ตึกสูงทำเราป่วย?
สัปดาห์ที่แล้วหลังจากเกิดเหตุโศกนาฏกรรม มีบางประเด็นถูกยกขึ้นมา เพื่อทำความเข้าใจและป้องกันเหตุที่คนคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาทำร้ายกันอย่างไร้มนุษยธรรม หนึ่งในนั้นคือการพูดถึงบรรยากาศ หรือผลกระทบจากการใช้ชีวิตในตึกสูงอันแห้งแล้ง การอยู่ในพื้นที่ที่แม้จะดูยิ่งใหญ่ในตึกระฟ้า แต่การใช้ชีวิตในตึกสูงหรือรายล้อมไปด้วยตึกสูงเหล่านั้น ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความรู้สึกของผู้คน
ประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ของตึกสูงซึ่งกระทบต่อผู้คน เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงโดยเฉพาะ ตั้งแต่ยุคที่เกิดเมือง เกิดตึกสูง และเกิดรูปแบบชีวิตสมัยใหม่ เราใช้ชีวิตในอาคารที่สร้างขึ้น ทั้งตึกสูง สำนักงาน บ้านจัดสรร หรืออาคารอื่นๆ แต่ในยุคนั้นตึกอาคารยังไม่มีการควบคุม หรือมีแนวคิดเรื่องสุขภาวะของผู้คนมากนัก หลังจากการก่อตัวขึ้นของตึกอาคารและการใช้ชีวิตในอาคาร โดยเฉพาะช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงสงครามเย็น คนเมืองโดยเฉพาะที่อเมริกาเริ่มเกิดความเจ็บป่วยขึ้น ทางองค์กรอนามัยจึงออกแนวทางที่นิยามกลุ่มอาการเหล่านั้นว่า เป็นอาการป่วยที่เกิดขึ้นจากตึกอาคาร หรือ Sick Building Syndrome (SBS)
แม้ว่าทุกวันนี้เราจะมองเห็นความสำคัญของการออกแบบอาคาร ไปจนถึงการออกแบบเมืองที่ดี เรามีการเปิดพื้นที่สีเขียว พื้นที่ชุมชน ไปจนถึงความเข้าใจและความจำเป็นในการใช้ชีวิตแนวตั้ง แต่ประเด็นที่ยังคงสำคัญอยู่คือ ในความจำเป็นของการใช้ชีวิตในพื้นที่หนาแน่น ซึ่งอาคารสูงกลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิต การย้อนดูผลกระทบของพื้นที่แวดล้อม และพื้นที่เมืองที่มีต่อสุขภาพและผู้คน ก็อาจยังเป็นประเด็นความเข้าใจสำคัญ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตและสภาพจิตใจของผู้คนต่อไป
อาคารป่วย คนป่วย
โรคตึกเป็นพิษ หรือ Sick Building Syndrome เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นกับผู้คน โดยเชื่อมโยงความเจ็บป่วยเหล่านั้นเข้ากับการใช้ชีวิตอยู่ในตึกสูง ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงานหรือบ้านพักอาศัย แต่ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ตึกเป็นพิษจนคนป่วยด้วยนี้ เป็นคำอธิบายทางสุขภาพในช่วงทศวรรษ 1970-1980s ยุคที่เมืองเริ่มเติบโตขึ้น เกิดตึกออฟฟิศ ไปจนถึงพวกบ้านจัดสรร และกลุ่มอาคารใหม่ๆ ซึ่งกลุ่มอาการนี้ค่อนข้างอธิบายอย่างจริงจัง ผ่านรายงานและข้อกำหนดอย่างเป็นทางการจากองค์การอนามัยโลก (WHO) แต่ภายหลังการนิยามก็ค่อยๆ กลายเป็นนิยามกลางๆ คืออาการป่วยที่เกิดขึ้นจากอาคาร หรือ Building-Related Symptoms
เมื่อย้อนกลับไปยังยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงนี้เองเมืองใหญ่ต่างๆ ของโลกเริ่มเติบโตขึ้น โลกทุนนิยมเริ่มเฟื่องฟู เราเกิดพื้นที่อุตสาหกรรม เกิดชุมชนเมือง และที่สำคัญคือเกิดอาคารสูงขึ้น เป็นอาคารสำนักงาน ออฟฟิศ เป็นย่านการค้า และย่านการเงิน ประเด็นหลักของโรคตึกเป็นพิษเกิดขึ้นจากภาวะเมือง โดยเมืองในยุคแรกมีปัญหาเรื่องสุขอนามัย ตึกสูงในยุคนั้นจึงไม่มีแนวคิดเรื่องสุขภาวะ อาจจะมีหน้าต่างไม่เพียงพอ ไม่มีแสงสว่าง ไปจนถึงไม่มีสุขาภิบาลที่เพียงพอเหมาะสม ประกอบกับการเกิดขึ้นของวัสดุก่อสร้าง อาจเกี่ยวข้องกับสารเคมีที่มาพร้อมการสร้างอาคารนั้นๆ เมื่อรวมกันแล้ว จึงเกิดกลุ่มอาการบางอย่างระบาดขึ้นในหมู่คนเมืองและคนที่ใช้ชีวิตในตึกอาคาร ซึ่งออกแบบและก่อสร้างในยุคหลังสงคราม
คำว่า Sick Building Syndrome เป็นนิยามที่ค่อนข้างกว้าง แค่กลุ่มอาการก็กว้างมากๆ ตั้งแต่ปวดหัว ปวดตา ปวดจมูก ระคายคอ อ่อนเพลีย เวียนหัว และคลื่นไส้ ไปจนถึงอาการอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างการปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และอื่นๆ สารพัด แนวคิดเรื่องนี้ในระยะต่อมา จึงค่อนข้างนิยามเชื่อมโยงกับประเด็นเรื่องคุณภาพอากาศ ในยุคนั้นความเจ็บป่วยมักจะเกี่ยวข้องกับระบบการระบายอากาศที่ไม่ดี พรมปูพื้น น้ำยาทำความสะอาด หรือคาร์บอนจากการให้ความร้อน ไปจนถึงการสะสมอินทรียวัตถุต่างๆ เช่น เชื้อรา แบคทีเรีย เกสรดอกไม้ ฯลฯ เป็นแนวทางที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การปรับปรุงและการเกิดแนวคิดการออกแบบอาคาร ที่คำนึงถึงสุขภาวะของผู้อยู่อาศัยมากขึ้น
สำหรับคอนเซ็ปต์เรื่องตึกเป็นพิษจนคนป่วย กลุ่มอาการเหล่านี้มีความซับซ้อนและสัมพันธ์ทั้งกับคุณภาพชีวิต รวมถึงตัวธุรกิจการงานด้วย อย่างแรกคือบางครั้งอาการเจ็บป่วยของผู้คนที่เกิดจากการอยู่อาศัยในตึกสูง อาจสัมพันธ์กับปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่การระบายอากาศ แต่อาจเกี่ยวข้องกับภาวะอื่น เช่น ความเครียดในการใช้ชีวิตในตึกอาคาร ไปจนถึงความเครียดอื่นๆ ที่เกิดจากชีวิตในเมือง และการใช้ชีวิตร่วมสมัย ซึ่งผลคืออาการป่วยที่อาจมาจากสภาพแวดล้อมของการทำงาน สามารถวนย้อนกลับไปบั่นทอนคุณภาพและประสิทธิภาพการทำงานได้
ในยุคที่อาการป่วยจากตึกสูง เป็นกลุ่มอาการที่ค่อนข้างสำคัญ จึงมีหลายสัญญาณเพื่อดูแลคนป่วยที่มีอาการเพราะตึกอาคารจริงๆ เช่น เมื่อได้ออกจากตึกหรือเขตเมืองสักพักหนึ่ง อาการก็จะดีขึ้น ความตื่นตัวและการวินิจฉัยอาการนี้ในช่วงนั้น ก็นำไปสู่กฎหมายอาคาร สู่ข้อบังคับและการตรวจสอบต่างๆ โดยเฉพาะระบบระบายอากาศและผลกระทบของวัสดุก่อสร้างอาคาร เช่น รายงานจากองค์การอนามัยโลกในปี 1984 ที่หนาเกือบ 500 หน้า ถือกันว่าเป็นรากฐานหนึ่งของกฎหมายเกี่ยวกับอาคาร
ตึกสูงกับอาการป่วยของจิตใจ
จากทศวรรษ 1980 ตึกอาคารรวมถึงเมืองโดยรวม เริ่มปรับไปสู่การเป็นพื้นที่ทางกายภาพ ซึ่งไม่ทำร้ายสุขภาพกายของผู้คน เรามีข้อกำหนดการระบายอากาศ แสงสว่าง ไปจนถึงพื้นที่สีเขียว และสาธารณูปโภคด้านความปลอดภัยในกรณีฉุกเฉินต่างๆ แต่เมืองที่เต็มไปด้วยตึกสูงก็ยังอยู่ในข้อสงสัยว่า ตึกสูงอาจส่งผลต่อผู้คน โดยเฉพาะต่อสุขภาพใจ
การใช้ชีวิตในเขตเมือง การใช้ชีวิตในตึกสูง และการใช้ในพื้นที่อันหนาแน่น เป็นเรื่องจำเป็น แม้บางครั้งจะเป็นความสะดวกสบายก็ตาม แต่ก็มีงานศึกษาจำนวนหนึ่งอ้างอิงความตึงเครียด และความเจ็บป่วยของจิตใจคนเมือง เข้ากับการใช้ชีวิตท่ามกลางตึกสูง โดยงานศึกษาในปี 2010 จากอัมสเตอร์ดัม เปรียบเทียบภาวะเจ็บป่วยทางจิตใจระหว่างพื้นที่ชนบทกับพื้นที่เมือง พบว่า
คนเมืองมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนชนบทถึง 40%
และรวมไปถึงความเสี่ยงต่อภาวะทางจิตใจอื่นๆ ที่สูงกว่าด้วย
ผลกระทบต่อสุขภาพจิตจากการใช้ชีวิตท่ามกลางตึกสูง ยังคงมีนักวิจัยซึ่งทำการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปี 2016 มีรายงานเกี่ยวกับการออกแบบเมืองชี้ให้เห็นว่า ผู้พักอาศัยที่อยู่ในย่านที่เต็มไปด้วยตึกสูงมากๆ มีแนวโน้มว่าจะมีความเครียด ไปจนถึงมีปัญหาทางจิตใจสูง
ในราวปี 2017 โคลิน เอลลาร์ด (Colin Ellard) ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาการรับรู้ (Cognitive Neuroscientist) ก็ได้บอกว่าตัวเขารู้สึกมืดมนเมื่อต้องเดินผ่านตึกสูง เขาจึงทำการทดลองด้วยการให้ผู้คนสวมใส่อุปกรณ์เฉพาะ และให้เดินผ่านพื้นที่เมืองรูปแบบต่างๆ ผลลัพธ์พบว่า การอยู่รายล้อมด้วยตึกสูง ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกในเชิงลบ รวมถึงยังพบว่าผลกระทบนี้ค่อนข้างมีนัยสำคัญ
สุดท้ายด้วยความที่เมืองเองเป็นเงื่อนไขหลักต่อการใช้ชีวิต การสร้างและใช้ชีวิตในอาคารสูง จึงเป็นลักษณะของการใช้ชีวิตและการใช้ที่ดินที่สำคัญ ทว่าความเข้าใจเรื่องผลกระทบต่อผู้คน เมืองที่ดีต่อสุขภาพกายและใจของผู้คนย่อมต้องเป็นเงื่อนไขที่สำคัญ ดังนั้นประเด็นการพัฒนาพื้นที่เมืองที่จะช่วยลดปัญหาด้านจิตใจ ต้องเปิดพื้นที่ชุมชน มีพื้นที่ที่เชื่อมโยงผู้คนอย่างมีประสิทธิภาพ มีพื้นผิวดิน ต้นไม้ใบหญ้า ไปจนถึงผลกระทบในภาพใหญ่ เช่น นโยบายเรื่องความสูงของอาคาร การควบคุมในระดับ Mid Rise ในฐานะทางเลือก หรือกระทั่งการกระจายความหนาแน่นของเมืองออกไปด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เมืองและผู้พัฒนา เช่น อสังหาริมทรัพย์ จะสามารถตอบสนองต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนได้ เพราะสุดท้ายแล้ว เมืองที่แห้งแล้งก็อาจส่งผลเสียย้อนกลับไปสู่ภาพรวม ส่งผลต่อความเป็นอยู่ ต่อภาคธุรกิจ และต่อเมืองเหล่านั้นในท้ายที่สุด
อ้างอิงจาก