การเปรียบเทียบทางสังคมเป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของมนุษย์ ทั้งการเปรียบเทียบเรื่องรูปร่าง หน้าตา ฐานะ ความสามารถ หรือสถานภาพทางสังคม โดยเกิดขึ้นได้ทั้งแบบตั้งใจและเผลอไปโดยไม่รู้ตัว
และจะสังเกตได้ว่า พฤติกรรมนี้เกิดขึ้นบ่อยในยุคที่ชีวิตประจำวันผูกติดกับโซเชียลมีเดียตลอดเวลา เพราะก่อนที่อินเทอร์เน็ตเข้ามาอำนวยความสะดวกสบายให้กับการสื่อสารของมนุษย์ การจะได้รู้ความเป็นไปในชีวิตของคนอื่นนับว่ามีอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะด้านเวลา ระยะทาง หรือค่าใช้จ่าย แต่ทุกวันนี้เพียงแค่ปลดล็อกหน้าจอมือถือ เราก็พบกับสังคมขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายรูปแบบ ซึ่งมีชีวิตแตกต่างกันให้เปรียบเทียบ
แต่พฤติกรรมการเปรียบเทียบนั้นเป็นเหมือนเหรียญสองด้าน เพราะถ้าการเปรียบเทียบนั้นไม่ได้นำไปสู่การผลักดันชีวิตเราให้ดีขึ้น เราก็อาจพบว่าตัวเรานั้นด้อยค่าเหลือเกินเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ในสังคม และนั่นก็คือความอันตรายที่มีจาก ‘การเปรียบเทียบเชิงลบ’ (Negative Comparison) ในยุคที่เห็นความสำเร็จของคนอื่นได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
เคยรู้สึกแย่กับตนเองเพราะโพสต์ของคนอื่นหรือเปล่า?
นักวิจัยของเฟซบุ๊ก พบว่า ผู้ใช้งานอินสตาแกรมที่ติดตามแอคเคาต์ของคนดัง อย่างนักร้องสาว บิลลี ไอลิช (Billie Eilish) นักเต้นที่โด่งดังใน Tiktok ชาร์ลี ดาเมลิโอ (Charli D’amelio) หรือพี่น้องตระกูลคาร์เดเชียน-เจนเนอร์ (Kardashian-Jenner) จะมีการเปรียบเทียบเชิงลบต่อตนเองมากกว่าผู้ใช้งานที่ติดตามคนดังคนอื่นๆ อย่าง เดอะเอลเลนโชว์ (The Ellen Show) หรือ เดอะร็อก (Dwayne Johnson) อ้างอิงจากเอกสารที่ถูกตีพิมพ์ลงใน The Wall Street Journal
โดยเอกสารนั้นเป็นสไลด์ที่รวบรวมผลการสำรวจข้อมูลและพฤติกรรมผู้ใช้งานเกี่ยวกับการเปรียบเทียบทางสังคม (Social Comparison) ในโซเชียลมีเดีย หลังจากที่ทีมสำรวจของเฟซบุ๊กได้สอบถามผู้เข้าร่วมเกี่ยวกับผลกระทบของการเห็นโพสต์อินสตาแกรม โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นหญิงที่ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบมากที่สุด
แม้ภายในเอกสารจะไม่ได้กำหนดว่าพวกเขามีการเปรียบเทียบเชิงลบแบบชัดเจน แต่จากการถาม-ตอบแบบสำรวจ เห็นได้ว่าว่าผู้ใช้งานมีแนวโน้มที่จะมองตนเองในแง่ลบ หรือรู้สึกไม่ดีต่อสิ่งที่พวกเขาเห็นบนอินสตาแกรม ซึ่งตัวอย่างคำถาม ได้แก่ “คุณรู้สึกแย่กับตนเองเพราะเห็นโพสต์ของคนอื่นในอินสตาแกรมมากแค่ไหน?” หรือ “คุณรู้สึกท้อแท้กับชีวิตหลังจากเห็นความสำเร็จของคนอื่นในอิสตาแกรมบ่อยหรือเปล่า?” แล้วก็พบว่าผู้ใช้งานอินสตาแกรมที่มีแนวโน้มว่าจะรู้สึกแย่ลง เป็นเพราะพวกเขาเห็นโพสต์ของคนดังมากขึ้น หรือรูปเซลฟี่ที่ผ่านการตกแต่งด้วยฟิลเตอร์ และพวกเขายังสามารถระบุชื่อคนดังที่ทำให้พวกเขารู้สึกเปรียบเทียบตนเองในเชิงลบมากขึ้นได้ด้วย
หมายความว่าอินสตาแกรมเป็นแพลตฟอร์มที่ ‘ท็อกซิก’ ต่อวัยรุ่นน่ะสิ? ทาง WSJ ได้ชี้ให้เห็นว่า อินสตาแกรมส่งผลให้เกิดภาวะวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น แต่ คารินา นิวตัน (Karina Newton) หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะของอินสตาแกรม ได้ปฏิเสธและให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า วัยรุ่นมีประสบการณ์ทั้งด้านบวกและด้านลบต่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับวิธีการใช้งานของพวกเขา หรือสภาพจิตใจขณะที่ใช้งานต่างหาก
“ปัญหาการเปรียบเทียบทางสังคมในเชิงลบและความวิตกกังวลมีอยู่ทั่วไปบนโลกนี้ ดังนั้น มันก็สามารถอยู่ในโซเชียลมีเดียได้เหมือนกัน” คารินากล่าว
การมองตนเองที่คลาดเคลื่อนไป
หากใครเคยลองคำนวณค่าดัชนีมวลกาย หรือ Body Mass Index (BMI) กันมาบ้าง ก็คงจะทราบดีว่าน้ำหนักที่ควรจะเป็น หรือน้ำหนักที่พอดีกับส่วนสูงของเรานั้นอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ ซึ่งค่าดัชนีมวลกายนี้จะทำให้ประเมินได้ว่า เราอยู่ในภาวะอ้วนหรือผอมเกินไปหรือเปล่า เพื่อที่จะได้ปรับการกินหรือการออกกำลังกายให้มีความเหมาะสมมากขึ้น
แต่ผลการศึกษาล่าสุดเมื่อปลายเดือนกันยายน ค.ศ.2021 ในวารสารวิชาการ PeerJ เผยว่า วัยรุ่นหญิงจำนวนมากมีการ ‘ตีตรา’ ตนเองว่ามีน้ำหนักมากเกินไป แม้ว่าน้ำหนักของพวกเขาจะปกติตามมาตรฐานของค่าดัชนีมวลกายที่องค์การอนามัยโลกกำหนดก็ตาม
ปัญหานี้เกิดจากการที่พวกเขามองภาพร่างกายที่แท้จริงของตนเอง ‘คลาดเคลื่อนไป’ จากภาพลักษณ์ในอุดมคติตามโซเชียลมีเดีย ซึ่งส่งผลให้มีความภาคภูมิใจในตนเอง (self-esteem) ที่ต่ำลง และมีความเชื่อในเชิงลบเกี่ยวกับสิ่งที่ตนเองเป็นมากขึ้น เพราะพวกเขามีแนวโน้มที่จะเชื่อว่า ร่างกายของพวกเขามีขนาดที่ใหญ่หรือกว้างกว่าที่ร่างกาย (ตามอุดมคติ) ควรจะเป็น
ซึ่งก็สอดคล้องกับทฤษฎี self-discrepancy ของ เอ็ดเวิร์ด โทรี ฮิกกินส์ (Edward Tory Higgins) ที่ว่าด้วยการเปรียบเทียบตนเองของมนุษย์ เนื่องจากตัวตนของมนุษย์ประกอบไปด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ตัวตนที่แท้จริงที่ตัวเรามองเห็น (actual self) ตัวตนในอุดมคติที่เราอยากจะเป็น (ideal self) และตัวตนที่ควรจะเป็นอันเนื่องจากความคาดหวังของสังคม (ought self)
เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดความคลาดเคลื่อนหรือความไม่สอดคล้องกัน ระหว่างสิ่งที่เราเป็นจริงๆ กับสิ่งที่เราควรจะเป็นหรืออยากจะเป็น เช่น เราไม่ได้ผอม หุ่นดี มีกล้าม หรือขาเรียวเท่านางแบบในโซเชียลมีเดีย หรือมีอะไรที่ไม่ตรงตามมาตรฐานความสวยความหล่อที่สังคมปัจจุบันกำหนด เราก็จะเกิดความรู้สึกไม่สบายทางอารมณ์ เช่น กังวล อับอาย กลัว โกรธ ไปจนถึงการดูถูกตนเอง นับถือตนเองน้อยลง หรือปรารถนาที่จะลงโทษตนเองตามมาได้ จึงไม่แปลกหากวัยรุ่นที่เป็นวัยต้องปรับตัวให้เป็นที่ยอมรับของสังคม จะรู้สึกทุกข์ใจกับการเปรียบเทียบสิ่งที่พวกเขาเห็นในโซเชียลมีเดียทุกวัน
พักจากการเปรียบเทียบที่ทำให้เจ็บปวด
การเปรียบเทียบของมนุษย์เป็นกลไกที่มีทั้งประโยชน์และโทษ การเปรียบเทียบตนเองกับผู้ที่ด้อยกว่าหรือมีน้อยกว่า แน่นอนล่ะว่าเราจะเต็มไปด้วยความรู้สึกที่น่าพึงพอใจ แต่การเปรียบเทียบตนเองกับผู้ที่อยู่เหนือกว่าหรือมีมากกว่า สามารถเป็นได้ทั้งแรงกระตุ้นให้เราพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็สามารถทำให้เราจมทุกข์กับความน้อยเนื้อต่ำใจที่มีต่อตนเองได้
ซึ่งวิธีที่จะลดการเปรียบเทียบเชิงลบได้ก็คือ หมั่นสำรวจตัวเองอยู่เสมอว่าสิ่งที่เราเลื่อนผ่านตาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ส่งผลยังไงต่อสภาพจิตใจของเราบ้าง อะไรที่กำลังบั่นทอนสภาพจิตใจของเรา อะไรที่ ‘กระตุ้น’ ให้เราเกิดความรู้สึกเชิงลบ หรือมีความนับถือในตนเองน้อยลง บางคนอาจรู้สึกแย่เมื่อได้เห็นรูปลักษณ์ภายนอกที่สมบูรณ์แบบตามมาตรฐานของสังคม บางคนอาจรู้สึกด้อยค่าเมื่อได้เห็นหน้าที่การงานของเพื่อนร่วมรุ่น บางคนอาจรู้สึกอิจฉาการใช้ชีวิตของอินฟลูเอนเซอร์บางคน
เมื่อรู้แล้วว่าอะไรที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกเหล่านั้น ลองมอบหมายภารกิจเล็กๆ ให้กับตนเอง ด้วยการ ‘จำกัดการมองเห็น’ เท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น เลิกติดตาม ปิดแจ้งเตือน หรือเลือกติดตามในสิ่งที่ทำให้เรามีการเปรียบเทียบน้อยเชิงน้อยลง ซึ่งหลายคนอาจลืมไปว่า เราเองก็มีอำนาจในการควบคุมเนื้อหาที่อยู่ในมือด้วยวิธีง่ายๆ
แต่คงไม่ใช่ทุกครั้งที่เราจะหนีสิ่งกระตุ้นเหล่านั้นพ้น เพราะอัลกอริทึ่มตัวดีอาจสุ่มอะไรขึ้นมาให้เห็นก็ได้ กรณีนี้อาจต้องอาศัยการฝึกฝนกับตัวเองบ่อยๆ ในการทบทวน ‘เงื่อนไขชีวิต’ ที่แตกต่างกันของผู้คน การที่เขามีสิ่งนั้นได้ ทำแบบนั้นได้ หรือเป็นแบบนั้นเพราะอะไร? แตกต่างจากสิ่งที่เรามีอยู่ยังไง? การที่เราทำไม่ได้เหมือนเขาหมายถึงชีวิตเราด้อยค่าจริงหรือเปล่า? อย่าลืมว่าโซเชียลมีเดียเต็มไปด้วย ‘กับดัก’ มากมายที่ทำให้เราคิดว่าชีวิตผู้อื่นเต็มไปด้วยความสุขและความสำเร็จ เพราะมีแค่ส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเผยแพร่ด้านที่ไม่น่าดูของตนเอง
การศึกษาเหล่านี้ก็นับว่าเป็นโจทย์แก่แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ในการปรับปรุงนโยบายในการใช้งาน เพื่อสนับสนุนสภาพจิตใจของผู้ใช้งานในยุคที่เต็มไปด้วยความกดดัน ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพชีวิต หน้าที่การงาน หรือรูปลักษณ์ภายนอก ที่ผ่านมา อินสตาแกรมก็ได้พยายามแก้ไขปัญหาการกลั่นแกล้ง การฆ่าตัวตาย การทำร้ายตนเอง และความผิดปกติด้านการกินที่พบเห็นบนแพลตฟอร์ม มีการสำรวจว่าโพสต์ประเภทที่ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกแย่เมื่อเกิดการเปรียบเทียบ และพยายามพาพวกเขาไปยังเนื้อหาที่สร้างแรงบันดาลใจ หรือยกระดับชีวิตให้ดีขึ้น ถ้าเป็นไปได้ก็จะเปลี่ยนวัฒนธรรมของอินสตาแกรมที่เดิมเน้นรูปลักษณ์ของผู้คนเป็นส่วนใหญ่ ให้เต็มไปด้วยเนื้อหาอื่นๆ มากขึ้น
การพาตัวเองออกมาจากสิ่งที่บั่นทอนจิตใจ ไม่ได้แปลว่าเราอ่อนแอหรือไม่เข้มแข็งพอ ในทางกลับกัน มันคือการที่เรากล้ายอมรับความรู้สึกเชิงลบที่เกิดขึ้น และมอบ self-care ที่ดีที่สุดให้กับตัวเราเองต่างหาก
อ้างอิงข้อมูลจาก