อยากเจอนะ แต่ทำไมมันวุ่นวายขนาดนี้!
เชื่อว่าการนัดรวมกลุ่มน่าจะเป็นปัญหาโลกแตกสำหรับใครหลายคน แน่นอน เราดีใจที่เพื่อนเก่าจะได้กลับมาพบปะกันอีกครั้ง ได้ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ พูดคุยเรื่องราวความก้าวหน้าทางอาชีพ ความรัก ไปจนถึงเป้าหมายในชีวิต แต่เอาจริงๆ แค่คิดจะนัดก็ปวดหัวแล้ว และยิ่งสมาชิกในกลุ่มมีจำนวนมากเท่าไหร่ ความซับซ้อนละเอียดอ่อนในการหาข้อตกลงก็จะยิ่งยากขึ้นเท่านั้น
ลำพังภาระการทำงานและความรับผิดชอบของแต่ละคนก็เป็นอุปสรรคที่หนักหนาพออยู่แล้วในการนัดกินข้าวกับเพื่อน เพราะยิ่งโต เวลาว่างก็ยิ่งน้อยลง แต่หลายครั้งหลายหน ปัญหาที่เกี่ยวกับคนก็ไปไกลกว่าแค่เรื่องของเวลาว่าง เพราะสารพันเรื่องจุกจิกต่างๆ มันพาให้เราปวดหัว ตั้งแต่ตอนเริ่มนัดวันเวลา หาสถานที่ วันจริง ตลอดจนหลังวันนัด ปัญหาก็ยังไม่จบสิ้น
บทความนี้ The MATTER จึงทำการรวบรวม 6 พฤติกรรมชวนปวดหัวที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ เวลามีการรวมตัวนัดกินข้าว กลุ่มของทุกคนมีปัญหาแบบนี้กันบ้างมั้ย แล้วถ้ามี ทุกคนควรแก้มันอย่างไร ไปดูกันเลย!
พกแฟนมาด้วยเหรอ..พกมาด้วยแล้วทำไมไม่บอกกันก่อน
เรามีเพื่อน เพื่อนมีแฟน แต่แฟนเพื่อนอาจจะไม่ใช่เพื่อนเรา หรือต่อให้เราพูดคุยกับแฟนเพื่อนได้ การนัดกินข้าวด้วยกันกับกลุ่มเพื่อนก็ไม่ได้หมายความเพื่อนในกลุ่มจะโอเคที่แฟนเพื่อนจะมาด้วย หรือที่แน่ๆ ถ้าจะชวนมาก็ควรปรึกษาเพื่อนในกลุ่มก่อน
จีน่า (Gina) อายุ 26 ปี เล่าให้เว็บไซต์ Metro ฟังว่า เพื่อนคนหนึ่งของเธอพาแฟนไปไหนมาไหนด้วยตลอดเวลา ซึ่งมันทำให้เธอหัวเสียเอามากๆ
“ตอนปาร์ตี้หรือกินอาหารยังโอเค แต่เวลาที่เราต้องการคุยกันเองแบบสาวๆ การมีคนอื่นอยู่ตรงนั้นด้วยมันดูรุกล้ำพื้นที่ของกลุ่มเพื่อนมากๆ”
อันที่จริง นี่นับเป็นเรื่องปวดหัวที่แก้ไขได้ไม่ยาก เพราะเพียงแค่ผู้ที่มีแฟนลองถามเพื่อนในกลุ่มสักหน่อย ปัญหาก็จะไม่เกิด การใช้ชีวิตตัวติดกับแฟนไม่ใช่เรื่องผิด แต่เราต้องไม่ลืมว่า เพื่อนของเราอาจจะไม่ได้อยากตัวติดกับแฟนเราด้วย หลายครั้งเพื่อนก็มีเรื่องที่จำเป็นหรือสบายใจที่จะปรึกษาแค่กับคนในกลุ่ม ดังนั้น ก่อนพกแฟนไป ก็อย่าลืมถามเพื่อนในกลุ่มสักคำล่ะ
นัด 5 มา 7 นัด 11 มาบ่าย
รานา ข่าน (Rana Khan) นักจิตบำบัดในโทรอนโตเผยว่า ในหลายวัฒนธรรม เช่น อินเดีย การไปสายก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ซึ่งในประเทศไทยเองก็ดูจะไม่ได้แตกต่างกันนัก การไปช้าเล็กๆ น้อยๆ ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่เราเห็นกันจนชินตาตั้งแต่เด็ก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่านี่เป็นเรื่องดีที่ควรยกย่อง เพราะการไม่ตรงต่อเวลาก็อาจทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน โกรธเคือง หรืออาจมองได้ว่าเป็นการไม่ให้เกียรติเวลาของคนอื่น
แต่ก็นะ บางทีเราก็สนิทสนมกับเพื่อนตัวดีเกินกว่าจะเตือนเรื่องความตรงต่อเวลาแล้ว เอาง่ายๆ คือเคยพูดจนปากเปียกปากแฉะแล้ว แต่ก็แก้ไม่ได้ เพื่อนก็ยังมาสายเหมือนเดิม รีบวิ่งมาให้ถึง พร้อมขอโทษขอโพยด้วยรอยยิ้มรู้สึกผิดแบบเดิม ก็เซ็งแหละ แต่ก็ชินแล้ว และที่ยังคบกันอยู่เพราะเรารู้ดีว่าเพื่อนคนนี้มีอีกหลายด้านที่หักหลบกลบหนี้กับการมาสายของมันได้ แต่ถ้าถามว่าอยากให้มันเลิกสายมั้ย แน่นอนว่าอยาก เลิกได้วันนี้เลยยิ่งดี โดยวิธีแก้ที่ดูเป็นไปได้ และเชื่อว่าหลายกลุ่มน่าจะเริ่มต้นทำกันบ้างแล้วคือ ตั้งเวลาปลอมไว้หลอกเพื่อนที่ชอบมาสาย ทำนองว่า ถ้าจะนัด 11 โมง ก็ให้บอกเพื่อนที่ชอบไปถึงช้าว่านัด 10 โมงครึ่ง ในขณะที่เพื่อนคนอื่นๆ ก็นัด 11 ปกติ เพียงแค่นี้ ความสายของเพื่อนก็อาจจะเป็นปัญหาน้อยลง
ทำความเข้าใจนิสัยไม่ตรงต่อเวลาเพิ่มเติมได้ที่บทความ ‘ปากบอกใกล้ถึง แต่จริงๆ เพิ่งตื่น’ เมื่อการเป็นคนสายเสมอ อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์
กินอะไรก็ได้ แต่เสนอไปไม่เอาสักร้าน
เรา: กินไรกันดีๆ
A: ได้หมด B: อะไรก็ได้ C: ได้หมดเหมือนกัน
เรา: งั้นเอาร้านนี้นะ
A: เห้ย ไม่เอาชาบูได้ป้ะ B: เออ ขอไม่บุฟ C: มีแนวๆ อิตาเลียนมะ
เหอะ พวกแกเห็นเราเป็นแอปฯ Wongnai เหรอ ทีหลังบอกมาเลยดีกว่าว่าอยากกินอะไร ไม่ใช่บอกว่าอะไรก็ได้ แล้วสุดท้ายไม่เอาสักอย่าง เพราะรู้อะไรมั้ย Marist Institute for Public Opinion ได้เผยข้อมูลไว้ว่า ตั้งแต่ปี 2008-2020 คำว่า ‘Whatever’ ที่แปลว่า ‘อะไรก็ได้’ หรือ ‘ก็แล้วแต่’ ได้รับตำแหน่งวลีที่น่ารำคาญที่สุดในโลก ชี้ให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ไม่ชอบใจคำนี้เอาเสียเลย
เพราะฉะนั้น ถึงจะยังคิดไม่ออกว่าจะกินอะไร แต่การเสนอความคิดเห็นสักหน่อยก็คงไม่เสียหายอะไร เพราะถ้าทุกคน ‘อะไรก็ได้’ กันหมด เดี๋ยวจะเลือกไม่ได้จนอดเจอกันเอานะ
ลับสมอง ประลองหารค่าข้าว!
“เห้ย! มื้อนี้ขอหารเฉพาะจานที่กินนะ”
“เราไม่ได้กินเหล้าอะ ขอไม่หารค่าเหล้านะ”
ต้องบอกว่าการจ่ายเฉพาะสิ่งที่ตัวเองกินเป็นวิธีการที่แฟร์ แต่ในทางปฏิบัติ หลายครั้งมันก็ยากแสนยาก เราจำได้ไม่แน่ชัดว่า ใครกินหรือไม่กินอะไรบ้าง จานนี้หาร 2 จานนั้นหารทุกคน คนนี้ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ คนนั้นสั่งข้าวมากินด้วยจาน 1 ฯลฯ
ไม่มากก็น้อย ต้องยอมรับว่าท้ายที่สุด การลับสมองสุดโหดนี้จะกลายเป็นภาระของคนที่จ่ายเงินไปก่อน จนหลายครั้ง เรื่องราวก็จบลงด้วยความพ่ายแพ้ และคนที่จ่ายเงินไปก่อนก็ตัดสินใจพิมพ์มาบอกในกลุ่มว่า “เพื่อนๆ ขออนุญาตหารเท่านะ”
นี่คือเรื่องชวนปวดหัวทั้งสำหรับตัวคนกินและคนจ่าย คนจ่ายก็อยากคำนวณให้ง่ายที่สุด ขณะที่คนกิน โดยเฉพาะคนที่กินน้อยกว่าใครเพื่อน ก็ย่อมไม่อยากจ่ายเงินเกินกว่าสิ่งที่ตัวเองรับประทาน ณ จุดนี้ เราคงแนะนำในเพื่อนทุกกลุ่มพยายามหาตรงกลาง เช่น คนที่กินน้อยอาจจะอาสาเป็นคน ‘ลับสมอง ประลองหารค่าข้าว’ ให้เพื่อนๆ หรือจริงๆ ในยุคนี้ก็มีเว็บไซต์มากมายที่ช่วยให้การคิดค่าอาหารแบบหารไม่เท่า ไม่ได้ยากเย็นขนาดนั้น โดยอาจเริ่มจากเว็บไซต์ jabont.com กับ checkbillbyjsor.com ดูก็ได้
แชทกลุ่มหนักขวา เพื่อนจ๋าตอบหน่อย
แค่คิดจะนัดก็ใช้ความมุ่งมั่นในระดับหนึ่งแล้ว พอมาเจอว่าคำชวนที่เราพิมพ์ลงไปไม่ได้รับการตอบสนอง มีคนอ่าน แต่ไม่มีคนตอบ มันก็ยิ่งเศร้าเป็นเท่าทวี
“ไปดิๆ” หรือ “+++” เพื่อนที่ตอบแบบนี้คือเรารักมาก ขอบคุณที่ช่วยกันทำมาหากิน ส่วนคนที่ไม่ตอบ เราก็ได้แต่สงสัยว่าเกิดจากอะไร คือจะไม่ไปก็ไม่ว่า แต่ช่วยบอกหน่อยว่าจะเอายังไงแน่ เพราะในบางสถานการณ์ เราต้องจองร้านหรือต้องสรุปจำนวนคน คิดในแง่ดี เขาอาจจะกำลังติดงานอยู่จริงๆ แต่บางทีที่คิดว่าติดงาน 3 วันผ่านไปก็ยังไม่ตอบ สุดท้ายก็สรุปกันไม่ได้ว่าเพื่อนในกลุ่มมีใครไปบ้าง และไปกันครบมั้ย
เอลล์ ฮันต์ (Elle Hunt) บรรณาธิการของ The Guardian ประจำกรุงลอนดอนอธิบายว่า “ความวิตกกังวลเมื่อรู้ว่าอีกฝ่ายอ่านไม่ตอบ แม้จะดูงี่เง่า แต่ก็เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริง”
เพราะฉะนั้นนะผองเพื่อน ใครที่กำลังดองไม่ยอมตอบอยู่ ก็อย่าลืมตอบเพื่อนด้วยว่าจะไปหรือไม่ไป เพราะตอนนี้เพื่อนของคุณอาจจะกำลังว้าวุ่นใจเอามากๆ แต่ขณะเดียวกัน คนที่กำลังโกรธเพื่อนที่ไม่ตอบก็อยากให้เข้าใจเหมือนกันว่าเขาอาจจะมีเหตุผลจำเป็นจริงๆ ซึ่งสามารถอ่านเหตุผลของคนไม่ตอบ ทำความเข้าใจเพื่อนเพิ่มเติมได้ที่บทความ เมื่อดองแชตก็เหมือนดองความสัมพันธ์ รับมือยังไงถ้าไม่อยากเป็นคนถูกดองเสียเอง?
ออกไปก่อน เดี๋ยวโอนให้ แต่โอนกี่โมงนะ?
จ่ายให้ก่อนไม่ใช่ปัญหา แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าแกจะคืนเราวันไหน เงินเดือนยังไม่ออกก็เข้าใจ แต่อย่างน้อยก็บอกหน่อยได้มั้ยว่าจะคืนกี่โมง
การออกเงินให้ทุกคนก่อนถือเป็นความเสียสละอย่างหนึ่ง น่าเศร้าที่หลายครั้ง การเสียสละเหล่านั้นก็ผลิดอกออกผลในรูปแบบของเพื่อนจ่ายช้าหรือลืมไปเลยว่ายังไม่จ่าย ถามจริง ขุนทองทวงทุกเช้าขนาดนี้ เราจ่ายให้ก่อนขนาดนั้น แกลืมได้จริงดิ
ดังนั้น สำหรับใครก็ตามที่มักมองข้ามการโอนเงินคืนเพื่อน เราก็อยากแนะนำให้โอนเถอะ เผื่อเพื่อนเขาต้องไปทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย หรือถ้าใครยังไม่สะดวกจ่ายจริงๆ บอกเพื่อนไว้ก่อนก็ได้ เชื่อว่าเขาเข้าใจแน่ๆ ขอแค่เราไม่หายไปก็พอ
อ่านเทคนิคการทวงเงินเพิ่มเติมได้ที่บทความ เพื่อนยืมเงินไปแล้วไม่คืนสักที จะบอกยังไงดีนะ? 7 วิธีทวงเงินเพื่อนแบบไม่ให้ผิดใจกัน
อ้างอิงจาก