จำครั้งแรกที่ตัวเองท้อแท้กับสิ่งได้รับมอบหมายให้ทำได้หรือเปล่า?
สำหรับบางคนอาจเป็นความท้อของการลอกการบ้านเพื่อนตอนเช้าในห้องเรียน หรือความท้อจากการกลัวอ่านหนังสือเตรียมสอบแปดวิชาในคืนเดียวไม่ทัน แต่นั่นไม่ใช่ความท้อที่เราหมายถึง เพราะความท้อแท้ที่เราหมายถึงหน้าตาแตกต่างออกไป ไม่ใช่ความรู้สึกว่าจะทำสิ่งนั้นไม่ทัน แต่เป็นความรู้สึกที่ลึกกว่านั้น ราวกับว่าเราไม่รู้ว่านอกจากมันเป็นหน้าที่แล้ว เราทำมันไปทำไม
ครั้งแรกที่เรารู้สึกอย่างนั้นคือครั้งแรกที่เรารู้สึกถึงภาวะหมดไฟหรือเบิร์นเอาต์ และแม้ว่าเราจะเชื่อมโยงมันกับการทำงานมากกว่า บ่อยครั้งมากที่มันเกิดขึ้นกับคนที่กำลังเรียนอยู่ได้เช่นกัน เราเรียกมันว่า Academic Burnout หรือภาวะหมดไฟในการเรียน
พื้นฐานเดียวกันกับหมดไฟที่เรารู้จัก
โดยพื้นฐานแล้วหน้าตาและสาเหตุของภาวะหมดไฟในการศึกษานั้นไม่แตกต่างออกไปจากภาวะหมดไฟอื่นๆ มากนัก นั่นคือแรงกดดันและความเครียดสูงเกินไป ในเวลาที่มากเกินไป อาจมาจากการรับมือกับหลายสิ่งหลายอย่างเกินความสามารถของตัวเองรับไหว ในระดับที่ไม่มีช่องว่างในการดูแลตัวเอง โดยความกดดันและความเครียดเหล่านั้นไม่ได้รับการระบายหรือคลายออกให้กับผู้อื่น
โดยอาการของคนที่อยู่ในภาวะหมดไฟนั้นจะอ่อนล้าทั้งกายและใจ นอนหลับลำบาก ไม่มีสมาธิ เหงา กังวล และรู้สึกว่าทุกอย่างถาโถมและมากมายเกินรับมือได้ โดยอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นอย่างไม่รู้ตัว เพราะเราเองก็อาจคิดไม่ออกว่าอาการเหล่านี้จะมาจากไหนได้ ในเมื่องานที่ฉันทำฉันก็ทำมันเหมือนเดิมที่ทำมาตลอด อะไรกันที่เปลี่ยนไป? ซึ่งอาการเบิร์นเอาต์นั้นบ่อยครั้งอาจจะเกิดขึ้นมาจากความที่ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนนั่นเอง ราวกับว่ามันเหมือนการทับถมและสะสมมากกว่าอะไรทั้งนั้น
และภาวะหมดไฟและความเครียดนั้นแตกต่างกัน หากมองอย่างง่ายที่สุด ความรู้สึกของความเครียดนั้นคือการ ‘อินเกิน’ กับสิ่งที่ทำ กล่าวคือตัวเราและงานพัวพันกันมากและจำนวนของมันสูงจนเกินไป และในขณะที่ความเครียดสะสมสามารถนำไปสู่การเบิร์นเอาต์ได้ ความหมายในตัวของมันเองก็คือความรู้สึกของระยะห่างต่อตัวและใจเรากับงานหรืออะไรก็ตามที่เราได้รับผิดชอบอยู่เหมือนกัน
ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงการหมดไฟในการศึกษานั้นเราอาจมีอาการที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจของเราโดยตรงให้สังเกตเห็นได้เพิ่มเติม นั่นคือเกรดตกอย่างเห็นได้ชัด ขาดส่งงานบ่อยครั้งขึ้น ไม่สนใจหรือไม่จอยในกิจกรรมนอกเวลา และในกรณีที่เป็นนักศึกษาผู้ถึงวัยแล้ว อาจมีการใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติดมากขึ้น ฉะนั้นก่อนเราจะเรียกผู้เรียนที่มีอาการเหล่านั้นว่าเด็กเกเรหรือไร้ความรับผิดชอบ ลองมองลึกลงไปกว่าพฤติกรรมว่าพวกเขากำลังประสบปัญหาเรื่องหมดไฟอยู่หรือไม่
โดยภาวะเบิร์นเอาต์ในวัยเรียนสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยและเร็วกว่าที่เราคิด ในงานวิจัยศึกษาภาวะหมดไฟในการศึกษานักศึกษาแพทย์ปีหนึ่งชื่อ Burnout among medical students during the first years of undergraduate school: Prevalence and associated factors จากนักวิจัยในโรงเรียนหมอมะเร็งเบอร์ราทอส ที่เซาเปาโล ประเทศบราซิล พบว่าจากนักศึกษาแพทย์ปี 1 จำนวน 330 คน 45% รู้สึกเบิร์นเอาต์ 71% รู้สึกเหนื่อยล้าทางความรู้สึก 53% รู้สึกเย้ยหยันชีวิตสูง และ 49% มีประสิทธิภาพในการศึกษาต่ำ
เบิร์นเอาต์ไม่ใช่แค่เรื่องของวัยทำงาน
เรามักคุ้นเคยการคุยเกี่ยวกับการหมดไฟในมุมมองการทำงานมากที่สุด แต่เมื่อมองไปยังสาเหตุของมันแล้ว ธรรมชาติของชีวิตการศึกษาเองก็สามารถก่อให้เกิดการหมดไฟได้ โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงมหาวิทยาลัย
อย่างที่ว่าไปแล้ว ความกดดันที่หนักหนา ความเครียดที่ถาโถม ความรับผิดชอบที่มากมาย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เมื่อสุมรวมกันมากๆ นำไปสู่การหมดไฟได้ และเมื่อนำมันมามองผ่านเลนส์ของชีวิตมหาวิทยาลัยแล้ว การที่นางสาว A ต้องเรียน เตรียมสอบ ทำการบ้าน ของวิชาที่ไม่มีความใกล้เคียงกันเลย พร้อมๆ กันกับแรงกดดันของสังคมให้ร่วมทำกิจกรรมนอกเวลาทั้งของมหาวิทยาลัยเองและคณะ ยังไม่รวมกันกับการดูแลสุขภาพส่วนตัวของตัวเอง แรงกดดันของการเรียนนั้นในบางกรณีมากเสียยิ่งกว่าวัยทำงาน
พูดถึงการจัดเวลา ธรรมชาติของการศึกษาไทยตั้งแต่ประถมและมัธยมมาในรูปแบบการศึกษาที่มักไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนที่อยู่ในระบบเลือกหรือจัดวางอะไรเองเท่าไรนักในหนึ่งวัน เนื่องจากเวลา 6-8 คาบเรียนของเราเราใช้มันทำการเรียนตามตารางที่หลักสูตรและโรงเรียนจัดไว้ให้
ฉะนั้นเมื่ออิสระของมหาวิทยาลัยมาถึง มันอาจจะเป็นครั้งแรกที่เราหลายๆ คนได้มีโอกาสได้คิดด้วยตัวเองว่าอยากเรียนอะไร เมื่อไร และมีเวลาว่างขนาดไหน ในแง่มุมหนึ่งมันคือสิ่งที่ดีเพราะเราก็จัด work-life-balance ของเราเองได้ แต่ในขณะเดียวกัน ‘อิสระ’ นี้สำหรับคนที่ไม่เคยถูกสอนให้คิดว่าตัวเองต้องการอะไรในเวลาไหนอาจน่ากลัวมากก็เป็นได้ เพราะอะไรกันจะหยุดเขาจากการตัดเวลาส่วนตัวของตัวเอง ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง หรือครอบครัว ออกทั้งหมด เพื่อเพิ่มการเรียนและความรับผิดชอบ?
ทางออกของเราก็คือ…
บ่อยครั้งเหลือเกินที่เมื่อเราพุดถึงปัญหาและทางออกของชีวิตและการทำงาน คำตอบของมันจะเป็นไปตามคาแรกเตอร์ของผู้พูดนั้นๆ นักฮีลใจอาจบอกว่าให้เราถอยออกมาหนึ่งก้าวจากงาน เพื่อตั้งตัว และเพื่อมองหาจุดประสงค์ของตัวเองในการทำสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ให้เจออีกครั้ง ช้าได้ช้า ส่วนไลฟ์โค้ชอาจบอกเราว่าอย่าย่อท้อ แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่เห็นปลายทางการสู้ต่อไปข้างหน้านั้นจะทำให้เราเห็นมันได้อย่างแน่นอน อย่าวางมือ นายทำได้
แต่เราเรียกสิ่งเหล่านั้นว่าทางออกได้ขนาดไหน?
แน่นอนว่าการรีเซตตัวเอง การจัดตารางชีวิตใหม่ การมีอะไรก็ปรึกษาเพื่อน มันทำให้เราดีขึ้น หรือหลายๆ ครั้งหายจากการหมดไฟได้จริง หน้าตาของมันดูเหมือนวิธีการเอาชีวิตรอดมากกว่าอะไร แล้วคนที่ไม่ได้เดินเข้ามาเจอบทความหรือคำแนะนำในการช่วยจุดไฟในตัวเขาติด แล้วคนเหล่านั้นจะทำยังไงต่อ?
ในงานวิจัย Addressing Student Burnout: What Medical Schools Can Learn From Business Schools จากนักวิจัยมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดและมหาวิทยาลัยการแพทย์ไคเซอร์เพอร์เมเนนเต พบว่าหนึ่งในผลของการเบิร์นเอาต์ในวัยเรียนคือเมื่อนักศึกษาไม่อาจค้นหาความหมายของสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่ ในกรณีนี้คือนักศึกษาแพทย์ และมันส่งผลให้พวกเขามีความเห็นอกเห็นใจ (empathy) น้อยลง ในขณะที่เราไม่ชี้นิ้วไปที่ใคร แต่คำถามที่ต้องถามคือบ่อยครั้งขนาดไหนกันที่เราพบเห็นแพทย์ที่ไม่เห็นอกเห็นใจผู้ป่วยของพวกเขา? และที่สำคัญกว่าคือมันมาจากนิสัยส่วนตัวจริงๆ หรือมาจากการศึกษาที่ผลักให้พวกเขารู้สึกอย่างนั้นหลังจากออกไปทำงานแล้ว?
เพราะที่เราลืมไม่ได้เลยคือแม้ว่าเราจะเดินออกจากวัยเรียนสู่วัยทำงาน เราคือเราคนเดิม ทุกความรู้สึกและลักษณะนิสัยของเราที่ผุดเกิดและพัฒนาในขณะที่เป็นนักศึกษาย่อมส่งต่อไปยังตัวเราเมื่อทำงานอย่างแน่นอน และนั่นเป็นเพียงตัวอย่างอาชีพเดียว คิดว่าหากเรามองหาการสร้างบุคลากรที่ขาดความเห็นอกเห็นใจผ่านระบบที่สร้างมนุษย์หมดไฟจำนวนมาก อนาคตของเราจะหน้าตาเป็นแบบไหนกัน?
เช่นนั้นแล้วคงไม่ใช่ความคิดที่ดีนักที่จะพึ่งพาให้คนคนหนึ่งไปบังเอิญเจอกับบทความฮีลชีวิตตัวเองในการรักษาเบิร์นเอาต์ ในขณะที่ระบบและมุมมองของการศึกษายังไม่มองว่าจะเพิ่มกิจกรรม เวลาว่าง จะคุยกันยังไงให้งานวิชาหนึ่งไม่เยอะเกินไปจนเบียดบังเวลาพักของนักศึกษา
อ้างอิงข้อมูลจาก