สมัยที่ผมเป็นนักเรียนมัธยม ผมจะมีโต๊ะประจำ ‘โต๊ะ’ ที่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่ทางสังคมของผมและเพื่อนๆ ทุกเช้าทั้งก่อนเข้าเรียน ช่วงพักกลางวัน หรือหลังเลิกเรียน ผมและเพื่อนสนิทในกลุ่มจะได้มาพบเจอกัน นั่งคุยกัน ลอกการบ้านกัน กระทั่งสมัยที่เป็นนิสิตปริญญาตรีก็ยังมีพื้นที่ลักษณะคล้ายกัน คือมี ‘โต๊ะ’ เป็นที่ชุมนุม เป็นพื้นที่ทางสังคมที่จะได้พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน วีรกรรมต่างๆ สมัยเรียน ล้วนมีจุดเริ่มต้นจาก ‘โต๊ะ’ เหล่านั้น
ปัจจุบันแม้พื้นที่เชิงกายภาพดังกล่าวจะยังคงมีอยู่เช่นเดิม แต่คนรุ่นหลังใช้พื้นที่เหล่านั้นเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวน้อยลง พื้นที่ทางสังคมที่อิงอยู่กับพื้นที่จริงทางกายภาพในยุคก่อนได้ถูกโยกย้ายไปอยู่ในพื้นที่บนโลกเสมือนจริง หรือ ‘โซเชียลมีเดีย’ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ค เมสเซนเจอร์ วอทส์แอป อินสตาแกรม ฯลฯ
เมื่อพื้นที่ทางสังคมเปลี่ยนไป รูปแบบการปฏิสัมพันธ์ก็ย่อมเปลี่ยนไปด้วย โซเชียลมีเดียกลายมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาความสัมพันธ์ของคนในสังคมแทนที่การปฏิสัมพันธ์แบบดั้งเดิม ข้อดีคือเราติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น การสื่อสารระหว่างกันถูกบันทึกเอาไว้ เราสามารถบริหารจัดการข้อมูล ค้นหา และนำกลับมาใช้อ้างอิงได้ แต่ก็ยังมีข้อเสียคือ การอยู่ในโลกโซเชียลมีเดียส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ รวมถึงส่งผลกระทบที่มีต่อสังคมในวงกว้าง ซึ่งเริ่มมีคนศึกษาผลกระทบของโซเชียลมีเดียต่อผู้ใช้กันมาบ้างแล้ว
เมื่อพิจารณาข้อดีที่ว่าโซเชียลมีเดียทำให้เราติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายและรวดเร็ว ข้อดีนี้ก็น่าจะส่งผลบวกต่อการเข้าสังคมของผู้ใช้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ค่อยมีทักษะในการเข้าสังคมหรือผูกมิตรกับผู้อื่น รวมทั้งผู้ชอบความสันโดษ (Introvert) แต่ความเป็นจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อผู้ใช้โซเชียลมีเดียมีแนวโน้มที่จะมีความหดหู่ ซึมเศร้า (Depressed) มากกว่าเดิม
ด้วยเหตุที่ในธรรมชาติแล้วมนุษย์มีพฤติกรรมอื่นด้วย นั่นคือ ‘การเปรียบเทียบทางสังคม’ (Social Comparison) ความต้องการเป็นที่ยอมรับทั้งจากตนเองและผู้อื่น
การเปรียบเทียบทางสังคม การเป็นที่ยอมรับ และการชื่นชมตัวเอง
ในปี ค.ศ. 1954 ลีออน เฟสทิงเจอร์ (Leon Festinger) [1] นักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกัน ได้เสนอสมมติฐานเรื่องการเปรียบเทียบทางสังคม (เฟสทิงเจอร์เสนอสมมติฐานทั้งสิ้น 9 ข้อ ในที่นี้ขอยกมาเฉพาะที่ผู้เขียนเห็นว่าเกี่ยวข้อง) ว่า โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์มีแรงขับเคลื่อนในการใช้ชีวิตอย่างหนึ่งที่เกิดจากการประเมินความสามารถของตนเองเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่เป็นบรรทัดฐานของสังคม และหากสังคมไม่มีบรรทัดฐานอย่างชัดเจน มนุษย์จะเปรียบเทียบความสามารถและความคิดเห็นของตนกับบุคคลอื่นรอบๆ ตัว
โดยธรรมชาติเราจะเลือกเปรียบเทียบผู้ที่มีความสามารถและความเห็นไม่ต่างจากเรามากนัก และหากผู้ที่เราเปรียบเทียบด้วยมีความคิดเห็นและความสามารถที่ต่างจากเรามากเกินไป ก็มีแนวโน้มที่เราจะเลิกเปรียบเทียบตัวเองกับคนๆ นั้น ถึงอย่างนั้น การเปรียบเทียบในเรื่องความสามารถอย่างเดียวกับผู้ที่มีความสามารถมากกว่า ก็มีปัจจัยเชิงบวกที่ส่งผลให้การเปรียบเทียบนั้นช่วยผลักดันให้ผู้เปรียบเทียบพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น โดยการเลือกบุคคลที่จะเปรียบเทียบด้วยนั้น เฟสทิงเจอร์เสนอว่า เรามีแนวโน้มจะเลือกเปรียบเทียบกับบุคคลใกล้ชิด โดยเฉพาะคนที่มีความคิดเห็นและความสามารถที่ใกล้เคียงกัน เราจะไม่ค่อยชอบสถานการณ์ที่บุคคลอื่นๆ มีความคิดเห็นและความสามารถแตกต่างกับเรา แต่จะชอบสถานการณ์ที่บุคคลอื่นๆ มีความคิดเห็นและความสามารถคล้ายๆ กับเรา และมีแนวโน้มที่จะหลบหลีกออกจากกลุ่มที่เรามีความคิดเห็นและความสามารถแตกต่างกับสมาชิกในกลุ่ม
เฟสทิงเจอร์ยังเสนอว่าการเปรียบเทียบทางสังคมนี้มีสองลักษณะ[2] คือ การเปรียบเทียบกับผู้ที่มีความสามารถเหนือกว่าตน (Upward comparison) และการเปรียบเทียบกับผู้ที่มีความสามารถต่ำกว่าตน (Downward comparison) การเปรียบเทียบกับผู้ที่มีความสามารถสูงกว่านั้นสามารถเป็นแรงผลักดัน เป็นแรงบันดาลใจ (Motivation) ให้เราพัฒนาตนเอง (Self-enhancement) แต่ถึงอย่างนั้น เราก็มักจะเปรียบเทียบตนเองกับผู้มีความสามารถด้อยกว่าด้วย เพื่อให้เกิดความรู้สึกดี รู้สึกชื่นชมในตนเอง (Self-esteem) ภาคภูมิใจในตนเอง ซึ่งการเปรียบเทียบกับผู้ด้อยกว่าในบางครั้งก็ทำโดยการล่วงละเมิด การข่มเหงผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การข่มเหงรังแกบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying)
มีงานศึกษาหนึ่งพบว่า บ่อยครั้งที่เรามักบิดเบือนความจริงเมื่อเปรียบเทียบตัวเองกับผู้ที่มีความสามารถสูงกว่า โดยอาจจะบอกกับตนเองว่าแม้เราจะด้อยกว่า แต่เราก็ยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเราต้องการสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับตนเอง[3] แต่ถ้าเลือกได้ เรามักจะเปรียบเทียบตัวเองกับผู้ที่เหนือกว่าแบบที่ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว และมีแนวโน้มหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบกับผู้เหนือกว่ามากๆ ที่เป็นคนใกล้ชิด[4] โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการเปรียบเทียบนั้นเป็นการเปรียบเทียบในพื้นที่สาธารณะ[5] เพราะเราไม่ต้องการให้ผู้อื่นรู้ว่าด้อยกว่า
การเปรียบเทียบทางสังคมกับผู้ด้อยกว่าเพื่อความรู้สึกชื่นชมตนเองนั้น ยังตรงกับความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ตามที่ อับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow) ได้เสนอไว้ในรายงานเรื่อง ‘A Theory of Human Motivation’ ว่ามนุษย์มีลำดับขั้นของความต้องการพื้นฐานเพื่อตอบสนองความต้องการทั้งทางกายภาพและจิตใจ โดย ‘การเป็นที่ยอมรับในสังคมและการยอมรับในตนเอง’ คือความต้องการขั้นก่อนที่จะไปถึง ‘ความสมบูรณ์ของชีวิต’ (Self-actualization) ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายของความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ประเด็นการยอมรับในตนเองนั้นตรงกับสิ่งที่ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) นักจิตวิเคราะห์ชื่อดังเคยเสนอเรื่อง ‘พฤติกรรมนาร์ซิสซัส’ (Narcissus)โดยฟรอยด์เชื่อว่า โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์ทุกคนล้วนมีพฤติกรรมหลงใหลในตนเองอยู่ไม่มากก็น้อย[6]
โซเชียลมีเดียในบริบทการเปรียบเทียบทางสังคมและการเป็นที่ยอมรับ
หากการเปรียบเทียบทางสังคม การเป็นที่ยอมรับทางสังคม และการหลงใหลตนเองซึ่งเป็นการแสวงหาการยอมรับตนเอง เป็นธรรมชาติของมนุษย์จริงตามที่ได้มีผู้นำเสนอ เมื่อเราพิจารณาบริบทการใช้งานโซเชียลมีเดียเทียบเคียงกับธรรมชาติของมนุษย์ดังกล่าวแล้ว เราอาจพอจะตอบคำถามถึงพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียได้หลายประการ เช่น
- เราแอบ ‘ส่อง’ ผู้อื่น อาจเป็นเพราะเราต้องการเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น การเปรียบเทียบนี้จะทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเอง ในกรณีที่เราเปรียบเทียบแล้วเห็นว่าเรามีความสามารถเหนือกว่า เราจะรู้สึกภาคภูมิใจ ขณะเดียวกัน หากเห็นผู้อื่นมีความสามารถเหนือกว่าในระดับที่ยังพอรับได้ เราอาจใช้เป็นแรงผลักดันในการพัฒนาตนเอง แต่ถ้าผู้ที่เราแอบส่องอยู่เหนือกว่าเรามากๆ เราก็อาจเลิกส่อง กด unfollowแล้วหันไปส่องคนอื่นที่มีเลเวลใกล้เคียงกับเราแทน
- เราเปรียบเทียบตัวเองเฉพาะกับบุคคลใกล้ชิด โดยเฉพาะคนที่มีความคิดเห็นและความสามารถที่ใกล้เคียงกัน เราจะชอบสถานการณ์ที่บุคคลอื่นๆ มีความคิดเห็นและความสามารถคล้าย ๆ กับเรา และมีแนวโน้มที่จะหลบหลีกออกจากกลุ่มที่เรามีความคิดเห็นและความสามารถแตกต่างกับสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งพฤติกรรมนี้เมื่อผนวกกับการทำงานของอัลกอริทึ่มของโซเชียลมีเดีย ทำให้คนที่เราไม่มีปฏิสัมพันธ์ด้วยถูกคัดกรองออกไป และเป็นเหตุให้เกิด ‘ห้องเสียงสะท้อน’ (Echo chamber) ซึ่งทำให้เราหลงเชื่อความเห็นของคนที่เราปฏิสัมพันธ์ด้วย ซึ่งเป็นความเห็นที่คล้ายกับเรา และเชื่อไปว่าเป็นความจริง เป็นสิ่งที่ถูกต้อง
- เราอาจจะคลิกไลก์สเตตัส รูปภาพ และคอมเมนต์ของตัวเอง เพราะรู้สึกชื่นชมตัวเอง
- เราอาจจะชอบโพสต์รูปเซลฟี่เพราะอยากให้คนอื่นชื่นชมเรา แต่เราอาจจะไม่ชอบดูรูปเซลฟี่คนอื่น
- เราอาจจะชอบโพสต์ความสำเร็จ หรือสิ่งที่เราคิดว่าเป็นความสำเร็จ เพราะเราชื่นชมตัวเองและต้องการให้ผู้อื่นยอมรับ
- เราพยายามติดตามคนเก่งที่มีความสามารถมากกว่าเรา เช่น คนดัง เซเลบ (ที่เราไม่ได้รู้จักใกล้ชิดสนิทสนม) เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเอง
- เราหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบกับผู้มีความสามารถเหนือกว่าที่เป็นคนใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะ (ซึ่งโซเชียลมีเดียมีสถานะเป็นพื้นที่สาธารณะ) เพราะเราไม่ต้องการถูกมองว่าด้อยกว่า
ซึมเศร้า เหงา เพราะโซเชียลมีเดีย?
หากการเปรียบเทียบทางสังคมเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แน่นอนว่าการใช้งานโซเชียลมีเดียที่มากขึ้น ย่อมทำให้เราพบการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นมากขึ้นด้วย อย่างเลี่ยงไม่ได้ แล้วสิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ทางสังคมของเราอย่างไร?
มีงานศึกษาจำนวนหนึ่งซึ่งศึกษาถึงผลกระทบของโซเชียลมีเดียต่อสุขภาพจิตของผู้ใช้ พบว่าการใช้โซเชียลมีเดียส่งผลต่ออาการซึมเศร้า (Depressive disorder)
งานศึกษาหนึ่ง[7] พบว่าอาการซึมเศร้าของกลุ่มตัวอย่างแปรผันโดยตรงต่อระยะเวลาในการใช้โซเชียลมีเดีย หมายความว่ายิ่งใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสเกิดอาการซึมเศร้ามากขึ้นเท่านั้น และสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียรู้สึกซึมเศร้ามาจากการที่เรามักเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น อาการซึมเศร้าจึงส่งผลต่อร่างกาย จิตใจ และความคิด ซึ่งอาการซึมเศร้าที่ไม่ได้รับการดูแลอาจนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าได้ หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว หากใช้โซเชียลมีเดียเป็นระยะเวลานาน ก็มีแนวโน้มที่จะมีอาการที่แย่ลง
นอกจากนี้ จากการศึกษาการใช้งานโซเชียลมีเดียของวัยรุ่น 10,904 คน ในสหราชอาณาจักร[8] พบว่า นอกจากการใช้โซเชียลมีเดียจะส่งผลโดยตรงต่ออาการซึมเศร้าแล้ว ยังมีตัวแปรที่ส่งผลต่ออาการซึมเศร้าทางอ้อมจากการใช้โซเชียลมีเดีย ได้แก่ ความเครียดจากการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นซึ่งส่งผลต่อการนอนอย่างไม่มีประสิทธิภาพ การถูกข่มเหงรังแกบนโลกออนไลน์ (cyberbullying) ความรู้สึกด้อยค่าเมื่อเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น และความรู้สึกไม่พอใจต่อรูปร่างของตนเองเมื่อเทียบกับรูปร่างของผู้อื่น
ผลการศึกษาดังกล่าวข้างต้นสอดคล้องกับงานศึกษาของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย[9] ที่พบว่า การลดการใช้งานโซเชียลมีเดียลงสามารถลดอาการซึมเศร้า เหงา โดดเดี่ยว ของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักศึกษาปริญญาตรีจำนวน 143 คน ได้อย่างมีนัยสำคัญ
งานวิจัยทั้งสาม แม้จะทำการศึกษาในบริบทที่แตกต่างกันแต่ก็ได้ผลการศึกษาที่สามารถสรุปได้ว่า การใช้โซเชียลมีเดียส่งผลต่ออาการซึมเศร้า และการลดการใช้โซเชียลมีเดียลงส่งผลกระทบเชิงบวกต่ออาการซึมเศร้าและโดดเดี่ยว
“Comparison is the thief of joy”
การเปรียบเทียบ คือ การขโมยความสุข
หากอมตะวาจาของอดีตประธานาธิบดี ธีโอดอร์ รูสเวลท์ (Theodore Roosevelt) แห่งสหรัฐอเมริกา และธรรมชาติที่มนุษย์มีแรงขับเคลื่อนในการใช้ชีวิตจากการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นนั้นเป็นจริง นั่นก็หมายความว่า ตัวผมเองก็ไม่อาจมีชีวิตที่เป็นสุขได้เลย เนื่องจากผมเองก็ใช้โซเชียลมีเดียอยู่ตลอดเวลา เว้นก็แต่เวลาที่ผมหลับเท่านั้นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Festinger, L. (1954). A Theory of Social Comparison Processes. Human Relations, 7(2), 117–140. https://doi.org/10.1177/001872675400700202
[2] Leon Festinger’s Social Comparison Theory
[3]Wood, J. V. (1989). Theory and research concerning social comparisons of personal attributes. Psychological Bulletin, 106(2), 231–248. https://doi.org/10.1037/0033-2909.106.2.231
[4]Friend, R. M., & Gilbert, J. (1973). Threat and fear of negative evaluation as determinants of locus of social comparison. Journal of Personality, 41(2), 328.
[5]Smith, R. H., & Insko, C. A. (1987). Social comparison choice during ability evaluation: the effects of comparison publicity, performance feedback, and self-esteem. Personality & Social Psychology Bulletin, 13, 111–122. https://doi.org/10.1177/0146167287131011
[6]ผู้เขียนเคยเขียนเรื่องนี้ไว้ที่ ภาวะหลงตัวเอง การติดเฟสบุ๊ค และการกลายเป็นสินค้าของมนุษย์
[7]Steers, M.-L. N., Wickham, R. E., & Acitelli, L. K. (2014). Seeing Everyone Else’s Highlight Reels: How Facebook Usage is linked to Depressive Symptoms. Journal of Social and Clinical Psychology, 33(8), 701–731. doi:10.1521/jscp.2014.33.8.701
[8]Kelly Y., Zilanawala A., Booker C., Sacker A.(2018). Social Media Use and Adolescent Mental Health: Findings From the UK Millennium Cohort Study, EClinicalMedicine, Volume 6, 59-68. https://doi.org/10.1016/j.eclinm.2018.12.005
[9]Hunt, M. G. ( 1 ), Marx, R. ( 1 ), Lipson, C. ( 1 ), & Young, J. ( 1 ). (n.d.). No more FOMO: Limiting social media decreases loneliness and depression. Journal of Social and Clinical Psychology, 37(10), 751–768. https://doi.org/10.1521/jscp.2018.37.10.751