เราระบายกับใครสักคนได้จริงๆ เหรอ
คืนหนึ่งในฤดูหนาวที่สายลมนอกหน้าต่างยังร้อนผ่าวไม่ต่างจากหน้าร้อน ไฟในห้องปิดสนิท มีเพียงม่านหน้าต่างที่แง้มไว้เล็กน้อย เราหันมองออกไป สบตากับความเวิ้งว้างว่างเปล่า แล้วถอนใจหนึ่งเฮือกโดยไร้สาเหตุ
เราหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาดูเวลา ตัวเลขบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกทรอนิกบ่งบอกว่าตี 3 แล้ว ถ้าไม่นอนตอนนี้มีหวังไม่มีแรงทำงานในวันรุ่งขึ้นแน่ๆ แต่จนแล้วจนรอด เราก็เลือกที่จะไถหน้าจอในมือต่อไป
ทำไมกันนะ ทำไมเราถึงนอนไม่หลับ ทำไมถึงรู้สึกกระสับกระส่ายขนาดนี้ บางครั้งก็รู้สึกว่าในอกมีวัตถุประหลาดอันหนักอึ้ง มันกัดกร่อนเราอยู่ข้างในจนรู้สึกไม่อยากทำอะไรเลย
ไม่อยากทำงาน ไม่อยากลุกไปไหน ไม่อยากเล่าอะไรให้ใครฟัง จมจ่อมอยู่อย่างนั้นโดยไม่รู้ว่าวันไหนจะรู้สึกดีขึ้น
เหนื่อย เหนื่อยเหลือเกิน ลึกๆ แล้วเรารู้อยู่แก่ใจว่ามีหลากความรู้สึกและหลายปัญหาอัดแน่น มันเยอะแยะเรื้อรังราวกับไม่มีวันสิ้นสุด มันถาโถมเข้ามาไม่มีหยุดจนเราคิดว่าควรต้องระบายออกมาให้ใครสักคนฟัง
แต่ถึงอย่างนั้น ทั้งที่รอบข้างก็มีผู้คนมากมาย เรากลับรู้สึกว่าไม่สามารถเล่าสิ่งที่อยู่ในใจให้ใครฟังได้เลย
เอาเข้าจริง แค่คิดว่าจะเริ่มต้นเล่า เราก็หมดแรงแล้ว มันหมดแรงแล้วจริงๆ
สำหรับใครก็ตามที่สามารถนำประสบการณ์ส่วนตัวไปซ้อนทับกับสถานการณ์ข้างต้น ไม่แน่ว่าสิ่งที่ทุกคนเผชิญอยู่อาจจะเป็น ‘Mental Exhaustion’ หรือ ‘ภาวะเหนื่อยล้าทางจิตใจ’ โดย Healthline.com ระบุว่าคือภาวะที่มนุษย์มีความเหนื่อยล้าสะสมจากความเครียดและความกดดัน ต้องเผชิญปัญหาเดิมซ้ำๆ ที่แม้ว่าจะเผชิญแค่ครั้งละนิด แต่เมื่อพบเจอติดๆ กันเป็นระยะเวลานานก็จะนำไปสู่จิตใจที่เหนื่อยล้าในท้ายที่สุด
ความอ่อนเพลียทางกาย พักหน่อยก็คงหาย แต่ความอ่อนล้าทางใจ พักเท่าไหร่ก็อาจจะไม่พอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่เราทำงานหนักมากจนไม่เหลือเรี่ยวแรงจะเล่าให้ใครฟัง เครียดนะ แต่ยิ่งเล่าก็ยิ่งเหนื่อย กลายเป็นว่าความเครียดก็ยังคั่งค้างอยู่ที่เก่า ทั้งยังพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ จนหลายครั้งเราก็รู้สึกว่าตัวเองกำลังพังจากภายใน
ทำไมจิตใจจึงเหนื่อยล้า
ถ้าว่ากันตามหลักวิทยาศาสตร์ Mental Exhaustion เกิดขึ้นจากการที่สมองได้รับการกระตุ้นมากเกินไป หรือต้องอยู่ในสภาวะตึงเครียดโดยไม่มีช่วงเวลาพัก ซึ่งเกิดได้จากปัจจัยที่เราพบเจอในชีวิตประจำวัน เช่น
- เรียนหรือทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานานโดยไม่หยุดพัก
- ใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันไปกับความรับผิดชอบที่มากเกินพอดี
- มองข้ามความรู้สึกของตัวเอง พยายามคิดว่าไม่เป็นไรแล้วอดทนใช้ชีวิตต่อ
- มีเงื่อนไขบางอย่างที่สร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิต เช่น ป่วย ประสบอุบัติเหตุ มีปัญหาทางด้านการเงิน ความสัมพันธ์ ฯลฯ
- มีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล ฯลฯ
เพราะอะไรเราถึงไม่อยากเล่าให้ใครฟัง
ตัวเลข 03.42 น. ปรากฏตรงมุมซ้ายบนของหน้าจอ แต่เรายังคงเลื่อนดูคลิปในโซเชียลวนไปเรื่อยๆ หวังให้ความตลกของภาพเคลื่อนไหวช่วยให้ใจเบาลง
มีอยู่แวบหนึ่งที่สมองบอกเราว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องระบายสิ่งที่อัดอั้นกับใครสักคน แต่เมื่อตั้งสติได้ ความตั้งใจนั้นก็จางหายไป เหลือเพียงตัวเรากับโทรศัพท์มือถือในห้องโล่งๆ มืดๆ เช่นเดิม
ทั้งที่ไม่ได้เป็นความลับ แล้วทำไมเราถึงไม่กล้าเล่าให้คนอื่นฟังกันนะ…
- ไม่อยากรื้อฟื้น – หลายคนมองว่า แม้จะต้องกล้ำกลืนฝืนทน แต่การทนอยู่แบบนี้ก็ดีกว่าการยกปัญหาขึ้นมาเล่าใหม่ เราอุตส่าห์ฝังกลบมันไว้ได้ลึกมากแล้ว เจ็บอยู่นิดๆ นะ แต่ทนไหว เลยไม่มีประโยชน์อะไรที่จะขุดมันขึ้นมาให้เราเจ็บซ้ำเหมือนคราวนั้น ขืนต้องเจ็บใหม่มีหวังใช้ชีวิตไม่ได้กันพอดี
- เหนื่อยตั้งแต่ปูเรื่อง – ดูเผินๆ อาจคิดว่าเป็นเรื่องตลก แต่ในวันที่เรากับเพื่อนสมัยเรียนแยกย้ายกันไปเติบโตคนละที่ทาง สภาพแวดล้อมที่พบเจอย่อมแตกต่างจนเราเองก็จินตการงานที่เพื่อนทำไม่ออก เพื่อนเองก็คงนึกความเจ็บปวดที่เราพบเจอไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น รายละเอียดหลายอย่างยังต้องอาศัยความเข้าใจลึกซึ้ง เล่าย่อๆ ก็ไม่เห็นภาพ บอกคร่าวๆ ก็ตามไม่ทัน หลายครั้งเราจึงเลือกที่จะไม่พูดมันตั้งแต่ต้น กว่าจะเล่าจนจบใช้พลังงานตั้งเท่าไหร่ แถมเล่าไปก็ไม่มีอะไรการันตีว่าเพื่อนจะเข้าใจสิ่งที่เรารู้สึกจริงๆ หรือเปล่าด้วยซ้ำ
- เกรงใจ – ขนาดเราเองยังมีเรื่องหนักใจมากมายขนาดนี้ เพราะงั้นเพื่อน แฟน หรือคนในครอบครัวของเราก็คงมีความเศร้าและปัญหาของตัวเองเช่นเดียวกัน การพรรณนาความรู้สึกแง่ลบออกไปมีแต่จะทำให้พวกเขาหนักใจยิ่งกว่าเดิม เราไม่อยากเพิ่มปัญหาที่พวกเขาต่างก็มีอยู่แล้ว ปัญหาเรา เดี๋ยวเราแก้เองดีกว่า ขอไม่เป็นภาระของใคร
- เล่าไปก็ไม่มีประโยชน์ – ใช่ว่าเราไม่เคยพยายาม เราเคยลองแล้ว แต่หลายครั้งเล่าไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เราต้องการคนปลอบ แต่อีกฝ่ายกลับสั่งสอนเราแทน เราต้องการคนรับฟัง แต่แค่เอ่ยปาก อีกคนก็ชิงเล่าเรื่องของตัวเอง หรือต่อให้มีการรับฟังจริงๆ สุดท้ายเขาและเธอก็อาจจะไม่สามารถช่วยอะไรเราได้มากไปกว่ารับฟัง ปัญหาก็ยังไม่ถูกแก้
ทำแบบไหนหัวใจถึงไม่แหลกสลาย
เราลุกจากผ้าห่ม เดินแหวกความมืดไปเข้าห้องน้ำโดยหวังว่ามันจะเป็นครั้งสุดท้ายของคืนนี้ มือขวายังคงเกาะกุมอุปกรณ์สี่เหลี่ยมไว้หนักแน่น สายตายังจับจ้องไปที่ภาพเคลื่อนไหวไม่ผิดจากตลอดหลายชั่วโมงก่อนหน้า เรายังนึกไม่ออกอยู่ดีว่าจะต้องทำยังไงให้รู้สึกเหนื่อยใจลดน้อยลง…
- ยอมรับความรู้สึก – สิ่งแรกที่ควรทำคือการยอมรับความรู้สึกของตัวเอง แน่นอนว่าทุกคนต่างมีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ไม่ควรมองข้ามปัญหาและความรู้สึก ค่อยๆ ยอมรับมันอย่างตรงไปตรงมา อย่ารอให้ปัญหาสะสมจนสายเกินแก้
- กำจัดต้นตอความเครียด – ขั้นตอนนี้อาจจะยากสักเล็กน้อย นั่นคือเมื่อเรายอมรับแล้วว่าอะไรคือปัญหาที่ทำให้จิตใจเราแตกสลาย ถัดมาคือเราจะกำจัดหรือบรรเทาปัญหานี้อย่างไรได้บ้าง ถ้าเป็นเรื่องความสัมพันธ์ เราควรแก้ไขยังไง ถ้าเป็นเรื่องงาน สถานการณ์ที่เป็นอยู่พอจะดีกว่านี้ได้มั้ย เราควรทนต่อไป แล้วหาวิธีอื่นแก้เครียด หรือเราควรก้าวออกมากันแน่
- หาเวลาพัก – หากเรามีความจำเป็นให้ไม่สามารถกำจัดต้นตอความเครียดได้ อย่างน้อยที่สุด เราควรหาเวลาพักเบรกจากสิ่งที่เผชิญอยู่ เว้นวรรคสักนิด อยู่กับตัวเองสักพัก เพื่อให้ความอ่อนล้าไม่ส่งผลต่อความรู้สึกของเรามากจนเกินไป
- หาวิธีผ่อนคลาย – อาจมีอยู่หลายวิธี แต่สิ่งสำคัญคือเราอาจต้องหากิจกรรมนั้นของตัวเองให้เจอ ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ออกกำลังกาย ทำโยคะ ลองหาวิธีที่จะช่วยให้เราลืมความยุ่งยาก อย่างน้อยสัก 30-60 นาทีต่อวัน ก็ช่วยให้เบาใจขึ้นได้แล้ว
- เล่าให้ใครสักคนฟัง – แม้ลึกๆ เราจะกังวลว่าการเล่าปัญหาของเรา จะไปสร้างความหนักใจให้คนฟังเพิ่มขึ้น แต่ในความเป็นจริง การที่ต่างฝ่ายต่างแชร์ปัญหาให้อีกคนฟังอาจจะช่วยให้ทั้งคู่รู้สึกดีขึ้นก็ได้ เปลี่ยนจากความกังวลใจนั้น มาใส่ใจในจุดที่ว่า ‘คนไหน’ กันนะที่เราควรเล่าให้ฟัง เพราะการได้พูดคุยกับคนที่เข้าใจจริงๆ เคยผ่านเรื่องราวแบบนี้มาก่อน หรืออย่างน้อยใส่ใจในสิ่งที่เราพูด น่าจะช่วยปลอบประโลมเราได้ในวันที่โลกทั้งใบโหดร้ายเอามากๆ แต่ถ้าหากเราเกรงใจหรือกังวัลจริงๆ ก็สามารถลองถามความสมัครใจของเขาหรือเธอก่อนก็ได้ว่าวันนี้พร้อมพูดคุยหรือไม่ อย่าเพิ่งตั้งธงว่าอีกฝ่ายจะไม่อยากฟังเราเลย
- พบแพทย์ – การพูดคุยกับจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักจิตบำบัดน่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องความเกรงใจได้ เพราะเป็นหน้าที่ของเขาอยู่แล้วที่ต้องสอบถามอาการและความรู้สึกของเรา แถมดีไม่ดี เขาอาจจะให้ทางออกแบบที่เราคาดไม่ถึงก็เป็นได้
- เขียน Journal – ถ้าหากไม่อยากเล่าให้ใครฟังจริงๆ แม้กระทั่งจิตแพทย์ เราก็อยากเสนอให้ทุกคนลองเขียนมันออกมา หยิบปากกาและกระดาษเปล่าๆ หรือจะเปิดสมุดบันทึกในโทรศัพท์ก็แล้วแต่ จากนั้นก็ระบายความในใจทั้งหมดออกมาเป็นตัวหนังสือ เล่ามันออกมา บอกกล่าวทุกเรื่องราสที่เราหนักอึ้งในใจ หรือถ้าใครขี้เกียจจดก็พูดเอาได้เช่นกัน จริงอยู่ที่มันอาจเป็นการรื้อฟื้นความเจ็บช้ำ แต่อีกมุมหนึ่งมันอาจเป็นการรื้อฟื้นเพื่อโยนความปวดร้ายทิ้งไป การดึงมีดที่ปักร่างกายอยู่ย่อมเจ็บเสมอ แต่ถ้าไม่ดึงออก เราก็คงเย็บแผลไม่ได้เช่นกัน
เมื่อคืนก่อน เราไม่ได้นอนหลับเพราะความตั้งใจ ทว่าคงเผลอหลับไปเพราะความอ่อนล้าของดวงตาที่จ้องมองหน้าจอในที่มืดเป็นระยะเวลานาน เช้านี้ก็ยังเป็นเช่นเดิม เราอาบน้ำ แต่งตัว แล้วเร่งรีบออกไปทำงานพร้อมกับความรู้สึกที่ยังหนักอึ้งแทบไม่ต่างจากเมื่อวาน มันเกือบจะไม่ดีขึ้น แต่อย่างน้อยการได้นอนหลับหนึ่งตื่นก็ช่วยให้ปล่อยวางบางสิ่งได้ ความอ่อนล้าลดลงไปแล้วเล็กน้อย
ในที่สุด ขณะเดินทางไปทำงาน เราก็ตัดสินใจกับตัวเองได้ว่า สุดสัปดาห์นี้จะนัดเพื่อนเก่าคนนั้นไปกินข้าวเพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องราวระหว่างกัน มันอาจจะใช้เวลานาน มันอาจไม่ได้ช่วยให้ปัญหาถูกแก้ แต่ที่แน่ๆ มันจะไม่เลวร้ายกว่าที่เป็น ดังนั้น ลองดูก็คงไม่มีอะไรเสียหาย
สุดท้ายกับถ้อยคำที่เราถามตัวเองในใจว่า ‘เราระบายกับใครสักคนได้จริงๆ เหรอ’ คำตอบคือ ‘ได้’ ขอเพียงเราแข็งใจ และพูดมันออกไปอย่างซื่อตรง แม้ว่าเกินกว่าครึ่ง คนที่นั่งฟังเราอยู่จะไม่ใช่ผู้ที่สามารถแก้ปัญหาหรือช่วยให้สารพัดเรื่องราวที่เราแบกอยู่บนบ่านั้นเบาลงได้ แต่ลำพังแค่เราเล่ามันออกมาดังๆ ปล่อยมันออกมากองตรงหน้า หรืออย่างน้อยที่สุด ลองระบายมันออกมาก่อน ก็คงช่วยให้ความลุ่มร้อนข้างในเย็นลงได้ไม่น้อย
ถึงจะเหนื่อย กลัว และเกรงใจ แต่หากไม่ไหวก็อย่าลืมลองระบายมันออกมานะ…ด้วยรักและเป็นห่วง
อ้างอิงจาก