เมื่อชีวิตราบรื่นเกินไป ทำไมเราต้องไปวิ่งหาอะไรมาทำให้ตัวเองทุกข์ใจทุกที เวลามีใครคุยกันเรื่องความยากในการใช้ชีวิต เราต้องเป็นที่หนึ่งเท่านั้น เราลำบากกว่าเธอเยอะเลย แล้วนี่เราจะเกทับเรื่องแบบนี้กันทำไมนะ
ปกติแล้วคนเราจะหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด และแสวงหาความสุข แต่ก็มีบางคนที่รู้สึกว่าความทุกข์ทำให้มีความสุขขึ้นมาได้ พฤติกรรมแบบนี้คืออะไร คนเราสามารถมีความสุขทั้งที่กำลังทุกข์ได้อยู่ด้วยเหรอ มาทำความเข้าใจพฤติกรรมอยู่กับความทุกข์จนเป็นนิสัย และวิธีรับมือกับมันกัน
รู้สึกดีเมื่อทุกข์ใจ อะไรกันเนี่ย?
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าอารมณ์ด้านลบนั้นมีคุณสมบัติเสพติด (addict) และสามารถกระตุ้นระบบให้รางวัลของสมอง หรือพูดให้ง่ายก็คือ เราจะรู้สึกเหมือนให้รางวัลตัวเอง เมื่อเจอกับอารมณ์ด้านลบ ความกังวล ความเศร้า ความอับอาย ความรู้สึกผิด สิ่งเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นที่ทรงพลังที่สุดในระบบให้รางวัลของสมองเลยทีเดียว
สองนักวิจัย Eduardo Andrade และ Joel Cohen เคยศึกษาเพื่อหาคำตอบว่าทำไมคนเราถึงชอบดูหนังสยองขวัญ และพบว่าบางคนก็มีความสุขที่ตัวเองไม่มีความสุขจากสิ่งนี้เอง พวกเขาพบว่าผู้คนมีอารมณ์ทั้งด้านลบ และด้านบวกในเวลาเดียวกัน ซึ่งหมายความว่าพวกเขาไม่เพียงแต่รู้สึกโล่งใจเมื่อพ้นจากอันตราย แต่ยังสนุกไปกับการกลัวได้อีกด้วย ทฤษฎีนี้อาจช่วยอธิบายได้ว่าทำไมคนเราถึงชอบกีฬาผาดโผน และกิจกรรมเสี่ยงอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดความกลัว
ลองสำรวจตัวเองดูหน่อย
มีหลายสัญญาณที่บ่งบอกว่าเราอาจกำลังอยู่กับความทุกข์จนเป็นนิสัย ลองสำรวจตัวเองดูว่าเราเป็นแบบนี้หรือไม่
- หาเหตุผลเพื่อที่จะทำให้ตัวเองทุกข์ ในเวลาที่ชีวิตราบรื่นเกินไป
- ชอบแข่งหรือเกทับคนรอบข้างว่าชีวิตเรายากกว่า
- ชอบเล่นบทเป็นเหยื่อและโทษผู้อื่นในทุกปัญหา
- รู้สึกเป็นทาสของอารมณ์ อารมณ์อยู่เหนือเหตุผลอยู่เสมอ
- รู้สึกไม่พอใจ ถ้าชีวิตดี ราบรื่น ไม่มีอุปสรรคอะไรเลย
- อยู่ในความสัมพันธ์ที่มีแต่เรื่องดราม่า หรือไม่สมหวัง
- ละเลยการดูแลตัวเอง เช่น เลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกายเป็นประจำ และนอนหลับให้เพียงพอ
ถ้าสำรวจตัวเองแล้วใช่ จะทำยังไงดี?
จากหนังสือ The Upward Spiral: Using Neuroscience to Reverse the Course of Depression, One Small Change at a Time โดย Alex Korb นักประสาทวิทยาที่ศึกษาเรื่องสมองและสุขภาพจิตมานานกว่า 15 ปี ได้แนะนำวิธีรับมือแบบเบื้องต้นเอาไว้ว่า เราจะต้องฝึกระบบการให้รางวัลของสมองใหม่ จากเดิมที่สมองจะหลั่งสารเคมีแห่งความสุขเมื่อเกิดความรู้สึกทางลบ ให้ฝึกมันจนหลั่งสารเคมีนี้เมื่อเกิดความสุขจริงๆ จะดีกว่า แล้วเราจะทำด้วยวิธีเหล่านี้
1.ทำความเข้าใจความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้น
อย่าพยายามระงับอารมณ์ด้วยการกดมันเอาไว้ข้างใน เพราะมีแต่จะส่งผลเสีย ในทางกลับกัน ฝึกสติตัวเองด้วยการตั้งชื่อความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นด้วยคำอะไรก็ได้สั้นๆ เมื่อมันเกิดขึ้น ทำความเข้าใจว่าความรู้สึกนั้นคืออะไร และใช้ชื่อที่ตั้งไว้เรียกมัน สิ่งนี้จะช่วยกระตุ้นส่วนต่างๆ ของสมองให้รู้สึกว่าความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นนั้นเบาบางลง
2.ทำสิ่งเล็กน้อยให้สำเร็จ ฝึกระบบให้รางวัลของสมอง
เมื่อต้องเจอกับความวิตกกังวล และความเครียด ลองตัดสินใจอะไรบางอย่าง จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ได้ และลงมือทำ สิ่งนี้จะช่วยกระตุ้นระบบให้รางวัลของสมอง เราสามารถลงมือทำอะไรก็ได้เลย บางคนเวลารู้สึกวิตกกังวล ก็ลุกขึ้นมาทำความสะอาด เมื่อเห็นห้องที่สะอาด ก็รู้สึกสบายใจ (แม้ว่าเรื่องที่กังวลจริงๆ จะไม่หายไปก็ตาม) เพราะระบบให้รางวัลของสมองตอบสนองเรา
3.เข้าสังคม เจอผู้คน รับสัมผัสจากผู้คนบ้าง
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม การเข้าสังคม พบปะผู้คน การสัมผัสผู้คน ย่อมส่งผลดีกับสมองของเรา การหลีกหนีจากสังคมจะทำให้สมองรู้สึกบาดเจ็บ ในขณะที่การเข้าสังคมก็เปรียบเหมือนยาวิเศษ (เรารู้ว่าหลายคนเริ่มขมวดคิ้ว แต่ต้องยอมรับว่ามันเป็นเรื่องจริง) การสัมผัสเพียงเล็กน้อยอย่างการจับมือ แตะบ่า แตะแขน ไปจนถึงการกอด จะช่วยทำให้เรารู้สึกดีขึ้น แต่ถ้าไม่มีใครให้จับมือหรือกอด ให้เดินเข้าร้านนวดที่ใกล้ที่สุดเลย เพราะการนวดก็ถือว่าเป็นการได้รับสัมผัสจากผู้คนเช่นกัน
ใจดีกับตัวเอง ให้ตัวเองได้มีความสุขบ้าง
มีหลายเหตุผลว่าทำไมคนเราถึงชอบช่วงเวลาที่ตัวเองไม่มีความสุข บางครั้งอาจเป็นเพราะ ‘กลัวว่าความสุขจะหายไปในเวลาอันสั้น’ หรือบางครั้งก็อาจเป็นเพราะ ‘คิดว่าตัวเองไม่ควรที่จะมีความสุข’
มีงานวิจัยที่พบว่า คนเราคิดว่าการกังวลเอาไว้ก่อน จะช่วยให้เราพร้อมรับมือกับความผิดหวังได้ เราเลยปฏิเสธความสุขที่เกิดขึ้นในเวลาที่ทุกอย่างเป็นไปตามที่คาดหวัง แต่ในความเป็นจริงคือ 85% ของสิ่งที่เรากังวลมักจะไม่เกิดขึ้นจริง ดังนั้นเราจะกังวลไปทำไม ใจดีกับตัวเอง และให้เวลาตัวเองได้มีความสุขบ้าง
ดื่มด่ำกับความรู้สึกด้านบวกที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ ไม่ต้องกังวลว่ามันจะอยู่แค่ในช่วงเวลาอันสั้น ไม่ต้องกังวลว่าเดี๋ยวมันก็จะหลุดมือไป การให้ตัวเองได้มความสุขบ้างจะทำให้จิตใจเราเข้มแข็งได้ในระยะยาว
แต่บางคนก็มีเหตุผลเรื่องของ ‘ปมในใจที่ทำให้รู้สึกไม่อยากมีความสุขโดยไม่รู้ตัว’ หรือ ‘โตมากับการเลี้ยงดูที่เข้มงวดเกินไป’ ก็มีเหมือนกัน ซึ่งเหตุผลเหล่านี้มีความเกี่ยวโยงกับเรื่องราวที่เคยเจอมาในอดีต และอาจต้องใช้เวลาสักหน่อยในการรักษาและปรับเปลี่ยน เพราะไม่ว่าจะจมอยู่กับความเศร้าด้วยเหตุผลใดก็ตาม เราแนะนำให้พบแพทย์เพื่อหาวิธีรับมือที่เหมาะสมกับตัวเองที่สุด
ไม่ต้องกลัวว่าตัวเองจะไม่เหมาะกับการมีความสุข เพราะไม่ว่าใครก็ควรได้มีช่วงเวลาที่มีความสุข
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Kodchakorn Thammachart