“เสียงดังขึ้นมาอีกแล้ว ชอบเป็นทำตัวเป็นจุดสนใจนักหรอ” “ชอบถ่ายอาหารจานหรูอวดอยู่เรื่อย ไม่โอเวอร์ไปหน่อยหรือไง” เสียงติติงอันร้ายกาจดังก้องในใจ ตอนเห็นคนที่เราไม่ชอบหน้าทำอะไรสักอย่าง แล้วมันช่างขัดหูขัดตาเราไปเสียหมด ไอ้โน่นก็ไม่ดี ไอ้นี่ก็ไม่ได้ บ่นไปมาในใจก็นึกคุ้นขึ้นมาว่า เอ๊ะ เราเองก็ชอบทำในสิ่งนั้นอยู่เหมือนกัน ทำไมนะ แต่พอเป็นคนนั้นทำกลับกลายเป็นเรื่องแย่ไปเสียได้?
เรื่องนี้อาจจะจบที่คนไม่ชอบทำอะไรก็ไม่ใช่ทั้งนั้นแหละ ไม่ได้มีเหตุผลอะไรไปมากกว่านั้น แต่ทำไมกันล่ะ ทั้งที่ลึกๆ แล้วเราเองก็เผลอทำแบบเขาเหมือนกัน แต่มันไม่เห็นเป็นอะไรแฮะ เราไม่ได้ติติงตัวเองอย่างที่ทำกับคนอื่นเลย แต่เรากลับไม่ชอบสิ่งนี้ทันทีเมื่อเห็นคนอื่นทำ ลองสำรวจลึกลงไปอีกนิด เบื้องหลังความไม่ถูกใจเหล่านี้เนี่ย มันสะท้อนตัวตนของเราได้มากกว่านั้น
ตกลงใครชอบหรือไม่ชอบอะไรนะ อ่านเฉยๆ แล้วอาจจะยังไม่เข้าใจ งั้นลองมานึกภาพตามในสถานการณ์สมมตินี้กัน เราไม่ชอบเพื่อนคนหนึ่งเอามากๆ เพราะเธอคนนั้นเป็นคนพูดจาเสียงดัง คุยเก่ง จนกลายเป็นจุดสนใจของทั้งกลุ่ม เรามักติเตียนเธออยู่ในใจเสมอ ว่าเธอคนนั้นเสียงดังเกินเหตุ ทำตัวเด่นเกินงาม เพราะอยากเป็นที่สนใจของคนอื่น แต่ลึกๆ ในใจแล้ว เราเองก็อยากเป็นที่สนใจของเพื่อนแบบนั้นบ้าง ในบางครั้งที่เราเผลอคุยเสียงดังขึ้นมา กลับมีข้อแก้ตัวให้ตัวเองมากมาย ก็กำลังคุยกันสนุกนี่ เสียงดังบ้างก็ไม่แปลก เห็นไหม เพื่อนๆ ก็ชอบที่ฉันเป็นแบบนี้กันทั้งนั้น เสียงดังแบบฉันน่ะ กำลังดี ไม่ผิดหรอก เธอคนนั้นต่างหากที่ชอบทำตัวโอเวอร์ เพราะอยากให้คนอื่นสนใจ
พอจะนึกเห็นภาพกันแล้วใช่ไหม เรื่องนี้สามารถเป็นได้ทั้งความไม่พอใจต่อพฤติกรรมต่างๆ ลามไปถึงเรื่องรสนิยมส่วนตัว ที่มักจะเกิดการตัดสินอย่างลับๆ ในใจเสมอ เจ้านิสัยว่าแต่เขาเราก็ใช่ย่อยนี้ มันสะท้อนถึงกลไกป้องกันตัวบางอย่างของเรา ขอผายมือไปที่ Projection ใน Psychoanalytic Theory ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ที่สามารถอธิบายเรื่องนี้ในเชิงจิตวิทยาว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่
ที่ไม่ชอบเธอนั้น เพราะฉันก็ไม่ชอบตัวเอง
อย่างที่กล่าวในข้างต้นว่า Projection เป็นกลไกป้องกันตัวในใจของเรา เจ้าสิ่งนี้จะคอยรับรู้ หงุดหงิด จับผิด ไม่พอใจ กับนิสัยที่เรามองว่าไม่เลิศของคนอื่น เพื่อป้องกันไม่ให้เรารู้สึกว่า เราเองก็มีสิ่งนั้นอยู่ โดยเราอาจเป็นไปโดยที่เราไม่รู้ตัวเหมือนกัน ตัวอย่างแสนคลาสสิกคือการที่ สามีแอบรู้สึกถูกใจพนักงานใหม่ในแผนก แต่รู้อยู่เต็มอกว่าสิ่งนี้มันผิด เลยได้แต่ปิ๊งคนนั้นเงียบๆ ในใจ แต่พอภรรยาของตัวเองพูดถึงหนุ่มคนอื่นขึ้นมา กลับหงุดหงิดไม่พอใจ กล่าวโทษว่าเธอคิดอะไรกับหนุ่มนั่นหรือเปล่า ทั้งที่ภรรยาไม่ได้ทำอะไร แต่เป็นตัวสามีนั่นแหละที่กลัวว่าภรรยาจะไปรู้สึกปิ๊งคนอื่นเหมือนที่ตัวเองทำ
แล้วทำไมเราต้องคอยกล่าวโทษคนอื่นในสิ่งที่เราเองก็ทำด้วย? นั่นเพราะบางครั้งเราเองก็ไม่อยากยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำ แทนที่จะเผชิญหน้ากับนิสัยของตัวเอง ว่าฉันทำแบบนี้ไปทำไมนะ ไม่ดีเลย กลับไปโยนความรู้สึกนี้ไว้ที่คนอื่นแทน เห็นไหม เธอทำแบบนั้นแย่จริงๆ เลย เพื่อรักษา self-esteem ของตัวเอง เพราะเราไม่อยากรับรู้ว่าสิ่งแย่ๆ ที่เราไม่ชอบนี้ อยู่ในตัวเราเองเหมือนกัน ก็เรามักกล่าวโทษคนอื่นได้ง่ายกว่าโทษตัวเองอยู่แล้วน่ะสิ
สิ่งนี้เลยได้ชื่อ Projection เพราะมันเป็นเหมือนการฉายภาพให้เราเห็นว่า บางครั้งเวลาเราไม่ชอบอะไรในตัวคนอื่นเอามากๆ มันสะท้อนว่าเราก็ไม่ชอบสิ่งนั้นในตัวเองเหมือนกัน มันเลยไม่ได้เป็นแค่เรื่องความหมั่นไส้ ไม่ชอบหน้ากัน ความต้องการในใจของเราลึกๆ สะท้อนมันออกมาในรูปแบบของความเกลียดบางอย่างโดยไม่รู้ตัว
ถ้ามันไม่รบกวนจิตใจมากจนเกินไป ก็พอจะมีข้อดีตรงที่ช่วยประคองความรู้สึกของเรา ไม่ให้รู้สึกแย่กับตัวเองมากนัก แต่ก็ควรระวังไม่ให้รู้สึกมากเกินไป จนรู้สึกเกลียดชังคนอื่น ลิดรอนสิทธิคนอื่น ไปเผลอพูดอะไร ทำอะไร ให้อีกฝ่ายไม่สบายใจขึ้นมา อาจจะต้องรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ อย่างนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ สำหรับพฤติกรรมบางอย่างที่กระทบใจและการเข้าสังคมของเรา
หากรู้สึกแบบนั้นขึ้นมา ลองหายใจเข้าลึกๆ ให้เวลาตัวเองได้ประเมินพฤติกรรมของทั้งเราและเขา มองทุกอย่างให้เป็นกลาง ว่าสิ่งนี้เกิดจากอะไรกันแน่ เกิดจากความไม่ชอบในตัวเราเองด้วยหรือเปล่า ถ้าเรารู้เท่าทันความคิดตัวเองมากขึ้น อาจช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์ที่เป็น ว่าเราเองก็ไม่ได้อยากจะเกลียดคนนั้นหรอก
แค่ทำในสิ่งที่อยากทำ ไม่โฟกัสกับการกระทำของคนอื่นมากเกินไป ไม่เอาตัวเองไปเปรียบเทียบ ก็อาจช่วยให้เราอยู่เหนือเรื่องวุ่นๆ ในใจพวกนี้ได้เหมือนกันนะ
อ้างอิงจาก