คนเราเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน และเป็นเรื่องยากที่การเปลี่ยนแปลงนั้นจะไม่กระทบต่อ ‘ความสัมพันธ์’
บุคลิกภาพ อุปนิสัย หรือพฤติกรรมของคนเราเป็นเรื่องที่อ่อนไหวกว่าที่คิด เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามประสบการณ์ การรับรู้ ความชอบ หรือภาวะทางจิตใจของเราในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยที่เราอาจไม่ทันได้สังเกตหรืออาจสังเกตเห็นเมื่อเวลาผ่านไปสักพักใหญ่ๆ แล้ว อย่างที่มีผลการศึกษาหลายชิ้นที่พบว่า เมื่อหลายคนโตขึ้น พวกเขาจะมีความซื่อตรง ความยืดหยุ่นทางอารมณ์ และความเสถียรภาพทางอารมณ์มากขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นก็ใช้เวลานานถึงหลายสิบปีเลย เพราะการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันแทบจะเป็นไปได้ยากมาก
นอกเสียจาก…จะมีเหตุการณ์ครั้งใหญ่หรือครั้งสำคัญเกิดขึ้นโดยไม่ทันได้ตั้งตัว อย่างโรคระบาดใหญ่ COVID-19 ที่เป็นตัวแปรและต้นเหตุของ ‘ความสูญเสีย’ ในหลายมิติ ทั้งหน้าที่การงาน รายได้ ชีวิต หรือสุขภาพจิต ทำให้ผู้คนทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รุนแรง และเป็นไปในเชิงลบมากกว่าเชิงบวก
เจฟฟ์ การ์เดเร (Jeff Gardere) นักจิตวิทยาในแมนแฮตตันกล่าวว่า โรคระบาดใหญ่ทำให้โลกของเรากลับตาลปัตรไปหมด หลายคนยังคงบอบช้ำและรับมือกับความท้าทายด้านสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้อยู่ เกิดเป็นความเครียด ความกังวล และความเศร้า และการที่เราเผชิญหน้ากับภาวะเหล่านี้นานๆ เข้า ก็ย่อมส่งผลให้บางอย่างในตัวเราค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป
และไม่ใช่ทุกคนที่จะคุ้นชิน โดยเฉพาะคนที่สังเกตเห็นหรือนั่งมองความเปลี่ยนแปลงนั้นอยู่ข้างๆ
คนหนึ่งเปลี่ยนไป อีกคนทำใจลำบาก
แม้การเปลี่ยนแปลงจะเป็นกระบวนการในการเติบโตที่ยากจะหลีกเลี่ยง แต่หลายคนก็ยังรู้สึกกลัว กังวลใจ และไม่อยากเป็นมิตรกับการเปลี่ยนแปลงสักเท่าไหร่ เพราะนำมาซึ่งความรู้สึก ‘ไม่ปลอดภัย’ หรือ ‘ไม่มั่นคง’ ในชีวิต คล้ายกับถูกพรากออกจากเซฟโซนที่เคยอยู่มานาน และทิ้งให้ลอยเคว้งคว้างกลางทะเลคนเดียว
และเมื่อเป็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับคนรอบข้าง ยิ่งเป็นเรื่องที่รับมือยากเข้าไปใหญ่ หรือบางคนอาจถึงขั้นรู้สึกว่า สิ่งที่น่าเศร้าที่สุดอีกอย่างหนึ่งในชีวิตคือการนั่งมองคนรอบข้างเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ โดยเราไม่มีทางเข้าใจความคิดของพวกเขาได้อย่างแน่ชัด เกิดเป็นคำถามว่าทำไมพวกเขาถึงเปลี่ยนไป? อะไรทำให้พวกเขาเปลี่ยน? หลังจากนี้ความสัมพันธ์จะเป็นยังไงต่อ? และไม่สามารถถามอย่างตรงไปตรงมาได้ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะถนัดกับการเผชิญหน้าเพื่อปรับความเข้าใจ เกิดเป็นความคิดและคำถามในสเต็ปถัดไปว่า เราทำอะไรผิดไปหรือเปล่า? เราหมดความสำคัญกับพวกเขาแล้วใช่มั้ย? ที่ผ่านมาคืออะไรกันนะ? และยากที่จะแกะความคิดนั้นออกจากสมอง
ความเปลี่ยนแปลงทำให้ชีวิตประจำวันเริ่มติดขัด
ตามมาด้วยความเครียดที่ท่วมท้น
จากการต้องปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงนั้น
ไม่ว่าคนรอบข้างจะเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุผลอะไร หลีกหนีความทุกข์ใจ ต้องการความแปลกใหม่ เติมเต็มความฝันของตัวเอง หรือจะเป็นเหตุผลที่ดูสวยหรูแค่ไหนก็ตาม แต่ก็สามารถทำให้บางคนรู้สึกว้าวุ่นใจกับการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ ซึ่งคนที่มีแนวโน้มจะรู้สึกแบบนี้มากที่สุดก็คือ คนที่มีรูปแบบความผูกพันแบบวิตกกังวล หรือ Anxious Attachment เพราะพวกเขามักจะรู้สึกไม่มั่นคงเมื่ออยู่ในความสัมพันธ์ มีความปราถนาจะอยู่ใกล้กับคนรักตลอดเวลา และกลัวการถูกทิ้งหรือถูกปฏิเสธ ทำให้รับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ยาก เพราะรู้สึกว่าตัวเองถูกพรากจากสิ่งที่ยึดติดมานาน ไร้ที่พึ่งพา ไปจนถึงรู้สึกว่าคุณค่าในตัวเองไม่หลงเหลืออยู่ ต่างจากคนที่มีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นใจ หรือ Secure Attachment ที่มักจะรู้สึกไว้วางใจในความสัมพันธ์ และมีความเคารพนับถือในตัวเองเป็นทุนเดิมอยู่เยอะพอสมควร ทำให้เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ คุณค่าในตัวของพวกเขาจึงไม่ได้สั่นคลอนมากนัก
ถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าตัวเองมีรูปแบบความผูกพันยังไง สามารถลองเสิร์ชแบบทดสอบเพื่อหา Attachment Styles ของตัวเองได้ในกูเกิล เมื่อเรารู้ว่าเรามีรูปแบบความผูกพันยังไง ใช่ Anxious Attachment มั้ย? อย่างน้อยก็ทำให้เราเข้าใจรูปแบบความคิดของตัวเองมากขึ้น และนำไปสู่การหาวิธีเสริมสร้างความไว้ใจในความสัมพันธ์ต่อ
แม้การเฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงของผู้อื่นจะทำให้รู้สึกเหมือนเราถูกทอดทิ้ง แต่บางครั้งผู้คนก็ค่อยไม่รู้หรอกว่าตัวเองกำลังเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง อย่างที่เราก็เปลี่ยนแปลงไปทุกวันทุกวินาทีโดยไม่ทันได้สังเกตเช่นกัน ทุกความสัมพันธ์จึงควรค่าแก่การพูดคุยและปรับจูนเข้าหากันก่อน (เว้นเสียแต่ว่ามีเรื่องของความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้อง) มิเชลล์ ชัลแฟนต์ (Michelle Chanfant) นักจิตบำบัดในรัฐนอร์ทคาโรไลนาแนะนำว่า ให้เลือกที่จะยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เราสามารถอยู่ร่วมด้วยได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงไม่เพียงแต่จะนำไปสู่การเติมเต็มตัวตนของผู้คนเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้น และบางครั้งก็นำความแปลกใหม่กลับมาให้ความสัมพันธ์ด้วย
ความเปลี่ยนแปลงอาจไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และอาจจะดีต่อความสัมพันธ์มากขึ้น หากเขามีเราร่วมทางไปสู่ความเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย หรือหากความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่กระทบต่อสภาพจิตใจ จนทำให้คนรักคนสำคัญเปลี่ยนไปในเชิงลบ แรงซัพพอร์ตจากเราก็คงจะเป็นอะไรสำคัญสำหรับเขาที่สุด
อยู่กับความเปลี่ยนแปลงยังไงให้ไม่เจ็บปวด
เหตุที่บางคนรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้เหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรในชีวิต แต่บางคนกลับสั่นคลอนแม้เผชิญความเปลี่ยนแปลงเพียงแค่เล็กน้อย ก็เพราะ ‘มุมมอง’ ของคนเราที่มีต่อความเปลี่ยนแปลงนั้นแตกต่างกัน ซึ่งมุมมองก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดว่าเราจะจัดการกับความเปลี่ยนแปลงได้ดีแค่ไหน
สำหรับคนที่เจอความเปลี่ยนแปลงแล้วรู้สึกสั่นคลอน ความคิดเชิงลบของพวกเขามักจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเพื่อป้องกันตัวเอง คิดไปต่างๆ นานาว่าจะเกิดเรื่องไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งทำให้ความสามารถในการจดจ่อกับความคิดเชิงบวกถูกทำลายไปด้วย นำมาซึ่งความรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง และยากที่จะศรัทธาต่อความสามารถในการเผชิญกับปัญหาของตัวเอง
โดยวิธีที่จะปัดความคิดเชิงลบนี้ออกไปได้ก็คือ ‘การปรับเปลี่ยนกรอบความคิด’ (Cognitive Reframing) หนึ่งในวิธีบำบัดสุขภาพจิตแบบ Cognitive Behavioral Therapy ซึ่งจะช่วยให้เรามองสถานการณ์ต่างๆ ด้วยทัศนคติที่เป็นจริงและมีความหวังมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การมองว่าความเปลี่ยนแปลงของคนรอบข้างเรานั้น ไม่ได้นำมาซึ่งจุดแตกหักในความสัมพันธ์ แต่อาจเป็นหนึ่งในวิธีการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ของพวกเขา หรือเป็นวิธีที่พวกเขาตอบสนองต่อโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนมากกว่า แต่หากเราตั้งธงไว้แล้วว่าความเปลี่ยนแปลงจะเข้ามาทำลายสมดุลในความสัมพันธ์นี้แน่นอน ก็เป็นไปได้ยากที่เราจะจัดการกับการเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ
ทริกง่ายๆ ในการปรับเปลี่ยนกรอบความคิดที่ควรนำไปฝึกมีอยู่ 2 ข้อ ได้แก่
หมั่นสังเกตความคิดของตัวเอง บางครั้งเราอาจทุกข์กับความคิดที่เป็นขาว-ดำ หรือเรียกว่า All-or-nothing Thinking ซึ่งเป็นกระบวนการคิดเชิงลบที่บิดเบือนไปในทางที่สุดโต่ง จนมองไม่เห็นพื้นที่สีเทาตรงกลางว่าความเปลี่ยนแปลงอาจไม่ได้ทำร้ายความสัมพันธ์เสมอไป และการรู้เท่าทันความคิดของตัวเองอยู่เสมอ จะทำให้เราไม่ตกอยู่ในวังวนของความทุกข์เป็นเวลานานเกิน
หาหลักฐานมายืนยันความคิด ตอบตัวเองให้ได้ว่าความคิดนั้นมีแนวโน้มที่เป็นเรื่องจริงมากน้อยแค่ไหน เช่น การที่คนรักตัดสินใจเปลี่ยนงานหรือเปลี่ยนไลฟ์สไตล์บางอย่างไปจากเดิม แปลว่าเขารักเราน้อยลงจริงๆ หรือเปล่า? เพราะหากมานั่งทบทวนดูดีๆ ชีวิตประจำวันที่มีร่วมกันก็ยังหวานชื่นดีอยู่ หรือการที่เพื่อนมีเป้าหมายชีวิตแตกต่างไปจากเดิม ทำให้มิตรภาพของเรากับเขาจบลงจริงๆ มั้ย? ทั้งที่ทุกวันนี้ก็ยังชวนกันไปกินข้าวอยู่เหมือนเดิม ซึ่งวิธีนี้อาจช่วยลดความคิดเชิงลบออกไปได้ อาจจะใช้สอบถามอีกฝ่ายตรงๆ หรือขอความช่วยจากคนรอบข้างที่สนิทใจในการสะท้อนความคิด เพื่อช่วยดึงเราให้อยู่กับความจริงมากขึ้นอีกแรงหนึ่งก็ได้นะ
ไม่เพียงแต่จะเห็นได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงไม่ได้นำมาสู่ผลลัพธ์ที่แย่เสมอไป แต่เราอาจพบข้อดีที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองในการเอาตัวรอดมากขึ้นและเติบโตผ่านการรับมือครั้งนี้ด้วย ถึงแม้การปรับเปลี่ยนกรอบความคิดจะเป็นกระบวนการของนักจิตบำบัด แต่ความจริงก็คือ เราสามารถฝึกฝนสิ่งนี้ได้ด้วยตัวเองทุกเมื่อที่ค้นพบว่ากำลังติดอยู่ในความคิดเชิงลบ และไม่เพียงแต่จะนำมาใช้เวลาคนรอบข้างเปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น เรายังสามารถนำวิธีนี้มาใช้เมื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของชีวิตด้านต่างๆ ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนงาน การย้ายที่อยู่อาศัย หรือการทำอะไรใหม่ๆ ในชีวิต
เมื่อลองท้าทายตัวเองด้วยการออกจากความกลัวความกังวล แล้วไปสำรวจความคิดอีกฟากฝั่งที่มีข้อเท็จจริงผสมอยู่ในนั้น เราอาจจะพบว่า การเปลี่ยนแปลงของคนรอบข้าง ไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์สั่นคลอนเสมอไปก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก