ยิ่งสนิทมากเท่าไหร่ ยิ่งกล้าทำร้ายจิตใจมากเท่านั้น?
ทุกคนมีเพื่อนหรือคนในครอบครัวเป็นแบบนี้กันบ้างมั้ย…
คนที่ทำดีกับทุกคนได้ แต่กับเราที่สนิทกว่าดันทำตัวแย่ใส่ไม่เว้นวัน
คนที่ตอนอยู่กับคนอื่นก็เห็นพูดจาดี๊ดี แต่พูดกับเราทีดันไม่รักษาน้ำใจ
คนที่เวลาคนอื่นนัดไม่เคยไปสาย แต่ถ้าเรานัดเมื่อไหร่ดันกลายเป็นคนไม่รู้จักคำว่าตรงต่อเวลาซะงั้น
สงสัยกันมั้ยว่า ทำไมเขาถึงทำดีกับทุกคนที่ไม่ใช่คนใกล้ตัว
ตามหลักเหตุและผลทั่วไป เราอาจจะคิดว่า คนส่วนใหญ่น่าจะมีแนวโน้มทำดีกับคนที่เขารักมากกว่าคนที่เขาไม่รู้จัก ซึ่งแน่นอนว่าก็มีคนจำพวกนั้นอยู่จริง แต่ในทางกลับกัน ก็มีคนอีกไม่น้อยที่เกรงใจคนนอกมากกว่าคนใน ใจร้อนกับคนใกล้มากกว่าคนที่ไม่สนิท ถึงขั้นที่นักจิตวิทยา มหาวิทยาลัยออกัสตาอย่าง เดโบราห์ ริชาร์ดสัน (Deborah Richardson) ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า บุคคลที่มีแนวโน้มจะทำร้ายเรามากกว่า ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม ส่วนมากเป็นคนที่เรารู้จัก
“อันที่จริง ต้องบอกว่าไม่ใช่คนแปลกหน้าหรอกที่เราควรต้องกลัว” เดโบราห์ยืนกราน
ทำไมเขาถึงดีกับทุกคนที่ไม่ใช่คนใกล้ตัว
สิ่งที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมที่หลายครั้งเราเองก็เผลอกระทำโดยไม่รู้ตัว แบ่งแยกย่อยได้เป็น 4 สาเหตุ ได้แก่
1) สบายใจที่จะเป็นตัวเอง – แน่นอนว่าการอยู่กับคนที่เรารู้สึกสนิทใจอย่างคนในครอบครัวหรือแก๊งเพื่อน ย่อมช่วยให้เรากล้าที่จะเป็นตัวเองมากขึ้น จะทำอะไรก็ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในคอมฟอร์ตโซน มันคือความผ่อนคลายที่เราหาไม่ได้หากอยู่ในสังคมที่ไม่คุ้นเคยมากนัก เพราะเหตุนี้เอง หลายครั้งเราจึงเผลอกระทำบางสิ่งบางอย่างที่อาจสร้างความไม่พอใจให้กับคนใกล้ตัว ซึ่งก็มีตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการไม่ยอมล้างจาน วางของไม่เป็นที่ (แต่ถ้าเป็นตอนทำงาน โต๊ะนี่เรียบร้อยมาก) ลืมวันเกิด ไปจนถึงปัญหาใหญ่ๆ อย่างการพูดจาทำร้ายจิตใจ โมโหในเรื่องไม่เป็นเรื่อง เถียงแบบต้องการเอาชนะ
2) คาดหวังมากกว่า – พอเป็นคนใกล้ตัว ในหัวเราก็จะคาดหวังไปแล้วว่าเขาน่าจะเป็นคนที่รู้ใจและเข้าใจเรามากกว่าใครเพื่อน ทำให้เมื่อเขาหรือเธอทำอะไรผิด ต่อให้เป็นเรื่องที่เล็กมากๆ เราก็อาจโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ รู้สึกโมโหอย่างให้อภัยไม่ได้ กลับกัน ถ้าหากเป็นเพื่อนที่ไม่ได้สนิทมาก เราก็อาจจะไม่คาดหวังอะไรตั้งแต่แรก ไม่มีคิดไปเองล่วงหน้าว่าเขาจะทำแบบนั้น เธอต้องรู้สิ่งนั้น กลายเป็นว่าในเหตุการณ์เดียวกัน ถ้าเป็นคนไกล เราไม่รู้สึกอะไร แต่พอเป็นคนใกล้ เราฝังใจเจ็บ นี่เองที่นำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งและอารมณ์ร้อนกับคนใกล้ตัว
3) หงุดหงิดสะสม – อยากชวนทุกคนคิดภาพตามง่ายๆ ว่า ถ้าตื่นเช้ามาแล้วฝนตก แต่เราดันลืมพกร่มจนต้องเดินตากฝน แม้จะแค้นใจ เราก็คงไม่สามารถตะโกนด่าฟ้าฝนที่ทำให้เราเปียกได้ ทีนี้พอถึงที่ทำงานปุ๊บ หัวหน้าก็ดันดุเราโดยไม่มีเหตุผลอีก เราคงรู้สึแย่แบบสุดๆ แต่จนแล้วจนรอดก็คงไม่กล้าต่อว่าหัวหน้าคืนอยู่ดี สุดท้ายตอนกลับบ้าน รถไฟฟ้าก็ดันขัดข้องแบบซวยซ้ำซวยซ้อน เป็นวันแย่ๆ อีกวันที่ไม่รู้จะระบายความคับแค้นข้องใจอย่างไร และเมื่อมีวันแบบนี้มากๆ เข้า ถามว่าความหงุดหงิดเหล่านี้จะไปลงกับใครล่ะถ้าไม่ใช่คนใกล้ตัวอย่างครอบครัวหรือเพื่อนสนิท
4) คนใกล้ตัวตัดไม่ขาด – เราอาจเคยตั้งคำถามว่า ‘ปากก็บอกว่ารักเรา แต่ทำไมชอบทำเหมือนเราไม่มีความรู้สึก’ ต้องบอกว่าสายใยความรัก บางครั้งก็มาพร้อมกับพันธะที่เอื้อให้ต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่าตัดกันไม่ขาด เป็นความสัมพันธ์ที่คงทนถาวรจนจะทำยังไงกับมันก็ได้ ระเบิดอารมณ์ใส่แม่แค่ไหน ยังไงแม่ก็ไม่มีทางตัดแม่ตัดลูก ทำอะไรไม่เกรงใจเพื่อน แหม รู้จักกันมาขนาดนี้แล้ว มันไม่มีทางทิ้งเราหรอก พูดง่ายๆ คือถ้าเป็นคนที่รู้จักอย่างผิวเผิน การกระทำที่ขาดความยั้งคิดของเราอาจทำให้เขาตัดความสัมพันธ์กับเราได้ เราจึงระมัดระวังมากกว่า แต่หากเป็นคนใกล้ชิดสนิทสนม ทำแย่กี่ร้อยรอบ เขาก็ยังอยู่ของเขาที่เดิม เกิดเป็นความเคยชินที่ทำราวกับอีกฝ่ายเป็นของตาย
สนิทกันทั้งที ใจดีต่อกันบ้างเถอะ
ไม่ว่ายังไงก็ตาม การมีทั้งเหตุและผลก็ไม่อาจสร้างความชอบธรรมในการทำร้ายจิตใจคนใกล้ตัวอยู่ดี ซึ่งถ้าหากเราอยู่ในสถานะผู้ถูกกระทำที่โดนอีกฝ่ายระบายความโกรธหรือพูดจาใจร้ายใส่ เราก็ไม่ควรนิ่งเฉย แต่ควรหาทางพูดคุยเพื่อให้อีกฝ่ายเข้าใจและปรับตัว
ขั้นตอนง่ายๆ ที่อาจต้องใช้ความอดทนในการตักเตือนอีกฝ่ายมีดังนี้
- เมื่อรู้สึกไม่พอใจในการกระทำของเขา ขั้นแรกให้เราข่มใจไว้ อย่างเพิ่งใจร้อนตอบโต้ ถึงเราจะรู้ทั้งรู้ว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด และเป็นอีกฝ่ายต่างหากที่ไม่มีเหตุผล แต่ถ้าโวยวายตอนนี้ สุดท้ายก็มีแต่จะทะเลาะกันเปล่าๆ แม้จะยาก แต่เราก็อยากให้ทุกคนนิ่งไว้ก่อน
- เมื่อเวลาผ่านไป หรือเมื่อเขาใจเย็นลงแล้ว เอาล่ะ คราวนี้เป็นตาของเราบ้าง แต่ช้าก่อน! เราไม่ได้สนับสนุนให้ใครไปด่าทอหรือแก้แค้นคนใกล้ตัว เราเพียงอยากเชียร์ให้ทุกคนรวบรวมความกล้า หายใจเข้าลึกๆ แล้วเดินไปบอกอีกฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา ชี้ให้ถูกจุดว่าการกระทำไหนของเขาที่ทำให้เราไม่พอใจ เล่าด้วยเหตุผล ไม่ใช่อารมณ์ ถึงจะไม่อาจการันตีได้ว่า อีกฝ่ายจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือไม่ แต่อย่างน้อยที่สุดคือเราเปิดใจและได้บอกกับเขาตรงๆ ไปแล้ว
“พอฟังเราพูดจบ แกอธิบายเพิ่มได้นะ คือเราเข้าใจว่าตอนนั้นแกอาจจะกำลังเครียด แต่สิ่งที่แกพูดมันทำให้เรารู้สึกแย่จริงๆ แกเข้าใจเราใช่มั้ย”
ไม่ยาก อยากใจดีกับคนที่เรารัก
แล้วถ้าหากนึกย้อนกลับไปแล้วพบว่า คนที่ชอบใจร้อนใส่คนที่รัก แต่ใจเย็นกับคนที่เพิ่งรู้จัก คือตัวเราเองล่ะ จะทำยังไง วิธีที่เราอยากชวนให้ลองทำคือค่อยๆ ปรับที่ตัวเองทีละนิด โดยเริ่มปรับจากสาเหตุที่บีบให้เราทำเรื่องแย่ๆ ใส่คนใกล้ตัวนั่นเอง
1) เป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีกว่า (สบายใจที่จะเป็นตัวเอง) – ไม่ใช่เรื่องผิดที่ใครๆ ก็อยากเป็นตัวของตัวเอง อยากอยู่ในพื้นที่ที่เราสบายใจร่วมกับคนที่รัก แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ไม่ควรปล่อยให้ความเป็นตัวเองของเราทำให้คนรอบข้างเดือดร้อน เป็นตัวเองได้ แต่ก็ต้องมีความเกรงใจด้วย หรือทางที่ดีที่สุดอาจจะเป็นการเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีกว่า เป็นตัวเองในแบบที่คนรอบข้างจะมีความสุขเมื่อได้อยู่ใกล้ๆ
2) เอาใจเขามาใส่ใจเรา (คาดหวังมากกว่า) – การหยุดความคาดหวังที่มีต่อคนใกล้ตัวอาจจะเป็นเรื่องยาก แต่อย่างน้อย สิ่งที่เราอยากให้ทุกคนทบทวนไปพร้อมๆ กับคาดหวังคือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เขาอาจจะเข้าใจและรู้ใจเราก็จริง แต่เขาก็ลืมและผิดพลาดได้ เหมือนที่หลายครั้งเราก็ลืมตัวจนเผลอทำอะไรที่เขาไม่ชอบ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่รักเขา เช่นเดียวกับที่มันก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่รักเรา เพราะงั้นก็ลองถามตัวเองดีๆ ว่า เราอยากให้คนที่เรารักรู้สึกอย่างไร
3) หาวิธีอื่นๆ ในการระบายความโกรธ (หงุดหงิดสะสม) – เรามีพื้นที่มากมายในการระบายอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬา การเขียน การตะโกนดังๆ ในห้องนอน หาของอร่อยกิน ซึ่งแต่ละคนก็ควรมองหาวิธีการที่ตอบโจทย์สำหรับตัวเอง ใช้วิธีไหนแล้วเวิร์กก็เลือกใช้วิธีนั้น
4) ท่องเอาไว้ว่า ‘ความรู้สึก เสียแล้วซ่อมยาก’ (คนใกล้ตัวตัดไม่ขาด) – ความจริงที่ว่าเราเป็นลูกของพ่อกับแม่คงไม่มีวันเปลี่ยน หรือเพื่อนสนิทก็คงไม่เลิกคบกับเราง่ายๆ อย่างไรก็ดี ต่อให้ตัดขาดไม่ได้ ก็ไม่ได้แปลว่าความรู้สึกจะเหมือนเดิมตลอดไป ถ้าไม่ระวัง เราอาจจะเผลอสร้างบาดแผลที่อีกฝ่ายจำไม่ลืม เป็นบาดแผลที่ยากต่อการเยียวยาให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม ดังนั้น การใจดีต่อกันก็คงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคนนั้นเป็นคนที่เราต้องใช้ชีวิตด้วยเป็นประจำ ยังไงการอยู่ด้วยกันด้วยรอยยิ้มก็คงดีกว่าการปฏิสัมพันธ์แบบที่ต่างฝ่ายต่างเจ็บช้ำทุกครั้งที่พบเจอ
ผู้ใหญ่หลายคนอาจพูดให้ลูกหลานฟังว่า เป็นธรรมดาที่เราจะกระทบกระทั่งกับคนใกล้ชิด ยิ่งอยู่ใกล้กัน มันก็ต้องมีทะเลาะกันบ้างไม่ต่างจากฟันกับลิ้น แต่ถ้ามานึกดูดีๆ มันจะดีกว่ามั้ย ถ้าลิ้นกับฟันได้อยู่ร่วมกันได้อย่างรักใคร่กลมเกลียว ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเอง ดูแลใจของอีกฝ่ายแทนที่จะระบายอารมณ์ใส่
ฟันกัดลิ้นแล้วเจ็บมากฉันใด การโดนคนใกล้ตัวทำร้ายจิตใจก็เจ็บมากฉันนั้น จริงอยู่ที่การเปลี่ยนสิ่งที่ทำจนเคยชินอาจเป็นเรื่องยาก แต่เราเชื่อว่าหลายคนก็คงอยากเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้อยู่กับคนที่รักได้อย่างยั่งยืน ฉันก็สุข เธอก็สุข
และในเมื่อเราสามารถทำดีกับคนไกลได้ การทำดีกับคนใกล้ก็คงไม่ได้ยากเกินความพยายามนักหรอก
อ้างอิงจาก