ปัญหามันถาโถม ความเครียดมันรุมเร้า ทำไมตัวเราถึงได้เหนื่อยขนาดนี้กันนะ ขอลาออกจากการเป็นตัวเองสักหนึ่งวันได้มั้ยเนี่ย!
ช่วงนี้มันทำไมกันนะ ตื่นเช้ามาก็ขึ้นรถไฟฟ้าผิดสาย แฟนก็เอาแต่ระบายปัญหาสารพัด หัวหน้าก็เอาแต่เพิ่มงานๆๆ และไอเราเองที่เริ่มอยากเปลี่ยนที่ทำงาน ก็ยังคิดไม่ว่าจะเลือกทางไหนดี ระหว่างลาออกหรืออยู่ต่อ…
ข้อความข้างต้นอาจดูเป็นแค่การบ่นและตัดพ้อทั่วๆ ไป แต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้ว ไอคำที่เราพูดขึ้นมาลอยๆ อย่าง ‘ลาออกจากกการเป็นตัวเอง’ นี่แหละที่อาจช่วยแก้ปัญหาชีวิตของเราได้อย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งบทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับเทคนิคนี้พร้อมกัน
อันที่จริง ถ้าจะเรียกเทคนิคนี้ว่า ลาออกจากการเป็นตัวเองก็ดูจะเกินจริงไปสักเล็กน้อย เพราะชื่อที่ถูกต้องของมันคือ ‘Self-Distancing’ หรือ ‘ทฤษฎีการเว้นระยะห่างกับตัวเอง’ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่จะช่วยให้เราอยู่ภายใต้แรงกดดันที่น้อยลง ทั้งยังสนับสนุนให้สามารถตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้อย่างมีเหตุผลมากขึ้น
อธิบายให้เห็นภาพชัดๆ Self-Distancing คือการสร้างระยะห่างระหว่างความคิดกับชีวิตจริงของเรา เป็นวิธีที่บอกให้เราลองถอยออกจากสิ่งที่เผชิญอยู่หนึ่งก้าว เพื่อมองสิ่งต่างๆ อย่างเป็นภาพรวมจากสายตาของบุคคลที่ 3 มองตามความเป็นจริงโดยไม่นำความรู้สึกเข้าไปปะปน ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ในวันที่เราทะเลาะกับเพื่อนสนิทจนไม่รู้ว่าจะขอคืนดีอย่างไร ใจหนึ่งก็อยากง้อ แต่อีกใจก็ไม่ เพราะรู้ดีแก่ใจว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิดสักหน่อย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังอยากกลับมาสนิทกับเพื่อนคนนี้ให้ได้เหมือนเดิม
เทคนิค Self-Distancing คือการถอยออกมามองภาพรวมของสิ่งที่เกิดขึ้นในมุมของคนนอก เป็นการเปลี่ยนวิธีคิด แล้วลองจินตนาการว่านี่ไม่ใช่ปัญหาของเรา แต่เป็นปัญหาของเพื่อนคนหนึ่ง และเมื่อเป็นแบบนั้น เราจะให้คำแนะนำเพื่อนคนนี้อย่างตรงไปตรงมาว่าอะไร
โอเค มาลองคิดไปพร้อมๆ กัน สิ่งที่เป็นปัญหาในที่นี้คือนางสาว A (ซึ่งจริงๆ แล้วคือตัวเรา) ทะเลาะกับนางสาว B (เพื่อนของเรา) แล้วถ้านางสาว A อยากคืนดีกับนางสาว B เราก็คงแนะนำเธอว่า กล้าๆ หน่อย แกไม่ผิดก็จริง แต่ถ้าแกให้ความสำคัญกับมิตรภาพมากกว่าอารมณ์ ถ้าแกให้ค่าความสัมพันธ์มากกว่าแค่ว่าใครเป็นฝ่ายถูก แกก็ควรลองพูดคุยกับเขาดูนะ อย่ายึดติดกับอีโก้นักเลย จริงๆ ทั้งแกและเขาอาจจะอยากคืนดีกันทั้งคู่ก็ได้ แต่ไม่มีใครอยากเป็นฝ่ายเริ่มก่อน เพราะงั้น อย่ารอต่อไปเลย ลุยๆๆ ลองทักไปชวนเขาคุยดูสิ
จะเห็นได้ว่า เมื่อเราเพิ่มระยะห่างระหว่างความคิดกับชีวิตจริงของตัวเอง จะช่วยให้เรากล้าคุยกับตัวเองอย่างจริงใจมากขึ้น เป็นวิธีการที่ช่วยให้เราเข้าใจเหตุผล ลดการใช้อารมณ์ในการแก้ปัญหา จึงพอจะบอกได้กลายๆ ว่า ‘อยากลาออกจากการเป็นตัวเอง’ ไม่ได้เป็นเพียงแค่คำอุทานตอนที่เหนื่อยหรือไม่รู้จะทำยังไง แต่มันช่วยให้ปัญหาหลายอย่างบางเบาลงได้จริง
“ผมไม่อยากจะตัดสินใจด้วยอารมณ์ความรู้สึก ผมอยากจะทำในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเลบรอน เจมส์ และทำในสิ่งที่จะช่วยให้เขามีความสุข”
ถ้าให้ลองเดา ทุกคนคิดว่าใครน่าจะเป็นคนพูดประโยคข้างต้นในวันที่นักบาสเกตบอลระดับโลกอย่าง เลบรอน เจมส์ (LeBron James) กำลังจะย้ายทีม
พ่อของเขาเหรอ…คำตอบคือไม่ใช่
ผู้จัดการของเขารึเปล่า…ก็ยังไม่ใช่อีกเช่นกัน
หรือจะเป็นอดีตโค้ชของเลบรอนที่ต้องการให้ลูกทีมได้รับในสิ่งที่ดีสุด…นี่ก็ยังเป็นคำตอบที่ผิดอยู่ดี
เฉลย คนที่พูดประโยคนี้คือตัวของเลบรอนเองระหว่างแถลงข่าวก่อนตัดสินใจย้ายทีม หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมเขาจึงพูดถึงตัวเองด้วยชื่อแทนที่จะใช้สรรพนามว่า ‘ผม’ เหมือนอย่างคนอื่นๆ ซึ่งสาเหตุเป็นเพราะการตัดสินใจอันหนักอึ้งครั้งนี้ของเขาเกิดจากเทคนิค Self-Distancing นั่นเอง โดยเจ้าตัวพยายามไม่นำอารมณ์ความรู้สึกมาปิดกั้นความต้องการที่แท้จริง เขาเลือกที่จะมองภาพกว้าง ถอยออกมาขบคิดในฐานะบุคคลที่ 3 เพื่อหาว่าอะไรคือสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ที่สุดสำหรับนักกีฬาอย่างเลบรอน เจมส์ และเมื่อตกตะกอนปัจจัยแวดล้อมทั้งหมด เขาก็รู้อยู่เต็มอกว่า นี่คือจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการย้ายทีมของเลบรอน เจมส์ นำมาซึ่งบทสัมภาษณ์ที่ถูกพูดถึงไปทั่วโลก
ประโยชน์ของ Self-Distancing
ก่อนจะไปดูว่าวิธีการทำ Self-Distancing ควรเริ่มอย่างไร เราพามาดูประโยชน์ของการลาออกจากการเป็นตัวเองสักนิด ว่าสิ่งนี้จะช่วยให้เราเข้าใจ และแก้ปัญหาต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาได้ยังไง โดยเราสรุปออกมาเป็น 4 ข้อ
1) เห็นข้อดี-ข้อเสียของสิ่งที่ทำอย่างเด่นชัด
ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายครั้งเราก็เผลอมองข้ามจุดบกพร่องของงานที่ตัวเองทำ ขณะเดียวกัน บางทีเราก็หาข้อดีของงานนั้นๆ ไม่เจอเพราะอคติบางอย่างบดบัง การถอยห่างจากตัวเองจะช่วยให้เราเห็นรายละเอียดเหล่านั้น เห็นข้อเท็จจริงว่าสิ่งที่เราทำบกพร่องตรงไหนบ้าง ทั้งยังเห็นจุดที่สร้างความภูมิใจให้แก่ตัวเราเอง คือเราอาจจะตั้งใจมองมาตลอด เพียงแต่ว่าเมื่อเราจมจ่อมอยู่กับงานสักชิ้นเป็นเวลานาน ความเข้มข้นของบรรยากาศอาจทำให้เรามองข้ามหลายสิ่งหลายอย่างไป ซึ่งการเว้นระยะห่างตรงนี้นี่แหละที่จะช่วยให้เราเห็นในสิ่งที่อาจไม่เคยเห็นมาก่อน
2) ตัดสินใจโดยใช้เหตุผล
เป็นเรื่องยากที่เราจะตัดสินใจอะไรบางอย่างโดยปราศจากความรู้สึก และอันที่จริง การใช้ความรู้สึกช่วยเลือกก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่อย่างใด แต่ในวันที่เราอยากรู้เงื่อนไขที่เป็นเหตุเป็นผลจริงๆ เช่น วันที่เราอยากเปลี่ยนงาน หรือกำลังขบคิดว่าจะเรียนต่อหรือไม่เรียนต่อดี หรือกระทั่งคืนที่ตั้งคำถามว่า คนที่คบอยู่ตอนนี้ใช่คนที่เราอยากอยู่ด้วยไปตลอดชีวิตหรือไม่ การวิเคราะห์ภาพเหล่านี้จากมุมของคนนอกอาจช่วยให้เราตัดสินใจด้วยเหตุผลอย่างแท้จริง ขบคิดอย่างซื่อสัตย์กับตัวเอง หรืออย่างน้อยที่สุด มันจะช่วยให้เราเห็นว่าเหตุผลจริงๆ มีอะไรบ้าง
3) ลดความกดดันและความรู้สึกเชิงลบ
แน่นอนว่าการพบเจอกับความล้มเหลวไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ย่อมส่งผลให้เกิดความรู้สึกเชิงลบ ซึ่งงานวิจัยจาก อีธาน ครอส (Ethan Kross) นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า การเว้นระยะห่างกับตัวเองจะช่วยลดผลกระทบด้านอารมณ์ความรู้สึกในการตอบสนองต่อความล้มเหลว เพราะเมื่อได้ประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นในมุมมองของคนอื่น ความรู้สึกเชื่อมโยงกับผลกระทบของปัญหาจะลดน้อยลง และในทางหนึ่งก็เหมือนเป็นการโอบกอดตัวเองในวันที่รู้สึกไม่พร้อมได้อีกด้วย หรือในคราวที่รู้สึกแย่ แต่ยังจำเป็นต้องทำงานอยู่ วิธีนี้จะช่วยคลายความกดดันลงได้บางส่วน เพราะเราจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้ที่ต้องแบกรับมาเป็นคนที่คอยแนะนำคนคนหนึ่งแทน
4) รู้เท่าทันตัวเอง
ข้อดีสุดท้ายชอง Self-Distancing คือช่วยให้เรามองตัวเองโดยปราศจากอคติ หลายครั้งการยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น รู้สึก หรือกระทำก็เป็นเรื่องยาก มันง่ายกว่ามากๆ ที่จะมองข้ามไปแล้วทำเหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริง การรู้เท่าทันตัวเองย่อมเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งการเว้นระยะห่างนี้เองที่อาจช่วยเราได้
อยากเก่ง Self-Distancing ต้องทำยังไง?
การฝึกฝน Self-Distancing ทำได้ผ่านการเปลี่ยนสรรพนามที่เราใช้เรียกตัวเองในความคิด โดยมีการทดลองที่พิสูจน์ว่า ถ้าเราเรียกตัวเองด้วยชื่อหรือคำสรรพนามบุรุษที่ 2 และ 3 แทนการเรียกตัวเองด้วยสรรพนามบุรุษที่ 1 อย่างฉัน เรา กู ฯลฯ จะทำให้กระบวนการ Self-Distancing มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ในกระบวนการทดลอง ผู้ทดลองได้ทำการแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม โดยให้ทั้ง 2 กลุ่มนึกถึงประสบการณ์ที่มีความเครียดหรือมีเรื่องที่ทำให้รู้สึกโกรธ โดยกลุ่มแรกให้ทบทวนประสบการณ์ที่ตัวเองเคยประสบเหล่านั้นด้วยคำสรรพนามบุรุษที่ 1 เช่น ทำไมตอนนั้น เราทำแบบนั้นไปนะ เมื่อวานเราโกรธหัวหน้ามากๆ ฉันไม่น่าทำแบบนั้นเลย ฯลฯ ขณะที่กลุ่มที่ 2 ให้รำลึกเรื่องราวโดยเรียกแทนตัวเองด้วยชื่อหรือคำสรรพนามบุรุษที่ 2 และ 3 เช่น ทำไมตอนนั้น แกถึงทำแบบนั้นไปนะ เมื่อวานครีมโกรธหัวหน้ามากๆ หรือ ครีม เธอไม่น่าทำแบบนั้นเลย ฯลฯ
ซึ่งในระหว่างการทดลอง ผู้ทดลองได้ทำการวัดค่า Self-Distancing ของผู้เข้าร่วม ซึ่งผลปรากฏว่า หากเรียกตัวเองด้วยมุมมองของบุคคลอื่น จะช่วยให้เว้นระยะจากตัวเองได้ดีกว่า นำไปสู่การเห็นภาพรวมของปัญหาที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังกราฟต่อไปนี้
นอกจากนี้ ขั้นตอนการฝึกฝน Self-Distancing ก็อาจทำได้โดยการลองจินตนาการถึงมุมมองอื่นๆ โดยอาจจะลองถามเพื่อนรอบข้างว่า เมื่อพบเจอปัญหาในลักษณะนี้ เขาหรือเธอมีวิธีรับมืออย่างไร หรืออาจจะใช้วิธีตั้งคำถามกับตัวเองก็ได้ เช่น ‘ถ้าเพื่อนเราคนนี้อกหัก มันจะทำยังไงกันนะ’ และสุดท้าย คือการหลอกตัวเองว่า ถ้าต้องให้คำปรึกษากับเพื่อนสักคน เราจะบอกเพื่อนว่าอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าจริงๆ แล้วเพื่อนคนนั้นก็คือตัวเราเองนั่นแหละ
ในวันที่ปัญหามันถาโถม ความเครียดมันรุมเร้า รวมถึงครั้งที่เรามีทางเลือกให้ต้องตัดสินใจ การลาออกจากการเป็นตัวเองที่หมายถึงการเว้นระยะห่างเพื่อให้เห็นปัญหาต่างๆ ชัดเจนขึ้น ขยับไปมองสภาพแวดล้อมในมุมมองของคนอื่นเพื่อวิเคราะห์ด้วยเหตุผล ตลอดจนลดทอนการใช้อารมณ์ คงช่วยให้ปัญหาตรงหน้าถูกแก้ได้ไม่มากก็น้อย
แน่นอนว่าการเป็นตัวเองคือเรื่องที่ดี แต่บางที การมองตัวเองจากมุมของคนอื่นบ้างก็ไม่ใช่เรื่องแย่เหมือนกันนะ
อ้างอิงจาก