‘เช้าไปส่งลูก เย็นรีบกลับมาดูแลพ่อแม่ คอยเป็นกันชนของคนสองวัยที่คิดเห็นต่างกันสุดขั้ว’ เชื่อว่าสถานการณ์แบบนี้คงเป็นสิ่งที่คนวัยทำงาน โดยเฉพาะรุ่นมิลเลนเนียลที่อายุประมาณ 25 – 41 ปี (เกิดตั้งแต่ปี 1981 – 1997) หลายคนกำลังเผชิญอยู่ เพราะเริ่มก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานอย่างเต็มตัว
แม้จะเป็นช่วงชีวิตที่เริ่มดูแลตัวเองได้ มีอิสระในการตัดสินใจ เริ่มมีความคิดที่ตกตะกอนจนเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งหลายคนก็เดินทางมาถึงวัยที่ต้องรับผิดชอบทั้งชีวิตตัวเองและคนอื่นๆ ไม่ว่าจะรุ่นก่อนหน้าหรือรุ่นถัดมา จนให้ความรู้สึกเหมือนถูกบีบอัดเป็นไส้กลางของแซนวิชหรือที่เรียกว่า ‘Sandwich Generation’
วัยที่เริ่มป่วยแต่ยัง (ต้อง) ไหว
แม้คนรุ่นนี้จะยังมีเรี่ยวแรงออกไปทำงาน ไม่ได้มีความเสี่ยงเรื่องสุขภาพมากเท่ากลุ่มผู้สูงอายุ แต่ก็คงไม่ได้แข็งแรงเหมือนช่วงวัยเรียนที่สามารถอ่านหนังสือโต้รุ่งได้สบายๆ หรือใช้ร่างกายหนักแค่ไหนก็กลับมาฟื้นตัวได้รวดเร็วเหมือนตอนเด็กๆ แถมโรคภัยไข้เจ็บบางอย่างก็เริ่มถามหาทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ อย่างในในเว็บไซต์ hd.co.th พบว่า คนที่เป็นโรคออฟฟิศซินโดรมเกินกว่าครึ่ง คือคนที่นั่งอยู่กับที่นานๆ เช่น นั่งอยู่หน้าคอมฯ หรือขับรถวันละหลายชั่วโมง โดยพบว่าช่วงอายุที่มีพฤติกรรมนี้มากที่สุด คือช่วงอายุประมาณ 25-44 ปี แต่คนกลุ่มนี้ไม่ได้ถึงขั้นป่วยหนักจนดูแลตัวเองไม่ได้ กลายเป็นชีวิตที่ปวดหลังไปทำงานไป เพราะยังพอทำงานไหว (และบางคนก็จำเป็นต้องไหวอีกต่างหาก)
Sandwich Generation ทั้งในครอบครัวและที่ทำงาน
พออยู่ในช่วงวัยที่เริ่มดูแลตัวเองได้ บางคนต้องดูแลทั้งรุ่นลูกหลาน และรุ่นพ่อแม่ลุงป้าน้าอาที่เริ่มเฉียดใกล้วัยเกษียณ ซึ่งการดูแลที่ว่านี้ไม่ได้มีแค่เรื่องการเงินอย่างเดียว ลองนึกภาพที่คนๆ หนึ่งต้องตื่นมาส่งลูกไปโรงเรียน นั่งทำงานไปกังวลไปว่าพ่อแม่ที่อยู่บ้านจะเหงาไหม จะปลอดภัยดีหรือเปล่า บางทีต้องลางานพาคนที่บ้านไปหาหมอ วันหยุดก็ต้องไปซื้อของเข้าบ้านอีกต่างหาก แถมช่วงอายุนี้หลายคนมีวุฒิภาวะพอเข้าใจผู้ใหญ่รุ่นก่อนหน้า และให้คำปรึกษากับเด็กๆ ได้ จนกลายเป็นเดอะแบกทั้งด้านการเงินและความสัมพันธ์ในเวลาเดียวกัน
นอกจากชีวิตภายในบ้านแล้ว พอเดินเข้าออฟฟิศไปทำงาน คนรุ่นมิลเลนเนียลบางคนอาจจะมีตำแหน่งหรือช่วงอายุที่อยู่ ‘ตรงกลาง’ ระหว่างหัวหน้าระดับสูงในเจเนอเรชั่น X หรือ Baby Boomers กับพนักงานใหม่และ first jobber ที่อยู่ในช่วงเจเนอเรชั่น Z โดยสองกลุ่มนี้อาจจะมองเรื่องบางเรื่องด้วยเลนส์ที่ต่างกันไป
อย่างเรื่องการสื่อสารที่มีการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่ารุ่น Baby Boomers และเจเนอเรชั่น X ชอบการสื่อสารแบบตัวต่อตัวมากกว่า ขณะที่คนเจเนอเรชั่น Z ชอบการสื่อสารผ่านการแชตที่สามารถตอบกลับได้ทันที หรือเรื่องรูปแบบการทำงานที่รุ่น Baby Boomers ส่วนใหญ่เคยชินกับการทำงานแบบเจอหน้ากัน เข้า-ออกงานตามเวลา เคร่งครัดกับกฎระเบียบ ขณะที่คนเจเนอเรชั่น Z โตมากับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้ง่ายทำให้มีความเป็นตัวของตัวเองสูง คุ้นชินกับการทำงานที่ยืดหยุ่น ส่วนคนรุ่นมิลเลนเนียลอยู่ในช่วงวัยที่โตพอจะเข้าใจคนรุ่นก่อนหน้า แต่ก็ยังทันยุคสมัยแห่งเทคโนโลยีของคนรุ่นใหม่ เลยทำให้รุ่นมิลเลนเนียลบางคน กลายเป็นเหมือนกันชนหรือคนที่คอยไกล่เกลี่ยทั้งสองฝ่าย
แม้จะฟังดูน่าปวดหัว แต่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่แก้ไขไม่ได้ และการมีคนหลากหลายช่วงวัยในออฟฟิศก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องแย่เสมอไป อย่างรายงาน Global Talent Trends 2020 พบว่า 89% ของบุคลากรที่มีความสามารถมองว่า ช่วงวัยที่หลากหลายทำให้องค์กรประสบความสำเร็จมากขึ้น แม้ว่าบางครั้งจะเกิดความขัดแย้ง แต่ความหลากหลายทางอายุทำให้บริษัทมีมุมมองและทักษะที่หลากหลายตามไปด้วย
หรือในมุมของครอบครัวก็มีงานวิจัยในประเทศไทยเมื่อปี 2017 ที่พบว่าการเป็น Sandwich Generation ไม่ได้ส่งผลความพึงพอใจในด้านความสัมพันธ์กับคนในบ้านมากนัก เพราะการดูแลคนที่เรารัก อีกด้านหนึ่งก็ทำให้เรามีความสุขท่ามกลางความเหนื่อยได้เหมือนกัน แต่ด้านที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญคือเรื่อง ‘สถานภาพทางเศรษฐกิจ’ หรือเรียกง่ายๆ ว่าหลายคนกลัวจะมีเงินไม่พอใช้ ไม่ว่าจะค่าเลี้ยงดูลูก การเก็บเงินหลังวัยเกษียณตัวเอง ไปจนถึงค่ารักษาพยาบาลของพ่อแม่
ดังนั้นถ้าประเทศเรามีรัฐสวัสดิการที่ดีมารองรับ และแบ่งเบาภาระทางการเงิน องค์กรหรือบริษัทที่เราทำงานมีระบบที่เฮลตี้ บางทีการเป็น Sandwich Generation ในประเทศนี้ก็อาจจะไม่ได้โหดร้ายจนเกินไป แต่ถ้าใครกำลังเผชิญกับบาดแผลจากการเป็น Sandwich Generation เราอยากจะบอกว่าอย่าลืมใจดีกับตัวเองเยอะๆ เหมือนที่ดูแลคนอื่นๆ บ้าง และหวังว่าพายุแห่งช่วงวัยครั้งนี้จะพัดผ่านไป เพื่อเจอกับท้องฟ้าที่สดใสในเร็ววัน
อ้างอิงจาก
Graphic Designer: Kotchamon Anupoolmanee
Proofreader: Runchana Siripraphasuk