“เราฝากดันเรื่องนี้หน่อยนะ” พนันได้เลยว่าถ้าเราเป็นคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจำทุกวัน จะเห็นคำนี้ในโซเชียลมีเดียอย่างน้อยหนึ่งหรือสองครั้งต่อสัปดาห์
ไม่ว่าจะเรื่องสิ่งแวดล้อม การเมือง การเคลื่อนไหวทางสังคมของไทยและของโลก ความเท่าเทียม ทางเพศ เชื้อชาติ สถานะทางสังคม ฯลฯ
คลื่นข้อมูลและปัญหาทางสังคมลูกใหญ่เหล่านี้พัดผ่านคนรุ่นใหม่ทุกวันไม่ซ้ำเรื่อง นอกจากรู้สึกว่าต้องติดตามทุกเรื่องแล้ว น้อยเรื่องนักที่จะมีตอนจบ เรื่องราวเหล่านั้นค่อยๆ พอกพูนเป็นก้อนปัญหาที่ไม่ถูกแก้ขนาดใหญ่ที่วางขึ้นอยู่บนหลังแบบที่คนรุ่นนี้ไม่รู้สึกว่าวางลงได้
ความเจ็บปวดของความรู้สึกที่เราต้องแบกโลกทั้งใบไว้บนบ่านั้นมีอยู่จริง แต่ทำไมกันมันช่างดูหนักหนาไร้ทางออก? ทำไมเราถึงรู้สึกโดดเดี่ยวในการต่อสู้กับมัน? และทำไมเราถึงรู้สึกว่าเราวางมันลงไม่ได้?
เพราะทุกปัญหาสัมพันธ์กัน
ในช่วงนี้ที่เราเห็นข่าวการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ข่าวการเสียชีวิตดาราหญิงบนเรือ ไปจนถึงการชุมนุมของเกษตรกร นอกจากการตามข่าวกันอย่างใกล้ชิดและทันท่วงที โซเชียลมีเดียทำให้เราเห็นความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ต่อเหตุการณ์เหล่านั้น ความน่าสนใจคือความเห็นเหล่านั้นมักเชื่อมโยงปัญหาต่างๆ ที่คนรุ่นใหม่สนใจเข้าด้วยกัน
เราไม่ได้ดูเฉพาะว่าดาราคนนี้เสียชีวิตยังไง แต่มีหลายๆ เสียงตั้งคำถามต่อการทำงานของสื่อแต่ละเจ้าว่าการกระจายข่าวเรื่องนี้อย่างเคารพจรรยาบรรณสื่อมากพอหรือไม่ หรือเราไม่ได้ตามเฉพาะว่ากองทัพรัสเซียอยู่ไหนและทำอะไรอยู่ แต่หลายๆ คนเล่ามันผ่านมุมของความคืบหน้าทางเทคโนโลยีเช่น Star-link ที่ช่วยให้ชาวยูเครนสามารถมีอินเทอร์เน็ตใช้ในยามสงคราม สกุลเงินคริปโตที่เป็นหนึ่งในทางช่วยเหลือพวกเขาได้ หรือหลายๆ คนจับว่านี่คือปัญหาที่เกิดจากการเป็นผู้นำที่มีฐานมาจากแนวคิดชายเป็นใหญ่ของรัสเซีย
หรือหากดึงมันเข้ามาใกล้ตัวขึ้น ปัญหาฟุตบาทพังไม่ใช่แค่เพราะคนไม่มีความรับผิดชอบ แต่เป็นเพราะระบบผังเมืองที่ทำให้รถติด พ่วงกันกับการบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มแข็งพอ ทำให้การลักไก่ขับมอเตอร์ไซค์บนฟุตบาทเป็นเรื่องง่ายที่จะทำ หรือคนจนไม่ได้จนเพราะเขาไม่ได้ออมเงินและไม่ขยัน แต่เพราะระบอบทุนนิยมเป็นระบอบที่สร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำ
แม้ว่าการมองปัญหาเชิงระบบจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เปอร์เซ็นต์ของคนที่ตื่นรู้และพูดเรื่องเหล่านี้มีสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยสถิติจาก Pewresearch วาดภาพให้เห็นว่าคนเจนซีและมิลเลนเนียลส์นั้นมีโอกาสจะมองปัญหาสังคมว่ามาจากระบบและการจัดการรัฐบาล มากกว่าคนรุ่นก่อนๆ เป็นข้อสังเกตที่สามารถสรุปได้ว่าในปัจจุบันคนไม่ได้มองว่าปัญหาใดๆ เกิดขึ้นของมันอย่างเดี่ยวๆ แต่มันมันเกิดขึ้นจากระบบที่ใหญ่กว่านั้นมาก
แต่ว่ามันเกี่ยวอะไรกับความรู้สึกของการแบกโลกไว้บนบ่า?
เมื่อเห็นปัญหาทั้งหมดเป็นภาพใหญ่และทุกปัญหาเชื่อมโยงกัน แปลว่าการจะแก้ปัญหาแม้จะปัญหาเล็กน้อยที่สุดอย่างยั่งยืนคือการแก้ทุกปัญหาให้ได้จริงหรือไม่?
เริ่มต้นจากปัจเจก เพื่อล้มปัญหาโครงสร้าง
จากแบบสำรวจความสนใจของเจนซีและมิลเลนเนียลส์ทั่วโลกเป็นเวลาสิบปีโดยบริษัท Deliotte พบว่าในปี ค.ศ.2021 เรื่องที่คนสองเจนนี้สนใจมากที่สุดเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ เช่น ระบบสาธารณสุข ภาวะโลกร้อน การล่วงละเมิดทางเพศ ปัญหาการศึกษา และอีกหัวข้อที่น่าสนใจคือ Deliotte สรุปว่า “มิลเลนเนียลส์และเจนซีเชื่อในพลังการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงของปัจเจกบุคคล”
โดยราวๆ ครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างตัดสินใจเลือกงานและองค์กรที่ตัวเองสมัครผ่านความเชื่อและจริยธรรมส่วนตัวและครึ่งหนึ่งขับเคลื่อนในเรื่องปัญหาที่พวกเขาเชื่อผ่านการบริจาคไปสู่องค์กรที่พวกเขาเชื่อ ราวๆ 40% เป็นอาสาสมัครให้แก่องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และสร้างและแบ่งปันคอนเทนต์เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม สิทธิมนุษยชน การเมือง และปัญหาสังคม และสุดท้าย ราวๆ 30% มีส่วนร่วมในการเดินขบวนและประท้วงในการเคลื่อนไหวที่พวกเขาเชื่อ
สถิติข้างต้นสะท้อนภาพออกมาในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในไทยที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2020 ไม่ว่าจะบนถนน ในแอพโอนเงิน หรือโลกออนไลน์ การเคลื่อนไหวเชิงช่วยกันคนละไม้คนละมือเหล่านี้นั้นเกิดขึ้นเพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงปัญหาระบบที่ใหญ่กว่า โดยการประท้วงนอกจากจะเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยแล้วยังเกี่ยวกับปากท้องของคนทำงานทุกชนชั้น ไม่ใช่เฉพาะการเคลื่อนไหวของคนกรุงเทพฯ แต่ของคนทุกจังหวัด เรื่องสิทธิสตรี เรื่องสมรสเท่าเทียม ฯลฯ
คำถามที่ตามมาคือปัจเจกสามารถผลักดันเรื่องเหล่านี้ไปได้ขนาดไหน? ไม่ว่าแนวคิดและการเรียกร้องของการเคลื่อนไหวจะอิงตรรกะ จะไม่ทิ้งผู้ใดไว้ข้างหลัง จะเสียงดังขนาดไหน หากว่าคนที่มีอำนาจตัดสินใจไม่ฟัง หรือฟังแล้วไม่ปรับแปลง ผู้ที่แบกข้อเรียกร้องเหล่านี้ไว้บนหลังทั้งหมดจะแบกมันไว้ได้จนถึงเมื่อไร? หรือคนรุ่นใหม่อาจไม่ควรแบกมันไว้รุ่นเดียว?
แรงกดดันจากสภาพสังคม ผสมกับแรงกดดันตามมาตรฐานสังคม
นอกจากผลกระทบต่อสังคมแล้ว ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงยังส่งผลต่อสุขภาพจิตอีกด้วย ผลสำรวจโดยแผนกสุขภาพจิต มหาวิทยาลัยฮ่องกง เรื่องผลกระทบทางร่างกายและสุขภาพจิตจากการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงพบว่าในชาวฮ่องกง 1,208 คน ร้อยละ 47.35 รายงานว่ามีอาการวิตกกังวลปานกลางถึงสาหัส ร้อยละ 14.4 มีอาการซึมเศร้าปานกลางถึงสาหัส ร้อยละ 9.11 รายงานว่าสุขภาพจิต “ย่ำแย่” หรือ “แย่มาก”
โดยผู้วิจัยเชื่อมโยงว่ายิ่งกลุ่มตัวอย่างสูญเสียทรัพยากรส่วนตัวหรือสังคม หรือมีรายรับและการศึกษาที่ต่ำกว่า และไม่ได้แต่งงาน โอกาสการพบอาการที่รายงานข้างต้นจะยิ่งสูง
ผู้วิจัยสรุปว่าการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยที่สำเร็จนั้นมักเกิดขึ้นจากการชุมนุมที่สั้นกระชับ เพราะสุขภาพจิตของผู้ชุมนุมยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และความรู้สึกว่าทรัพยากรที่สูญเสียไปนั้นสามารถเอาคืนกลับมาได้หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในแง่บวกเกิดขึ้น แต่ในทางกลับกัน การชุมนุมที่ยาวนานโดยไม่มีผลตอบรับในแง่บวกหรือความมั่นคงจะยิ่งทำให้ทรัพยากรของพวกเขายิ่งร่อยหรอ และนั่นคือจุดที่ทำลายสุขภาพกายและใจของผู้คน ความกดดันที่คนรุ่นใหม่อยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทันทีทันใดอาจเพิ่มพูนขึ้นจากจุดนี้ บวกขึ้นไปรวมกับกองปัญหาที่หนักหนาอยู่แล้ว
และเราต้องไม่ลืมว่านอกจากการเคลื่อนไหวทางสังคมแล้ว น้ำหนักที่ถ่วงลงมาสู่สุขภาพใจคนรุ่นใหม่ที่กำลังอยู่ในวัยเรียนหรือวัยเพิ่งเริ่มงานนี้ยังมาจากแรงกดดันอื่นๆ บางคนบอกว่าคนรุ่นใหม่ต้องทำเป็นทุกอย่าง และทำมันได้ดีไม่งั้นจะสู้คนอื่นไม่ได้ แต่ก็ต้องค่อยๆ เติบโต ไม่เอาตัวเองเทียบกับใคร และคงไว้ซึ่ง work-life-balance ต้องพักผ่อน แต่หากจะมีงานอดิเรกก็ต้องเป็นสิ่งที่ทำเงินได้ด้วย เพราะค่าแรงในชีวิตประจำวันไม่พอใช้ ในขณะเดียวกันก็ถูกสอนอีกว่าเงินใช้ซื้อความสุขไม่ได้
ความกดดันเหล่านี้อาจทำให้เรารู้สึกไม่มีทางออก เมื่อสิ่งที่ทำให้เราเศร้าหมองคือโลกและสังคม ทางเดียวที่จะหลุดพ้นจากความเศร้าเหล่านี้คือการเปลี่ยนโลกหรือเปล่า? ก็อาจใช่ในแง่มุมหนึ่ง แต่ต้องไม่ลืมว่าหากคนที่อยากเปลี่ยนแปลงเดินไปต่อไม่ไหว คงไม่มีใครขับเคลื่อนอะไรต่อไปได้ ความรับผิดของการเปลี่ยนแปลงสังคมและโลกนั้นใหญ่หลวงเกินกว่าคนคนเดียว หรือแม้แต่คนรุ่นสองรุ่น แต่มันคือสิ่งที่อาศัยความร่วมมือของทั้งคนหลากหลายวัย หลากหลายรุ่น รวมถึงสังคมและผู้มีอำนาจพร้อมที่จะรับฟังอีกด้วย ไม่ใช่ทุกอย่างอยู่ในความควบคุมของเรา
ฉะนั้นการถอยออกมา หยุดเคลื่อนไหวเพื่อดูแลสุขภาพจิตเป็นครั้งคราวนั้นสำคัญ เราอาจไม่ต้องเคลื่อนไหวทุกเรื่องตลอดเวลา เพราะในการเคลื่อนไหวไม่ได้มีเพียงเราคนเดียว อาจมีทั้งเพื่อนร่วมรุ่นของเรา หรือคนรุ่นก่อนจำนวนมากที่พร้อมเปิดในยอมฟังความเห็นคนรุ่นใหม่
อ้างอิงข้อมูลจาก