“เราอยู่กันแบบครอบครัว”
“วันเสาร์ทำงานให้พี่หน่อยนะ ถือว่าช่วยๆ กัน”
เมื่อมาทำงานหลายคนก็คงคาดหวังว่าตัวเองจะเก่งและมีประสบการณ์มากขึ้น มีเงินพอเลี้ยงตัวเองเหมาะสมกับทักษะที่มี ขณะเดียวกันบริษัทก็ได้คนทำงานที่มีความสามารถ โดยมอบค่าจ้างเป็นการตอบแทน ดูเผินๆ ก็เหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนที่สมเหตุสมผลกันทั้ง 2 ฝ่าย
แต่ชีวิตก็เป็นเหมือนกล่องสุ่ม เราอาจไม่ได้เจอบริษัทที่ยุติธรรมเสมอไป
ในการทำงานที่มีหลายตัวแปรเข้ามาประกอบ แทนที่เราจะได้โฟกัสกับงาน บางครั้งกลับต้องมาคอยเดาใจหัวหน้าเพิ่มด้วย วันนี้หัวหน้าอารมณ์ดีหรือเปล่านะ วันนี้จะเจอแจ็กพอตอะไรไหม จนต้องหาสารพัดวิธีเอาตัวรอดจากการที่ทำงาน ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าเราต้องทำขนาดนี้เลยไหมนะวันๆ หนึ่ง
นี่อาจเป็นสถานการณ์ที่ใครหลายคนกำลังเผชิญอยู่ หากการทำงานแต่ละวันเราต้องเหนื่อยล้าเกินความจำเป็น จนรู้สึกไม่อยากไปทำงานทุกครั้ง คุณอาจกำลังเจอการใช้อำนาจในที่ทำงาน หรือ Power Harassment ซึ่งบางครั้งมักแฝงมาอยู่ในนามของบริษัทที่ทำงานแบบ ‘ครอบครัว’
อะไรที่ทำให้การทำงานแบบครอบครัวเอื้อให้เกิดการใช้อำนาจโดยไม่ชอบกันนะ วันนี้ The MATTER พาไปเข้าใจเบื้องหลังของ Power Harassment ในที่ทำงาน พร้อมหาวิธีรับมือกัน
เมื่อการใช้อำนาจในที่ทำงานมาพร้อมกับคำว่าครอบครัว
หลายคนเมื่อเข้าไปทำงานในบริษัท นอกจากการทำงานตามที่ได้รับมอบหมายแล้ว ยังต้องยอมรับกฎที่บริษัทนั้นตั้งไว้ด้วย หากกฎนั้นตั้งขึ้นเพื่อให้พนักงานทำงานอย่างราบรื่น ลดความผิดพลาดในการทำงานคงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่ถ้าหากกฎนั้นเกิดขึ้นมาเพื่อความพอใจของหัวหน้าเป็นหลัก แถมมองยังไงก็ดูไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่ นอกจากไม่ช่วยให้งานดีขึ้นแล้ว ยังเพิ่มภาระให้คนทำงานอีก สิ่งนี้คงไม่ใช่เรื่องปกติเท่าไหร่ และเข้าข่ายการใช้อำนาจในที่ทำงาน หรือ Power Harassment ด้วย
แม้ว่าการใช้อำนาจในทางที่ผิดสามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบวัฒนธรรมการทำงาน แต่หนึ่งในรูปแบบที่เอื้อให้เกิดการข่มเหงรังแกในที่ทำงาน คือวัฒนธรรมการทำงานแบบครอบครัว
ส่วนใหญ่แล้วการใช้อำนาจนี้ มักเกิดขึ้นเมื่อมีคนใช้ตำแหน่งหน้าที่หรืออำนาจของตัวเองชักจูง ควบคุม หรือบงการผู้อื่น ผ่านหน้าที่การงาน
ปกติแล้ววัฒนธรรมการทำงานแบบครอบครัวเกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีการเข้าสังคม เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จากงานวิจัยของโอบิเอคเว โอนีบุชิ (Obiekwe Onyebuchi) ภาควิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยริเวอร์สเตท ไนจีเรีย ศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กรแบบครอบครัว ระบุว่า องค์กรที่มีการใช้อุปมา ‘ครอบครัว’ จะช่วยสร้างความรู้สึกเชิงบวก สร้างกำลังใจให้คนทำงาน เมื่อคนทำงานรู้สึกเพื่อนร่วมงานเป็นเหมือนพี่สาว น้องสาว หรือคนในครอบครัว ทำให้พนักงานรู้สึกขัดแย้งและเห็นต่างในองค์กรน้อยลงได้ แต่ในทางกลับกันก็สร้างความหวาดกลัวต่อผู้บังคับบัญชา เนื่องจากมองเป็นพ่อแม่ได้เช่นกัน
แม้ฟังเผินๆ จะดูเป็นเรื่องดี แต่ใช่ว่าทุกคนจะอยากทำงานแบบครอบครัวจริงๆ กาเลน อีมานูเอล (Galen Emanuele) ผู้ก่อตั้ง Shitf Yes บริษัทที่ปรึกษาด้านการพัฒนาความเป็นผู้นำและทีมงาน ระบุว่ายังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้มองว่าครอบครัวเป็นคำที่ดีเท่าไหร่นัก หลายคนเคยเจอการใช้อำนาจเกินจะรับมือไหว มีลำดับขั้นจนกระดิกตัวไม่ได้ และถูกละเลยที่จะพูดถึงมัน ทำให้ปัญหานี้ยังคงอยู่ไม่จบสิ้น
ขณะเดียวกันเมื่อพูดถึงครอบครัว พวกเขาก็มักจะนึกถึงการสื่อสารที่ไม่ดี มีการนินทา รวมถึงต้องแบกรับภาระบางอย่างที่เลี่ยงไม่ได้ภายใต้คำว่าครอบครัว หรือจำเป็นต้องเสียสละตัวเองมากกว่าการทำงานแบบปกติ นั่นจึงทำให้บางครั้งการทำงานแบบครอบครัวก็ไม่ได้นำไปสู่บรรยากาศการทำงานที่ดีเท่าไหร่นัก
นอกจากนี้ ในการศึกษาของเดนิส ซาลิน (Denise Salin) ภาควิชาการจัดการและองค์กร โรงเรียนเศรษฐศาสตร์ HANKEN ของฟินแลนด์ พบว่าวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างของอำนาจ รวมถึงการแข่งขันสูง เอื้อให้เกิดการกลั่นแกล้งมากขึ้น ดังนั้นเมื่อเพิ่มมุมมองการทำงานแบบครอบครัว จากทัศนคติที่มองว่านายจ้างเปรียบเสมือนพ่อแม่ และลูกจ้างเป็นเหมือนลูก ที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจ ยิ่งทวีการสร้างบรรยากาศที่เป็นพิษกับการทำงานให้เพิ่มมากขึ้น
และด้านล่างนี้คือ ตัวอย่างที่เราอาจพบได้ เมื่อมีคนกำลังใช้อำนาจในที่ทำงาน เช่น
- การพูดข่มขู่หรือคุกคาม มักคอยบอกว่าสามารถไล่ออกหรือเปลี่ยนคนใหม่ได้ตลอด
- ทำให้พนักงานอับอายต่อหน้าเพื่อนร่วมงาน
- บังคับให้ทำงานล่วงเวลาหลายครั้งติดกัน โดยไม่มีการพูดถึงค่าจ้าง
- ปฏิบัติต่อพนักงานไม่ดีเมื่ออารมณ์เสีย
- ดูถูกคำถามของพนักงาน
- โยนความผิดให้พนักงานว่าไม่มีความสามารถตลอดเวลา
- ปิดบังข้อมูลที่พนักงานควรรู้
- เอาผลประโยชน์ส่วนตัวมาก่อนบริษัท
- บังคับใช้กฎกับคนที่ไม่ยอมทำตามอย่างไม่มีเหตุผล
การกระทำเหล่านี้ล้วนสร้างบาดแผลให้กับคนทำงาน และพบได้ในหลายประเทศ โดยเฉพาะวัฒนธรรมแบบเอเชีย ข้อมูลจาก Japan Intercultural Consulting บริษัทฝึกอบรมและให้คำปรึกษาชั้นนำระดับโลกที่เน้นธุรกิจญี่ปุ่น พูดถึงสาเหตุที่ทำให้การข่มเหงรังแกยังมีอยู่ในการทำงานของญี่ปุ่นว่า มาจากธรรมเนียมการเคารพผู้อาวุโสกว่า บวกกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ผู้บริหารต้องกดดันลูกน้องอย่างมากเพื่อสร้างผลงาน ขณะเดียวกันพนักงานก็ยังไม่กล้าเสี่ยงลาออก หากยังไม่มีงานรองรับ สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้การใช้อำนาจในที่ทำงานยังคงอยู่
เมื่อการทำงานแบบครอบครัวไม่ได้ผลดีเสมอไป
สิ่งที่ตามมาจากการข่มเหงรังแกจากทำงานแบบครอบครัว นอกจากจะเป็นช่องว่างให้นายจ้างบางคนใช้อำนาจได้ตามใจชอบแล้ว ยังส่งผลต่อบรรยากาศในการทำงาน จากเว็บไซต์ Troop HR กลุ่มเครือข่ายทรัพยากรบุคคลชั้นนำ ระบุว่าผลกระทบจากวัฒนธรรมทำงานครอบครัวทั้ง 3 ด้าน นั่นคือ ขอบเขตในชีวิตถูกละเลย สร้างความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ และพนักงานหมดไฟหมดใจ
ขอบเขตในชีวิตถูกละเลย: การทำงานแบบครอบครัวหลายครั้งลดทอนความเป็นมืออาชีพ เนื่องจากพนักงานมักถูกคาดหวังให้เห็นอกเห็นใจกันมากกว่าทำงานตามหน้าที่ จนยากจะปฏิเสธแม้อยากจะใช้ชีวิตส่วนตัวหลังเลิกงาน แต่ต้องสละเวลานั้นเพื่อนเข้าสังคม ทำให้พนักงานรู้สึกกดดันและต้องยกเรื่องงานเหนือเรื่องส่วนตัวเสมอ ขณะเดียวกันก็มีความเชื่อว่าครอบครัวต้องไม่มีความลับต่อกัน หลายครั้งอาจทำให้พนักงานต้องแชร์ข้อมูลที่ละเอียดอ่อนโดยไม่เต็มใจ เช่น อาการป่วย หรือปัญหาทางบ้าน ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำงานด้วยเช่นกัน
เกิดความสัมพันธ์ที่เป็นพิษจากความกลัว: หากความสัมพันธ์ใดที่คงอยู่ได้ด้วยความกลัวคงไม่ใช่เรื่องดีเท่าไหร่นัก ความสัมพันธ์แบบครอบครัวในที่ทำงานก็เช่นกัน มันทั้งซับซ้อนและเจือไปด้วยความรู้สึกกลัว เราจึงมักจะเห็นการเลือกปฏิบัติสำหรับพนักงานบางคน มีลูกรักลูกชังที่แสดงออกอย่างชัดเจน และนอกจากจะสร้างความหวาดกลัวและความไม่เท่าเทียมแล้ว ยังกระทบต่อการทำงาน เพราะทำให้พนักงานไม่กล้าฟีดแบ็กอย่างตรงไปตรงมา กลัวว่าเรื่องที่แสดงความเห็นไปอาจถูกนำไปตีความว่าเป็นการตำหนิที่ตัวบุคคล และนำไปสู่ความบาดหมางกันได้ แถมยังสร้างความจงรักภักดีแบบแบ่งเขา แบ่งเรา จนนำไปสู่การเงียบนิ่ง ที่ต่างฝ่ายต่างไม่พูดถึงปัญหาตรงๆ
พนักงานหมดไฟหมดใจ: คำว่าครอบครัว เป็นคำที่ถูกตีความไปตามประสบการณ์ของแต่ละคน บางคนอาจมีครอบครัวที่ดี ในขณะที่บางคนอาจมีประสบการณ์ที่ไม่ดี ดังนั้นจึงไม่ใช่ทุกคนจะสนิทใจกับการได้ใกล้ชิดกันแบบครอบครัว จนบางครั้งอาจทำให้กลุ่มคนที่ไม่อยากสนิทสนมกับเพื่อนร่วมงานมากนักถูกมองว่าแปลกแยก
นอกจากนี้การทำงานแบบครอบครัวยังมีสามารถลดคุณค่าทักษะของพนักงานได้อีกด้วย อย่างที่เราเห็นบ่อยๆ ว่าหากพนักงานคนหนึ่งมีความสามารถหลากหลาย ทั้งตัดต่อวิดีโอ ถ่ายรูป วาดรูปได้ เขาอาจถูกขอให้ทำทั้งหมดนี้จนเกินสโคปงานที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่แรก โดยไม่ได้ค่าจ้างเพิ่ม เพราะถือว่าเป็นการช่วยคนใน ‘ครอบครัว’ และเมื่อระยะความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันเกินไป ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ดูกระทบทางใจได้ทั้งหมด อาจทำให้พนักงานไม่กล้าลาออกไปเติบโตในบริษัทอื่นเพราะความรู้สึกผิด เหมือนหักหลังคนในครอบครัวก็ได้
แล้วเราจะรับมือยังไงกับสถานการณ์นี้ได้บ้างนะ?
วัฒนธรรมองค์กรที่ดีมีส่วนสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาการใช้อำนาจในทางที่ผิด กาเลน อีมานูเอลที่ปรึกษาด้านการพัฒนาความเป็นผู้นำ บอกว่าสถานที่ทำงานควรเป็นที่ทุกคนที่มีความแตกต่างกันได้ทำงานร่วมกัน โดยไม่ต้องอดทนกับพฤติกรรมท็อกซิกอย่างไม่มีทางเลือก คำแนะนำของเขาจึงเป็นการให้บริษัทนิยามสิ่งที่เขาให้ความสำคัญ เช่น หันมาใช้คำว่า‘สนับสนุนซึ่งกันและกัน’ หรือ ‘เห็นอกเห็นใจ’ แทนคำว่าครอบครัว
นอกจากนี้ โจชัวร์ ลูน่า (Joshua A. Luna) ผู้ฝึกอบรมการพัฒนาความเป็นผู้นำ ยังเสนอวิธีที่จะทำให้องค์กรห่างไกลจากวัฒนธรรมครอบครัวด้วยนั่นคือ การกำหนดเป้าหมายและสื่อสารกับทีมให้ชัดเจน เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมกับพนักงาน ต่อมาคือการกำหนดขอบเขตการทำงาน ปล่อยให้พนักงานมีชีวิตส่วนตัวนอกเหนือจากการทำงาน และสุดท้ายคือการยอมรับความจริงว่าความสัมพันธ์ในที่ทำงานเป็นสิ่งชั่วคราวเท่านั้น ไม่มีใครทำงานที่เดิมไปตลอด ระหว่างที่ยังอยู่จึงควรมอบความทรงจำที่ดีต่อกันให้มากที่สุด
แต่หากเราไม่สามารถเปลี่ยนบรรยากาศการทำงานได้ แถมยังรู้สึกว่ายังมีการใช้อำนาจจากหัวหน้างานในที่ทำงานยังคงอยู่ Safe Work Australia หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลความปลอดภัยของออสเตรเลียได้เสนอวิธีการจัดการดังนี้
- พูดกับเจ้าตัวตรงๆ: หากรู้สึกปลอดภัยที่จะต้องพูดคุยกับอีกฝ่าย ก็ควรเดินเข้าไปพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาว่าให้หยุดการใช้อำนาจในทางไม่ชอบ ที่สำคัญคือต้องไม่ทำให้รู้สึกว่าเป็นการปะทะ แต่เน้นไปที่การสื่อสารเกี่ยวกับพฤติกรรมนั้นมากกว่าตำหนิที่ตัวบุคคล เช่น เราอาจบอกเหตุผลที่ไม่สามารถทำงานทำงานที่เร่งด่วนติดต่อกันหลายๆ วันได้ เพราะอาจทำให้งานผิดพลาด ถ้าเป็นไปได้ขอให้เขาบอกล่วงหน้าเพื่อให้มีเวลาเตรียมข้อมูลดีกว่า วิธีนี้จะเป็นการกำหนดขอบเขตของพนักงานตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อไม่ให้มีการล้ำเส้นภายหลัง
- มองหาคนที่สามารถให้คำแนะนำได้: หากคนที่ใช้อำนาจกับเราไม่อยู่ในสถานะที่พูดคุยได้ หรือคุยแล้วไม่ได้ผล อาจต้องหาคนปรึกษา เช่น ผู้จัดการ HR หรือหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับการคุกคาม เพื่อขอคำแนะนำ ขณะเดียวกันระหว่างนี้ควรมีคนอยู่ข้างๆ อย่าง เพื่อน หรือครอบครัว เพื่อคอยซัปพอร์ตจิตใจด้วย เพราะหลายครั้งที่การกลั่นแกล้งในที่ทำงานส่งผลกระทบต่อจิตใจเราไม่น้อย
- แจ้งเรื่องร้องเรียน: หากเราทนรับอำนาจที่ข่มเหงไม่ไหว การรายงานถึงผู้จัดการหรือสหภาพแรงงานก็เป็นทางที่ควรทำ สำหรับประเทศไทยการข่มเหงรังแกก็ถือเป็นความผิดที่สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนได้เช่นกัน ตามกฎหมายอาญาตามมาตรา 397 ที่ว่าด้วยการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือล่วงเกินทางเพศ และหากผู้กระทำมีอำนาจเหนือกว่าต้องได้รับโทษสูงขึ้นทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้หากโดนเอาเปรียบเรื่องค่าแรง อย่างการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม หรือทำโอทีโดยนายจ้างไม่จ่ายค่าล่วงเวลา ฯลฯ พนักงานสามารถร้องเรียนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งมีหน้าที่ดูแลสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้โดยตรง ผ่านสายด่วน 1546
แม้ว่าการข่มเหงรังแกจากนายจ้างเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากเจอ แต่อย่างน้อยที่สุดเมื่อเกิดขึ้นแล้วการมองหาหน่วยงานที่คอยช่วยเหลือก็ช่วยให้เบาใจขึ้นว่าเราไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว และย้ำว่าการเอาเปรียบในที่ทำงานไม่ควรเกิดขึ้นไม่ว่ากรณีใดก็ตาม
ท้ายที่สุด หากพยายามทำทุกวิถีทางเท่าที่ทำได้แล้วยังไม่ได้ผล การตัดสินใจร่อนเรซูเม่ไปที่ใหม่และลาออกเพื่อให้เราหลุดพ้นจากที่ทำงานเป็นพิษก็อาจเป็นทางเลือกที่ดีกับใจเราก็ได้
อ้างอิงจาก