หนักใจจัง เรื่องนี้จะบอกพ่อตอนไหนดีนะ อืม…ไว้ไปบอกบนรถก็แล้วกัน
เคยสงสัยกันมั้ย เวลามีเรื่องสำคัญ ปัญหาใหญ่ หรือกระทั่งความลับ ทำไมเราถึงต้องเก็บไปบอกกับอีกคนบนรถยนต์ที่กำลังแล่นบนท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นคนรู้ใจ ญาติในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือบางทีต่อให้เป็นคนแปลกหน้าที่กำลังขับแท็กซี่หรือแกร๊บ เราก็เผลอพูดเรื่องลึกๆ ออกไปโดยไม่รู้ตัว
ทั้งที่ร้านอาหารก็มีตั้งเยอะแยะ ม้านั่งก็มีถมไป หรือจริงๆ จะเปิดใจคุยกันในบ้านก็ทำได้ แต่สุดท้าย ไม่รู้ทำไมเราจึงมองว่าพื้นที่ปลอดภัยในการระบายสิ่งที่อัดอั้นคือด้านหลังหรือด้านข้างของพวงมาลัยคนขับ
ทีแรกเราก็นึกว่ามันเป็นแค่เรื่องบังเอิญ
ทว่าเปล่าเลย จริงๆ สิ่งนี้มีข้อมูลทางจิตวิทยารองรับด้วย
เราคุยอะไรกันบนรถ
มี งานวิจัยของนักศึกษาชาวญี่ปุ่นชิ้นหนึ่ง ที่พยายามสำรวจว่า หัวข้อของบทสนทนาบนรถเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรมากที่สุด และลักษณะเฉพาะของการพูดคุยกันเป็นอย่างไรกันแน่
โคเฮอิ มัตซึมูระ (Kohei Matsumura) กับ ยาซูยูกิ ซูมิ (Yasuyuki Sumi) ได้เก็บรวบรวมข้อมูลผ่านการบันทึกบทสนทนาในรถยนต์ 120 คันทั่วเมืองฮาโกดาเตะ ประเทศญี่ปุ่น พร้อมบันทึกตำแหน่งที่รถคนนั้นๆ เคลื่อนผ่านเป็นเวลาต่อเนื่อง 10 เดือน
ผลจากการสำรวจชี้ว่า ผู้โดยสารส่วนใหญ่มักจะพูดถึงเรื่องที่แต่ละคนสนใจ โดยมีสิ่งกระตุ้นเป็นสถานที่ ป้ายโฆษณา หรือจุดสังเกตที่อยู่ระหว่างทาง นอกจากนี้ เมื่อนำระยะเวลาทั้งหมดที่บันทึกบทสนทนามาคำนวณจะได้ออกมาสูงถึง 28 ชั่วโมง 9 นาที 36 วินาที และระยะเวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 14 นาที 0.48 วินาทีต่อครั้ง ซึ่งถือว่าสูงมาก เพราะเมืองฮาโกดาเตะที่ 2 นักศึกษาเก็บข้อมูลมีขนาดเพียง 1 ใน 3 ของกรุงเทพมหานคร แถมการจราจรยังลื่นไหลกว่ามาก เท่ากับว่าค่าเฉลี่ย 14 นาทีของการพูดคุยเกือบจะเป็นเวลาทั้งหมดที่คนขับและผู้โดยสารใช้ร่วมกับบนพาหนะเลยทีเดียว
“มันอาจจะบังเอิญนะ แต่เราเองก็คัมเอาต์กับที่บ้านในรถเหมือนกัน”
เพื่อนคนหนึ่งเล่าประสบการณ์ส่วนตัวให้เราฟัง และเมื่อนำมาประกอบกับงานวิจัยจากแดนปลาดิบก็ยิ่งตอกย้ำว่า พื้นที่ปิดบนรถเอื้อให้เกิดบทสนทนาได้อย่างมีนัยสำคัญ
เวทมนตร์ของพาหนะ 4 ล้อ
หลังจากทราบผลการศึกษา คำถามต่อมาคืออะไรเป็นเหตุผลซึ่งอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์บนยานพาหนะ 4 ล้อ และต่อไปนี้คือ 5 ปัจจัยที่ทำให้รถยนต์กลายเป็นพื้นที่สร้างบทสนทนาที่มีคุณภาพ
- มีความเป็นส่วนตัว
บางครั้งการเดินทางที่ยาวนานก็ช่วยให้คนในรถลืมโลกภายนอกไปชั่วครู่ชั่วคราว เพราะ ณ นาทีหรือชั่วโมงนั้นจะเหลือเพียงเรา เสียงเพลง ท้องถนน และคนข้างๆ เป็นสภาพแวดล้อมอันผ่อนคลาย ซึ่งช่วยลดทอนแรงกดดันทางสังคมและความตึงเครียด เพราะเหตุนี้ เราจึงสบายใจที่จะเริ่มเอ่ยปากบอกเล่าสิ่งที่ตามปกติแล้วยากที่จะพูดออกมา
นอกเหนือจากนั้น งานวิจัยบางส่วนยังชี้ด้วยว่า พื้นที่ปิดขนาดเล็กมีส่วนกระตุ้นให้คนรู้สึกถึงความปลอดภัย ซึ่งน่าจะเป็นผลพวงจากสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ที่ต้องการแหล่งพักพิงเพื่อสร้างความปลอดภัยในการดำรงชีวิต และห้องเล็กๆ ซึ่งกำลังเคลื่อนนี้เองที่ช่วยให้เรารู้สึกปลอดภัยแบบนั้น
- หันหน้าไปทางเดียวกัน
นับว่าเป็นองค์ประกอบที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะถ้าลองมาคิดกันจริงๆ โดยส่วนมาก คู่สนทนามักหันหน้าไปในทิศทางตรงกันข้าม หรือพูดง่ายๆ คือหันหน้าเข้าหากันเพื่อให้สามารถสบตาและสื่อสารกันได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ดี ใช่ว่าการมองหน้าของอีกฝ่ายตลอดเวลาจะเป็นข้อดีเสมอไป เพราะในประเด็นละเอียดอ่อนบางเรื่อง การสบตากันแค่บางช่วง เผชิญหน้ากันเพียงบางวินาทีก็นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีมากกว่า และพื้นที่บนรถนี่เองที่ตอบโจทย์เงื่อนไขนี้
ไม่ว่าจะนั่งตำแหน่งไหนในรถยนต์ ทุกคนย่อมต้องหันหน้าไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งในทางจิตวิทยา สภาวะนี้ช่วยลดความรุนแรงของบรรยากาศ ทั้งยังช่วยให้รู้สึกว่า คนที่เรากำลังสนทนาด้วยไม่ใช่ศัตรูที่พร้อมจะตัดสินเราทุกเมื่อ อีกทั้งการไม่ต้องสบตากันตลอดเวลายังช่วยให้แต่ละฝ่ายมีจังหวะในการคิดคำตอบนานขึ้น เพราะไม่ถูกเร่งเร้าด้วยสายตาของอีกคน
- เพราะรถกำลังเคลื่อนที่
‘การที่รถกำลังเคลื่อนไหวช่วยให้คนอยากเปิดใจมากขึ้นยังไงนะ?’
เชื่อว่าหลายคนก็คงสงสัยไม่ต่างกัน ปัจจัยแรก คือการที่ทิวทัศน์ภายนอกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ช่วยให้คนด้านในรู้สึกไม่จำเจ ระดับความเครียดลดต่ำลง
ปัจจัยต่อมา เป็นเพราะคนหลังพวกมาลัยต้องจดจ่อกับการขับรถเป็นหลัก การพูดจึงเป็นการกระทำรองที่คนขับไม่มีทางใส่ใจได้อย่างเต็มที่ เพราะเหตุนี้ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม คนขับจะมีท่าทีในการปิดกั้นตัวเองน้อยลง ในขณะเดียวกัน ผู้โดยสารเองก็จะรู้สึกกล้าที่จะบอกเรื่องที่มีความสุ่มเสี่ยงมากขึ้น เพราะรู้ดีว่าคนขับไม่มีทางโฟกัสกับเนื้อหาที่ตัวเองพูดได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
สถานการณ์ข้างต้นมีให้เห็นในภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง และโดยมากมักจะเป็นฉากที่ตัวละครเด็กขออนุญาตหรือสารภาพความจริงกับผู้ใหญ่ตอนที่อยู่ในรถ เพราะนอกจากจะไม่จำเป็นต้องสบตาแล้ว ผู้ใหญ่ที่ขับอยู่ยังไม่สามารถหันมาต่อว่าเขาหรือเธอได้อย่างที่ใจต้องการด้วยความที่สมาธิจำต้องอยู่กับการควบคุมพาหนะที่กำลังเดินทาง
- ถูกบังคับให้อยู่ด้วยกัน
หากมองเผินๆ การถูกบังคับยังไงก็ดูจะเป็นข้อเสีย แต่หากลองส่องอีกมุม การต้องอยู่กับใครสักคนหรือหลายคนในพื้นที่ปิดคือโอกาสในการเคลียร์ปัญหาใจอย่างตรงไปตรงมา เพราะก่อนหน้านี้ เราอาจหนีการเผชิญหน้ามาโดยตลอด ต่อเมื่อต้องอยู่ด้วยกันในรถ ในที่สุด คนหนึ่งก็จะต้องเริ่มต้นพูด
อลิสัน แบล็คเลอร์ (Alison Blackler) ผู้เชี่ยวชาญด้านความคิดที่จัดทำเว็บไซต์ 2-minds.co.uk พบว่า การบังคับให้เกิดความใกล้ชิดถือเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเข้าใจของมนุษย์ เพราะบุคลิกภาพของคนบางกลุ่มก็มักจะหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และถ้าหากอีกฝ่ายไม่ผลักดันให้เกิดการเปิดใจพูดคุย ปัญหาก็อาจคาราคาซังไม่จบสิ้น
เราต้องยอมรับว่าโอกาสเหมาะๆ ไม่ได้โผล่มาง่ายๆ เสมอไป ดังนั้น ในการมีข้อจำกัดบางอย่างเพื่อกระตุ้นให้เกิดบทสนทนาก็ถือเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งข้อจำกัดที่เรียกว่ารถยนต์ก็ช่วยเติมเต็มช่องว่างนี้ได้เป็นอย่างดี
- จุดหมายเดียวกัน
เป็นกรณีคล้ายคลึงกับเวลาที่เราเจอเพื่อนที่มีความสนใจหรือเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือต่อให้ไม่ได้รู้จักมักจี่ เราก็มักจะคุยกับคนกลุ่มนี้ได้อย่างถูกคอราวกับรู้จักกันมาตั้งแต่ชาติที่แล้ว
ส่วนทางฝั่งของรถยนต์ การที่ทุกคนมีปลายทางเป็นจุดร่วมจะช่วยให้เกิดความรู้สึกใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เป็นความรู้สึกที่ว่า ตอนนี้เราคือพวกเดียวกัน ซึ่งความใกล้ชิดนี้เองที่จะทำให้เราเปิดใจมากกว่าปกติ และอาจจะมากกว่าเวลาไปกินข้าวด้วยกันเสียอีก
หวังว่าทุกคนจะมีบทสนทนาที่น่าประทับใจในยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นกับเพื่อน แฟน ครอบครัว หรือคนแปลกหน้าที่ทำให้เราเชื่อว่าเปิดใจกับเขาได้
อย่างไรก็ดี หากมีเรื่องกลุ้มใจที่ควรจะแก้ไขอย่างเร่งด่วน เราก็ไม่อยากให้ทุกคนเสียเวลาไปกับการกังวลที่ว่าควรจะบอกเรื่องนี้ที่ไหน หรือจะต้องรอวันที่ได้นั่งรถคันเดียวกันกับคนคนนั้นโดยลำพังหรือไม่
เพราะสุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่สถานที่ หากแต่เป็นถ้อยคำ น้ำเสียง และความรู้สึกทั้งร้ายดีที่เราได้ถ่ายทอดออกไปต่างหาก
อ้างอิงจาก