฉยๆ มันไม่ได้ตั้งใจจะทำให้ยิ่งใหญ่อะไรเลย
ช่วงปีแรกที่ทำ มี YouTube Manager มาช่วยแนะนำว่า ทำอย่างไรช่องถึงจะโต แล้วคำแนะนำแรกที่เขามีให้เราก็คือ เปลี่ยนแบนเนอร์ ตอนนั้นมีคนติดตามแสนกว่า แต่แบนเนอร์ช่องเป็นเม็ดแตงโม เหมือนเวลาแต่ละคนมีแอคเคาต์โซเชียลมีเดีย แล้วก็เลือกรูปอะไรก็ใส่ขึ้นไปบนแบนเนอร์ เขาก็เลยถามว่า เปลี่ยนไหมคะ แบนเนอร์ เราก็ ‘อ๋อค่ะ ได้ค่ะ’
แล้วเริ่มรู้ตัวตอนไหนว่า เรามาไกลแล้ว
เราอยู่ที่อังกฤษเป็นหลัก ไม่ค่อยได้อยู่ไทยอะไรขนาดนั้น ก็จะไม่ได้รู้ว่ามันไปไกลขนาดไหน แล้วด้วยความที่เราไม่ได้มีเป้าเป็นตัวเลขว่า ต้องมียอดผู้ติดตามเท่าไหร่ ก็เลยไม่ค่อยสนใจอะไรมากนัก จนกระทั่งพอยอดติดตามเริ่มไปแตะหลักล้านปุ๊ป มันเป็นจุดที่เรารู้สึกว่า ‘เออ ก็ ยูทูบเบอร์แหละ’ เพราะมีคนรอดู รอติดตามไปกับเราด้วย
คลิปไหนของตัวเองที่ชอบเป็นพิเศษ?
จริงๆ ในแต่ละปี ความชอบของเราก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ถ้าเราไปดูคลิปแรกที่เราทำ เราก็อาจจะชอบ แต่พอตัวเราในเวอร์ชั่นนี้ไปดู เราก็อาจจะไม่ได้ชอบขนาดนั้น
ถ้าถามถึงตอนนี้คลิปที่เราชอบในปีที่ผ่านมา คือ คลิปที่เราพูดเรื่อง burnout เป็นคลิปที่นั่งพูดอย่างเดียวเลย 20 นาที งงมาก มีคนดูด้วย แล้วอีกอันก็คือ คลิปที่ไปเที่ยวโคเปนเฮเกน อันนั้นชอบเพราะรูปแบบการเล่าเรื่อง เปลี่ยนไปจาก vlog อื่นๆ ที่เราเคยทำมา เหมือนเป็นการเขียนบล็อกในเวอร์ชั่นวิดีโอ ก็เลยชอบคลิปนั้นมาก ส่วนตัวเรามองวิดีโอตัวเองเป็นงานอาร์ตประมาณนึง เราสังเกตว่า คลิปที่เราชอบส่วนมากจะเป็นคลิปที่เราสนุก หรือชอบมาตั้งแต่ขั้นตอนในการทำ การถ่าย การตัดต่อ และการสร้างเลย
จากที่ทำคลิปมา เคยรู้สึกเหนื่อย รู้สึกตัน หรือท้อแท้บ้างไหม?
ก็มีบ้าง เรามีโจทย์ มีวัตถุประสงค์ในการทำ แต่บางทีเราอาจจะยุ่งอยู่กับอย่างอื่น ไอเดียก็อาจจะหมดบ้าง แต่ถ้ามันตัน เราก็จะไปคุยกับเพื่อน คุยกับคนรอบตัวหลายๆ คน เพื่อดูว่าเขามีไอเดียอย่างไร เพราะบางทีเราอาจจะอยู่ในบับเบิ้ลของเราเยอะไป
ความท้อแท้ก็มีบ้าง คือ เราทำด้วยความตั้งใจดี เช่น มีคลิปที่พูดเรื่องคำที่คนไทยชอบออกเสียงผิด ออกเชิงการศึกษาหน่อยๆ ซึ่งเราไม่เคยพูดเลยนะว่าตัวเองเป็นครูสอนภาษา เพราะว่าเราไม่ใช่จริงๆ มีคนที่รู้เรื่องภาษาเยอะกว่ามาก เราแค่มาแชร์ในฐานะเด็กไทย ที่ผ่านจุดนั้นมาจนมาถึงตรงนี้ เราเรียนรู้ภาษาอย่างไร เราก็มาแชร์กัน พอเราทำคลิปที่ไปแตะเรื่องพวกนี้ ก็จะมีคนเข้ามาวิจารณ์เยอะ ก็รู้สึกท้อแท้เหมือนกันว่า จริงๆ เราอยู่เฉยๆ ก็ได้ ทำธุรกิจของเราไป ไม่ต้องทำก็ได้แบบนี้ก็ได้ ยิ่งเราทำตรงนี้ มันก็ยิ่งเหมือนการเปิดช่องว่างให้มีคนเข้ามาวิจารณ์เรา
บางคนวิจารณ์ในลักษณะที่เป็นการติเพื่อก่อ เราจะเปิดรับมากนะ แล้วเราก็ชื่นชมมากๆ แต่ว่าถ้ามาในลักษณะแบบ ‘จับผมเยอะจังเลย ขำเสียงแหลมจังเลย’ เราจะรู้สึกว่า เฮ้ย ไม่ได้มานั่งพูด มานั่งแชร์เรื่องภาษาอังกฤษ เพื่อให้พวกเธอดูผมเราไหม? เรานั่งอยู่เฉยๆ ก็ไม่เปลืองตัวแล้ว ทำไมเราต้องมาทำแบบนี้ด้วย บางทีก็รู้สึกเหมือนกัน
แล้วอะไรที่ช่วยให้เราผ่านสิ่งเหล่านี้ไปได้
จริงๆ แล้ว ผลตอบรับในทางที่ดีมันก็เยอะกว่ามาก เรายังเห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างกับโลกใบนี้จริงๆ มีคนที่คอมเมนต์ว่า “เกรดหนูดีขึ้นเพราะพี่เลย” หรือแบบ “หนูได้ไปเรียนต่อต่างประเทศแล้ว เพราะพี่เลย” เราก็จะรู้สึกว่านี่คือเหตุผลที่เรายังทำอยู่ เพราะว่ามันเปลี่ยนอะไรบางอย่างได้จริงๆ แล้วมีผลกับเขาจริงๆ เรากำลังผลักดันอะไรบางอย่างไปข้างหน้า อาจจะเป็นก้าวเล็กๆ เป็นจุดเล็กๆ ที่ช่วยตรงนี้ได้จริงๆ เลยเป็นเหตุผลให้เรายังอยู่ตรงนี้
แล้วตอนนี้ถือว่าตัวเองเป็นยูทูบเบอร์หรือยัง?
ใช่ .. มีความชะงักนิดนึง แต่ก็ใช่แหละ (หัวเราะ)
ในยุคที่มีอาชีพยูทูบเบอร์เยอะขึ้นแบบนี้ ต้องแข่งขันกับคนอื่นไหม?
คิดว่าไม่ (ไม่ต้องแข่งขัน) อาจจะมีบ้างในเรื่องของความรู้สึกซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ไม่ใช่ความรู้สึกที่ต้องแข่งขัน เป็นเรื่องของการเปรียบเทียบมากกว่า เราว่านี่ก็เป็นความ toxic อย่างนึง เพราะทุกคนในโลกโซเชียลล้วนทุกข์ใจกับการเปรียบเทียบ โดยที่บางครั้งเราก็ไม่รู้ตัว เช่น เราเลื่อนผ่านฟีด เห็นคนไปเที่ยว เห็นคนมีความสุข แต่เราต้องมานั่งจมกับกองงาน ในใจเราก็เปรียบเทียบแล้วแหละ เอาจริงๆ เราคิดว่า ถ้าเราตอบตัวเองได้ว่าเราต้องการอะไร เราจะไม่รู้สึกว่าต้องไปแข่งขัน หรือเปรียบเทียบกับใครเลย
แล้วคิดว่า อาชีพนี้ต้องรับผิดชอบต่อสังคมไหม หรือต้องทำอะไรเพื่อสังคมอีกรึเปล่า?
ส่วนตัวคิดว่า ใช่ อาจจะไม่ต้องให้สาระกับสังคม ไม่ต้องให้ความบันเทิงก็ได้ แต่ต้องไม่ทำลาย เอาจริงๆ ถึงจะใช้คำว่ายูทูบเบอร์ แต่ทุกคนที่มีสิทธิ์เข้าถึงสื่อออนไลน์ ทุกคนต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น
เราเข้าใจว่ามันยังเป็นสิ่งใหม่ เพราะโซเชียลมีเดีย ยูทูบ แพลตฟอร์มพวกนี้เพิ่งมาได้กี่สิบปีเอง ถูกไหม มันเร็วมาก เราอาจจะยังโตตามมันไม่ทันขนาดนั้น ความรับผิดชอบต่อสังคมที่มันต้องผูกตามมามันอาจจะยังไม่เบ่งบาน ยังไม่เป็นศาสตร์ที่เราเข้าใจได้ดี แต่เราก็ต้องเรียนรู้ไปกับมัน เพราะต้องยอมรับว่าทุกคนมีเสียง มีพื้นที่สาธารณะ บางคนอาจรู้สึกว่า คนติดตามเราไม่เยอะ เราจะพูดอะไรก็ได้บนโลกออนไลน์ เราจะพ่นไปยังไงก็ได้ มันเป็นพื้นที่ส่วนตัวของเรา
แต่พื้นที่ส่วนตัวไม่มีจริงหรอก มันอยู่บนโลกออนไลน์ จะถูกแคป ถูกแชร์ ถูกส่งไปที่ไหนก็ได้ แล้วยิ่งมันออกไปในพื้นที่ที่สามารถมีคนมาเห็น หรือได้ยินตลอดเวลา ก็ยิ่งต้องคิดให้เยอะขึ้นว่าเราจะส่งสารอะไรออกไป
ยิ่งถ้าเป็นยูทูบเบอร์ มีคนติดตามมากหน่อย หรือที่หลายคนเรียกตัวเองว่าเป็น influencer ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่า influencer คุณมีอิทธิพลกับคนที่ติดตามจริงๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง คุณมีพื้นที่ตรงนี้ มีกระบอกเสียงตรงนี้แล้ว แล้วคุณเลือกจะพูดในสิ่งที่ไม่ดี หรือคิดน้อย แล้วก็แบบทำอะไรที่รับผิดชอบต่อสังคมน้อย เพื่อยอดวิว เพื่อคนติดตาม เพื่อกระแส มันคุ้มกันแล้วเหรอ
มีหลายคนบอกว่า ‘เฮ้ย คนดูเขาก็ต้องมีวิจารณญาณสิ พ่อแม่ก็ต้องมาสอนลูกเรื่องการเสพสื่อสิ’ ก็ใช่ แต่จะผลักความรับผิดชอบให้เขาทางเดียวไม่ได้ เหมือนเอามือไปกั้นน้ำเขื่อนแตก นึกออกไหม เขื่อนแตกแล้วจะเอามือไปกันน้ำเหรอ ถ้า influencer หรือยูทูบเบอร์ไม่ได้รับผิดชอบต่อสังคม แล้วก็ทำอะไรไม่นึกถึงผลที่จะตามมา ก็หมือนน้ำจากเขื่อนเชี่ยวเชียว ผู้ปกครองพยายามปิด เอามือปิดไว้ บอกให้คนดูใช้วิจารณญาณไปสิ ไม่ได้หรอก ต้องช่วยกันทั้งสองฝั่ง
เราส่งความรับผิดชอบให้สังคมแล้ว ช่วงไหนที่เริ่มรู้สึกตัวว่า ต้องกลับมารับผิดชอบใจตัวเองแล้วบ้างเหมือนกัน
มีช่วงที่เราทำงานเยอะมากๆ จนเหมือนตัวเองเป็นหุ่นยนต์ มันมีจริงๆ ช่วงที่เรารู้สึกว่า ตื่นมาเราแค่ทำตามตารางเฉยๆ เลย คือ ตื่นมา ทำงาน หมดวัน นอน แล้วก็ตื่นมา ส่งงานให้ทัน หมดวัน นอน เวียนอยู่อย่างนี้ จนเหมือนเราเหลือแค่ร่าง แค่กายหยาบเฉยๆ กายละเอียดไปไหนแล้วไม่รู้
ในช่วงนั้นจะมีคนมาสัมภาษณ์ หรือเวลาไปเจอน้องๆ เขาก็จะเริ่มยิงคำถามว่า ทำอย่างไรให้สำเร็จ? คือเราเข้าใจในมุมมองกับคำถามของเขา แต่ในใจเราก็มี constant battle ในหัวเราก็จะคิดว่า ‘เราสำเร็จเหรอ? ทุกวันนี้ยังดิ้นสายตัวแทบขาด โอ้ย เหนื่อยมาก ถ้าสำเร็จจริงๆ เราต้องจัดการเวลาได้ดีกว่านี้ไหม?’
แล้วการสู้กับตัวเอง มันแย่ที่สุดแล้ว แย่กว่าสู้กับใครอีก
มันมีโมเมนต์ที่ตื่นขึ้นมา แล้วรู้สึกว่า คำว่า ‘ความสุข’ เป็นคำที่ไกลมาก ในขณะเดียวกัน ทุกคนก็จะได้ความสุขจากเรา ก็ยิ่งเป็นความขัดแย้งอีก จนบางทีก็คิดว่า ‘เอ๊ะ เราปลอมไหมนะ’ เริ่มมีคำถามอะไรเยอะแยะไปหมด ก็เลยเริ่มรู้ตัวว่า สุขภาพเราไม่น่าจะดีแล้ว
ส่วนตัวของเรามองว่า mental health ก็เหมือน physical health คือ ร่างกายของเรา เป็นหวัด ป่วย จาม ไอ ไข้ขึ้น เราไปหาหมอ ซึ่ง mental health ก็เหมือนกัน เราไม่รู้ว่าจะรักษาอย่างไร ต้องจัดการอย่างไร รับมือกับตัวเองไม่ได้ก็ไปหาหมอ เป็นเรื่องปกติ
อาการที่เป็นอยู่ตอนนี้คืออะไร?
ทั้งหมดทั้งมวลมันมาจากภาวะหมดไฟ หรือก็คือ burnout นั่นแหละ เพราะเราทำงานหนักจนไม่มีเวลาพักเลย เหมือนเราวิ่งอยู่ตลอด
คล้ายๆ กับ เรา catch momentum แล้วหยุดไม่ได้ และตอนนี้เราก็ไม่รู้จะหยุดยังไงแล้ว
คุณหมออธิบายว่า สมองของเราผลิตสารความเครียดอยู่เรื่อยๆ แล้วสมองเราก็จะหลั่งสารที่มาช่วยตอบโต้ความเครียด คือ เรามีความเครียดเท่านี้ ร่างกายหลั่งสารมา เราก็จะค่อยๆ ดีขึ้น ทุกคนมีวันที่เครียด มีวันที่เหนื่อย ซึ่งสมองก็จะตอบโต้แล้วเราก็เริ่มต้นใหม่ได้
แต่อย่างของเรา หรือคนที่มีภาวะทางจิตใจ ร่างกายจะผลิตสารความสุขนี้ น้อยลงๆ จนถึงจุดที่ไม่ผลิตแล้ว ร่างกายเลยมีแต่ความเครียด ทำให้เราเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ แล้วอารมณ์ซึ่งแปรผันตามสารเคมีในสมอง ก็เริ่มเปลี่ยน ทุกอย่างมันมีต้นเหตุเสมอ ซึ่งไม่เกี่ยวกับว่า คุณทำผิดพลาด คุณอ่อนแอ หรืออะไรทำนองนั้นหรอก แต่เวลาที่เราไม่ได้มีไลฟ์สไตล์ดีต่อสุขภาพ พอเราป่วย ก็ต้องปรับไลฟ์สไตล์
แล้วปรับตัวอย่างไรบ้าง?
เหมือนโดนครูเช็กเลย (หัวเราะ) จริงๆ ก็ไม่ได้ปรับได้แบบทันที เราอยู่ในไลฟ์สไตล์นี้ 2 ปีเต็มๆ มันก็ไม่ใช่ว่าหมอบอกมาแล้วจะเปลี่ยนได้เลย เราต้องค่อยๆ ปรับ อันดับแรก หมอให้เราหางานอดิเรก ให้เราลองมีอย่างอื่นนอกจากงานดู หลังจากนั้นก็จะมีสิ่งอื่นๆ ไปตามเรื่องราว เช่น ติดโซเชียลมาก ก็ต้องห่างโซเชียลบ้าง
หลายอย่างก็มาจากการสะท้อนตัวเองด้วย ซึ่งสำหรับเราและคนอื่นๆ ที่เป็น workaholic เรารู้สึกว่า การหยุดพักมันเอื่อย คิดว่า ‘เฮ้ย ไม่ได้เรื่องเลย เราจะต้องทำงานสิ’ ซึ่งพอมีเรื่องป่วยเข้ามา เราก็เลยได้ข้ออ้างให้ตัวเองมากขึ้นว่า พักเถอะ ก็ค่อยๆ ปรับไลฟ์สไตล์เริ่มมีเวลาให้ตัวเอง เริ่มเห็นตัวเองมากขึ้น
ขอแอบถามว่า น้อง Bumpkin (น้องแมว) เป็นหนึ่งในสิ่งที่ช่วยฮีลตัวเองด้วยไหม?
ใช่เลย Bumpkin ก็คือแมวของเราเอง แต่ที่เอาน้องเข้ามาในชีวิตไม่ไช่เพราะเรื่องนี้หรอก แต่พอเขาเข้ามาแล้ว ก็ช่วยได้มากเลย เราเคยได้ยินมาเยอะว่าเป็นซึมเศร้าแล้วแมวจะช่วย แต่ก็ไม่เคยศึกษาจริงจังว่าเพราะอะไร แต่พอมีน้องเข้ามาในชีวิต เขาช่วยได้เยอะเลย
เหมือนก่อนหน้านี้ เราจมกับความคิดตัวเอง คิดอยู่ในหัวตัวเองเยอะมาก แล้วเราก็ไม่ค่อยได้แสดงออก ไม่ค่อยได้พูดออกมา แต่กับแมว เราแค่คิดกับเขาไม่ได้ เราต้องแสดงออกให้เขารับรู้ว่าเรารักเขา เหมือนเป็นการฝึกให้เราเอาสิ่งที่อยู่ข้างในออกมามากขึ้น ให้ทำอะไรเป็นรูปธรรมมากขึ้น แล้วเราว่านี่เป็นการช่วยให้เราโฟกัสกับสิ่งนี้มากขึ้น ไม่ต้องจมกับความคิดตัวเองอย่างเดียว อาจจะไม่ใช่เป็นแบบฝึกหัดที่ตรงขนาดนั้น แต่เรามองว่าสิ่งนี้ช่วยได้เยอะมาก
บางคนจมกับความคิดเยอะ แล้วไม่มีพื้นที่ให้ปล่อยออกมา บางทีก็ไปปล่อยในโซเชียลมีเดียบ้าง อะไรบ้าง ซึ่ง มันไม่ practical ขนาดนั้น แต่การที่เรามีแมว เราแค่คิดในใจว่า ‘ฉันรักแกนะ’ ไม่ได้ เราต้องเดินเข้าไปอุ้มเขา ไปลูบเขา ไปหอมเขา ไปกอดเขา ไปจับเขาจริงๆ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ช่วยเราได้เยอะมากๆ
ภาวะนี้เป็นสิ่งที่หลายคนกำลังเผชิญ อยากแบ่งปันอะไรให้กับคนอื่นๆ ไหม?
อยากบอกว่า You’re not alone เราเข้าใจ เรารู้สึกว่าคนเราในตอนนี้มันเสพติดความดีเยี่ยม เสพติดความสำเร็จที่เร็วด้วย เพราะเราโตมาในยุคของโซเชียลมีเดีย เราเป็นประชากรโลก สังคมเราใหญ่มาก แล้วเราเห็นความสำเร็จของคนอื่นง่าย เห็นสิ่งที่เราคิดว่าเป็นชีวิตของเขาทั้งหมด แล้วเราก็จะตัดสินตัวเองง่าย ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว
คนเรามักคิดว่า ต้องรีบสำเร็จ ต้องทำอะไรสักอย่าง ต้องมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เราเสพติดกับความดีเยี่ยมมากเกินไป จนหลายคนรู้สึกว่า ‘เฮ้ย การพักมันคือความเหลาะแหละ คนทำงานเก่งสิถึงจะดี’
พอเราโตขึ้น งานก็จะเป็นพาร์ทใหญ่ๆ ในชีวิต แต่อย่าให้มันเป็นทั้งหมดเลย เพราะวันไหนที่คุณเอาคุณค่าของตัวเองทั้งหมด ไปผูกไว้กับสิ่งเดียว พอเกิดอะไรขึ้นกับสิ่งนั้น มันพังง่ายเลยนะ
การที่คุณเอา 24/7 เอาเวลา 24 ชั่วโมงไปผูกไว้กับสิ่งนั้น ให้คุณค่ากับสิ่งนั้นทั้งหมด โดยที่ไม่แบ่งไปให้พาร์ทอื่นในชีวิตเลย คิดดูสิ ถ้ามันอัพเราก็ดีใจ แต่ถ้าวันนึงมันลง หมายถึงทั้งหมดของคุณลงไปเลยนะ คุณจะมองไม่เห็นด้านอื่นเลยหรือเปล่า
แล้วมีวิธีแก้ หรือหยุดคิดอย่างไรได้บ้าง?
แบบฝึกหัดนึงที่คุณหมอให้ทำ แล้วเราชอบมาก คือ ให้ลองลิสต์สิ่งที่สำคัญในชีวิตออกมา แน่นอน สิ่งแรกที่คิดออกเลย ก็คือ งาน นึกอย่างอื่นไม่ออก ทุกอย่างเป็นเรื่องงานไปหมด งานเป็นเหมือนลูก เราคลอดมาเอง เราทุ่มเท ซึ่งคุณหมอให้เราลองลิสต์ดูว่า 10 อย่างที่สำคัญในชีวิตมีอะไรบ้าง เราก็คิดว่า อย่างแรกคือเรื่องงาน อย่างที่สองคือครอบครัว อย่างที่สามคือเพื่อน
แต่ความสำคัญ หรือเวลาของเราที่ให้ระหว่างอันดับหนึ่ง กับอันดับสอง มันห่างกันเยอะเลยนะ อันดับหนึ่งคืองาน เราให้เวลาของเรา 90% กับงาน แล้วข้อสองถึงสิบ เราต้องแบ่งอีก 10% ที่เหลือ ให้อย่างละ 1% เอง มันก็เศร้าเหมือนกัน พอเราเห็นอย่างนี้เราก็รู้แล้วว่า ต้องจัดเวลา จัดพลังงานในชีวิตเราให้กับอย่างอื่นด้วย อย่าเอาตัวเองไปผูกกับงานมาก เพราะบางทีเราเอาคุณค่าของตัวเองผูกกับงานเยอะไป เพราะงานไม่ใช่ทั้งหมด แล้วงานไม่ใช่สิ่งที่จะมานิยามตัวคุณ
ตัวคุณมีคุณค่ากับครอบครัว กับเพื่อน กับแมวของคุณ คุณยังมีคุณค่าอื่นๆ ให้กับชีวิตได้อีก เพราะงั้นอย่าเอาเวลา 24 ชั่วโมง 7 วัน มาใส่ไว้ตรงนี้ที่เดียวเลย ลองเกลี่ยไปบ้าง
ช่วงที่รู้สึกว่า อาการของตัวเองหนักที่สุด คือหนักขนาดไหน?
มีช่วงที่เรารู้สึกเหมือนตัวเองปลอม คนชอบบอกว่า เราเป็นแรงบันดาลใจ อยากเก่งแบบเรา เราทำงานเก่งจัง จนเรารู้สึกว่า ทำไมคนเขาถึงชื่นชมเรา ถ้าเขาชื่นชมเรา แล้วเราจะเป็นแบบนี้ได้เหรอ แปลว่าเราปลอมหรือเปล่า เราหลอกทุกคนอยู่หรือเปล่า ตอนนั้นรู้สึกเหมือนเรากำลังหลอกทุกคนอยู่ แล้วรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ตัวเรา
คำพูดที่เราบอกทุกคนว่า ‘เฮ้ย ออกจากคอมฟอร์ทโซนเหอะ’ ‘ไปใช้ชีวิตเถอะ ให้เวลากับตัวเองเถอะ’ หรือ ‘เฮ้ย สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องที่ต้องคิดมาก เรา positive ดีกว่า เราส่งพลังบวกให้ทุกคน’ แต่พลังบวกพวกนั้นมันปลอมรึเปล่า มันเป็นความรู้สึกแบบนั้น เราว่าอันนี้หนักสุด
เพราะเราไม่ควรจะสงสัยตัวเองขนาดนี้ มันใจร้ายกับตัวเองมาก เราต้องใจดีกับตัวเองบ้าง
คำว่าใจดีกับตัวเอง หมายถึงยังไง?
คือพักบ้างก็ได้ ไม่มีใครว่าหรอก ทำมาเยอะแล้ว ต้องยอมรับว่า เราทำดีแล้วและเราสมควรได้พัก ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีเสียงเหล่านี้กับเราเลย ทุกคนมักบอกว่า เรายุ่งมาก แต่เราจะคิดว่า ก็ไม่ได้ยุ่งขนาดนั้นนี่นา คือเราไม่ใจดีกับตัวเอง เราไม่มองเห็นว่า เราก็ทำในพาร์ทของตัวเองมาเยอะแล้ว ทำมามากพอที่เราก็เบรกบ้างได้แล้วเหมือนกัน คิดว่า นี่คือการใจดีกับตัวเอง
คิดว่านี่เป็นปัญหาหลักๆ ของการทำงานในยุคนี้ที่ทำให้คนอยู่ในภาวะ burnout ด้วยหรือเปล่า
เราคิดว่าใช่ คำว่า burnout มันเหมือนกับ เรามีตะเกียงน้ำมัน มีไฟ แล้วก็มีน้ำมันอยู่ พอเราใช้พลังงาน น้ำมันก็ลดลง แล้วถ้ามันลดลงเรื่อยๆ โดยที่เราไม่ได้เติมน้ำมันเลย ไฟก็จะมอดดับไป อันนี้คือภาวะหมดไฟ เพราะงั้นการที่เราทำงานอย่างเดียว 24 ชั่วโมง ก็คือการที่น้ำมันของเราลดลงมาเรื่อยๆ และไม่ว่าเราจะสนุกกับงานขนาดไหน มันก็ยังลดลงอยู่ดี แค่อาจจะทำให้น้ำมันลดลงในอัตราเร่งที่ช้าหน่อย
แล้วอย่างนี้ การเอาสิ่งที่รัก หรือสิ่งที่ชอบมาเป็นงาน เป็นเรื่องดีหรือไม่ดีกันแน่?
เราจะไม่เลือกงานที่เราเกลียด ไม่เอาสิ่งที่เกลียดมาทำงาน พูดอย่างนี้ละกัน แน่นอนว่า เราก็ต้องชอบหรือมีความสนใจบางอย่างในงานนั้นๆ เราถึงได้เลือกทำมัน แต่ถามว่า เอางานอดิเรกมาเป็นงานเลยไหม อันนี้ ส่วนตัวเรามองว่าค่อนข้างอันตราย เพราะงานอดิเรกเป็นสิ่งที่เราทำเอาฟินเฉยๆ มันไม่มีดีหรือไม่ดี ไม่มีใครมาตัดสินว่าเราเก่งหรือไม่เก่งในงานอดิเรกของเรา
แต่พอเป็นงาน ก็เริ่มมีการตัดสินแล้วว่า ดีหรือไม่ดี ต้องฟังความเห็นคนอื่น เพราะฉะนั้น สำหรับเรา จุดอันตรายคือจุดที่เราเปลี่ยนงานอดิเรกมาเป็นงานที่ได้เงิน มันจะเริ่มมีความกดดัน มีความรับผิดชอบ มีอะไรที่มากกว่าทำเอาฟิน
อย่างตอนแรกที่ทำยูทูบเหมือนงานอดิเรก ก็ทำเฉยๆ ทำเล่นๆ ทำแบบสนุก เพราะเราชอบตัดต่อ แต่ทุกวันนี้ พอข้ามมาเป็นงานแล้ว ก็เริ่มมีเรื่องดีหรือไม่ดีแล้ว มันก็ไม่ใช่งานอดิเรกอีกต่อไป คืองานอดิเรกไม่มี KPI แต่ถ้ามันกลายเป็นงาน เราก็ต้องไปหาสิ่งใหม่ ไปหางานอดิเรกใหม่ที่ไม่มีใครต้องมาตัดสินเราว่าเราทำดีหรือไม่ดี เก่งหรือไม่เก่ง ทำแค่สนุกเฉยๆ
อย่าให้แพสชั่นเป็นทั้งหมดของงาน ถ้าเราขีดเส้นได้ว่า เราชอบมันถึงเลเวลนี้ ที่เหลือเป็นเรื่องของงาน ก็จะสุขภาพดี
ที่เราพูดเคยในคลิปว่า ‘ทำในสิ่งที่รักทุกวัน ก็จะเหมือนเราไม่ต้องทำงานเลยซักวัน’ คือไม่ได้ คุณจะทำงานทุกวันไม่ได้ เรามองว่า นี่เป็นประโยคที่สุ่มเสี่ยงที่ทำให้คุณสูญเสีย work-life balance ได้ง่ายมาก เพราะสุดท้ายแล้ว ‘Work-life balance is real.’ เราต้องรักษามันไว้ให้ได้
เวลาเจอคนอื่นๆ โดนถามบ่อยไหมว่า ความสุขคืออะไร?
เขาไม่ถามเลย เราอยากให้ถามเหมือนกัน จะโดนถามมากกว่าว่า สิ่งที่ทำอยู่เป็นแพสชั่นไหม แล้วเราก็ตอบได้ไม่เต็มปาก คิดว่า เราอาจจะให้คุณค่ากับคำว่าแพสชั่นใหญ่เกินไป บางทีคนอายุ 40-50 ก็ยังหาแพสชั่นไม่เจอเลย เราไม่ต้องมีแพสชั่นตลอดเวลาก็ได้ จะไดร์ฟด้วยเงินก็ได้ โอเค การมีแพสชั่นอาจจะเติมเต็มกว่า อาจจะหาความสุขได้ง่ายกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่า เราต้องมีมันตลอดเวลา
ถ้าเทียบวันแรกที่เริ่มลงคอนเทนต์จริงจัง กับวันที่กล้าเปิดเผยเรื่อง burnout ของตัวเอง คิดว่าตัวเองเปลี่ยนไปเยอะไหม?
คิดว่าไม่ถึงกับเปลี่ยน แต่เป็นการค้นพบด้านอื่นๆ มากกว่า ช่วงแรกที่เราไม่อยากยอมรับว่าเป็นยูทูบเบอร์ เพราะเราไม่อยากถือ KPI ของยูทูบเบอร์ ซึ่งสำหรับเราก็คือ ยอดวิว ยิ่งเยอะยิ่งดี ถ้าอยากจะไปถึงจุดสูงสุดของสายอาชีพนี้ ยอดวิวก็ต้องเยอะ ยอดซับก็ต้องมาก ก็ต้องมีการวางกลยุทธ์เพื่อให้ไปถึงตรงนั้น ซึ่งเราไม่ได้อยากทำ ไม่ได้อยากปั้นช่องให้ไปถึงขั้นนั้น
แต่มันมีช่วงนึงที่เขาบอกว่าเราเป็น ก็เลย โอเค งั้นเราลองเป็นให้มันสุดเลย พอไปถึงจุดที่แมสขึ้นก็ได้เรียนรู้ว่า ไม่ชอบ ไม่ถึงกับฝืน เพราะมันก็ยังเป็นตัวเราอยู่ แต่มันไม่ได้เป็นงานอาร์ตอย่างที่เราอยากทำ บางทีสิ่งที่ตลาดชอบ มันไม่ได้สะท้อนตัวเราขนาดนั้น
หลังจากที่ลงคลิปเรื่อง Burnout ไป ก็เว้นช่วงลงคลิปใหม่ไปเดือนกว่าเลย ถือว่ากำลังพักเบรกอยู่หรือเปล่า?
เปล่าเลย ยังทำงานอยู่ จริงๆ พยายามจะแทรกเบรกเข้าไปด้วย แต่ที่เล่ามาทั้งหมดนี่ ก็ไม่ได้ว่าเก่งแล้ว บรรลุแล้วหรอก คือ work-life balance ยังไม่ได้ดีขนาดนั้น แต่ก็พยายาม อย่างน้อยเรารู้แล้วว่าปัญหาอยู่ตรงไหน
แต่การที่เราไม่ได้ลงคลิปเลย ก็ทำให้รู้ว่า จริงๆ โลกก็ไม่ได้ต้องการเราตลอดเวลานี่นา ลองห่างๆ มาดูบ้างก็ได้ เพราะสุดท้ายแล้ว You only live once ถ้าเกิดว่าเราเอา 24 ชั่วโมง 7 วัน มาทำงานตรงนี้ แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปใช้ชีวิตล่ะ? What would you work for then? (เราจะทำงานไปเพื่ออะไร?) พยายามอยู่ นี่ไม่ได้บอกใครเลย บอกตัวเองล้วนๆ