คนเรามักจะกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ เช่นเดียวการทำงาน
เมื่อเริ่มงานที่ใหม่ อะไรๆ ก็ดูแปลกตาไปหมด ทั้งเพื่อนร่วมงานที่ไม่คุ้นเคย หรือระบบการทำงานที่ต่างไปจากเดิม สิ่งที่เราอยากได้จากช่วงเวลานี้มากที่สุด คงจะเป็นใครสักคนที่คอยช่วยชี้แนะ เพื่อให้คุ้นชินกับระบบงานก่อนเริ่มสักหน่อย หรือพอได้เวลาปรับตัวเล็กน้อยให้มีความมั่นใจก่อนลุยงานยากๆ
หากในความเป็นจริงกลับไม่เป็นอย่างนั้น หลายครั้งเรามักถูกผลักให้ออกไปเรียนรู้หน้างาน และลองผิดลองถูกตั้งแต่วันแรก ไม่ใช่ว่าอยากลุยเดี่ยว หรือว่าขี้เกียจเรียนรู้ แต่เพราะไม่มีใครว่างสอนงานนี่สิ ถามพี่คนนี้ก็ยุ่ง พี่คนโน้นก็บอกให้ไปศึกษาเอง พอผิดขึ้นมาก็โดนตำหนิยกใหญ่ จนเวลาผ่านไปหลายเดือน นอกจากจะปรับตัวไม่ได้อย่างที่หวังแล้ว ความรู้สึกกดดันและไม่มั่นใจว่าตัวเองเหมาะกับงานนี้ ยังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย
แม้จะเป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่วิธีนี้เวิร์กสำหรับพนักงานใหม่แค่ไหนนะ?
ไม่รอดก็จม วิธีเรียนรู้งานสำหรับผู้แข็งแกร่ง?
เคยได้ยินการสอนว่ายน้ำสุดคลาสสิก อย่างการผลักคนลงไปในน้ำแม้จะว่ายน้ำไม่เป็นหรือเปล่า วิธีนี้เรียกว่า ไม่รอดก็จม หรือ Sink or Swim ซึ่งเป็นวิธีที่ให้เราใช้สัญชาตญาณการเอาตัวรอดขั้นสุด เพราะในสถานการณ์นั้นมีแค่ 2 ทางเลือก นั่นคือ ถ้าไม่ว่ายน้ำได้ก็จะจมน้ำ เราจึงทำทุกวิถีทางให้ตัวเองมีชีวิตรอด ทั้งออกแรงถีบ ตีขา หรือเหวี่ยงแขนสุดชีวิต
บทเรียนนี้ไม่ได้ถูกใช้สำหรับการว่ายน้ำอย่างเดียว แต่ยังถูกนำมาใช้กับวัฒนธรรมการทำงานด้วย วิธีนี้หมายถึง การปล่อยให้พนักงานใหม่หาทางเอาตัวรอดด้วยตัวเอง โดยให้ความช่วยเหลือน้อยที่สุด ไม่มีพี่เลี้ยง ไม่มีโปรแกรมฝึกอบรม หากแข็งแกร่งพอก็อยู่รอดต่อไป แต่ถ้าไม่ ก็แค่รอพนักงานคนนั้นลาออกแล้วหาคนใหม่มาแทน ซึ่งเป็นเหมือนการคัดเลือกผู้แข็งแกร่งที่จะอยู่รอดในบริษัทแบบนี้ได้
แล้ววิธีนี้เป็นการเรียนรู้ที่ดีจริงหรือเปล่า? จากการสำรวจความต้องการของพนักงานรุ่นใหม่ โดย Adobe เมื่อปี 2023 พบว่า ชาวเจน Z ส่วนใหญ่ (83%) มองว่าการมีพี่เลี้ยงในที่ทำงานเป็นสิ่งสำคัญ แต่มีเพียงครึ่งหนึ่งของพวกเขาเท่านั้นที่มีพี่เลี้ยงคอยสอนงานจริงๆ
และไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่เท่านั้นที่ต้องการพี่เลี้ยง หรือโปรแกรมฝึกอบรม แต่ปัญหานี้ยังเกิดกับคนทำงานหลายๆ คน จากการสำรวจของ Gallup เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมกับงาน พบว่า พนักงานอเมริกันเกินครึ่งไม่รู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมกับงาน หรือไม่รู้สึกว่างานที่ทำอยู่จะทำให้ตัวเองเติบโต หรือได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นเรื่องยุ่งยาก หรือบางคนอาจมองว่าเป็นการเพิ่มขั้นตอนการทำงานมากขึ้น แต่การสอนงานพนักงานใหม่นั้นเป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากไม่มีการสอนงาน ผลที่ตามมาอาจสร้างความเสียหายทั้งองค์กรและคนทำงานมากกว่าที่คิด
เรื่องนี้ The training associates บริษัทฝึกอบรมพนักงาน อธิบายว่า สำหรับบริษัทที่ไม่มีโปรแกรมฝึกอบรม หรือการสอนงานพนักงานที่ดี อาจต้องเจอกับปัญหาการลาออกและไม่สามารถดึงดูดพนักงานเก่งๆ ไว้ได้ เพราะวัฒนธรรมการทำงานแบบนี้มักไม่มีพื้นที่ปลอดภัยในการตั้งคำถาม หรือขอความช่วยเหลือ จนพนักงานอาจมองว่าตัวเองไร้ความสามารถ ซึ่งนอกจากจะทำลายความมั่นใจของพวกเขาแล้ว ยังทำให้หลายคนไม่อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วย และเมื่อไม่มีทักษะหรือเครื่องมือการทำงานที่พร้อมสำหรับการทำงาน พนักงานเหล่านี้ก็จะรู้สึกกังวล ขาดแรงจูงใจ และปรับตัวไม่ทันคู่แข่งในตลาด จนนำไปสู่การลาออกในที่สุด
ในขณะที่ผลสำรวจจาก Gallup ปี 2019 พบว่า องค์กรที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตของพนักงานแต่ละคน และลงทุนกับการพัฒนาบุคลากร จะมีกำไรสูงขึ้นถึง 11% รวมถึงมีโอกาสรักษาพนักงานไว้ได้มากกว่าปกติถึง 2 เท่า เหตุผลนั้นเป็นเพราะคนเก่งมักอยากพัฒนาตัวเอง หรือหากมองให้ลึกลงไปในทางจิตวิทยาอาจเห็นได้ว่า มนุษย์ทุกคนต่างต้องการเรียนรู้และเติบโต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการมีสุขภาวะที่ดี อย่างการมีความเป็นอยู่ที่ดี รู้สึกมีคุณค่าในสิ่งที่ทำ แถมยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นๆ ด้วย
ดังนั้น วัฒนธรรมการทำงานแบบให้พนักงานเรียนรู้เอาเองหน้างาน จึงอาจไม่ใช่วิธีที่เวิร์กเสมอไป เพราะอาจทำให้เราเอาแต่มองหาวิธีเอาตัวรอดในขณะนั้นๆ จนหลงลืมเป้าหมายของการทำงานที่แท้จริงได้
รับมืออย่างไรในวันที่ไม่มีใครสอนงาน
ทั้งที่การมีพี่เลี้ยงช่วยสอนงานเป็นวิธีเรียนรู้ที่ดีกว่าตามผลสำรวจที่กล่าวไป แต่ทำไมหลายบริษัทจึงเลือก Sink or Swim อยู่นะ?
Business insider สื่อด้านธุรกิจ อธิบายต่อเรื่องนี้ว่า ที่หลายบริษัทยังเลือกวิธีนี้มาจากหลายสาเหตุหลายประการ เช่น กระแสการย้ายงานช่วงโควิด-19 อาจทำให้องค์ความรู้ในบริษัทหายไป จนไม่สามารถถ่ายทอดต่อคนใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง แถมรูปแบบการทำงานแบบใหม่ อย่างการทำงานทางไกล (remote work) หรือ work from home ก็ยิ่งทำให้การสอนงานยากขึ้น หรือบางทีอาจเป็นที่ตัวหัวหน้าเองขาดแรงจูงใจในการชี้แนะ เพราะอาจส่งผลต่อการประเมินงานของตัวเอง จึงเลือกจบงานที่ตัวเอง
ไม่ใช่แค่นั้น แต่เหตุผลใหญ่อีกข้อสำคัญนั่นคือ เรื่องเงิน งบประมาณส่วนฝึกอบรมมักเป็นเงินก้อนแรกๆ ที่จะถูกตัดทิ้งเพื่อลดค่าใช้จ่าย เพราะหลายบริษัทมองว่า ตนสามารถจ้างคนที่มีทักษะพร้อมใช้งานจากที่ไหนก็ได้ และการทำแบบนั้นเป็นวิธีที่ง่ายกว่าการจะฝึกคนให้เก่งขึ้น ซึ่งต้องเสียทั้งเงินและเวลา สุดท้ายปัญหาเหล่านี้จึงยังคงสร้างความลำบากใจให้เด็กใหม่ที่เพิ่งก้าวเข้ามาทำงาน
แน่นอนว่านี่เป็นเรื่องที่บริษัทต้องให้ความสำคัญ และหันมาใส่ใจพนักงานมากขึ้น แต่เราในฐานะพนักงานตัวน้อยที่ยังมีข้อจำกัดว่าต้องทำงานที่นี่อยู่ จะพอมีวิธีไหนช่วยรับมือได้บ้าง?
- ถ้าไม่มีหัวหน้าที่ดี ลองมองหาคนสอนงานจากที่อื่น — ไม่ว่าใครก็อยากมีคนคอยช่วยให้คำแนะนำ หากไม่มีพี่เลี้ยงคอยชี้แนะอย่างจริงจัง เราอาจลองผูกมิตรกับเพื่อนร่วมงาน หรือคนที่มีประสบการณ์ที่เข้าหาได้ เช่น ขอคำแนะนำจากรุ่นพี่ที่รู้จัก หรือคนในแผนกใกล้เคียง และอย่าลืมจดสิ่งที่ได้เรียนรู้เอาไว้ จะได้ไม่ต้องถามคำถามเดิมบ่อยๆ เพราะอาจไม่มีใครว่างพอจะตอบคำถามเราได้ทุกครั้งนี่นา
- ถ้าไม่รู้ ต้องกล้าถาม — เป็นธรรมดาที่ช่วงเริ่มทำงานจะมีคำถามเต็มไปหมด แต่เมื่อมองไปหาเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้า พวกเขาก็มักดูยุ่งตลอดเวลาจนไม่กล้าถาม เพราะกลัวรบกวนคนอื่นๆ แต่อย่าลืมว่าเราไม่ได้ทำงานคนเดียว ทีมเองก็มีหน้าที่ที่ควรช่วยให้เราทำงานได้เช่นกัน ดังนั้นหากมีส่วนที่ไม่เข้าใจอย่ากลัวที่จะถาม และลองเลือกคำถามแบบเฉพาะเจาะจง แทนที่จะเป็นคำถามกว้างๆ เช่น หากจะถามว่า “ต้องทำอะไรบ้าง” อาจลองเปลี่ยนเป็น “พอดีกำลังจะเตรียมข้อมูลให้ลูกค้า แต่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับรูปแบบการนำเสนอเท่าไหร่ พอจะมีตัวอย่างบ้างไหม” เพื่อให้อีกฝ่ายตอบเราได้ตรงประเด็น และทำให้เราทำงานง่ายขึ้นได้
- ลองลงมือทำแม้ยังไม่มั่นใจเต็มร้อย — เป็นปกติที่เราจะรู้สึกไม่มั่นใจและทำผิดพลาดในช่วงแรก แต่การได้ลองทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย (แต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่เรารับผิดชอบไหวด้วยนะ) ตั้งเป้าหมายว่าเรียนรู้งานให้ได้ และเดินหน้าต่ออย่างมั่นใจ อาจทำให้เราพอจะผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้ แม้ในวัฒนธรรมการทำงานแบบนี้จะทำให้เรารู้สึกท้อแท้ก็ตาม
สุดท้ายนี้ หากการเรียนรู้ด้วยตัวเองไม่เหมาะกับตัวเรา บางทีอาจถึงเวลาที่เราจะมองหาวิธีการเรียนรู้อื่นๆ ที่ไม่ทำให้รู้สึกแย่กับตัวเองก็ได้นะ
อ้างอิงจาก