คนตลกแบบเรายิงมุกได้ตั้งแต่ปาร์ตี้ยันที่ทำงาน ตลกในชีวิตประจำวันน่ะไม่มีปัญหาอะไรหรอก ทว่าตลกในที่ทำงานนี่สิ ตอนคุยเล่นก็สนุกดี พอจริงจังขึ้นมาทีเพื่อนกลับไม่จริงจังด้วย ยังคิดว่าเราพูดเล่นอยู่บ้าง ยังอยากจะแหย่ไม่ให้เราซีเรียสบ้าง แต่นี่เวลางานใครกันจะตลกได้ตลาด แฮ่ ตลกได้ตลอด! ถ้าคนติดตลกอยากพูดอะไรจริงจัง แต่ไม่มีใครฟัง ต้องทำยังไงดีนะ?
พอเป็นคนตลก เวลามีช่องให้เล่นก็ไม่อยากเว้นให้มันว่าง หยอดไปก่อนพอได้ยิ้มมุมปากก็ยังดี จนเราแทบจะมีอาชีพเสริมเป็นหน่วยสร้างความบันเทิงให้เพื่อนร่วมงานอยู่แล้ว เลยทำให้ภาพลักษณ์ดูเป็นคนอารมณ์ดี ยิ้มง่าย ไม่ถือโทษโกรธใคร ดูเป็นคนไม่หยิบเรื่องไหนมาคิดจริงจัง จนหลายครั้งก็ถูกมองข้ามความรู้สึกไป
“งานนี้มันด่วนจริงๆ ช่วยกันหน่อยนะ เดี๋ยวเลี้ยงกาแฟ”
“อันนี้พูดจริงหรือพูดเล่น”
ในความเป็นจริงเราคงไม่สามารถตลกได้ตลอดเวลา เพราะยังมีโหมดจริงจังที่อยากให้ทุกคนรับฟังด้วย แต่ด้วยความเป็นคนอารมณ์ดีเลยทำให้หลายคนคิดว่า เราติดเล่น ไม่จริงจัง จนเลือกที่จะลดความเกรงใจ หรือมองข้ามความรู้สึกของเราไป แบบนี้แล้วเราต้องเลิกเป็นคนตลกไปเลยหรือเปล่า ถึงจะนับว่าเราเป็นคนจริงจังได้สักที?
คนตลกอย่าเพิ่งท้อ เพราะความตลกของเราไม่ได้มีแต่ข้อเสียเพียงอย่างเดียว แต่ออกจะมีข้อดีเยอะแยะอีกต่างหาก โดยผลสำรวจจาก Robert Half International บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล บอกว่า 91% ของเหล่าผู้บริหารเชื่อว่าอารมณ์ขันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความก้าวหน้าในอาชีพการงาน 84% คือพวกเขารู้สึกว่าคนที่มีอารมณ์ขันทำงานได้ดีกว่า หรือแม้แต่หัวหน้าที่หลายคนมองว่าต้องมาดเข้มเต็มร้อย แต่หากเป็นหัวหน้าที่มีอารมณ์ขันจะถูกมองว่าเป็นคนสร้างแรงบันดาลใจ และน่าชื่นชมถึง 27%
นอกจากนี้การเป็นคนตลกยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในทีมด้วย เพราะเวลาคนเราแสดงอารมณ์ขันออกมา นั่นหมายความว่าเรากำลังเปิดเผยตัวตนของเรามากขึ้น และทำให้คนในทีมมีกำแพงต่อกันน้อยลงด้วยนั่นเอง
ถ้าเป็นคนตลกแล้วมันดีขนาดนี้จะเลิกเป็นไปทำไมกัน เพราะเรายังอยากเป็นตัวของตัวเองเหมือนเดิม แต่ก็ไม่อยากถูกมองว่าเป็นคนไม่จริงจังด้วยนี่นา แบบนี้เราพอจะบาลานซ์ 2 ฝั่งนี้ได้ไหมนะ ให้เราได้เป็นคนตลกก็ได้ แต่พอถึงเวลาเข้าโหมดจริงจังก็มีความน่าเชื่อถือด้วย งั้นมาดูกันว่าเราจะพอมีวิธีไหนบ้าง?
ยิงมุกให้ถูกคน
ต่างคนต่างมีรสนิยม ความชอบ และความอ่อนไหวต่างกัน มุกตลกนี้อาจทำให้คนหนึ่งหัวเราะแทบตกเก้าอี้ แต่ก็อาจทำให้ใครอีกคนเกิดความขุ่นข้องหมองใจก็ได้ ดังนั้น ก่อนที่เราจะเล่าเรื่องตลก หรือยิงมุกเรียกเสียงฮาออกไป เราควรพิจารณาว่าเรากำลังคุยกับใคร และเขาชื่นชอบมุกตลกแบบไหน บางคนชอบมุกต่อบท มุกตลกคาเฟ่ ผู้ใหญ่บางคนอาจชอบมุกตลกขบคิด มีชั้นเชิง เด็กรุ่นใหม่อาจชอบมุกเสียดสี และถ้าเป็นไปได้ก็ควรหลีกเลี่ยงหัวข้อที่สร้างความขัดแย้ง เช่น การเมือง ศาสนา เพศ หรือประเด็นส่วนตัว
ยิงมุกให้ถูกเวลา
ยิงมุกธรรมดายังต้องรอจังหวะคมๆ ถึงจะเรียกเสียงหัวเราะได้ ยิ่งในที่ทำงานก็ยิ่งควรคำนึงถึงบริบทให้มากขึ้น เราไม่ควรไปติดตลกในสถานการณ์ที่ทุกคนกำลังจริงจัง แต่ต้องมีความเคารพ หรือความเห็นอกเห็นใจ ประเมินว่าบรรยากาศมันตึงแค่ไหนและอาจจะต้องปล่อยไปบ้าง เพราะความตึงเครียดในที่ทำงานไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ทว่าความตลกไม่รู้เวลาต่างหากที่เป็นเรื่องแปลก แม้เราจะเห็นว่าบรรยากาศมันตึงเครียด อยากให้ทุกคนผ่อนคลาย แต่ถ้าความตลกมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ หรือไม่จำเป็นในช่วงเวลานี้ เราก็ควรจะเก็บเอาไว้ก่อน
แสดงความรู้สึกหลายด้าน
แม้เราอยากให้คนอื่นเข้าใจเราแค่ไหน แต่ถ้าเราไม่แสดงออกไปก็คงไม่มีใครนั่งทางในเดาใจเราได้ เพราะทุกคนอาจเข้าใจว่าพื้นฐานเราอาจเป็นคนอารมณ์ดี เราไม่อยากให้บรรยากาศรอบข้างตึงเครียด แต่เราเองก็ไม่จำเป็นต้องใส่ความสนุกสนานลงไปกับทุกเรื่องซะทีเดียว เรื่องไหนที่เราเองอยากจริงจัง เราสามารถแสดงออกได้ โดยไม่ต้องกังวลว่ามันจะผิดวิสัยของเราไปหรือเปล่า ซึ่งอาจเริ่มแสดงออกจากคำพูดของเราเองได้ เช่น “งานเร่งขนาดนี้ช่วยไม่ไหวจริงๆ รอบหน้าขอล่วงหน้านานกว่านี้หน่อยนะ” “สำหรับโปรเจ็กต์นี้ เราค่อนข้างใช้เวลากับมันมากๆ” เพื่อให้คนอื่นได้รับรู้อารมณ์ของเราด้วย
หากเราอยากเป็นคนอารมณ์ดีก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่ถ้าเป็นแล้วมีจุดที่ทำให้เราลำบากใจ เรื่องนี้อาจต้องวนกลับมาที่ทักษะการอ่านบรรยากาศรอบข้างว่า เราควรตลกตอนไหน หรือแสดงออกว่าเราจริงจังในตอนไหน แม้มันอาจใช้เวลาสักหน่อย เพราะไม่ใช่ว่าจะทำกันได้ใน 1-2 วัน
แต่อย่างน้อยถ้าเราบาลานซ์ทั้ง 2 เรื่องนี้กันได้แล้ว เราจะได้ทำงานแบบมืออาชีพพร้อมอารมณ์ดีไปด้วย
อ้างอิงจาก