ไม่กินเนื้อสัตว์แล้ว ทำไมยังกินขนมปังไม่ได้อีกละ?
ผักกลิ่นฉุน กะเพรานี่นับไหมนะ?
แม้ก่อนหน้านี้จะเป็นนักรีวิวร้านหมูกระทะ ชาบู หม่าล่ามามามากเท่าไหร่ แต่พอเทศกาลกินเจใกล้เข้ามาอยู่ๆ ก็อยากจะลองชำระล้างจิตใจและร่างกายตัวเองเข้าแล้วสิ (แม้ความจริงจะสนใจผัดหมี่ซั่ว ป่อเปี๊ยทอด ต้มจับฉ่ายมากกว่าก็เถอะ) แต่พอจะต้องเริ่มกินเจจริงๆ ก็ไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นกินยังไงดีนะ?
การกินเจสำหรับคนที่ทานอยู่เป็นประจำแล้วคงไม่เป็นปัญหามากเท่าไหร่ แต่สำหรับมือใหม่เพิ่งหัดกินเจ ดูเหมือนว่ามีหลายอย่างให้ต้องทำความเข้าใจมากกว่าที่คิด เพราะการกินเจที่ถูกต้องไม่ใช่เพียงแค่การงดเนื้อสัตว์เท่านั้น แต่รวมไปถึงการผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทุกชนิด (รวมถึงผักบ้างชนิด) และการทำจิตใจให้ใสสะอาดด้วย
‘งดเนื้อสัตว์และทำจิตใจให้สะอาด’ มองเผินๆ แล้วก็เหมือนความเชื่อของชาวไทยพุทธที่ให้ทำดีทั้งร่างกายและจิตใจอยู่เหมือนกัน ไม่แปลกถ้าจะรู้สึกแบบนั้น เพราะการกินเจมีรากฐานมาจากศาสนาพุทธนิกายมหายาน
เดิมทีการกินเจเป็นวิถีชีวิตของนักบวชนิกายนี้ ซึ่งมีหลักการฉัน คืออาหารต้องไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ ผักบางชนิดที่มีกลิ่นฉุน รวมถึงเครื่องปรุง นอกจากไม่มีส่วนผสมจากสัตว์แล้ว ยังต้องไม่ปรุงให้ติดรสชาติ เพราะอาจทำให้ไม่บรรลุธรรมได้ ต่อมาคนจีนนิกายมหายานรับแนวคิดนี้มาเป็นหลักปฏิบัติด้วย
สำหรับไทยก็รับการกินเจมาจากชาวจีนกลุ่มนี้ที่อพยพเข้ามาในไทย และเริ่มทำพิธีกินเจเฉพาะกลุ่มกันเองก่อน ซึ่งจะกำหนดระยะเวลาการกิน 9 วัน 9 คืน จนได้รับความนิยมมากขึ้นและเริ่มมีธุรกิจขายอาหารเจมากมาย ก็ทำให้คนไทยรู้จักประเพณีนี้ไปด้วย จนทุกวันนี้ไม่ต้องเป็นคนจีนนับถือพุทธมหายานก็สามารถกินเจได้
ท่ามกลางอาหารละลานตาในช่วงเทศกาล เราสังเกตอาหารอย่างไรว่าอะไรเจไม่เจ หากอยากเริ่มกินเจและได้บุญไปพร้อมกัน โดยไม่ต้องกดดันตัวเองมากเกินไปต้องทำอย่างไรดี?
The MATTER เลยรวบรวมคำถาม แล้วต่อสายตรงถึงผู้รู้ อย่าง ‘เจ๊คิ้ม’ จากโรงเจเค่ง ง้วน ตึ๊ง ว่าจริงๆ แล้วเราควรกินเจอย่างไร แล้วรวมมาเป็นคู่มือกินเจสำหรับนักกินเจเลเวลหนึ่งนำไปใช้แบบง่ายๆ ในช่วงเทศกาลกินเจที่จะถึงนี้
สาหร่าย เห็ด ขนมปัง ยาคูลท์เจ้าจุลินทรีย์ตัวจิ๋วกินได้ไหม?
สำหรับผู้ดูแลโรงเจอย่าง เจ๊คิ้มบอกกับเราว่าอาหารเหล่านี้ถือว่าเป็นอาหารเจที่กินได้ไม่มีปัญหา เพียงแต่ต้องระวังส่วนผสมที่มาจากสัตว์ที่มากับอาหารนั้น โดยเฉพาะ ขนมปัง ที่คนกินเจส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงเนื่องจากมักมีส่วนผสมของนมและไข่ไก่ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์
นอกจากนี้แม้ว่าเราจะกินเจ้าจุลินทรีย์ตัวจิ๋วได้ เพราะไม่ถือเป็นสัตว์ แต่ยาคูลท์ก็ยังกินไม่ได้อยู่ดี เพราะส่วนประกอบหลักของยาคูลท์เป็นนม ดังนั้น ยาคูลท์และขนมปังใส่นม ชีส ไข่ไก่ ขอให้งดไปก่อน แต่ถ้าอยากกินจริงๆ ก็มีขนมปังสูตรเจ ที่หลีกเลี่ยงการใส่นมและไข่ไก่ โดยสังเกตได้จากสัญลักษณ์เจบนหน้าซองได้เลย
เครื่องดื่มอย่าง ชา กาแฟ ช็อคโกแลตร้อน ดื่มได้ไหม?
แม้แต่ในเครื่องดื่มก็ยังมีส่วนประกอบของสัตว์ เพราะส่วนใหญ่เครื่องดื่มเหล่านี้มักผสมนมหรือน้ำผึ้งเข้าไปด้วย
สำหรับใครที่ยังอยากดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้อยู่ ก็อาจทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการใส่นมและน้ำผึ้งแทน นอกจากนี้ยังมีเครื่องดื่มอื่นๆ ที่ไม่สามารถดื่มได้ช่วงเจเหมือนกัน อย่างซุปไก่ หรือเครื่องดื่มชูกำลังบางยี่ห้อที่มีโอเมก้า 3 สารสกัดจากปลาอยู่ ดังนั้นเพื่อความชัวร์ ช่วงนี้อาจจะต้องหันมาดื่มน้ำเปล่า หรือเปลี่ยนส่วนผสมเป็นนมจากธัญพืช เช่น นมถั่วเหลือง นมข้าวโอ๊ต หรือนมอัลมอนด์แทน
กะเพราแซ่บ ผัดพริกเผาโหระพา ผักกลิ่นฉุนแบบนี้กินได้ไหม?
หลายคนอาจสงสัยว่าผักกลิ่นฉุนนี่มันหมายถึงผักที่มีกลิ่นทุกชนิดเลยหรือเปล่านะ แล้วหนึ่งสัปดาห์มี 7 วัน คนไทยกินกะเพราไปแล้ว 5 วัน แล้วจะรอดจากช่วงกินเจไปได้ไงละเนี่ย
ความจริงแล้วกะเพราหรือโหระพา ก็ยังถือว่าเป็นอาหารเจที่ทานได้อยู่ เพราะอาหารเจตาม ‘คัมภีร์ไท่ชิงวี่เช่อ’ กำหนดผักที่มีกลิ่นฉุนไว้ 5 ชนิด คือ กระเทียม หัวหอม หลักเกียว กุยช่าย และผักชี ตามตำราของพุทธนิกายมหายานระบุว่าถูกห้ามไว้เพราะอาจไปกระตุ้นฮอร์โมนทางเพศ อย่างไรก็ตามผักแต่ละชนิดก็จะถูกระบุต่างไปตามแต่ละคัมภีร์ขึ้นอยู่กับว่าจะยึดถือฉบับไหน ตาม ‘คัมภีร์หลิงซู่’ ห้ามทาน ผักพิมเสน ทานตะวัน ‘คัมภีร์จินซูเจิ้นจี่’ ห้ามทาน มหาหิงคุ์ (เฮงกื๋อ) หรือ ‘คัมภีร์เออหย่า’ ห้ามทาน ผักมัสตาร์ด เพิ่มเข้ามา
ข่าวดีคือ ไม่ว่าจะตำราไหนก็ไม่มีกะเพราหรือโหระพา ดังนั้นช่วงกินเจหลายคนเลยยังทานผัดกะเพราได้อยู่ รวมถึงผักหรือผลไม้กลิ่นฉุนนอกเหนือจากที่ระบุไป อย่างทุเรียนก็สามารถทานได้เหมือนกัน
ถึงจะสบายใจที่ยังทานอาหารที่คุ้นเคยได้ แต่ต้องระวังเรื่องเนื้อสัตว์ และเครื่องปรุงรสอย่างน้ำปลาหรือกะปิอยู่ดี ช่วงนี้อาจจะต้องลองหากะเพราสูตรเจที่ขายตามท้องตลาด หรือลองทำเอง โดยใช้โปรตีนจากพืชแทนเนื้อสัตว์ไปพลางๆ ก่อน เพื่อให้การกินเจครั้งนี้ยังได้ทานของโปรดอยู่เหมือนเดิม
กินเจต้องกินทุกวัน ต้องนุ่มขาวห่มขาว?
เจ๊คิ้มจากโรงเจบอกกับเราว่า การกินเจขึ้นอยู่กับความตั้งใจของแต่ละคน หากตั้งใจอยากให้การกินเจครั้งนี้ได้ผลบุญมากที่สุดก็ควรทำตลอด 9 วัน 9 คืน แต่สำหรับบางคนที่มีข้อจำกัดก็อาจทำแบบไม่เคร่งก็ไม่ถือว่าผิดอะไร
เช่นเดียวกับการนุ่งขาวห่มขาว ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของแต่ละคน แต่สำหรับใครที่อยากมาร่วมพิธีรับเจ้าที่โรงเจอาจจะถูกขอให้ใส่ชุดขาว เพื่อบ่งบอกเรากำลังถือศีลกินเจ เนื่องจากมักมีคนหลากหลายแวะเวียนเข้ามาที่โรงเจเป็นประจำ หากไม่สะดวกใส่ชุดขาวก็จะมีพื้นที่ให้เข้าร่วมด้านนอกแทน นอกจากนี้บางความเชื่อก็บอกว่าการใส่ชุดขาวเป็นสัญลักษณ์ของการละกิเลสด้วย
ล้างท้องคืออะไร จำเป็นแค่ไหนถ้าต้องกินเจ?
ล้างท้อง ฟังดูน่ากลัว แต่ความจริงแล้วคือการเตรียมร่างกายและระบบอาหารให้ปรับตัวก่อนกินเจอย่างน้อย 2 วัน ด้วยการลดเนื้อสัตว์และกินผักให้มากขึ้น นักโภชนาการ จากกรมอนามัยแนะนำว่าให้ลดโดยเรียงลำดับตามนี้ คือเนื้อวัว เนื้อหมู ปลา ไข่ นม ถั่วเมล็ดแห้ง ก่อนเข้าสู่วันกินเจจริง นอกจากจะทำให้ร่างกายปรับตัวทันแล้วยังทำให้ระบบย่อยดีขึ้นด้วย
สำหรับโรงเจแล้ว การล้างท้องถือเป็นการเตรียมร่างกายก่อนเข้าพิธีรับเทพเจ้า ซึ่งค่อนข้างเข้มงวด จึงต้องมีการกินเจก่อนอย่างน้อย 2 วัน เพื่อชำระล้างเนื้อสัตว์และของคาวที่ยังตกค้างในร่างกาย ซึ่งเป็นเหมือนการบ่งบอกว่าเราบริสุทธิ์ทั้งภายนอกภายในนั่นเอง
ช่วยตัวเอง กอดแฟน มีเซ็กซ์ช่วงกินเจได้ไหม?
อยากได้บุญจากกินเจก็จริง แต่ก็ยังมีหวานใจให้น้วยอยู่ข้างๆ ช่วงนี้ต้องทำไงดีนะ
ย้อนกลับไปคำว่าเจ ในภาษาจีนพุทธศาสนานิกายมหายาน มีความหมายเดียวกับคำว่า อุโบสถ ซึ่งแปลว่าการถือศีลอดอาหารเช้า ตรงกับการรักษาศีล 8 ของชาวพุทธ ซึ่งถือเป็นศีลพรหมจรรย์ ห้ามมีเพศสัมพันธ์แม้แต่กับคู่ของตัวเอง บวกกับความเชื่อที่ว่าต้องรักษาความบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ หลายคนจึงเชื่อว่าไม่ควรทำกิจกรรมกับแฟนช่วงกินเจ
อย่างไรก็ตามก็ยังมีอีกหลายคนยึดหลักเพียงแค่งดการเบียดเบียนสัตว์ และข้อห้ามของการกินเจเท่านั้น การแสดงความรักกับแฟนก็ไม่ถือว่าผิดอะไร ดังนั้นกิจกรรมที่ทำร่วมกับแฟนจึงขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคน ขอเพียงแค่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนก็ถือว่าโอเคแล้ว
หลายครั้งการกินเจแม้จะดูเหมือนมีข้อปฏิบัติที่ต้องเรียนรู้มากมาย แต่ถ้าเข้าใจหลักและไม่กดดันตัวเองเกินไป บางทีการกินเจก็อาจจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราหันมาใส่ใจสุขภาพตัวเองมากขึ้นก็ได้
อ้างอิงจาก
แปลงนาม. ความเข้าใจเรื่องการกินเจ. กรุงเทพฯ: สมาคมเผยแพร่คุณธรรมเต็กก่า จีจีนเกาะ, 2549.