ประโยคบางประโยค นั้นหนักอึ้งยิ่งกว่าน้ำหนักของโลกทั้งใบ
เราจะบอกคนที่นั่งมองคนที่นั่งมองตาเราอยู่ว่าเราไม่อยากไปต่อกับเขาแล้วยังไง? จะพูดยังไงเมื่อคนที่รอโอกาสจากเราไม่เคยมีโอกาสนั้นตั้งแต่แรก? เราจะเริ่มที่ไหน หากอยากจะบอกคนที่นอนอยู่ข้างเราทุกเช้าเป็นปีๆ ว่าเราไม่อยากตื่นมาเจอเขาอีกต่อไปแล้ว? มองจากข้างนอก การเป็นคนบอกเลิกนั้นคงดูเป็นเรื่องง่าย แต่เมื่อต้องยืนอยู่ ณ จุดนั้นๆ มันไม่เคยง่ายเลย
ไม่รักแล้วการพูดออกไปก็ถูกต้องแล้วหรือเปล่า? การบอกเลิกก็แค่การพูดในสิ่งที่อยากทำไม่ใช่เหรอ? หลายๆ คนอาจถามอย่างนั้น แต่ความสัมพันธ์ของมนุษย์นั้นไม่เคยง่ายอย่างนั้น เบื้องหลังของคำพูด ความต้องการ ความรัก และชีวิตของเรานั้นมีความซับซ้อนมากกว่านั้น ไม่ใช่ทุกการบอกเลิกเป็นสิ่งที่เราอยากทำ และไม่ใช่ทุกการบอกลาหมายความถึงอิสระ
กระทบใจไม่ต่างกัน
ความเสียใจของคนที่โดนบอกเลิกนั้นเป็นสิ่งที่เรารู้จักและยอมรับเป็นอย่างดี การเป็นฝั่งที่ ‘ถูกทิ้ง’ นั้นมองออกไม่ยากว่าจะเสียใจยังไง แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อเรามองความสัมพันธ์และการจบมันเป็นฝักฝ่ายเช่นนั้น การจะเห็นอกเห็นใจคนที่บอกเลิกคงจะยากเสียหน่อย เพราะหากฝั่งหนึ่งเป็นคนที่ถูกทิ้ง อีกฝั่งก็ต้องเป็นผู้กระทำไปโดยปริยาย แต่หากมองในอีกมุม เราอาจเห็นแรงกระทบภายในใจของอีกฝั่งได้ด้วยเหมือนกัน
การจบความสัมพันธ์มีหลากหลายสาเหตุ บางครั้งเราเลือกที่จะจบความสัมพันธ์กับคนรักเพราะรักจืดจางลง นั่นคือแง่มุมที่เราส่วนมากมักเห็น แต่บางครั้งเราต้องการเลิกกับใครสักคนเพราะเราอาจเห็นพฤติกรรมบางอย่างที่ทำให้เราไม่สบายใจในการคบหาต่อ อาจเป็นนิสัยที่เขาไม่ได้เผยออกมาในช่วงแรกของความสัมพันธ์ หรือการมองเป้าหมายในอนาคตไม่ตรงกันในหลากหลายปัจจัย ฯลฯ เช่นนั้นแล้ว การเรียกว่า ‘ทิ้ง’ ก็คงจะไม่ถูกไปเสียหมด และบางครั้งการเลิกนั้นไม่ใช่สิ่งที่อยากทำ แต่เป็นสิ่งที่เรามองว่าต้องทำมากกว่า
เมื่อมองในมุมนั้นแล้ว เราอาจพบว่าการบอกเลิกใครสักคนสามารถนำมาซึ่งความรู้สึก เช่น ความวิตกกังวล ความรู้สึกผิด และความสูญเสีย ความเจ็บปวดที่ไม่แพ้กันกับอีกฝ่าย โดยความรู้สึกเหล่านั้นมาได้จากหลากหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นถ้าเราเลิกกับคนคนหนึ่งเพราะเขาเป็นคนโมโหร้าย เขารู้จักเราอย่างใกล้ชิดกว่าใคร อาจรู้จักที่อยู่ของเรา กิจวัตรของเรา การตัดสินใจของเราจะนำไปสู่อันตรายต่อเราบ้างหรือไม่? คนคนนั้นมีรูปหรือวิดีโอส่วนตัวของเราที่เราไม่อนุญาตให้เปิดเผยหรือเปล่า? แล้วเขาจะทำยังไงกับพวกมัน? ฯลฯ
มองไปอีกแง่ หากเราเลิกกับคนคนหนึ่งด้วยเหตุผลอื่นๆ ที่ไม่ใช่พฤติกรรมกดทับ เราในฐานะคนที่สร้างความรู้สึกแง่ลบต่อคนคนหนึ่ง ย่อมนึกไปถึงความรู้สึกของพวกเขาอย่างแน่นอน โดยเฉพาะสำหรับคนที่ผูกพันกันผ่านห้วงเวลาที่อยู่ด้วยกัน ความรู้สึกที่เคยมีให้หรือยังมีให้กัน และความใกล้ชิดในเวลาที่ผ่านมา เราเห็นเขามาแล้วในเวลาที่เขาสุขและเศร้า ความเศร้าขั้นสุดนี้จะพาเขาไปอยู่ที่ใด? เราอาจถามไปถึงขั้นว่าเขาจะทำอะไรตัวเองหรือไม่?
ใครจะไปอยากให้อะไรๆ มันเปลี่ยน?
การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เราต่างรู้ว่าต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในชีวิตของเรา และแม้ว่าหลายๆ ครั้งเราจะรู้ว่าในระยะยาว การเปลี่ยนแปลงนำเรื่องดีๆ มาให้เราได้ การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่เหตุที่เกิดขึ้นปุบปับแล้วเราจะถึงปลายทางนั้นเลย แต่มันเป็นกระบวนการที่เราแต่ละคนต้องผ่านไปทีละขั้นตอน และเวลาคนบอกว่าพวกเขาไม่ชชอบความเปลี่ยนแปลงนั้น บ่อยครั้งพวกเขาหมายถึงว่าเขาไม่ชอบขั้นตอนพวกนี้นี่แหละ
หนึ่งในโมเดลที่เราใช้ในการอธิบายขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคล คือโมเดลชื่อ The Transtheoretical Model (TTM) ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยเจมส์ โพรชาสการ์ (James Prochaska) อดีตศาสตราจารย์คณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยโรดไอแลนด์ ซึ่งวางขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงเอาไว้ 5 ขั้นตอน นั่นคือ
- Pre-contemplation – ขั้นตอนก่อนจะรับรู้ถึงความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง เราอาจมีพฤติกรรมที่สามารถนำไปสู่ภัยอันตราย หรือความไม่เข้ารูปเข้ารอยในชีวิต ผู้คนรอบตัวอาจเตือนแล้ว แต่เจ้าตัวก็อาจไม่เห็นด้วยกับความกังวลเหล่านั้น
- Contemplation – ขั้นที่เราเริ่มมองเห็นปัญหา แต่เราอาจยังไม่มั่นใจว่าอยากจะเริ่มเปลี่ยนแปลงอะไรหรือเปล่า เป็นห้วงเวลาที่เต็มไปด้วยข้ออ้างและการชั่งน้ำหนัก
- Preparation – ขั้นตอนที่เราตกลงปลงใจว่าเราอยากเปลี่ยนแปลงแล้ว บางกรณีอาจเป็นขั้นตอนที่เราเริ่มเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ
- Action – คือเมื่อเราเริ่มเปลี่ยนแปลงที่เป็นใจกลางปัญหาของเราให้เป็นไปในแง่บวกมากขึ้น
- Maintenance – เป็นขั้นตอนหลังจากความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ แล้ว เราจำเป็นต้องคงพฤติกรรมของเราให้ยังคงอยู่ต่อไปอย่างสม่ำเสมอ
เรียงออกมาเป็นขั้นๆ แบบนี้อาจทำให้ความเปลี่ยนแปลงดูง่ายดายไปหมด แต่ในความเป็นจริงแล้ว เส้นทางแห่งความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เพียงการเดินไปข้างหน้าด้วยความเร็วสม่ำเสมอขนาดนั้น เราหลายๆ คนอาจติดอยู่ในช่วงของการชั่งน้ำหนักเป็นเดือนเป็นปี และหลายครั้งเราอาจเดินไปข้างหน้า แล้วตกหล่มเดินย้อนหลังกลับไปยังขั้นก่อนหน้าอยู่เรื่อยไป
หากให้เทียบขั้นตอนทั้ง 5 นี้กับการบอกลาในความสัมพันธ์ การบอกเลิกคือขั้นตอนที่ 4 ซึ่งคือการลงมือทำแล้ว แต่กว่าจะไปถึงขั้นนั้น เราหลายคนวนเวียนอยู่ในขั้นตอนการชั่งน้ำหนักและการหาข้ออ้างอยู่อย่างยาวนาน ความเจ็บปวดที่เราและเขาต้องเผชิญในขั้นตอนที่ 3 อย่างการลดการแสดงออกทางความรัก การงดคำหวาน การหยุดใส่ใจ และจนแล้วจนรอดถึงจะบอกไป จะแน่ใจได้ยังไงว่าเราจะคงความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นเอาไว้ได้
ความเปลี่ยนแปลงนั้นเจ็บปวด และอย่างน้อยคนคนนั้นก็เคยเป็นคนที่เรารัก การต้องเป็นผู้เริ่มให้เราและเขาเข้าสู่วังวนของความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่การตัดสินใจที่ง่ายเลย
แล้วถ้าทนอีกนิดแล้วมันดีขึ้นล่ะ?
ในแง่หนึ่ง ความสัมพันธ์คือการลงแรง เราแต่ละคนเกิดมาด้วยตัวคนเดียวและเป็นตัวของเราในแบบของเราเองคนเดียว และการจะสร้างสัมพันธ์กับใครอีกคนคือการตกลงปลงใจที่เราต่างจะเอนเอียงเปิดใจแล้วให้เราและเขาปรับตัวเข้าหากัน เช่นนั้นแล้วการที่บอกว่าเราจะหยุดความสัมพันธ์เอาไว้ย่อมนำมาซึ่งความเสียดายบางอย่าง การเลิกกันจะทำให้เราเสียดายเวลารึเปล่า? หรือถ้าเราทนอีกนิดแล้วเดินต่อไปข้างหน้ามันอาจจะมีวันที่สดใสกว่านี้รอเราอยู่ก็เป็นได้นะ
เราเรียกวิธีการคิดเช่นนี้ว่า Sunk Cost Fallacy ตรรกะวิบัติรูปแบบหนึ่ง ที่แม้จะเป็นคำศัพท์ที่มักใช้ในประเด็นเกี่ยวกับการลงทุนและธุรกิจ เราสามารถปรับใช้มันได้กับหลากหลายอย่าง เนื่องจากมันเป็นสิ่งที่ฝังลึกอยู่ในวิธีการคิดของมนุษย์ ความหมายของมันคือเมื่อเรามองย้อนไปยังสิ่งที่เราลงทุนไปแล้ว การล้มเลิกไปก็อาจจะไม่คุ้มรึเปล่า? สู้เดินหน้าต่อไป ลงแรงต่อไป แล้วให้สิ่งที่เราลงไปมันผลิดอกออกผล แบบนั้นดีกว่าหรือเปล่า?
แน่นอน ความสัมพันธ์ทุกความสัมพันธ์ย่อมมีหลุ่มบ่อของมัน ไม่ได้เป็นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบเสียทั้งหมด บางครั้งการผ่านหล่มเหล่านั้นไปได้ก็อาจพาเราไปยังอนาคตที่ดีกว่าได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกความสัมพันธ์จะเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าทุกหลุมบ่อจะมีความตื้นลึกที่เท่ากัน บางครั้งหล่มที่เราเจออาจสร้างความเจ็บปวดให้คนใดคนหนึ่งมากเกินไป บางครั้งแม้จะไม่ลึกและไม่เจ็บมาก แต่เรามองเห็นทางออกและอนาคตที่สดใสหรือเปล่า? นั่นอาจเป็นสิ่งที่เราต้องคำนึงถึงด้วย
การบอกลาไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่มีใครอยากทำ แต่บางครั้งมันก็เป็นตัวเลือกเดียวที่มี
อ้างอิงจาก