ความกังวลใจเมื่อเริ่มทำงานที่ใหม่คงหายไปทันทีที่รู้ว่ากำลังจะได้เจอเพื่อนสนิทในที่ทำงานเดียวกันด้วย
นึกภาพการไปทำงานวันแรกหลายคนคงรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เจอกับสภาพแวดล้อมใหม่ หรือผู้คนที่ไม่คุ้นเคย การเข้าไปตัวเปล่าคนเดียวคงทำให้ตัวลีบเล็ก แต่การรู้ว่าจะได้เจอเพื่อนสนิทในที่ทำงานด้วยก็คงทำให้หลายคนรู้สึกสบายใจ ไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครขำมุกตลกของเราไหม หรืออย่างน้อยก็มีคนให้ระบายเรื่องงานเพราะเข้าใจหัวอกกันเป็นอย่างดี
ช่วงแรกก็ดูเป็นเรื่องดี แต่นานวันเข้างานที่เข้ามาเริ่มท้าทายขึ้นเรื่อยๆ เพื่อนที่เคยเข้าขากัน ก็เริ่มมีความคิดเห็นที่ต่างออกไป ถ้าเป็นเรื่องในชีวิตส่วนตัวเราคงยอมได้แหละ เพราะรู้ว่าสุดท้ายเดี๋ยวก็ต้องคืนดีกัน แต่พอเป็นเรื่องงานการยอมอาจไม่ใช่เรื่องดีเท่าไหร่ ถกเถียงกันอยู่นาน งัดมาทุกเหตุผลแล้วก็เหมือนยิ่งทำให้เกิดรอยร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่อยากเสียเพื่อนและงานไป เราทำยังไงกับสถานการณ์นี้ได้บ้างนะ
เธอกับฉัน เพื่อนสนิทที่ดันทำงานด้วยกัน
หลายคนมีความมั่นใจและเป็นตัวเองขึ้นเมื่อได้อยู่ท่ามกลางคนใกล้ชิดหรือเพื่อนสนิทที่รู้ใจ เช่นเดียวกับที่ทำงาน เมื่อได้เจอเพื่อนสนิทอีกครั้งก็คงทำให้รู้สึกได้ว่าการทำงานครั้งนี้ต้องออกมาราบรื่นอย่างแน่นอน มันเป็นแบบนั้นจริงไหมนะ?
ในส่วนแรก เราพามาดูผลการสำรวจของ Gallup ปี 2022 เกี่ยวกับความสำคัญของเพื่อนในที่ทำงานกันดีกว่า จากผลสำรวจนี้พบว่าการมีเพื่อนสนิทในที่ทำงานช่วยให้การทำงานดีขึ้น โดยมีแนวโน้มว่าจะมีส่วนร่วมกับลูกค้าและแผนกอื่นภายในองค์กรมากกว่า รวมถึงได้ปริมาณงานมากขึ้นในเวลาที่น้อยลง ทั้งยังสนับสนุนให้มีความปลอดภัยในที่ทำงานด้วย เนื่องจากการมีเพื่อนจะทำให้มีความรู้สึกอกเห็นใจผู้อื่น ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของ Wildgoose ปี 2021 ที่พบว่าเกือบ 57% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าการมีเพื่อนที่ดีในที่ทำงานช่วยให้รู้สึกมีความสุขกับการทำงานมากขึ้น นี่เลยเป็นหนึ่งในเครื่องยืนยันว่า การได้ทำงานกับเพื่อนสนิท เพื่อนที่รู้ใจ ช่วยให้เรารู้สึกปลอดภัยในที่ทำงานขึ้นไม่น้อย
แต่แน่นอนล่ะ ใช่ว่าทุกการได้มาเจอกับเพื่อนสนิทในตอนทำงานจะเป็นเรื่องดีเสมอไปนี่นา หากเพื่อนสนิทคนนั้นมีสไตล์การทำงาน ตำแหน่ง และเป้าหมายใกล้เคียงกันก็คงไม่มีปัญหา แต่พอเป็นเรื่องงานที่ต้องฟาดฟันกัน เพื่อนคนเดิมที่เราเคยคิดว่ารู้จักกันดีอาจมีท่าทีที่เปลี่ยนไป มีปัจจัยหลายอย่างในที่ทำงานที่ทำให้แต่ละคนมีวิธีรับมือที่ต่างกันไป ทั้งความเครียด ความกดดัน หรือเป้าหมายในชีวิต ทำให้บางครั้งจึงไม่ใช่ทุกคนที่จะได้เจอคนที่เข้ากันได้ทั้งในชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงาน เช่น หากเราเป็นคนสบายๆ ในขณะที่เพื่อนเป็นคนที่เป๊ะทุกรายละเอียด ต้องการความก้าวหน้าในที่ทำงานหากต้องมาทำงานร่วมกันอาจสร้างความขัดแย้งได้ไม่น้อย
ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเอมี คูเปอร์ ฮาคิม (Amy Cooper Hakim) ที่ปรึกษาด้านการทำงานและผู้เขียนหนังสือ Working With Difficult People ระบุสาเหตุที่เราไม่สามารถมีเพื่อนสนิทในที่ทำงานได้ เนื่องจาก การสร้างมิตรภาพและการทำงานมักเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกัน สภาพแวดล้อมการทำงานที่มีการแข่งขันเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ไม่ใช่พื้นที่เอื้อให้เกิดความสัมพันธ์ที่จริงใจเท่าไหร่ จึงไม่แปลกที่บางคนมักเกิดความกระอักกระอ่วนใจเมื่อต้องทำงานกับเพื่อนสนิทของตัวเอง แม้นอกเวลาทำงานเพื่อนคนนี้อาจซัปพอร์ตเราได้ดี แต่พอถึงเวลาทำงานจริงอาจมีสไตล์การทำงาน หรือวิธีการสื่อสารบางอย่างที่ไม่สามารถทำให้เราไปถึงเป้าหมายที่ต้องการได้
เราอาจจะเห็นความขัดแย้งได้หลายสถานการณ์ เช่น ถ้าเรากับเพื่อนมีตำแหน่งหน้าที่คนละส่วน บางครั้งเราอาจมีปากเสียงใส่กันได้ ครั้งแรกๆ อาจพอผ่อนปรน แต่บ่อยครั้งเข้าก็ยิ่งบั่นทอน อาจเห็นภาพได้ชัดขึ้น ถ้าเราคิดภาพตามว่าเพื่อนเป็นฝ่ายประสานงานกับลูกค้า แต่เราเป็นคนหลังบ้านที่ต้องทำงานตามดีลจากเพื่อน แล้วผลคือเพื่อนรับปากลูกค้าไปทั้งๆ ที่งบประมาณและความต้องการของลูกค้าสวนทางกัน หรือลูกค้าขอแก้งานตัวที่ไฟนอลไปแล้ว และเพื่อนก็ดันรับปากว่าเดี๋ยวจัดการให้ หากเกิดสถานการณ์แบบนี้เข้าบ่อยๆ นอกจากไม่ดีต่อความสัมพันธ์แล้ว ยังส่งผลไปถึงงานที่รับผิดชอบด้วยแน่ๆ
นอกจากนี้การมีเพื่อนสนิทในที่ทำงานยังทำให้ชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานของเราพร่าเลือนไปด้วย ในบริบทการทำงานเรามักไม่ติดใจ หรือถือสาเวลาที่ต้องแสดงความคิดเห็น เนื่องจากเราเข้าใจดีว่านี่คือส่วนหนึ่งในการทำงาน หลังจากเวลาเลิกงานต่างคนต่างมีชีวิตส่วนตัวเป็นของตัวเอง แต่พอเป็นการแสดงความคิดเห็นจากเพื่อนสนิทในที่ทำงาน หากไม่มีการพูดคุยกันก่อนอย่างชัดเจน ก็อาจทำให้เราสงสัยว่า เอ๊ะ นี่เรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัวกันแน่นะ
Career contessa สื่อที่ให้บริการข้อมูลด้านอาชีพสำหรับผู้หญิง อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้การทำงานกับเพื่อนสนิทเป็นเรื่องยุ่งยากขึ้น ว่าความสัมพันธ์นี้จะทำให้เส้นแบ่งระหว่างเรื่องงานกับชีวิตส่วนตัวพร่าเลือนไป เพราะความสัมพันธ์แบบเพื่อนสนิทเราต่างก็ต้องแบ่งปันเรื่องราวชีวิตส่วนตัวหลากหลายแง่มุม รวมถึงนิสัยส่วนตัวทั้งด้านบวกและด้านลบ เมื่อต่างฝ่ายต่างรู้ปูมเบื้องหลังกันและกัน จากความขัดแย้งเรื่องเล็กๆ ก็อาจถูกทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่และเรื่องส่วนตัวได้
ตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพความพร่าเลือนของเส้นแบ่งชีวิตส่วนตัวและการทำงาน เช่น เรากับเพื่อนสนิทอาจใช้เวลาว่างในเวลาทำงานวางแผนไปเที่ยวหรือพูดเรื่องซุบซิบคนใกล้ตัวขณะที่ยังอยู่ในออฟฟิศ เราอาจใช้เรื่องส่วนตัวของอีกฝ่ายเพื่อทำให้ตัวเองก้าวหน้าในหน้าที่การงาน หรือนำไปเล่าให้คนอื่นฟังว่าช่วงนี้อีกฝ่ายกำลังรู้สึกไม่พอใจเรื่องอะไร จนถึงเพื่อนร่วมงานอาจมองว่าความสนิทที่มากเกินไปของเราและเพื่อน อาจเป็นพิษกับการทำงานได้ เมื่อมีการเข้าข้างกันมากเกินพอดี
แล้วแบบนี้ควรทำยังไง ถ้าเราต้องทำงานกับเพื่อนสนิท
ถึงแม้จะบอกว่าการทำงานกับเพื่อนสนิทอาจทำให้เกิดความยุ่งยากตามมาได้ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถทำงานกับเพื่อนสนิทได้ เพราะก็มีคนที่ประสบความสำเร็จ และสบายใจที่ได้ทำงานกับเพื่อนอีกมาก มีหลายปัจจัยที่ทำให้ทำให้การทำงานกับเพื่อนราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็นตรงกัน สไตล์การทำงานที่ช่วยเติมเต็มกันและกันได้ กลายเป็นว่าทั้งคู่เป็นพาร์ทเนอร์ที่แข็งแกร่งในการทำงาน ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องดีไม่น้อย
แต่เพื่อป้องกัน หรือเตรียมรับมือในวันที่เราอาจผิดใจกัน ก็มีวิธีหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญฮาคิมแนะนำไว้ นั่นก็คือ การกำหนดขอบเขตความสัมพันธ์ในที่ทำงานให้ชัดเจน เราอาจไม่จำเป็นต้องเป็นเพื่อนสนิทในที่ทำงานก็ได้ อาจลดลงมาเหลือเพียงเพื่อนที่ใกล้ชิด เมื่อถึงเวลาเลิกงานค่อยกลับมาเป็นเพื่อนสนิทที่ชอบเล่นมุกตลกกันเหมือนเดิม วิธีนี้จะทำให้เรากล้าบอกเพื่อนในจุดที่ผิดพลาด และเปิดใจรับความคิดเห็นกันมากขึ้นเมื่อต้องพูดคุยกันเรื่องงาน
นอกจากนี้ หากในวันใดที่เกิดความขัดแย้งระหว่างเราและเพื่อนขึ้นมาจริงๆ ก็มีคำแนะนำจาก fast company นิตยสารและเว็บไซต์ด้านธุรกิจ ที่รวบรวมวิธีการจัดการความขัดแย้งจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เราและเพื่อนสนิทสามารถนำไปปรับใช้ได้ ดังนี้
- วิเคราะห์ความขัดแย้ง:ผู้เชี่ยวชาญได้แบ่งประเภทความขัดแย้งออกเป็นหลักๆ 3 ประเภท คือ เหตุการณ์เกิดขึ้นครั้งเดียวแต่รุนแรง, ปัญหาเรื้อรังที่ไม่น่าเปลี่ยนแปลงได้ และความขัดแย้งเล็กๆ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำ ซึ่งความขัดแย้งแต่ละประเภทก็มีการแก้ไขที่แตกต่างกัน หากเป็นแบบแรก เหตุการณ์ใหญ่ที่ไม่น่าเกิดขึ้นอีก เช่น ความเห็นการทำงานในโปรเจ็กต์ใหญ่ไม่ตรงกัน เราก็อาจต้องเดินหน้าหาวิธีแก้ไขความขัดแย้งนี้ให้ได้ แต่หากเป็นความขัดแย้งเล็กๆ เช่น นิสัยการทำงานแตกต่างกัน ก็อาจจะต้องกลับมาทบทวนกับการร่วมงานกันอีกครั้ง
- พูดคุยกันอย่างใจเย็น: เวลาโกรธหรือไม่พอใจ สมองส่วนเหตุผลมักทำงานได้ช้ากว่าประมาณ 3-5 วินาที ดังนั้นความรู้สึกแรกจึงอาจไม่ใช่อารมณ์ที่เหมาะกับการพูดคุยเท่าไหร่ เมื่อใจเย็นลงแล้วจึงค่อยหันหน้าเข้าหากัน และพยายามคิดว่าเราต้องการอะไรจากเรื่องนี้ ต้องการประนีประนอม ต้องการให้อีกฝ่ายเข้าใจเหตุผลของตัวเอง หรืออยากโน้มน้าวให้อีกฝ่ายทำตาม เมื่อคิดอย่างรอบคอบแล้วจึงค่อยหาวิธีที่เข้าหาอีกฝ่าย
- อย่าเงียบหายไป: การหลีกเลี่ยงไม่เผชิญหน้าเมื่อมีความเห็นไม่ตรงกันไม่ใช่ทางออกที่ดี เพราะทำให้รอยร้าวในความสัมพันธ์ของเราและเพื่อนยิ่งลึกขึ้น ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าการเผชิญหน้าคือสิ่งสำคัญ ไม่ใช่เพื่อให้ทะเลาะกันอีก แต่เพื่อให้เราและเพื่อนได้พูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างมืออาชีพ ทั้งนี้ควรเลือกสถานที่และเวลาที่เหมาะสมไม่ให้รบกวนเพื่อนร่วมงานด้วยนะ
- ถอยห่างหากจำเป็น: บางครั้งก็ต้องยอมรับว่าเราทั้งคู่มีวิธีและความเห็นการทำงานไม่ตรงกัน การลดระดับความสนิทในที่ทำงานก็อาจเป็นทางหนึ่งที่ทำให้เราและเพื่อนทำงานได้ง่ายขึ้น และบรรยากาศความตึงเครียดในที่ทำงานด้วย เช่น การไม่ไปทานข้าวกลางวันด้วยกันบ่อยๆ หรือโฟกัสกับงานของตัวเองมากขึ้น ก็เป็นอีกทางที่จัดการความขัดแย้งไม่ให้ส่งผลต่อคุณภาพงานของตัวเองและคนอื่น
ในบางครั้งการทำงานร่วมกับเพื่อนสนิทก็ดูอบอุ่นหัวใจอย่างบอกไม่ถูก แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ดูจะเป็นเรื่องน่าอึดอัดใจไม่น้อย เพราะต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้กระทบกับใจกันในเรื่องส่วนตัว และก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะไม่สามารถทำงานกับเพื่อนสนิทได้เช่นกัน
ทว่าท้ายที่สุด หากเราหลีกเลี่ยงการทำงานกับเพื่อนสนิทไม่ได้นั้น ก็อาจจะต้องท่องไว้ในใจเสมอว่า ความขัดแย้งในที่ทำงาน ไม่ได้หมายความว่าความสัมพันธ์หลังเลิกงานของเราต้องจบลงไปด้วย การพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา แยกชีวิตส่วนตัวและเรื่องงานออกจากกัน ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ของเราและเพื่อนสนิทยังดำเนินต่อไปได้
เพราะไม่แน่ว่าเราอาจจะทำงานที่นี้อีกแค่ไม่กี่ปี ส่วนมิตรภาพที่มีอาจจะยาวนานกว่านั้น
อ้างอิงจาก