เราโทรศัพท์หาที่บ้าน แล้วถามว่า “เป็นยังไงบ้าง สบายดีมั้ย”
“สบายดี ไม่ต้องเป็นห่วงนะ” ปลายสายตอบกลับ
และบทสนทนาก็จบลง ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า พวกเขาสบายดีจริงหรือไม่ และก็ไม่รู้ด้วยว่าเราสนใจคำถามที่เพิ่งถามไปจริงๆ รึเปล่า…
เมื่อถึงจุดหนึ่ง เราอาจพบว่าตัวเองไม่ได้รู้สึกสนิทสนมกับที่บ้านมากเท่าตอนเด็กๆ เราตอบไม่ได้ว่าตื่นเช้ามา พ่อกับแม่ทำอะไร เราเริ่มไม่แน่ใจว่าจานไหนคือเมนูที่เขาชอบ และยิ่งถ้าอยู่กันคนละที่ เราอาจไม่ได้เจอหน้าลุงป้าน้าอามาเป็นปีๆ หรือบางทีเราอาจหลงลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าครั้งหนึ่งครอบครัวเคยเป็นพื้นที่ที่อบอุ่นขนาดไหน
หรือบางทีต่อให้อยู่บ้านเดียวกันแท้ๆ เราก็แทบไม่รู้เรื่องราวของพ่อกับแม่เลย พอเขาถามอะไรด้วยความเป็นห่วง ความเครียด ล้า และง่วงที่เกิดจากงานก็บีบให้เราพาลใส่เขา เถียงกันมากเข้าก็กลายเป็นปัญหาบานปลาย อึดอัด ไม่อยากคุย จนทำให้แม้จะอยู่ใกล้แต่รู้สึกเหมือนอยู่โคตรไกล…
ทำไมเราจึงห่างกันขนาดนี้กันนะ? เราเป็นลูกที่ไม่ดี ฉันเป็นผู้ปกครองที่แย่ หรือที่แท้เป็นเพราะเงื่อนไขและสภาพสังคมไทยกันแน่ที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างครอบครัว แล้วเงื่อนไขที่ว่าคืออะไรกันล่ะ
เรียนเหนื่อย งานหนัก ไม่มีเวลาพักผ่อนร่วมกัน
สถิติจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชี้ว่า นักเรียนไทยใช้เวลาไปกับการเรียนอย่างน้อย 54 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็น 65% ของเวลาทั้งหมดที่สามารถใช้ในการเรียน ไม่นับรวมวันหยุดสุดสัปดาห์และเวลานอน ในขณะที่ประเทศอย่างฟินแลนด์ เยอรมนี สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และอุรุกวัย ไม่มีประเทศไหนเลยที่เด็กใช้เวลาเรียนมากกว่า 50%
ข้อมูลข้างต้นชี้ว่า เพียงแค่เราเป็นเด็กไทย ระบบการศึกษาก็พร้อมที่จะพรากเวลาของเราไปจากครอบครัวตั้งแต่วัยประถม ยิ่งถ้าเป็นวัยมัธยมที่ต้องสิงอยู่ในโรงเรียนกวดวิชา ชีวิตอันมีค่าแทบทั้งหมดของเราก็เกือบจะไม่เหลือให้กับสิ่งอื่นแล้ว อย่าว่าแต่ครอบครัวเลย เวลาให้ตัวเองเรายังแทบไม่มีด้วยซ้ำ
ถัดจากวัยเรียนก็มาสู่วัยทำงาน ผลการศึกษาโดยเว็บไซต์จีเอฟเคระบุว่า ในปี 2015 คนไทยทำงานโดยเฉลี่ย 50.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทั้งที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ว่า ‘ลูกจ้างจะต้องทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์’ นอกจากนี้ รายงานจาก Expedia ในปี 2018 ยังบอกเพิ่มอีกว่า คนไทยมีอันดับการลาพักร้อนเฉลี่ยเพียง 10 วันต่อปีเท่านั้น
เพราะการสวนทางกันของชั่วโมงทำงานจริงที่มากเกินข้อกำหนด กับเวลาหรือวันพักผ่อนที่ไม่เคยได้ใช้จนหมดนี้เอง ที่นำไปสู่ปัญหาอีกสารพัด จนหลายครั้งกลุ่มคนที่ต้องรองรับปัญหาเหล่านั้นก็ไม่ใช่ใครอื่น นอกเสียจากคนในครอบครัว
พอคิดแล้วก็น่าเศร้า เวลาของเราตั้งแต่เด็กจนโตก็แทบจะไม่ได้ใช้ร่วมกับผู้ปกครองอยู่แล้ว ซ้ำร้าย นาทีอันน้อยนิดที่ว่างเว้นจากภาระงานก็มีสภาพเป็นช่วงเวลาแห่งความตึงเครียด แม่ถามดีๆ เรากลับตอบแบบเหวี่ยงๆ พ่อแค่เตือนว่าอย่าลืมกินข้าว เราก็กลายเป็นรำคาญไปซะอย่างนั้น
“เออ เดี๋ยวจัดการเองน่า อย่ามายุ่ง”
ความเหนื่อยล้าสะสมทำให้เราตอบไปแบบนั้น ซึ่งคนฟังก็เสียใจ และเราเองก็มานั่งรู้สึกผิดกับสิ่งที่ทำลงไป
จำเป็นต้องออกจากบ้าน
คงไม่มีใครปฏิเสธความจริงที่ว่า ความเจริญในดินแดนแห่งนี้กระจุกตัวอยู่แค่บางพื้นที่เท่านั้น และอันที่จริงก็คงพอสรุปได้ว่า มันถูกมัดรวมกันอยู่แค่ในกรุงเทพฯ โดยความเจริญที่ว่านี้ เราไม่ได้พูดถึงแค่ในมิติทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่การท่องเที่ยว สิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนการศึกษา ในกรุงเทพเมืองฟ้าก็ดีกว่าจังหวัดอื่นเป็นไหนๆ
เมื่อเป็นเช่นนั้น หลายคนจึงต้องย้ายมาไล่ล่าความฝันในเมืองหลวง ดีหน่อยคือตอนเรียนยังได้อยู่บ้าน ค่อยย้ายทีเดียวตอนทำงานบริษัท หรือถ้าแค่แวะเข้ามาเรียนมหาลัย เรียนจบแล้วได้กลับบ้านก็ยังนับว่าโชคดี เพราะหลายคนก็ไม่โชคดีแบบนั้น ต้องออกจากบ้านตั้งแต่อายุยังไม่ยี่สิบ จากนั้นก็ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ เรื่อยมา โดยมีโอกาสได้เห็นหน้าพ่อแม่แค่ปีละครั้งสองครั้ง
หากลองมองไปที่เรื่องของรายได้ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ในปี 2021 รายได้ต่อครัวเรือนในกรุงเทพฯ นั้นเฉลี่ยอยู่ที่ 40,200 บาท ในขณะที่จังหวัดใหญ่อย่างเชียงใหม่และขอนแก่น รายได้เฉลี่ยจะอยู่ที่ 22,963 บาท และ 18,028 บาท ตามลำดับ หรือพูดง่ายๆ คือเกือบไม่ถึงครึ่งของค่าตอบแทนคนกรุง ดังนั้น ถ้าอยากกลับไปอยู่บ้าน เราก็ต้องรับให้ได้กับสภาวการณ์ที่จะมีเงินเข้ากระเป๋าน้อยกว่าเท่าตัว อีกทั้งบางสายงานก็ไม่เป็นที่ต้องการด้วยซ้ำในจังหวัดบ้านเกิด
สำหรับบางคน ทางเดียวที่จะได้อยู่กับครอบครัวจึงเป็นการเปลี่ยนอาชีพ
- เราป่วย แต่ก็ต้องช่วยตัวเอง ไม่มีครอบครัวดูแล
- เราไม่สามารถกินข้าวกับพ่อแม่ได้แบบพร้อมหน้าพร้อมตา
- เราไม่มีวันรู้จริง ๆ ว่าอีกฝ่ายกำลังเผชิญปัญหาอะไรอยู่บ้าง
- เราไม่มีทางไปหาได้ ต่อให้คิดถึงแค่ไหนก็ตาม
นี่น่าจะเป็น 4 ข้อความที่อัดอั้นในใจคนต่างจังหวัดที่ต้องย้ายไปทำงานในเมืองกรุงฯ ตลอดมา
เสียเวลามหาศาลไปกับการเดินทาง
อ้างอิงข้อมูลจาก Baania 2 ชั่วโมง คือเวลาเฉลี่ยที่คนเมืองในไทยหมดไปกับการเดินทาง ซึ่งเป็นเวลาที่มากพอหากเราต้องการจะเชื่อมความสัมพันธ์กับใครสักคน คิดดูว่าถ้าผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑณสามารถนำเวลาส่วนนี้ไปใช้ทำกิจกรรมร่วมกับคนในบ้าน ไม่ว่าจะนอนดูหนัง นั่งกินข้าว หรือไปเดินเล่น ก็คงช่วยเพิ่มโอกาสที่คนในบ้านจะเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น
หลายคนแย้งว่า ก็เอาเวลา 2 ชั่วโมงในรถนั่นแหละคุยกับครอบครัว โอเค พอจะเป็นไปได้อยู่บ้าง ทว่าบทสนทนาอาจมีอารมณ์โกรธเคืองเข้ามาเจือปน เพราะขับรถอยู่ดีๆ ก็โดนรถจักรยานยนต์ปาดหน้า เหยียบคันเร่งได้ไม่ถึง 5 วินาทีก็ต้องเหยียบเบรกอีกรอบเพราะการจราจรติดขัด สุดท้ายเราก็ต้องยอมรับว่าสภาพแวดล้อมบนท้องถนนไม่ได้เอื้อให้เกิดการพูดคุยที่มีคุณภาพอยู่ดี และนอกจากนี้ เราต้องไม่ลืมว่า จริงๆ แล้วคนส่วนใหญ่ก็ใช้บริการขนส่งสาธารณะในการเดินทางโดยลำพัง ซึ่งเหล่านี้ไม่สามารถนำไปสู่การสร้างความผูกพันในครัวเรือนได้แน่นอน
สรุปว่าต่อให้เป็นคนกรุงเทพฯ ที่ได้อยู่บ้านของตัวเอง เวลาที่ต้องเสียไปกับการเดินทางก็ไม่เอื้อต่อการสร้างความเข้าใจในครอบครัวอยู่ดี
ไม่มีพื้นที่ที่เอื้อให้ทำกิจกรรมร่วมกัน
ถึงตรงนี้ เราอยากชวนทุกคนจินตนาการถึงประเทศไทยที่มีเวลาว่าง (ยากล่ะสิ) เด็กไม่ต้องเรียนหนัก ผู้ใหญ่ทำงานภายใต้กรอบเวลาที่ควรจะเป็น การเดินทางและทุกอย่างราบรื่นไปหมด เอาล่ะ ในที่สุดเราก็มีช่วงให้ใช้เวลาว่างร่วมกับคนในครอบครัวเสียที ว่าแต่เราจะทำอะไรกันดี?
ยินดีต้อนรับสู่อุปสรรคถัดมา เป็นข้อจำกัดที่ต่อให้มีเวลา เราก็อาจจะไม่สามารถหาอะไรสนุกๆ ทำพร้อมกับพ่อแม่พี่น้องได้ ถ้าเป็นประเทศแถบยุโรปอย่างเบลเยียม นอกจากครอบครัวจะกลับมากินมื้อเย็นที่บ้านกันได้แทบทุกวันแล้ว ที่นั่นยังมีพื้นที่สาธารณะที่ช่วยส่งเสริมให้ครอบครัวอยากเปิดใจพูดคุยกันเต็มไปหมด เช้าวันหนึ่งในฤดูร้อนอาจชวนกันไปเดินเล่นในสวนหย่อม ชอบแบบเอ็กซ์ตรีมหน่อยก็อาจจะปั่นจักรยานไปเมืองข้างๆ อย่างปลอดภัยเพราะมีเลนจักรยาน ตอนบ่ายในฤดูหนาวก็สามารถชวนแม่ไปใช้บริการห้องสมุดได้
อย่างน้อยที่สุด การมีพื้นที่สาธารณะจะเปิดโอกาสให้ครอบครัวได้สำรวจและมองหากิจกรรมที่แต่ละคนชื่นชอบ และเมื่อสมาชิกได้ผลัดกันทำสิ่งนันทนาการร่วมกัน กำแพงของการแสดงท่าทีและความเครียดจากการทำงานจะต่ำลง ช่วยให้แต่ละฝ่ายได้เห็นเนื้อแท้และตัวตนของคนในครอบครัวชัดขึ้น มีเรื่องชวนคุยมากขึ้น อันนำไปสู่ความเข้าใจและเห็นใจในเวลาต่อมา แต่ทั้งหมดทั้งมวลคงเกิดขึ้นได้ยากมาก ถ้าเรายังไม่มีบริเวณสาธารณะและพื้นที่สีเขียวอย่างเพียงพอ
รับสารจากคนละสื่อ สนใจคนละชุดข้อมูล
นอกจากปัจจัยด้านสภาพสังคมของประเทศไทยแล้ว อีกหนึ่งสิ่งซึ่งถ่างพันธะครอบครัวให้กว้างกว่าที่เคยคือการมาถึงของเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย แต่เดิม แม้คนต่างวัยจะสนใจกันคนละเรื่อง เราก็ไม่ได้มีทางเลือกในการรับสื่อมากนัก ทำได้แค่ดูและฟังอะไรก็ตามที่สื่อหลักนำเสนอ เพราะเหตุนี้ คนในสังคมจึงเสพข่าว รายการ และความบันเทิงที่ไม่ต่างกันจนเกินไป หยิบเรื่องอะไรมาพูดก็เข้าใจตรงกัน ปรากฏการณ์ที่ละครเรื่องหนึ่งมีเรตติ้งถล่มทลาย ถนนโล่งในคืนที่ตอนอวสานออกฉายจึงมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเรามีทางเลือกมากกว่านั้น บทความ ‘มนุษย์ป้า’ กับ ‘เด็กสมัยนี้’ เพราะเราอยู่ในโลกคนละใบ โดยประชาไท พยายามอธิบายว่า เมื่อเทคโนโลยีก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์ที่โลกออนไลน์หยิบยื่นแก่เด็กยุคใหม่ก็เข้ามาถมช่องว่างจนเด็กสมัยนี้ล้ำหน้าในด้านเทคโนโลยีและมีประสบการณ์ที่แตกต่างหลากหลายกว่าคนรุ่นก่อน ครั้งหนึ่งที่แม่เคยเป็นคนสำคัญในการแนะนำลูกเรื่องการตั้งครรภ์ วันนี้เขาและเธออาจเสิร์ชหาข้อมูลกันผ่านเฟซบุ๊กหรือกูเกิล
“อคติที่มีต่อกันจึงอาจเพิ่มขึ้นได้จากความแตกต่างของโลกที่เรากำลังดำรงชีวิตอยู่ เพราะแม่กับเรา แม้จะอยู่ในบ้านเดียวกันก็เหมือนอยู่กันคนละโลก”
ยิ่งไปกว่านั้น ยุคอินเทอร์เน็ตก็ช่วยให้แต่ละคนสามารถมีโลกอีกใบที่แตกต่างกันได้ตามความสนใจ ทุกคนต่างมีห้องเสียงสะท้อน (Echo Chamber) คนละประเภท และมีแนวโน้มที่ห้องเสียงสะท้อนแต่ละห้องจะแน่นแฟ้นและตีตัวออกห่างจากห้องอื่นๆ มากขึ้นเรื่อยๆ
“แม้ปัจจุบันที่ผู้สูงวัยใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นและพยายามสื่อสารกับเด็กสมัยนี้ ทว่าแพลตฟอร์มที่ใช้ก็ต่างกัน ไม่ต้องพูดถึง ‘สาร’ ที่สื่อออกมาก็ยิ่งแตกต่าง การส่งช่อดอกไม้สวัสดีวันจันทร์ วันอังคารเป็นตัวอย่างชัดเจน” บทความอธิบาย
ประเภทของสื่อและชนิดของสาร อันเป็นผลของเทคโนโลยี ยิ่งทำให้มุมมองที่ลูกกับพ่อแม่มีต่อโลก ชีวิต ค่านิยม และบรรทัดฐานทางสังคม ที่เดิมก็ต่างกันอยู่แล้ว ยิ่งต่างกันโดยสิ้นเชิงมากขึ้นอีก การทำความเข้าใจช่องว่างระหว่างวัยจึงเป็นความท้าทายยิ่งกว่าที่ผ่านมา
เพราะเหตุนี้ ครอบครัวจึงไม่สนิทกัน เจอกันก็คล้ายจะเป็นคนแปลกหน้า เจอเรื่องใหม่ก็ไม่ได้ไว้ใจที่จะเล่าเท่าเพื่อนสนิท หลายครั้งก็รู้สึกว่าไม่มีหัวข้อที่สามารถคุยกันได้เลย หรือต่อให้ไม่มีปัญหาอะไรเลย ชั่วโมงทำงานและสภาพสังคมก็อาจจะไม่เคยอนุญาตให้เราได้ใช้เวลาร่วมกับคนในครอบครัวอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
สุดท้าย เราอาจจะค่อยๆ ห่างหายกันไป คุยกันน้อยลง เข้าใจกันแค่เปลือก โดยที่เราไม่สามารถเลือกในสิ่งที่ดีกว่านี้ได้ กระทั่งวันหนึ่งที่เรารู้ตัวว่าสายเกินไป ถ้ามีโอกาสอีกสักครั้งก็อยากใช้เวลาร่วมกับพวกเขาให้มากกว่านี้ แต่คำถามคือ ต่อให้ย้อนกลับไปได้ บริบทที่เราอยู่นั้นเอื้อให้เรามีเวลาและสถานที่ในการใช้ร่วมกับคนที่เรารักจริงรึเปล่า
กับคำที่ว่า ‘อย่ารำคาญแม่เลย’ แท้จริงแล้วเราอาจไม่เคยอึดอัดหรือไม่พอใจ เพียงแต่บริบทและสังคมไทยไม่เปิดโอกาสให้เราได้คุยกันมากพอ
อ้างอิงจาก