ช่วงนี้มีประเด็นว่า เรามักจะตกหลุมรักคนที่มีอารมณ์ขันดี พูดโดยรวมคือการคลิกกันเชิงอารมณ์ขัน ในช่วงเวลาการจีบกัน เรารู้สึกว่าคนนี้เป็นคนตลกดี เราหัวเราะไปด้วยกันได้ หัวเราะด้วยกันแป๊บเดียวก็รู้สึกดีซะแล้ว ในทางกลับกันก็มีการพูดกันว่า บางคนอาจจะดีครบทุกอย่าง แต่เป็นคนไม่มีอารมณ์ขัน หรือความตลกไม่เข้ากัน สุดท้ายแล้วความสัมพันธ์เลยไม่ได้ไปต่ออย่างน่าเสียดาย
ทีนี้ความตลกและเสียงหัวเราะที่เกิดขึ้น ถ้าเราพูดถึงแค่ในระยะการเดตก่อน อารมณ์ขันมีความสำคัญแค่ไหน และในการศึกษาต่อจังหวะที่เราพยายามเริ่มและถักสานความสัมพันธ์ ความตลกและเสียงหัวเราะมีความสำคัญยังไง ทำไมเราถึงมองหาหรือได้รับอิทธิพลจากเสียงหัวเราะของเรา เรามองเห็นหรือมองหาอะไรภายใต้ความตลกและการเล่นมุก และในทางตรงกันข้าม การเล่นมุกนั้นเป็นกลยุทธ์ที่ถูกใช้เพื่อเอาชนะใจคนที่เพิ่งรู้จักกันยังไง
บทความนี้จึงเป็นบทสำรวจ และเป็นแนวทางคร่าวๆ เพราะอารมณ์ขันเองมีมิติหลากหลาย มีความรู้สึกคลิกกัน มีนัยลึกซึ้งบางอย่าง และที่สำคัญคือมีงานศึกษาที่พูดถึงความสัมพันธ์ของรักต่างเพศในการจีบกันเป็นหลักว่า ผู้ชายมักใช้อารมณ์ขันเป็นกลยุทธ์ โดยการคลิกกันและการตกหลุมรักก็อาจจะสะท้อนคุณสมบัติที่เรามองหา ซึ่งอยู่ในจังหวะและการมีอารมณ์ขันที่ตรงกัน
ทำไมเรามองหาอารมณ์ขันในความสัมพันธ์?
ประเด็นเรื่องอารมณ์ขันในการเดต จริงๆ แล้วมีฐานความคิดที่เราเองก็อาจจะสัมผัสได้แม้แต่ในบริบทแบบไทยๆ คือส่วนใหญ่คนที่เป็นฝ่ายจีบมักเป็นฝ่ายชาย และถ้าฝ่ายหญิงชื่นชอบหรือคลิกกับอารมณ์ขันนั้นๆ ก็จะถือว่าเป็นการคลิกกันที่ค่อนข้างทำนายได้ว่า ความสัมพันธ์หรือเคมีของทั้งคู่น่าจะเข้ากันได้ ซึ่งประตูด่านแรกเมื่อเปิดออก คือการเล่นมุกแล้วตลก และการได้เจอคนที่ตลกไปกับมุกของเรา จึงเป็นเหมือนการคลิกที่น่าดีใจมากอย่างหนึ่ง
ในเรื่องนี้มีนักวิจัยด้านการสื่อสารชื่อ เจฟฟรีย์ ฮอลล์ (Jeffrey Hall) ที่สนใจเรื่องอารมณ์ขันกับความสัมพันธ์มาก สิ่งหนึ่งที่ชี้ให้เห็นจากการศึกษาคือ ในการเดต ถ้าผู้ชายเล่นมุกบ่อยขึ้นเท่าไร และผู้หญิงรู้สึกตลกตามไปกับอารมณ์ขันนั้น แนวโน้มการหัวเราะไปด้วยกันของฝ่ายหญิง จะสัมพันธ์กับความสนใจในตัวฝ่ายชายที่มากขึ้น โดยจะผกผันไปตามเสียงหัวเราะที่เพิ่มขึ้น
ทีนี้งานวิจัยของฮอลล์ยังน่าสนใจมาก เพราะมีการศึกษาหลายครั้งและมีหลายงานวิจัย ซึ่งเงื่อนไขพื้นฐานหนึ่งคือเราเชื่อว่า อารมณ์ขันสัมพันธ์กับสติปัญญา เป็นสัญญาณของความฉลาด แต่ในงานศึกษานี้กลับพบว่า อารมณ์ขันอาจเชื่อมโยงกับความเป็นเอ็กโทรเวิร์ด (Extrovert) หรือการเข้ากับคนง่ายเป็นหลัก คือไม่เชิงว่าสร้างความตลกเก่งแล้วจะสัมพันธ์กับตัวชี้วัดด้านความเฉลียวฉลาดโดยตรง
อ่านการเดตจากเสียงหัวเราะ
ประเด็นเรื่องเพศและอารมณ์ขันในฐานะกลยุทธ์ของการเดต ก็ค่อนข้างมีปัจจัยที่สำคัญมาก ซึ่งงานวิจัยให้ภาพบทบาทของเสียงหัวเราะที่อาจช่วยชี้วัด และชี้ให้เห็นกลยุทธ์การสานสัมพันธ์ในการเดตได้ โดยในงานทดลอง ฮอลล์ให้นักศึกษาจำนวน 51 คู่ ลองพูดคุยกัน 10 นาทีแล้วตอบแบบสอบถาม ซึ่งผลการศึกษาค่อนข้างเป็นไปในทางเดียวกัน คือการใช้อารมณ์ขันโดยผู้ชาย และเราพอจะอ่านอารมณ์ขันเหล่านั้นได้จากการตอบสนองด้วยการหัวเราะของฝ่ายหญิง
ผลอย่างแรกคือทั้ง 2 เพศมีการใช้อารมณ์ขันเท่าๆ กัน แต่อารมณ์ขันอ่านผลได้จากฝ่ายชายมากกว่า นั่นหมายความว่าถ้าผู้ชายเล่นมุกเยอะๆ และสาวหัวเราะไปกับมุกที่ปล่อยออกมามาก หรือถ้าหนุ่มคนไหนไปเดตกับสาว และลองปล่อยมุกตลกออกมาแล้วอีกฝ่ายขำกระจาย นั่นแปลว่ายิ่งอีกฝ่ายหัวเราะมาก ก็ยิ่งมีแนวโน้มว่าอีกฝ่ายจะมีใจในเชิงโรแมนติก แต่ลักษณะนี้ดันไม่มีผลในทางกลับกัน คือแม้ผู้ชายจะหัวเราะไปกับมุกของฝ่ายหญิง แต่ความรู้สึกตลกนั้นไม่ได้สัมพันธ์กับความรู้สึกโรแมนติกแต่อย่างใด
ทว่าในภาพรวมของงานศึกษายังรายงานว่า หากการเดตนั้นมีเสียงหัวเราะที่มาจากคนทั้ง 2 ฝ่าย หรือการหัวเราะไปด้วยกันเรื่อยๆ ก็ค่อนข้างชี้ไปในทิศทางว่า ความสัมพันธ์ของคู่นั้นอาจมีโอกาสประสบความสำเร็จ เพราะมีความสนใจซึ่งกันและกันทั้งคู่
สำหรับงานศึกษาของฮอลล์ นักวิจัยยังให้ข้อสรุปเรื่องอารมณ์ขันและการสานสัมพันธ์ไว้อย่างน่าสนใจ เช่น ความตลกถือเป็นกลยุทธ์ที่ค่อนข้างโจ่งแจ้งของฝ่ายชาย เป็นวิธีที่ผู้ชายพยายามทำให้ฝ่ายหญิงเผยไต๋บางอย่างในความสัมพันธ์นั้นๆ และอีกด้านแม้ว่าความตลกจะไม่ได้ยึดโยงกับความเฉลียวฉลาดโดยตรง แต่อารมณ์ขันอาจเชื่อมโยงและสัมพันธ์กับคุณลักษณะเชิงสังคม นั่นคือการเล่นมุกไปกับคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพอาจทำให้เราเป็นคนที่น่าคบหา
นอกจากนี้การเล่นมุกแล้วสาวเจ้าหัวเราะตาม จริงๆ ฟังดูอาจเป็นเรื่องในนิยาย เป็นภาพจำในละครที่เราเห็นๆ กัน แต่ฮอลล์เองก็ชี้ให้เห็นว่า บทบาทต่อเนื่องเหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่การเล่นไปตามบท แต่กลับมีพลังต่อความคิดความอ่านของเราอย่างเป็นรูปธรรมด้วย ภาพที่เราเล่นมุกแล้วผู้หญิงหัวเราะ สุดท้ายพวกจังหวะสต๊อกที่เหมือนในหนังโรแมนติกคอเมดี้ หรือในนิยายรัก ภาพจำเหล่านี้อาจพาเราให้ก้าวไปตามจังหวะความสัมพันธ์ได้อย่างจริงจัง
จากการศึกษาของฮอลล์ ซึ่งเป็นงานศึกษาจากก่อนปี 2015 สู่งานวิจัยที่สนใจอารมณ์ขันกับการเดตล่าสุดในปี 2023 โดยเป็นกลุ่มการศึกษาที่ค่อนข้างให้บริบทใหม่ๆ เช่น การศึกษาจากลักษณะการเดตออนไลน์ การโพสต์อะไรที่ขบขัน ซึ่งในงานศึกษาและทดลองหลายๆ ชุดนี้พบว่า ผลลัพธ์อย่างหนึ่งคือ การเชื่อมโยงอารมณ์ขันเข้ากับความฉลาดในแง่ความคิดสร้างสรรค์ มีความน่าสนใจ เพราะนัยของความตลกขำขันนี้ชี้วัดได้ว่า เออ ถ้าคนนี้ทำให้เราตลกได้ แปลว่าเขามีความครีเอทีฟ ซึ่งเราจะโยงเข้ากับทักษะในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
สุดท้ายงานศึกษานี้ยังค่อนข้างศึกษาตัวอารมณ์ขันในตัวของมันเอง ด้วยการอธิบายแค่สิ่งที่เรารู้สึกคลิก หรือความพยายามเล่นมุกแล้วได้ผล บางส่วนของการหัวเราะไปด้วยกันและการตอบสนองนี้ อาจจะพอทำให้เรามีกำลังใจในความสัมพันธ์นั้นๆ หรืออาจพอจะมีความหวังในระยะยาวได้ แต่สิ่งที่งานวิจัยชี้ให้เห็นคือการพยายามทำความเข้าใจว่า ด้วยตัวอารมณ์ขันเองก็มีรายละเอียดปลีกย่อย มีการคลิกไม่คลิก มีความชอบ มีความเป็นธรรมชาติ หรือมีความพยายามที่มีอารมณ์ขันเป็นองค์ประกอบ และสำหรับหลายคน สิ่งนี้ก็เป็นเงื่อนไขอันดับต้นๆ ในการตกหลุมรัก
ดังนั้นการขำขัน หรือการเป็นคนตลกในความสัมพันธ์เอง ก็มีเงื่อนไขอีกมากมาย บางทีการที่เราอยู่กับใครสักคนไปเรื่อยๆ เสพสิ่งที่เป็นไปในทางเดียวกัน ดูยูทูบ ดูหนังไปพร้อมๆ กัน หรือเจอเรื่องราวตึงเครียดเหมือนกัน ตรงนี้เองที่เราอาจจะได้พัฒนาอารมณ์ขันร่วมกัน เพื่อรับมือสิ่งต่างๆ หรือซึมซับสิ่งต่างๆ จากการใช้ชีวิตและใช้เวลาร่วมกัน
หรือถ้าเราจะไม่มองโลกในแง่ดีเท่าไร การที่เราเป็นคนตลก และอีกฝ่ายไม่ตลกด้วย หรือเล่นมุกแล้วไม่โดนใจอีกฝ่าย ทั้งหมดก็อาจจะบ่งชี้ว่า เรื่องอื่นๆ ของเราอาจจะไม่ได้คลิกกันจริงๆ เพราะตัวอารมณ์ขันอาจเป็นสัญญาณที่เป็นรูปธรรม และจับได้ชัดเจนมากหน่อยอย่างหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้ก็อาจต้องว่ากันไป
อ้างอิงจาก