เนื้อสีเข้มเกรียมกำลังดี กลิ่นหอมอบอวลลอยคลุ้งมาชวนให้น้ำลายสอ มองจากมุมไหนนี่ก็คือ ‘เนื้อสเต็ก’ จากเชฟมือดีที่แสนอร่อยเป็นแน่
แต่อย่าเพิ่งให้รูปลักษณ์ภายนอกหลอกตา ของเหล่านี้อาจไม่ได้ผลิตมาจากเนื้อสัตว์อย่างที่เราคิด แต่เป็น ‘plant-based’ ก็ได้
plant-based หรืออาหารที่ใช้วัตถุดิบจากพืชนี้ ถือเป็นเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่กำลังมาแรงในหลายประเทศ ผู้บริโภคจำนวนมากสนใจซื้อมาลองรับประทานกัน ทำให้ผู้ผลิตหลายเจ้าเริ่มหันมาแข่งขันคิดค้นเมนูใหม่ๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับแวดวงอาหารได้มากขึ้น
ไม่ว่ารสชาติจะถูกปากคนมากน้อยแค่ไหน แต่อาหาร plant-based ก็กำลังเป็นที่สนใจอย่างมากในหลายประเทศ The MATTER เลยขอชวนมาดูเทรนด์อาหารที่กำลังมาแรงนี้ และพาไปฟังความคิดเห็นที่หลากหลายกันของเหล่าผู้บริโภคว่า พวกเขาคิดเห็นอย่างไรกับเทรนด์อาหาร ‘plant-based’ นี้
Plant-based คืออะไร ทำไมต้องทำ ‘เนื้อ’ ขึ้นใหม่
หน้าตาเหมือนเนื้อสัตว์ แต่ที่จริงทำจากพืช – นี่คงเป็นคำอธิบายอย่างกระชับที่สุดสำหรับใครก็ตามที่สงสัยว่า plant-based คืออะไร
สำหรับคำอธิบายเวอร์ชั่นยาวขึ้นมาหน่อย ก็ต้องเล่าว่า plant-based food คือ อาหารในกลุ่มโปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) ซึ่งใช้วัตถุดิบที่ทำจากพืชที่ให้โปรตีนสูงๆ เช่น พืชตระกูลถั่ว เห็ด สาหร่าย ข้าวโอ๊ต มาประกอบเป็นอาหารหรือวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหาร
บอกแบบนี้ หลายๆ คนก็อาจจะถามว่า คล้ายกับโปรตีนเกษตรหรือเปล่า? จริงๆ แล้วโปรตีนเกษตรก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของ plant-based food นั่นแหละ เพราะโปรตีนเกษตรต้องใช้วัตถุดิบที่มาจากพืช แต่โปรตีนเกษตรไม่ได้มีรสชาติคล้ายคลึงกับเนื้อสัตว์ แถมโปรตีนเกษตรยังให้พลังงานถึง 366 กิโลแคลอรี่ต่อ 100 กรัม ให้ปริมาณสารอาหารประเภทโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต
แต่ plant-based จะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้มีรสชาติ กลิ่น รสสัมผัส และสีสันให้คล้ายคลึงกับวัตถุดิบที่ทำจากเนื้อสัตว์ให้มากที่สุด ทั้งยังเสริมสร้างสารอาหารให้ใกล้เคียงกับที่เราจะได้รับจากการรับประทานเนื้อสัตว์จริงๆ อีกด้วย
แล้วทำไมคนเราจะต้องดันทุลังกินเนื้อเทียมกันด้วยล่ะ? อยากกินผักก็กินผักไปเลยสิ หรือถ้าอยากกินเนื้อก็ไม่เห็นต้องกินของปลอมก็ได้นี่นา
หากจะมองแบบนั้นก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่การสร้างทางเลือกให้กับนวัตกรรมอาหารใหม่ๆ ก็เป็นสิ่งที่จะช่วยเพิ่มความมั่นคงทางอาหารให้กับโลกของเรา ยิ่งกว่านั้น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เทรนด์ของ plant-based มาแรงก็คือ เรื่องของสิ่งแวดล้อมนั่นเอง
หลายคนอาจทราบกันดีอยู่แล้วว่า การผลิตอาหารโดยใช้วัตถุดิบจากเนื้อสัตว์นั้นส่งผลต่อปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจกมากแค่ไหน ซึ่งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (IPCC) เคยเผยแพร่รายงานว่า การบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ในประเทศตะวันตกที่มีปริมาณสูงมากเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งการใช้เนื้อสัตว์มาเป็นอาหารทำให้เกิดมลพิษมากกว่าการผลิตอาหารจากพืชถึงสองเท่า
สูงที่ว่านี้คือเท่าไหร่กันนะ อ้างอิงข้อมูลจาก statista เมื่อปี 2021 พบว่า ประเทศที่มีการบริโภคเนื้อสัตว์ต่างๆ ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อสัตว์ปีก และเนื้อแกะ มากที่สุดในโลกคือสหรัฐฯ ด้วยจำนวน 101.2 กิโลกรัมต่อหนึ่งคน … แล้วนี่ก็แค่ประเทศเดียวเท่านั้นนะ การบริโภคเนื้อสัตว์ยังเป็นที่นิยมในกลุ่มคนทั่วโลกด้วย
ยิ่งกว่านั้น การใช้วัว หมู และสัตว์อื่นๆ มาทำเป็นอาหาร ยังทำให้เกิดการปล่อยมลพิษในการผลิตอาหารทั้งหมด 57% หรือก็คือ เกินครึ่งของการปล่อยก๊าซจากกระบวนการทั้งหมด โดย 29% มาจากการเพาะปลูกอาหารจากพืช ส่วนที่เหลือมาจากการใช้ที่ดินทำอย่างอื่น และเนื้อวัวเพียงอย่างเดียวคิดเป็น 1 ใน 4 ของการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการเลี้ยงและปลูกอาหาร
ไม่เพียงเท่านั้น สัตว์ที่กินหญ้ายังต้องการที่ดินจำนวนมาก ซึ่งที่ดินเหล่านี้ก็มักจะมาจากการตัดโค่นป่า เพื่อมาทำผืนดินที่กว้างใหญ่ไพศาลเพื่อเลี้ยงอาหารของสัตว์เหล่านี้ โดยมีงานวิจัยที่คำนวณว่า พื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดของโลกส่วนใหญ่ใช้ไปเพื่อเลี้ยงปศุสัตว์มากกว่าคน และปศุสัตว์ยังผลิตก๊าซมีเทนในปริมาณมาก ผ่านการผายลมของสัตว์เคี้ยวเอื้อง ซึ่งก๊าซมีเทนนี้ถือเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ร้ายแรงมากด้วย
“หากต้องการผลิตเนื้อสัตว์มากขึ้น คุณก็ต้องให้อาหารสัตว์มากขึ้น ซึ่งพวกมันก็จะปล่อยมลพิษออกมามากขึ้น” เสี่ยวหมิง ซู (Xiaoming Xu) หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ สหรัฐฯ กล่าว
แปลว่า อุตสาหกรรมที่ผลิตวัตถุดิบจากเนื้อสัตว์ เป็นตัวเร่งที่สำคัญที่ทำให้วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลวร้ายลง เทรนด์การกินอาหารแบบใหม่ที่จะช่วยส่งผลดีต่อโลกมากกว่าจึงกำเนิดขึ้น และนั่นทำให้แสงสปอตไลท์ฉายส่องไปยัง ‘plant-based’ นั่นเอง
แล้ว plant-based จะช่วยโลกยังไง
ขึ้นชื่อว่าเป็นเนื้อเทียม ก็เท่ากับว่าไม่ได้ผลิตจากเนื้อสัตว์จริงๆ นั่นทำให้กระบวนการผลิต plant-based นั้น ไม่มีการทำปศุสัตว์ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยข้อมูลจาก PTT Group ระบุว่า การทำฟาร์มปศุสัตว์ปล่อยแก๊สเรือนกระจกมากถึง 7.1 พันล้านตันต่อปี หรือคิดเป็น 14.5% ของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากมนุษย์ทั้งหมด ขณะที่ Plant-based นั้นสร้างก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าเนื้อสัตว์ปกติราว 30-90%
ยิ่งกว่านั้น ในการทำปศุสัตว์ยังต้องใช้พื้นที่ถึง 77% ของพื้นที่ที่ใช้ในการทำเกษตรกรรมทุกๆ อย่างรวมกัน แต่กลับสร้างผลผลิตเป็นอาหารได้เพียง 17% เท่านั้น ขณะที่เนื้อ plant-based สามารถใช้พื้นที่ในการผลิตน้อยกว่าเนื้อสัตว์ปกติราว 47-99% โดยขึ้นอยู่กับชนิดของอาหาร และก่อมลภาวะทางน้ำน้อยกว่า 51-91% ด้วย
ดังนั้นแล้ว ในแง่ของการลดก๊าซเรือนกระจกและประหยัดทรัพยากรนั้น plant-based จึงถือเป็นนวัตกรรมการผลิตอาหารที่จะเข้ามาช่วยโลกของเราจริงๆ
แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมดของ plant-based นะ หลายคนอยากลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ด้วยเหตุผลที่มากกว่าการลดมลภาวะ แต่ยังเป็นกังวลกับเรื่องของสวัสดิภาพสัตว์ด้วย เพราะการฆ่าสัตว์เพื่อมาทำอาหารอาจเป็นสิ่งที่สร้างความไม่สบายใจให้กับผู้คน ด้วยกระบวนการในอุตสาหกรรมที่เน้นเลี้ยงให้โตแล้วเชือดทิ้งทีหลัง ยิ่งบาดใจใครหลายคนมากขึ้นไปอีก
ถึงอย่างนั้น ก็ใช่ว่าเราต้องเลิกการบริโภคเนื้อสัตว์ไปเสียทีเดียวนะ เราควรมีสิทธิในการเลือกบริโภคอาหารในจานของเราเอง เพียงแต่การมาของ plant-based ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้คนที่อยากลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ได้มีอาหารที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มผู้ผลิต plant-based ทั้งหลายจึงหันมาทุ่มเทกำลังและทรัพยากรเพื่อผลิตเนื้อเทียมออกมา ทั้งในรูปแบบอาหารสำเร็จรูป อาหารสดที่ต้องนำไปปรุงต่อ และของหวานต่างๆ มากมาย เพื่อให้ตอบโจทย์กับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ซึ่งกำลังมีมากขึ้นในโลกยุคสมัยใหม่นี้
เทรนด์อาหารจาก plant-based ในตอนนี้
ความสนใจในการกินอาหารที่มาจาก plant-based เริ่มเพิ่มขึ้นสูงเรื่อยๆ ในแต่ละปี รายงานจาก Krungthai COMPASS ระบุว่า ผู้บริโภคในยุโรปราว 25% ของทั้งหมดสนใจลดการรับประทานเนื้อสัตวให้ได้ภายใน 5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพเป็นอันดับต้นๆ ขณะที่ 62% ของผู้บริโภคชาวจีนมีแนวโน้มที่จะซื้อเนื้อที่ทำจาก plant-based เป็นประจำ
ส่วนเทรนด์ในไทยนั้น 53% ของผู้บริโภคชาวไทยต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ขณะที่อีก 45% ของผู้บริโภคทั้งหมด สนใจที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่การ รับประทานอาหารแบบมังสวิรัติ วีแกน และอาหารจากพืช
เมื่อความสนใจเริ่มเพิ่มมากขึ้น ก็ทำให้ตลาดของอาหารที่ทำจาก plant-basedกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยมีกลุ่มทุนต่างๆ มากมายมาทุ่มเทกำลังความรู้และทรัพยากรเพื่อให้อาหารที่ทำจาก plant-based โดยข้อมูลจาก EUROMONITOR ระบุว่า มูลค่าตลาด plant-based food ทั่วโลกในปี 2019 มีมูลค่า 4.8 แสนล้านบาทไทย ซึ่งคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 10.5% ต่อปี โดยในปี 2024 คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าตลาดราว 7.5 แสนล้านบาท
ส่วนในไทยนั้น สำหรับตลาด plant-based food ปัจจุบันมีมูลค่าราว 28,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะโต 10% ต่อปี เป็น 4.5 หมื่นล้านบาทในปี 2024
หนึ่งในบริษัทไทยที่ลงมาเป็นผู้เล่นในตลาดนี้คือ ปตท.จำกัด (มหาชน) โดยจัดตั้ง นิวทรา รีเนจเนอเรทีฟ โปรตีน จำกัด หรือ NRPT ร่วมกับ บมจ.เอ็นอาร์ อินสแตนต์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ผ่านบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่ม ปตท.
NRPT ได้ร่วมมือกับ Wicked Kitchen แบรนด์ plant-based food ชื่อดังของสหราชอาณาจักร ก่อตั้งโดย เดเรก ซาร์โน (Derek Sarno) และแชด ซาร์โน (Chad Sarno) สองเชฟที่สนใจเรื่องของการทำอาหารมังสวิรัติ โดยมีพีท สเปแรนซา (Pete Speranza) เป็น CEO ของบริษัท เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม ปี 2018 ในสหราชอาณาจักร
Wicked Kitchen ยึดคอนเซปต์หลักว่า ‘อาหารจากพืชก็อร่อยได้’ เดิมทีมีเป้าหมายแรกเริ่มว่า จะให้คนที่เป็นวีแกนมีอาหารที่หลากหลายขึ้น แต่ในตอนนี้ได้ขยายกลุ่มเป้าหมายเป็นทั้งคนที่เป็นวีแกน และคนที่กินเนื้อสัตว์ที่ตระหนักถึงสวัสดิภาพสัตว์และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยต้องการให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ต่างไปจากการกินอาหารจากพืชตามปกติ
เรามีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมครัวของ Wicked Kitchen ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ซึ่งเดเรกอธิบายไว้ว่า วัตถุดิบแต่ละอย่างจะผลิตให้ออกมาคล้ายคลึงกับเนื้อที่แตกต่างกันออกไป เช่น เห็ดสามารถนำมาทำเป็น plant-based ที่คล้ายไก่ทอดได้ เพราะเห็ดมีโครงสร้างภายในคล้ายคลึงกับไก่ แต่ต้องใช้วิธีการหั่นเฉพาะทางเพื่อให้ได้รสสัมผัสที่ใกล้เคียงที่สุดด้วย ขณะที่ถั่วต่างๆ ก็สามารถทำออกมาให้คล้ายคลึงกับเนื้อบดได้
ถึงจะบอกว่าทำออกมาให้คล้ายคลึงที่สุด แต่พอได้ลองชิมแล้วก็คิดว่ายังค่อนข้างห่างไกลอยู่พอสมควร เราสามารถบอกได้ว่า (สิ่งที่ดูเหมือน) ไก่ทอดชิ้นนี้ทำมาจากเห็ด หรือ (สิ่งที่ดูคล้าย) มีทบอลชิ้นนี้ทำมาจากถั่วเหลือง
ทางเชฟก็บอกว่า เรื่องของรสชาติยังเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาปรับปรุงไปเรื่อยๆ ให้รสชาติออกมาคล้ายคลึงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
แต่อาหารจาก plan-based จำนวนมากก็ขายได้ดีในตลาดสหราชอาณาจักร อย่างพวกแมคแอนด์ชีส เบอร์ริโต้ พิซซ่า และของหวานต่างๆ ซึ่ง Wicket Kitchen ยังได้ร่วมมือกับ Tesco เครือซูเปอร์มาร์เก็ตข้ามชาติสหราชอาณาจักร ทำให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ วางขายให้ผู้บริโภคหยิบซื้อได้ง่ายสะดวกมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ก็มีความพยายามจะเจาะเข้าสู่ food service ผ่านการทำร้านอาหาร เพื่อสร้างเมนูให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากทำสำเร็จก็จะช่วยให้เมนูอาหารที่จากมา plant-based มีหลากหลายมากยิ่งขึ้น และเป็นการเพิ่มทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค
อย่างไรก็ดี ราคาอาหารของ plant-based ยังถือว่าสูงกว่าอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์อยู่ราว 30% ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ถดถอยเช่นนี้ เลยทำให้หลายๆ คนยังคงเลือกบริโภคเนื้อสัตว์แทน
Plant-based ในสายตาของผู้บริโภค
“กินได้นะ แต่ถ้าราคาแพงก็คงไม่เลือก” สุดารัตน์ พรหมสีใหม่ หนึ่งในผู้บริโภคที่สนใจอยากลดการบริโภคเนื้อสัตว์กล่าว
สุดารัตน์ ถือได้ว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายของการกินอาหาร plant-based เพราะเธอเองก็ไม่อยากสนับสนุนกระบวนการผลิตอาหารที่ทำให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและสวัสดิภาพสัตว์มากนัก แต่ข้อกังวลที่ตามมาก็คือ อาหาร plant-based จำนวนมากยังมีราคาแพงกว่าเนื้อสัตว์อย่างที่กล่าวไป
“ราคาต้องสมเหตุสมผล อย่างน้อยที่สุดถ้าแพงน้อยกว่าเนื้อสัตว์ก็อาจจะดีมากๆ” สุดารัตน์กล่าว
เช่นเดียวกับ เบญจมาพร เปลี่ยนสายสืบ ผู้บริโภคที่เป็นมังสวิรัติมาราว 4 ปี เพราะมีคนใกล้ตัวที่รับประทานมังสวิรัติและเคยเรียนวิชาที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม จึงได้เห็นกระบวนการผลิตอาหารที่มาจากเนื้อสัตว์ทำให้เธอรู้สึกว่า ถ้าลองหาอาหารทางเลือกอื่นได้ก็คงจะดี
เบญจมาพรเคยกินอาหารที่ทำจาก plant-based มาแล้ว และเธอมองว่ารสชาติอาหารก็อร่อยดี แต่ไมได้รู้สึกว่าต้องกินทุกวัน นานๆ ทีถึงจะเลือกซื้อมาเป็นทางเลือกให้การกินมังสวิรัติของเธอหลากหลายขึ้น
อย่างไรก็ดี ราคาอาหารจากเนื้อสัตว์มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น และมีการเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากหลายประเทศมากขึ้น เนื่องด้วยความพยายามแก้ไขปัญหาโลกร้อน เลยทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดการณ์ว่า ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ราคาอาหารจาก plant-based จะถูกกว่าอาหารที่มาจากเนื้อสัตว์
แต่สุดารัตน์ก็เสริมคำถามที่น่าสนใจตามมาว่า กระบวนการผลิต plant-basedโดยกลุ่มทุนรายใหญ่นั้น จะเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมตามที่เคลมไว้จริงหรือ?
“ถ้าจะผลิตให้ได้ราคาต่ำลง มันจะต้องผลิตเยอะมากๆ เหมือนสินค้า mass product ซึ่งมีคำถามตามมาว่า แล้วจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ไหม อันนี้ยังไม่มีข้อมูลมากพอ เป็นข้อสังเกตจากสินค้าในตลาดส่วนใหญ่ที่ผลิตในปริมาณมากๆ มักมีผลกระทบในทางใดทางหนึ่ง”
เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอจึงมองว่า หากจะต้องเลือกซื้อ plant-based แล้ว ก็ต้องดูกระบวนการผลิตที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมถึงหากมีส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็ต้องกลับมาชั่งน้ำหนักว่าแบบไหนที่จะส่งผลเสียน้อยที่สุด หรือคุ้มค่าที่สุด เพราะเธอเข้าใจดีว่าไม่ว่าจะเป็นการผลิตแบบไหน ก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ดี
ขณะที่ เบญจมาพร เล่าว่า ส่วนตัวเธอที่เป็นมังสวิรัติ ไม่ได้สนใจจะกิน plant-based ด้วยเหตุผลเรื่องความใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์อยู่แล้ว แต่มองว่าเป็นทางเลือกให้การกินมังสวิรัติมีความหลากหลายขึ้นเท่านั้น ดังนั้นแล้ว หากกระบวนการผลิต plant-based ไม่ได้ช่วยเหลือเรื่องสิ่งแวดล้อมจริงๆ เธอก็คงไม่สนใจจะซื้อ และคงกลับไปกินอาหารมังสวิรัติอื่นๆ ตามเดิม
นอกจากนี้ ในมุมของผู้บริโภค ยังมีคำถามต่อเรื่อง Greenwash หรือการตลาดที่เหมือนจะรักษ์โลก แต่ไม่ได้รักษ์โลกจริงๆ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นกับบริษัทรายใหญ่หลายเจ้า ในทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า เครื่องสำอาง หรือข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน
เรื่องนี้ สุดารัตน์มองว่า การดูกระบวนการผลิตของบริษัทเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยพิสูจน์ว่า บริษัทเหล่านั้นเข้าใจในปัญหาสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน
“เรื่องพวกนี้ต้องพิสูจน์เยอะมาก มันเหมือนกับประเด็นสังคมอื่นๆ ที่ทุนนิยมพยายามเข้าไปจับ หรือใช้ประโยชน์เพื่อรายได้ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ขับเคลื่อนคอมมูนิตี้หรือประเด็นนั้นจริงๆ เช่น LGBTQ+, Black Lives Matter หรือ Asian Hate”
เทรนด์อาหาร plant-based ถือเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง เพราะจะเข้ามาช่วยเพิ่มทางเลือกในการบริโภคของเราให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น แต่ที่น่าสนใจก็คือ กระบวนการผลิตเหล่านี้จะเปิดให้ประชาชนได้ตรวจสอบแค่ไหน เพื่อให้เรารักษ์โลกอย่างแท้จริง
อ้างอิงจาก